เศรษฐกิจไม่วิกฤต สศช.ยันขยายตัวได้ดี-GDP1.5เหตุส่งออกหดตัว

สภาพัฒน์เปิดตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 โตแค่ 1.5% เหตุส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ย้้ำชัดเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี หากจะให้ดีกว่านี้ต้องปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เตือนกระตุ้นการบริโภคด้วยเงินดิจิทัลอาจหมดแรงส่งได้ “เศรษฐา” ได้ทีโหนเป็นการคอนเฟิร์มเรื่องวิกฤตและความจำเป็นกู้มาแจก ชี้มาเลย์ต่ำสุดยัง 3.3% “ภูมิธรรม” ลั่นกฤษฎีกาเร่งเครื่องตีความแต่ไม่รับประกันก่อนปีใหม่หรือไม่ “ศิริกัญญา” สอนเศรษฐศาสตร์ 101 ชี้ชัดการบริโภคโตกว่า 8% “เกียรติ” ร่วมขย้ำบอกเสี่ยนิดสุดย้อนแย้ง พูดคนในประเทศว่าวิกฤตแต่ไปโม้ต่างชาติบอกไทยมีความพร้อม “ศรีสุวรรณ” บี้ผู้ตรวจการใช้มาตรา 245 คุ้ยกู้มาแจก

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566- 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัว 1.5% ต่ำกว่าไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวได้ 1.8% รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ทำให้ปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เหลือขยายตัว 2.5% จากเดิม 2.5-3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดอยู่ที่ 1.4% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1% อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.1 แสนล้านดอลลาร์ หนี้สาธารณะ ณ เดือน  ก.ย. 2566 อยู่ที่ 62.1% ของจีดีพี

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้ขยายตัวได้เพียง 1.5% นั้น มาจากเรื่องการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 และถ้านับรวมไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วด้วย เท่ากับว่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส แม้ว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 จะมีสัญญาณการฟื้นตัวในด้านการส่งออก แต่ยังต้องดูเรื่องการเร่งการส่งออก” นายดนุชากล่าว

นายดนุชายังประเมินจีดีพีในปี 2567 ว่าจะเติบโตได้ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนผลการพิจารณาของกฤษฎีกาในแผนกู้เงินผ่าน พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งการกระตุ้นเศษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนในช่วงนี้ควรปรับโครงสร้างภาคการผลิตและอุตสาหกรรม การขยายตลาดส่งออก เนื่องจากไทยพึ่งพาจากทั้งสองปัจจัยเป็นหลัก เพราะการกระตุ้นการบริโภคด้วยการใช้เงินดิจิทัลกระตุ้นการใช้จ่ายอาจหมดแรงส่งได้ และการโอนเงินดิจิทัล วอลเล็ตต้องมีเงินหนุนหลังในจำนวนเท่ากับจำนวนที่ใช้จ่ายออกไป จึงต้องลุ้นว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร จึงไม่ได้รวมข้อมูลดังกล่าวในคาดการณ์จีดีพีปี 2567

นายดนุชายังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% ว่าเป็นเป้าหมายการบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจไปถึงระดับนั้นได้ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งการส่งออกและการลงทุนเป็นสำคัญ โดยเร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเรื่องเสถียรภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น

 สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป 2.เตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ และใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 3.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนคำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่  เลขาฯ สภาพัฒน์ตอบชัดว่า ยังขยายตัวได้ดี ตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอด โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวตามที่คาด และผลกระทบจากสงคราม ซึ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคหรือการท่องเที่ยว ซึ่งโดยรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่หากจะให้ดีกว่านี้ก็มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก ไม่เช่นนั้นการเติบโตจะอยู่ในระดับแค่กว่า 3% ไปแบบนี้ ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5%

เศรษฐาย้ำจุดยืนวิกฤตและจำเป็น

ด้านความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ โดยช่วงเช้าได้เรียกรองนายกฯ  ขึ้นไปพบที่ตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อมอบนโยบายการทำงานต่างๆ

ต่อมาในช่วงบ่าย นายเศรษฐาได้เรียกเลขาฯ สศช. และ ผอ.สำนักงบประมาณเข้าพบที่ทำเนียบฯ ก่อนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเป็นห่วงเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจหรือไม่ ว่า เป็นห่วงอย่างมาก เพราะเท่าที่สอบถามเลขาฯ สภาพัฒน์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็บอกว่าท่านเองก็ตกใจ เพราะนึกว่าความจริงแล้วจะเห็นเลข 2 ซึ่งก็มีเหตุผลหลายอย่างทั้งเรื่องการใช้จ่าย การลงทุน และเรื่องการผลิตของโรงงาน  ทุกอย่างก็เลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ

เมื่อถามว่า จะส่งผลถึงไตรมาสแรกในปีหน้าบ้างหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนว่าทุกอย่างส่งผลหมด แต่อย่าเพิ่งข้ามไปไตรมาสแรก เพราะไตรมาสที่ 4 ปีนี้ยังเหลืออีกครึ่งไตรมาส เราต้องพยายามทำให้ตัวเลขดีขึ้น

ถามต่อว่า ที่บอกว่าจะดีขึ้นเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราพูดกันเยอะแล้ว และเราก็ทราบว่าขั้นตอนต่อไปเป็นอย่างไร และตัวเลขก็บ่งบอกชัดเจน สำหรับตนก็ขอให้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจุดยืนของตนนั้นชัดเจนว่าวิกฤตและจำเป็น

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงกรณีผลสำรวจนิด้าโพลที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการกู้มาแจก ว่าดูคร่าวๆไม่ใช่เรื่องนั้นอย่างเดียว แต่ที่เห็นด้วยก็มี อยากให้แจกก็มี อะไรก็มี คิดว่าเป็นการสะท้อนความคิดเห็น และเราก็ได้แถลงไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องก็อยู่ในมือของกฤษฎีกาแล้ว และวันที่ 20 พ.ย. เวลา 13.30 น.ก็ได้คุยกันถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมา 1.5% คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านต่ำสุด 3.3% มาเลเซีย ส่วนอินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของเราที่จะแย่งแหล่งทุนก็กว่า 5% ทั้งนั้น และมากกว่า 2-3 เท่าด้วยในบางประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องของการตีความว่าวิกฤตจำเป็นหรือเปล่า แต่สำหรับตนเห็นว่าจำเป็นและยังเป็นอย่างนั้นอยู่

เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่กว่า พ.ร.บ.กู้เงินจะออกมาอาจมีเสียงสะท้อนมากขึ้นในหลายๆ ส่วน จะทำให้เสียสมาธิเดินหน้าตรงนี้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตำแหน่งผู้นำประเทศอยู่ในความรับผิดชอบที่สูง มีหลายภาคส่วนที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหา เสียสมาธิเสียกำลังใจคงไม่มีหรอก คงไม่มีสิทธิ์เสียกำลังใจหรือเสียสมาธิ เพราะคงเป็นข้ออ้างไม่ได้ที่จะไม่ทำงาน และวันนี้ก็ทำงาน ซึ่งกำลังจะกลับไปทำเนียบฯ ต่อ ยังมีประชุมอีก ไม่ต้องห่วง ไม่เสียกำลังใจ ไม่เสียสมาธิ

เมื่อถามว่า จีดีพี 1.5% ที่นายกฯ บอกว่ารู้สึกตกใจ แต่ระหว่างนำเงินดิจิทัลออกไปสนับสนุนเศรษฐกิจ จะมีเทคนิคบริหารเศรษฐกิจอย่างไรที่เร็วกว่านี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนโยบายหนึ่งที่เป็นนโยบายใหญ่ และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ถือเป็นอีกนโยบายหนึ่ง รวมถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่ง และนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งบางอย่างอาจทำได้ทันทีแต่บางอย่างอาจต้องใช้เวลา บางอย่างที่ทำได้ทันทีคือแก้ไขปัญหาหนี้สิน ถือว่าเราต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง

สหายอ้วนยิ้มเจ้าสัวหนุนดิจิทัล

ถามว่า ก่อนที่นายกฯ จะขึ้นไปประชุมพูดว่าเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คิด ขณะที่ก่อนหน้านั้นนายกฯ บอกว่าเศรษฐกิจวิกฤต ซึ่งแปลว่าตอนนี้หนักกว่าที่คิดไว้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าเป็นการคอนเฟิร์มมากกว่า เป็นการยืนยันมากกว่าว่าสิ่งที่เราคิดมันคืออย่างนั้น

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า อยู่ในกระบวนการของกฤษฎีกา ซึ่งความจริงกฤษฎีกาไม่ได้คัดค้านอะไร เพียงแต่บอกว่าอยากให้ช่วยกันดูให้รอบคอบ ซึ่งเราเห็นด้วยถึงได้ให้กฤษฎีกาเข้ามาช่วยดู โดยคิดว่าการพิจารณาของกฤษฎีกาใช้เวลาไม่นาน

ถามว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องรอดู เพราะถ้าพูดไปก่อนหากไม่มีการพูดเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.จะกลายเป็นประเด็นอีก ส่วนจะก่อนปีใหม่หรือไม่นั้น กฤษฎีกาบอกแล้วว่าจะทำให้เร็วที่สุด คงไม่มีใครคิดเดินเรื่องให้ช้า ก็คงจะทำข้อสรุปให้ชัดเจนเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

ถามว่า มีผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศมาสนับสนุนเรื่องนี้ ถือเป็นการตอกย้ำหรือไม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ กำลังเป็นการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าในบ้านเรายังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ ทั้งนี้จุดประสงค์ของเราไม่ใช่อยู่ๆ ไปแจกเงิน แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าจะให้เห็นพ้องกันทั้งหมดก็จะฝืนความจริง มีความเห็นต่างกันได้  แต่ที่สำคัญต้องดูที่วัตถุประสงค์เป็นหลัก

 “ประเทศเราซบเซามานาน ถ้าอยากจะรู้ว่าประเทศเราวิกฤตหรือไม่ ลองไปเดินที่ตลาด ไปถามพ่อค้าแม่ค้า หรือบริษัทต่างๆ ก็จะรู้ เขาต้องการความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น เขารออยู่ เพราะฉะนั้นจะวิกฤตหรือไม่อยู่ที่ความคิดของแต่ละคน ฉะนั้นไม่ควรมาเถียงเอาชนะกัน ขอให้เอาความเป็นจริงมาพูดกัน อย่ามาพูดว่ากู้เพื่อมาแจก เพราะจะกู้หรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ การกู้เพื่อนำมาชดเชยให้เกิดการหมุนเวียนก็ทำได้” นายภูมิธรรมระบุ

'เจ๊ไหม' สอนเศรษฐศาสตร์ 101

ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “GDP ไตรมาส 3 โต 1.5% วิกฤตรึยัง?” ระบุว่า ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด  ซึ่งก็เห็นด้วยและพูดมาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจหลาย ๆ คนคือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือยัง

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญาได้นำตัวเลขที่ออกมาจากสภาพัฒน์ ที่ระบุว่าจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 3 ปีนี้โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน พร้อมอธิบายตัวเลขจีพีดีว่าคืออะไร คำนวณอย่างไร ก่อนสรุปว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น  แต่โตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว และคำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่านข้อมูลเหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้งๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภคโตกว่า 8%

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิจารณ์ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ต้องออกโรงบรรยายต่อสาธารณะถึงการใช้เงิน 5 แสนล้านบาท เนื่องจากพรรค ก.ก.ยังทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านได้ไม่ดีพอหรือไม่ ว่านายธนาธรแสดงความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีเจตนาที่ดีต่อประเทศ โดยเนื้อหาการบรรยายพยายามชี้ให้เห็นว่า  ในมุมมองส่วนตัวหากมีงบประมาณ 5 แสนล้านบาท คิดว่าอะไรเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่สุด ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกล เพราะปัจจุบันพรรคทำหน้าที่เต็มที่ในการเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ที่ไม่เพียงแต่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือให้ข้อเสนอแนะในด้านที่ไม่ตอบโจทย์  และพยายามผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่เรานำเสนอต่อสังคม

ขณะที่นายธนาธรให้สัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า เห็นตรงกันกับพรรค ก.ก.ที่ประเทศตอนนี้ยังไม่วิกฤต จึงอยากนำเสนอว่าหากมีเงิน 5 แสนล้านบาทจะเอาไปทำอะไร เราไม่ได้มองการอัดฉีดเงินในระยะสั้น แต่มองถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สินค้าที่เหมือนกัน ราคาเราสูงกว่า  ดังนั้นต้องแก้ที่การทำให้คนมีรายได้ งานที่มั่นคง

ส่วนที่รัฐบาลกล่าวว่า ข้อเสนอของนายธนาธรนั้นรัฐบาลกำลังทำอยู่ในงบประมาณปกติ นายธนาธรกล่าวว่า  ไม่จริง หากทำอยู่แล้วต้องเสร็จตั้งแต่ 10 ปีก่อนแล้ว ถ้าจะทำโดยจัดการงบประมาณและฝีมือการบริหารแบบนี้คงทำไม่สำเร็จ พร้อมยกตัวอย่างน้ำประปาดื่มได้ของคณะก้าวหน้า แล้วถามกลับว่าคุ้มหรือไม่ หากใช้องค์ความรู้พัฒนาแบบนี้ได้ทุกจังหวัด

ส่วนที่นายเศรษฐามองว่าเป็นวิกฤตประเทศ นายธนาธรกล่าวว่า เรามองต่างกัน ตอนพรรคก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลก็มีการทาบทามตนให้เป็นที่ปรึกษา ซึ่งคิดไว้แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง หากวางแผนดีก็เริ่มทำได้ เราไม่ได้ตั้งพรรคมาเพื่อเป็นรัฐบาลหรือนายกฯ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ทางผ่าน แต่เพื่อสร้างประเทศไทยที่ดี ดังนั้นต่อให้เป็นฝ่ายค้านแล้วคำแนะนำเป็นประโยชน์ แล้วพรรคเพื่อไทยนำไปสร้างนโยบายที่ดีได้ก็ยินดี

 “ผมเชื่อว่าใน 4 ปีนี้จะมีนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ดี ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลก็จะยกมือให้ เราไม่ได้ค้านทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้ต้องค้าน ถ้าจะกู้พิเศษแบบนี้ ไม่ต้อง ไปใช้งบประมาณปกติ” นายธนาธรกล่าว

'เกียรติ' ชี้รัฐบาลเสี่ยนิดย้อนแย้ง

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ประเทศไทยมีวิกฤตเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลพูดจริงหรือ ซึ่งปกติแล้วประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ 1.อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรุนแรง 2.เศรษฐกิจถดถอยจนติดลบอย่างรวดเร็วไม่คาดคิด 3.เงินเฟ้อพุ่ง ข้าวของแพงจนควบคุมไม่ได้ 4.บริษัทและผู้ประกอบการจำนวนมากต่างปลดคนงาน ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 5.ประชาชนแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร ถ้าเป็นเช่นนั้นถือได้ว่าประเทศมีวิกฤติเศรษฐกิจแน่นอน

“นายกฯ บอกคนในประเทศว่าเรามีวิกฤตจนต้องกู้เงินถึงกว่า 500,000 ล้านบาทมาแจก ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในขณะที่ไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยส่งสัญญาณว่าเราพร้อม การลงทุนเราเติบโตสูงกว่า 30% นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศรู้สึกสับสน เพราะสิ่งที่พูดในนามรัฐบาลมันย้อนแย้งกันอย่างมาก” นายเกียรติโพสต์และระบุว่า รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่างบประมาณที่จะเอาไปใช้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หากทำไม่ดีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยได้ และหากทำแบบนี้จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศได้

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง กรณีที่รัฐบาลจะออก  พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจกให้ประชาชนคนละ 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

 “การที่นายเศรษฐาและพลพรรคเพื่อไทยรีบเร่งในการผลักดันนโยบายดังกล่าว ทั้งๆ ที่บอกมาโดยตลอดว่าจะไม่กู้ แต่กลับอ้างปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลบล้างหรือฝ่าฝืนกฎหมายได้ หากแต่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ได้เคยหาเสียงไว้เท่านั้น ซึ่งหากปล่อยไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาวได้ องค์กรรักชาติ  รักแผ่นดิน จึงต้องรีบนำความมาร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพื่อระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐต่อไป” นายศรีสุวรรณระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง