พท.-รทสช.ยี้นิรโทษกรรมก้าวไกล

"พท.-รทสช." ขวางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล "ภูมิธรรม" แจงไม่อยากสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ แต่หากเป็นข้อสรุปก็พร้อมจะทำ "อนุสรณ์" ย้อน "ชัยธวัช" อย่าหวังช่วยเฉพาะเครือข่ายพวกพ้อง หากจะให้เกิดความปรองดองต้องทำเพื่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม "ธนกร" ลั่นต้องไม่เหมารวมคดีม.112 ชี้ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นความมั่นคงของรัฐ พร้อมค้านถึงที่สุด รัฐบาลจ่อถาม กกต. 3 ข้อทำประชามติแก้ รธน. หากมีข้อโต้แย้งพร้อมส่งศาล รธน.ตีความ  "นิกร" รับอาจติดปัญหาใช้ สว. 84 เสียง

เมื่อวันอาทิตย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินสายขอเสียงสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรค ก.ก. โดยได้เข้าพบอดีตพระพุทธอิสระ อดีตแกนนำ กปปส. ที่วัดอ้อน้อย ว่าเป็นสิทธิของพรรค ก.ก.ที่จะไปรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง และพุทธอิสระ ขอให้สรุปมาอะไรที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลนี้ทำได้ก็จะทำ

เมื่อถามถึงจุดยืนของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะทำทุกเรื่องที่เป็นข้อสรุปในสังคม แต่ถ้ายังไม่มีข้อสรุป แล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เราก็ยังไม่อยากจะทำ เพราะไม่อยากสร้างความขัดแย้งใหม่ ในขณะที่เราได้สลายความขัดแย้งเดิมไปแล้ว หน้าที่ของเราวันนี้คือทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า อย่าให้ความขัดแย้งใดๆ เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนประเทศ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ถือเป็นสิทธิที่นายชัยธวัชจะเดินสายไปพบใคร หรือนำเสนออะไร แม้ดูในคลิปเหมือนไปรับฟังโอวาทจากพุทธะอิสระมากกว่า นายชัยธวัชต้องไม่เคร่งครัดกับคนอื่น แต่ย่อหย่อนกับตัวเอง  ประชาชนตั้งคำถามว่า ถ้าไม่โดนเข้ากับพวกพ้องของตัวเอง จะลุกขึ้นมาเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมรอบนี้หรือไม่

นายอนุสรณ์กล่าวว่า การคืนความยุติธรรมต้องทำอย่างเสมอภาค เท่าเทียม  ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ หรือทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองจะได้รับการยอมรับมากขึ้น หากมีวัตถุประสงค์ให้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ทางการเมือง จะต้องเป็นการดำเนินการเพื่อคนทุกฝ่ายทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หวังช่วยหรือใช้ประโยชน์เฉพาะเครือข่ายพวกพ้องหรือกลุ่มของตัวเอง ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

"เกือบ 20 ปีที่ความขัดแย้งทางการเมืองทำเศรษฐกิจเสียหายกว่า 2 ล้านล้าน  การสร้างความปรองดองสมานฉันท์เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น และรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็ได้ดำเนินการผลักดันหลายเรื่อง เพื่อคืนความเป็นธรรมและก้าวข้ามความขัดแย้ง" นายอนุสรณ์ กล่าว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นายชัยธวัชไปรับฟังทุกฝ่าย ก่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ระหว่างรอเปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งจะทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองดีมากขึ้น หากมีวัตถุประสงต์หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดกระบวนการปรองดองทางการเมือง จะต้องเป็นการดำเนินการเพื่อคนทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ไม่ใช่มีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตัวเองแอบแฝง ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

รทสช.ค้านรวมคดี ม.112

เมื่อถามว่า แต่ดูเหมือนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลจะมุ่งปลดล็อกคดีมาตรา 112 นายธนกรกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวหากจะสร้างความปรองดองแก่ทุกฝ่ายทางการเมืองที่เห็นต่างถือว่ายอมรับได้ แต่ต้องไม่ใช่ความผิดจากการกระทำที่ความรุนแรง และต้องไม่ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อปกป้องประมุขแห่งรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเมือง ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากจะมีการนิรโทษฯ ความผิดในมาตรา 112

"หากพรรคก้าวไกลจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยกลุ่มผู้สนับสนุนให้พ้นความผิดใน ม.112 ผมขอคัดค้าน เพราะเป็นการเหยียบย่ำจิตใจคนไทยทั้งชาติที่รัก เทิดทูนสถาบันฯ การเดินสายรับฟังความเห็นคนทุกสีเสื้อ ทุกกลุ่มของก้าวไกล แต่จะนำมาอ้างว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยคงไม่ใช่ ผมเชื่อว่าสภาก็จะไม่เห็นด้วย จึงขอให้พรรคก้าวไกลพูดให้ชัดในเรื่องนี้ หากรวมคดี ม.112 ด้วย ผมรับไม่ได้และขอคัดค้านแน่นอน"  นายธนกรกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเพียงการรับฟังความเห็นจาก สส.และ สว. ซึ่งได้ทำแบบสอบถามไปแล้ว เพื่อรอนำไปหารือร่วมกันเมื่อเปิดประชุมสภาฯ และคิดว่าไม่เกินกลางเดือนธันวาคมน่าจะรับฟังมาได้หมด หลังจากนั้นจะนำไปสรุปร่วมกันว่าส่วนใหญ่ประชาชนคิดอย่างไร เห็นต่างอย่างไร โดยให้บันทึกไว้ทั้งหมดว่ามีมุมใดบ้าง จากนั้นส่ง ครม.พิจารณา

เมื่อถามถึงกรณีการศึกษาทำประชามติ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องของการทำประชามติ ว่าจะทำ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพราะหากส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วตีความว่าเราไม่สามารถทำได้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายจะตกไป ความคิดเห็นที่ทำมาก็จะตกไป ดังนั้นในสัปดาห์หน้า จะลงนามหนังสือเพื่อสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหญ่ 3 ข้อ ว่า 1.การตีความของ กกต. จะมีการทำประชามติกี่ครั้ง 2.เพื่อประหยัดงบประมาณ จะสามารถจัดทำประชามติ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น เช่น นายก อบจ.ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในปีหน้าได้หรือไม่ และ 3.โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น หากจะใช้โซเชียลมีเดียมาร่วมลงทะเบียนได้หรือไม่ หากทำได้จะสะดวกมากขึ้น อาจทำให้การใช้จ่ายในการเลือกตั้งลดน้อยลงไปมาก

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีปัญหาเรื่องการตีความว่าใครมีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จึงมีการเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในการตีความเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการฯ  จึงเสนอให้พรรคการเมืองที่อยู่ในที่ประชุมไปปรึกษาหารือ เพื่อให้มีการเสนอผ่านสภา และให้สภายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยให้ไปหาข้อสรุปกันในสภา หากมีข้อขัดแย้งสภาก็จะเป็นผู้เสนอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ"

นายภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า ได้กำชับให้อนุกรรมการการศึกษาฯ ได้ศึกษาควบคู่ขนานกันไปเลยว่าหากจำเป็นต้องมาแก้ มาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มี ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะจากการรับฟังความเห็นถ้าเอา ส.ส.ร. เลือกตั้งบางกลุ่มวิชาชีพไม่มีโอกาส จึงน่าจะมี ส.ส.ร. ที่มาจากการสุ่มหาจากวิชาชีพต่างๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป จึงมอบให้อนุกรรมการศึกษาฯ ไปดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง

ติดปัญหา สว. 84 เสียง

ด้านนายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความคืบหน้าในการเดินสายรับฟังความเห็นว่า ขณะนี้เหลือการรับฟังความคิดแค่ 2 กลุ่ม โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน จะเดินสายไปรับฟังความคิดเห็นของชาวเหนือ ซึ่งเราจะเชิญกลุ่มชาติพันธุ์มาพูดคุยด้วย ส่วนในภาคใต้ เราจะไปที่ จ.สงขลา ในวันที่ 7 ธันวาคม โดยจะมีการเชิญพี่น้องชาวมุสลิมมาพูดคุยด้วย เพราะในแต่ละพื้นที่เราต้องพยายามหาว่ามีประเด็นอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับเขา

เมื่อถามว่า จะมีการขยายกลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่มีแล้ว จะเป็นการรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค 4 กลุ่มที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละภาคคือ ภาคเหนือจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ท่องเที่ยว, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นเกษตรกร ชาวนา, ภาคตะวันออก เป็นภาคอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงาน, ภาคใต้ จะเป็นคนจังหวัดชายแดน พี่น้องมุสลิม

นายนิกรกล่าวต่อว่า ยังมีคนกลุ่มต่างๆ ที่เราเชิญมาพูดคุยอีก 15 กลุ่มไปแล้ว รวมถึงสมาชิกรัฐสภาก็ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 2 คณะ โดยได้มีการทำแบบสอบถามแล้ว ซึ่งจะรอถามตอนที่สภาเปิดแล้ว จะถามทั้ง 750 คน เพราะเขาจะเป็นคนที่โหวตเรื่องจะทำประชามติเมื่อไหร่ จะทำก่อนเริ่มกระบวนหรือทำหลังจากที่มีกระบวนการไปแล้ว เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใช่เฉพาะข้อกำหนดตามกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเมืองด้วยว่าเขาจะโหวต เพราะเราอาจติดปัญหาที่ต้องใช้เสียงของ สว. 84 เสียง ตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า

เมื่อถามว่า ขณะนี้การทำงานถือว่าเป็นไปตามแบบแผนหรือมีปัญหาอุปสรรคใดหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ไม่มีเลย มีติดอยู่เรื่องเดียวกฎหมายประชามติ ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้หารือกันแล้ว และต้องรอฟังคณะกรรมการพิจารณาประชามติว่าเราจะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกฎหมายประชามติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นายนิกรกล่าวด้วยว่า ได้เสนอร่างแก่ที่ประชุมไปแล้วว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เกี่ยวกับคะแนนการออกเสียงประชามติ ส่วนจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้งนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบ และจะมีการพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดใจ ‘ปานปรีย์’ ละเอียดยิบ เหตุยื่นหนังสือลาออก ’รมว.ต่างประเทศ’

'ปานปรีย์’ยอมรับขอลาออกจากรมว.กต. เหตุถูกปรับพ้นรองนายกฯ หวั่นไร้ตำแหน่งรองนายกฯพ่วงอาจทำงานไม่ราบรื่น เชื่อยังมีคนอื่นเหมาะสมมาทำงานแทนได้ อำลาทีมผู้บริหารกระทรวงฯแล้ว