สนอง‘นิด’ปรับสูตรขึ้นค่าแรง

"พิพัฒน์" ดึงกลับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ บอก "ครม." ขอไปคิดสูตรใหม่  คาดชงอีกครั้งทันปีใหม่ 2567 "เศรษฐา" หวังตัวเลขมากกว่าที่ประกาศปัจจุบัน  พร้อมแถลงจัดใหญ่แก้หนี้ทั้งระบบให้จบในรัฐบาลนี้ คาดช่วยคนไทยปลดหนี้ 10.3 ล้านคน เคาะมาตรการแก้หนี้ในระบบ 4 กลุ่ม "ลูกหนี้บัตรเครดิต" 23 ล้านใบได้เฮ! ดอกเบี้ยลดวูบเหลือ 3-5%  "วิป รบ." เตรียมหารือ "เลื่อน-ไม่เลื่อน" ถกงบฯ 67 เหตุฝ่ายค้ายอ้างศึกษาข้อมูลไม่ทัน

 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 ธ.ค. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ที่เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงานจึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะนำกลับเข้ามาใน ครม.ก่อนสิ้นปี 2566 นี้

"กระทรวงแรงงานเสนอมติของคณะกรรมการค่าจ้างเข้ามา ครม. ตามกำหนด แต่ในการประชุมก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตและขอนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เพราะส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 มาเป็นสูตรคำนวณ โดยจะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง" นายพิพัฒน์กล่าว         

ถามว่าการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่จะทำให้เกิดความล่าช้าหรือไม่ รมว.แรงงานกล่าวว่า การดำเนินการจะทำให้เร็วที่สุด และจะได้ข้อสรุปให้เดือน ธ.ค.2566 เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567

ขณะที่นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนายพิพัฒน์ดึงกลับไปเอง บอกว่าจะต้องนำกลับไปตั้งข้อสังเกตและพิจารณาสูตรการคิดค่าแรงใหม่ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ก็ต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี พูดได้แค่นี้

"ผมคิดว่าอาทิตย์หน้าอาจจะนำเข้าที่ประชุม ครม. หรือไม่เกิน 2 อาทิตย์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธ.ค.หรืออะไรสักอย่างตรงนั้น น่าจะเอาเข้ามาทันได้" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่าตัวเลขที่นายกฯ ตั้งใจไว้อยู่ที่เท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบัน แต่ก็ต้องฟังเขาก่อน มันมีข้อกฎหมายอะไรหลายๆ อย่างที่ทักท้วงเข้ามา แต่สิ่งที่ตนต้องการไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้ เมื่อซักว่าจะได้ตัวเลข 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบพร้อมกล่าวว่าคำถามต่อไปครับ 

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายเศรษฐา แถลงการณ์จัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

นายเศรษฐากล่าวว่า วันนี้ขอพูดถึงหนี้ในระบบซึ่งมีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ทั้งหนี้สินล้นพ้นตัวจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบและการดูแลลูกหนี้ในระบบให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

แบ่ง 4 กลุ่มแก้หนี้ในระบบ

นายเศรษฐากล่าวว่า ขอแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19, กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้, กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน

"ทุกกลุ่มไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานานก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกัน แต่ต้นตอของปัญหาพวกเขานั้นต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มนายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวว่า แนวทางในแต่ละกลุ่มนั้น กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มนี้โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนหนึ่งบางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว

สำหรับลูกหนี้รายย่อยซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควรและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

นายกฯ กล่าวว่า ลูกหนี้กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรกคือ การลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวกและสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

ในส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็นหนี้เสียก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น และล่าสุดได้มีการปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการให้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยผู้มีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ผ่านเว็บ เด็ทคลินิกบายแซมดอทคอม (debtclinicbysam.com)

ฟุ้งแก้ทั้งระบบจบรัฐบาลนี้

นายเศรษฐากล่าวว่า ลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ยหรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ 

สำหรับลูกหนี้ กยศ. ซึ่งบางส่วนไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษา กยศ. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ กยศ. ได้กว่า 2.3 ล้านราย ในส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น ในกรณีเช่าซื้อรถใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และกรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง

นายเศรษฐากล่าวว่า ลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ตนคาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ

 “รัฐบาลห่วงใยลูกหนี้ทุกกลุ่ม และได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การดำเนินมาตรการให้สำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ และหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ผมจึงมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ร่วมกันสำรวจและซ่อมแซมกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเราทำงาน เติบโต และขยายตัวต่อไปได้” นายกฯ กล่าว

สำหรับมาตรกรแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบ คาดว่าจะช่วยคนไทยปลดหนี้ได้ กว่า 10.3 ล้านราย ครอบคลุมทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ 4 กลุ่มลูกหนี้

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตอบคำถามแทนนายกฯ ถึงมูลหนี้ทั้งหมดในระบบว่า ครอบคลุมหนี้ครัวเรือนทั้ง 16 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี และในส่วนของเนชั่นแนลเครดิตบูโร จะพบตัวเลข 13.5 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้รวมส่วนที่เป็นสหกรณ์และ กยศ.เข้าไปด้วย  โดยส่วนที่นายกฯ ได้แถลงนั้น เป็นการรวมครบถ้วน ทั้งหนี้ของเกษตรกรและหนี้ SMEs 

นายกิตติรัตน์ชี้แจงหนี้บัตรเครดิตด้วยว่า มียอดหนี้รวมอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่กำลังจะเป็นปัญหาประมาณ 6.7 หมื่นล้าน จากผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนทั้งสิ้น 23.8 ล้านใบ โดยในส่วนนี้เป็นหนี้ที่กำลังน่าห่วงใย 1.1 ล้านใบ  

จ่อหารือเลื่อน-ไม่เลื่อนถกงบฯ

ถามว่า กรณีดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16-25% เหลือ 3-5% เฉพาะลูกหนี้ที่เข้าโครงการเท่านั้นหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ผู้ถือบัตรทุกรายทั้ง 23 ล้านใบ มีสิทธิ์ได้ดอกเบี้ย 3-5% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินและระยะเวลาปีการผ่อนชำระ จึงขอเรียนเชิญให้เข้าร่วมโครงการ

"กลุ่มที่เป็นเจ้าหนี้บัตรเครดิตยินดีลดดอกเบี้ยให้เพื่อดูแลลูกค้า โดยที่รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณไปชดเชยให้ กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย สามารถใช้บริการคลินิกแก้หนี้ได้ ซึ่งผมไม่ได้พยายามยุให้ท่านเข้าใช้บริการ แต่หากเกินศักยภาพในการชำระเกินก็ขอให้เข้ามาใช้บริการได้เลย" นายกิตติรัตน์กล่าว

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของรัฐบาล โดยในส่วนที่เป็นหนี้เสียก็จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทั้งหมด 4 กลุ่ม ส่วนลูกหนี้ดีรัฐบาลจะมีการออกมาตรการจูงใจเพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการจูงใจเรียบร้อยแล้ว

นายกฤษฎากล่าวว่า ในส่วนมาตรการจูงใจลูกหนี้ดี หลักการเบื้องต้นอาจจะให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย และตัดเงินต้นเพิ่ม เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ผ่อนเดือนละ 10 บาท เคยตัดเงินต้น 8 บาท ตัดดอกเบี้ย 2 บาท ก็จะมีมาตรการจูงใจโดยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1 บาท และตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น ตรงนี้ภาระของลูกหนี้ก็จะลดลงไป และสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้นด้วย

 “ตอนนี้หนี้ครัวเรือนรวมทั้งระบบ มีมูลหนี้ราว 16 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้เสีย หนี้จ่อตกชั้น และหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ ประมาณ 10% หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ประมาณ 1 ล้านกว่าราย ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาจะบริหารจัดการได้”นายกฤษฎากล่าว

รมช.การคลังกล่าวว่า สำหรับลูกหนี้รหัส 21 จากสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 1 หมื่นบาท ที่ปล่อยกู้ช่วงโควิด-19 โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาทนั้น ได้มีการกันสำรองหนี้เสียไว้ก่อนแล้วประมาณ 50% วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มาตรการจบเรียบร้อยแล้ว พบว่า เป็นหนี้เสียราว 30% หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ก็จะตัดหนี้ให้เลย และนำเงินที่กันสำรองดังกล่าวมาชดเชยให้ธนาคาร ลูกหนี้รหัส 21 ในกลุ่มนี้ก็จบ หลุดจากการเครดิตบูโร และสามารถไปกู้ใหม่ได้ ส่วนกระบวนการกู้ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร

ทั้งนี้ หนี้กลุ่มเอสเอ็มอีตัวเลขไม่เยอะ มีประมาณกว่า 1 แสนราย ในส่วนนี้ก็จะเข้ามาตรการพักหนี้กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และ AMC ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากมีการกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของรัฐบาลแล้ว ก็จะมีการรายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้จะครอบคลุมและเพียงพอในการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มที่มีปัญหาได้

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า เดี๋ยวว่าไปตามขั้นตอน ซึ่งมันมีขั้นตอนอยู่แล้ว 

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงข้อเสนอจากฝ่ายค้านที่ขอให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ออกไปจากเบื้องต้นที่กำหนดไว้ประมาณวันที่ 3-4 ม.ค.67 ด้วยเหตุผล สส.อาจจะศึกษาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่ทันว่า จะต้องมีการหารือในวิปรัฐบาล

"สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ หากจะเลื่อนการพิจารณาออกไปก็ต้องฟังความเห็นของหลายฝ่าย โดยเฉพาะจะต้องรับฟังรัฐบาลด้วย เพราะขณะนี้เกินกรอบระยะเวลาการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มาแล้ว ซึ่งขณะนี้ก็ล่วงเลยมา 4 เดือนแล้ว หากจะเลื่อนก็ต้องถามความเห็นรัฐบาล" ที่ปรึกษาวิปรัฐบาลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง