อัปยศ!เอื้อนช.แม้ว เทพไทกางไทม์ไลน์จับผิด/นิดพักร้อนหนี120วัน

นายกฯ ให้คำมั่น รบ.ทำงานเต็มที่ ยกระดับชีวิต ปชช.เป็นของขวัญปีใหม่ "จตุพร" จับไต๋ "เศรษฐา" ลาพักร้อนหลบภัยครบ 120 วัน "น.ช.ทักษิณ" อยู่ รพ.ตำรวจและมติให้เปลี่ยนจากคุกไปอยู่บ้าน "เทพไท" กางไทม์ไลน์จับพิรุธราชทัณฑ์ออกระเบียบเอื้อ  "ทักษิณ" เลือกปฏิบัติ เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่นักโทษ อัปยศตกต่ำที่สุดของกระบวนการยุติธรรม "สส.รทสช." เซ็นชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครบแล้วเตรียมชงสภาประกบ "ก้าวไกล"  วิปวุฒิฯ ปล่อยอิสระ "สว." ตอบคำถามประชามติแก้ รธน. "วันชัย" ชี้หากแก้รายมาตราจะง่าย เร็ว ไม่สิ้นเปลืองงบ

เมื่อเวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ที่เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) วันที่ 17 ธ.ค. ที่โรงแรมโอกุระ  โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงการมอบของขวัญให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกมองว่าเป็นนักการเมือง ส่วนนักการเมืองบางทีก็ลืมไปว่าเป็นนักการเมืองเพราะมัวแต่เล่นการเมืองหรือไม่ ตนเชื่อว่าตอนนี้เวลานี้เราไม่ได้มาเล่นการเมือง แต่รู้ว่าเรามาทำการเมืองเพื่ออะไร และมาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร เรามาเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ซึ่งสิ่งที่เราอยู่ก็ถือว่าต้องทำให้ประชาชนอยู่แล้ว ฉะนั้นหากถามว่าของขวัญคืออะไร คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกคน ทีมงานทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

"เราจะพยายามทำเต็มที่เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ประชาชนให้ดีกว่าที่ผ่านมา ถือเป็นคำมั่นก็แล้วกัน ก็คอยดูแล้วกัน จะทำเต็มที่ เพราะบางอย่างก็ถูกใจ และบางอย่างยังไม่เป็นที่เพียงพอ ก็เข้าใจได้ถึงความรู้สึก เพราะตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน อะไรที่ทำได้ก็จะทำก่อน อะไรใช้เวลาก็จะทำไป หลายเรื่องต้องเก็บข้อมูลเพื่อมาดำเนินการเพื่อความพร้อม" นายเศรษฐากล่าว

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ให้จับตาการลาพักร้อนตั้งแต่ 19-22 ธันวาคม 2566 ของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยนายเศรษฐาลาพักร้อนตั้งแต่ช่วงบ่ายหลังการประชุม ครม.วันที่ 19 ธันวาคม 2566 จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง  เพราะคาบเกี่ยวกับนักโทษชั้น 14 อยู่โรงพยาบาลตำรวจครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับรู้กันตามลำดับ ตั้งแต่กรมราชทัณฑ์ไปถึงปลัดกระทรวง กระทั่งไปสู่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้รับทราบด้วย

"มีการตั้งข้อสังเกตว่าก่อนถึง 22 ธันวาคม 2566 หรือก่อนอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจครบ 120 วัน คณะกรรมการที่รองอธิบดีราชทัณฑ์เป็นประธานตามระเบียบราชทัณฑ์ให้คุมขังนอกเรือนจำ อาจมีมติให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปลี่ยนจากคุกไปอยู่บ้านได้ เพราะกรมราชทัณฑ์ต้องหลีกเลี่ยงรายงาน 120 วันก็เป็นได้ ดังนั้นนายกฯ จึงลาพักร้อนในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวเช่นนี้ คงไม่ต้องการรับรู้รับทราบการรายงาน 120 วัน และมติให้เปลี่ยนจากคุกไปอยู่บ้านก็ได้ จังหวะและช่วงเวลาลาพักร้อนของนายกฯ จึงไม่ธรรมดา จัดเป็นลีลาการเมืองแพรวพราว เพราะคงไม่ต้องการรับรู้การตัดสินใจให้ทักษิณเปลี่ยนจากคุกไปเป็นคุมขังอยู่บ้านได้เฉลิมฉลองวันปีใหม่ คงเป็นดีลหนึ่งในยุทธการฟ้าใสให้กลับบ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนจะว่าอย่างไร"

นายจตุพรกล่าวด้วยว่า อะไรก็ตามถ้าไม่เดินตรงไปตรงมา ย่อมมีร่องรอยทิ้งไว้ให้เห็นเส้นทางทั้งหมดว่ามีเป้าประสงค์เช่นไร กับการเร่งรีบออกระเบียบราชทัณฑ์เมื่อ 6 ธันวาคม 2566 ถ้านายทักษิณอยู่ในเรือนจำ สามารถให้เหตุผลล้นคุกได้ แต่อยู่ รพ.จึงไม่เข้าเหตุเป็นนักโทษล้นคุก การเมืองที่ผ่านมาล้วนเป็นการแสดงละคร ส่วนนักการเมืองแค่คนรับสั่งให้เล่นไปตามบทที่กำหนดไว้เท่านั้น แล้วสุดท้ายฝ่ายอำนาจเบื้องหลังก็สมคบคิดแลกเปลี่ยนบทบาทกันเล่น เพื่อกำจัดเบี้ยที่จะเป็นขวากหนามกันเรื่อยมา

ไทม์ไลน์ราชทัณฑ์เอื้อทักษิณ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า คุมขังนอกเรือนจำ ทำไมเพิ่งมาทำตอนนี้ คำถามถึงกรณีการบังคับใช้กฎหมายของกรมราชทัณฑ์ ต่อคุณทักษิณ ชินวัตร ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในฐานะนักโทษชายคนหนึ่ง ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ขอตั้งคำถามถึงกรมราชทัณฑ์ว่า มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ดังนี้ 1.กรมราชทัณฑ์เคยออกประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาด เข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ นักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กรณีที่นักโทษได้รับโทษถูกคุมขัง 1 ใน 3 ของโทษสุดท้าย ประกาศฉบับนี้ได้บังคับใช้ในระยะสั้นๆ  ต่อมาได้ประกาศยกเลิกในทันที เป็นการออกระเบียบเพื่อช่วยเหลือนักโทษคนใดคนหนึ่งหรือไม่

2.พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 กำหนดการบังคับใช้หลังกฎหมายประกาศ 90 วัน ทำไมกรมราชทัณฑ์ไม่ดำเนินการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2561

3.การประกาศใช้กฎกระทรวง เรื่องกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 แต่ไม่มีผลบังคับใช้ให้นักโทษเด็ดขาดคนใดไปคุมขังนอกเรือนจำได้ จึงจำเป็นต้องเร่งออกระเบียบให้สามารถนำนักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำได้ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ทำให้มีผลอย่างสมบูรณ์ เพื่อรองรับนักโทษเทวดา ใช่หรือไม่

4.หลังจากคุณทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2566 กระทรวงยุติธรรมจึงทำหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา สอบถามความเห็น เรื่องการออกระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ตามบทบัญญัติ มาตรา 33 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ว่าด้วยระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ ว่าสามารถได้หรือไม่ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคุณทักษิณหรือไม่

และ 5.ผมเป็นนักโทษเด็ดขาด ผู้มีส่วนได้เสียกับกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ทั้งหมด เพราะได้ถูกคุมขังในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ทำไมเงื่อนไขกฎหมายที่กรมราชทัณฑ์ประกาศใช้มาทั้งหมด นักโทษธรรมดาอย่างผม และนักโทษทั่วไป ไม่เคยได้รับประโยชน์และอานิสงส์ใดๆ จากระเบียบกรมราชทัณฑ์เลย ทำไมไม่คิดทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถ้าหากไม่มีนักโทษที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังไม่เร่งออกระเบียบฉบับฉบับนี้ใช่หรือไม่

"การบังคับใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์ให้กับคุณทักษิณที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเลือกปฏิบัติ หรือปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่นักโทษด้วยกัน ซึ่งเป็นความอัปยศ และเป็นความตกต่ำที่สุดของกระบวนการยุติธรรมไทย นับตั้งแต่มีประเทศไทยมา" นายเทพไทระบุ

นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการที่พรรค รทสช.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา ที่ใช้ชื่อร่าง พ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุข ว่า พรรค รทสช.จะมีการยื่นร่าง พ

.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวต่อสภาแน่นอน เพราะทางพรรคมีความเห็นร่วมกันว่าต้องสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติ แต่เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศมันรุนแรงและขัดแย้งกันมาเกือบ 20 ปี จึงควรต้องมีการยุติโทษให้กับคนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อที่จะได้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสามัคคีเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

สส.รทสช.ชงนิรโทษฯ เข้าสภา

 นายวิทยากล่าวว่า หลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคคือ ให้มีการนิรโทษกรรมกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อรัฐ เป็นผู้เสียหาย ทางรัฐก็จะไม่เอาผิดนั้น เช่น การทำผิด พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะฯ แต่จะไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดคดีทุจริต, ทำผิดคดีมาตรา 112 และคดีความผิดต่อชีวิตฯ ส่วนความผิดต่อทรัพย์สินฯ เช่น มีการรื้อรั้ว หรือตัดกุญแจ ขว้างแก๊สน้ำตา ก็ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย ก็ไม่ติดใจ ก็ยุติไป

  “หลักการก็คือ จะนิรโทษกรรมคดีที่กระทบต่อรัฐโดยตรง รัฐก็ไม่ติดใจ ส่วนทำผิดคดี 112 จะไม่มีการนิรโทษฯ เพราะ นอกจากเป็นการกระทบต่อรัฐและความมั่นคงแล้ว ยังกระทบต่อผู้ที่เป็นหลักของบ้านเมือง เป็นการทำผิดที่ไปกระทบสิทธิแบบนี้จะไม่เข้าข่าย ไม่นิรโทษกรรม รวมถึงคดีทุจริตคอร์รัปชัน และคดีความผิดต่อชีวิต ก็คือคดีที่เกิดขึ้นแล้ว มีผู้เสียหาย แล้วเอาคืนให้เขาไม่ได้ ก็ไม่เข้าข่าย โดยในการประชุม สส.พรรค รทสช.เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็มี สส.ของพรรคเข้าชื่อเซ็นกันครบตามจำนวนแล้ว” รองหัวหน้าพรรค รทสช.กล่าว

มีรายงานข่าวจากพรรค รทสช.ว่า เดิมทีทางพรรคจะยื่นร่าง พ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุข หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคต่อสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในการตรวจทานถ้อยคำในร่างดังกล่าวครั้งสุดท้าย ทางผู้บริหารพรรคมีข้อท้วงติงว่าเนื้อหาบางมาตรายังไม่ชัดเจน อาจก่อให้เกิดปัญหาในการตีความตามมา จึงมีการนำร่างฯ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อปรับแก้ถ้อยคำให้รัดกุมมากขึ้น คาดว่าจะมีการนำร่างพ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุขกลับมาพิจารณาในที่ประชุม สส.วันอังคารนี้ 19 ธ.ค.นี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากเรียบร้อยดีก็อาจจะมีการส่งตัวแทนไปยื่นต่อสภาในสัปดาห์นี้เลยหรือสัปดาห์หน้า แต่หากยังมีปัญหาอยู่ ก็อาจต้องเลื่อนออกไปก่อน

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะสำเร็จหรือไม่ว่า หากพรรคแกนนำมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ก็แก้ได้ แต่การจะแก้ไขต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และในส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่เกี่ยวข้องกับคดีทำผิดมาตรา 112 หากฝั่งที่จะแก้ยืนกรานตนเชื่อว่าไม่ผ่าน  ฟันธงว่าไม่สำเร็จแน่นอน ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ง่าย และมีการใช้งบประมาณทำประชาพิจารณ์เกือบ 7,000 ล้านบาท หาวิธีการที่จะประหยัดงบประมาณได้หรือไม่ เอาเงินจำนวนนี้มาทำโครงการ "คนละครึ่ง" ต่อดีกว่า ซึ่งหากพรรคก้าวไกลไม่ยอมถอยมันก็เดินต่อไม่ได้

"วันนี้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำไว้ให้กับคนไทยมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมาก วันนี้อยากให้ความขัดแย้งลดลง และทุกวันนี้ก็ถือว่าดีขึ้นมาก การชุมนุมต่างๆ ก็น้อยลง คนไทยเริ่มหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น อยากให้คนไทยรักกัน จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ และด้วยนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้และพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่าเราไปได้และทำให้ยั่งยืนได้ ซึ่งมีหลายอย่างที่ทำต่อยอดจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อยากให้หวนกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก ขอให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยและพูดคุยกันจะดีกว่า" นายธนกรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของวุฒิสภา ต่อกรณีการตอบคำถามการรับฟังความเห็นเบื้องต้นของ สว.เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นในกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ได้จัดส่งคำถามดังกล่าวให้ดำเนินการตอบ ในระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้หารือเบื้องต้นว่า จะให้ สว.ให้ความร่วมมือแสดงความเห็นตอบคำถามอย่างอิสระ

วิปวุฒิฯ ปล่อยอิสระแก้ รธน.

โดยนายวันชัย สอนศิริ สว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า คำถามประชามตินั้น เจ้าหน้าที่จะแจกให้ สว.ที่บริเวณหน้าห้องประชุม ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ สว.ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมวิปวุฒิสภา ได้หารือว่าจะให้ สว.ให้ความร่วมือตอบแบบสอบถาม ระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค. จากนั้นจะรวบรวมความเห็นของ สว.ส่งคืนไปยังกรรมการประชามติ การให้ความเห็นถือให้เป็นอิสระของแต่ละบุคคล ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ ถือเป็นอิสระไม่ไปก้าวล่วง ในที่ประชุมวุฒิสภาจะไม่มีการตั้งประเด็นพิจารณาหรือหารือ มีเพียงแค่ประธานในที่ประชุมจะแจ้งให้ทราบว่าจะมีเอกสารแจกเพื่อขอความเห็น ขอให้ทุกคนให้ความเห็นตามอิสระ ไม่มีการเปิดอภิปราย

เมื่อถามว่า คำถามที่ถูกส่งมามีรายละเอียดที่อาจทำให้เกิดปัญหาได้หรือไม่  นายวันชัยกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีประเด็นให้เกิดปัญหา แม้คำถามจะสอบถามถึงรายละเอียดว่าเห็นว่ามีเนื้อหาใดควรแก้ไข หรือจำนวนครั้งที่ทำประชามติ เพราะเป็นเพียงประเด็นที่นำไปประกอบการพิจารณาเท่านั้น แต่สาระต้องเป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนมองว่าหากไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ถือว่าไม่ใช่แก้ทั้งฉบับ แต่หากต้องหาทางออกและตีความ ควรใช้เวทีของรัฐสภาพิจารณาให้ตกผลึกร่วมกัน 

"หากตัดความรู้สึกว่ามาจาก คสช.ไปได้ก็ไม่ต้องแก้ไข แต่หากจะปรับปรุง คงมีแค่การแก้คำปรารภ ตัดคำว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออก เพราะทั้ง 2 องค์กรมาจาก คสช. และปรับแก้ไขปรับปรุงคำระบุว่า โดย สส.ที่มาจากประชาชน แค่นั้นก็จบ ส่วนรายมาตราใดที่ไม่พอใจ ก็ปรับปรุงร่วมกัน ง่าย เร็ว สะดวก ไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองอะไร เพราะรัฐธรรมนูญนี้หากตัดเรื่อง ส.ว.โหวตนายกฯ จะได้ประชาธิปไตยเต็มใบ ผมอยู่ในท้องเรื่อง เข้าใจเรื่องนี้ดี" นายวันชัยกล่าว

นายวันชัยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า  อุ๊งอิ๊งมา เศรษฐาไป...ใช่หรือ? เป็นความกดดันของประชาชนอย่างมาก เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาค้าขายจะต้องดีขึ้น ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมันเหมือนเดิมจะเปลี่ยนรัฐบาลไปทำไม นี่แหละบทหนักจึงต้องไปตกที่นายกฯ เศรษฐา แม้จะสปีดการทำงานแก้ปัญหาทุกสิ่งอย่างเต็มที่ แต่ความรู้สึกของชาวบ้านเขาก็ยังไม่เห็นว่ามีอะไรเปลี่ยน ยังไม่ไปไหน ได้แต่เห็นความขยันความทุ่มเทแล้วก็ไหว้สวยเท่านั้น ถ้ายังขืนเป็นเช่นนี้ เศรษฐาก็เศรษฐาเถอะน่าจะอยู่ยาก แม้ว่าดวงดาวจะเป็นเทพอุ้มสมก็ตาม คงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการกันเสียใหม่ ไม่ต้องถึงขั้นเอาอุ๊งอิ๊งมาแทนหรอก เพราะนั่นมันจะยิ่งไปกันใหญ่

 เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่จำเป็นต้องไปเร่งรีบอะไร ชาวบ้านไม่มีใครเขาเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงเดือน พ.ค.67 สว.ชุดนี้ก็ไปแล้ว รัฐธรรมนูญก็เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะไปแก้ให้เปลืองเงินเป็นหมื่นล้านทำไม มาตราไหน ตรงไหนไม่พอใจก็แก้มันตรงนั้น แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว...

"ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม ถ้าทำแล้วบ้านเมืองมีความปรองดอง มีความรักความสามัคคีก็รีบทำเถอะ มาเริ่มต้นกันใหม่ให้บ้านเมืองมันเดินต่อไปดีกว่า ทำได้รีบทำ อย่าตั้งแง่ตั้งงอนกันเลย จบได้ควรจบ เลิกได้ควรเลิก แม้จะมีคนได้บ้างเสียบ้าง แต่บ้านเมืองมันเดินไปได้ด้วยดี ผมว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว ทำเถอะอย่ามัวรีรอกันเลย" นายวันชัยระบุ

นายพชร จันทรรวงทอง สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า ‘ไม่ประเมินผลงาน 100 วันแรกของรัฐบาล เพราะไม่มีโรดแมปที่ชัดเจน’ ว่า ในความเป็นจริงนายเศรษฐา ทวีสิน รวมถึง ครม. คนอื่นๆ ก็ยังไม่มีใครหยุดทำงาน และค่อยๆ ทำทุกอย่างตามนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่ายของประชาชน การบริหารการท่องเที่ยวผ่านวีซ่าฟรี การปราบบัญชีม้า ปราบคอลเซ็นเตอร์ และเรื่องต่างๆ

เมื่อถามว่า การที่นายพิธาพูดเช่นนี้เป็นการดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่ นายพชร กล่าวว่า เป็น แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของฝ่ายค้าน หากให้นายพิธามาชม มันน่าจะแปลกกว่าเขาออกมาดิสเครดิต ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน หากฝ่ายค้านมาชมรัฐบาลมันก็ไม่ใช่ เขาต้องหาที่ติ ซึ่งก็ไม่มีผลอะไร หากผลงานรัฐบาลออกมาเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรี ครม. สส.ฝ่ายรัฐบาล ตั้งใจทำงาน แต่เนื่องจากเราตั้งรัฐบาลที่ค่อนข้างช้า ทำให้หลายอย่างอาจจะเห็นผลไม่ได้เร็วทันใจ แต่ทุกอย่างที่เราหาเสียงไว้ ขณะนี้ก็เริ่มทยอยทำแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้

'จิราพร' คาดได้เป็นเสนาบดีเพราะ'เศรษฐา' ต้องการพลังคนรุ่นใหม่!

'น้ำ จิราพร' เผยได้เป็นรัฐมนตรีป้ายแดงเพราะนายกฯ หวังใช้พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงาน รับ อายุน้อยสุดในครม. ตื่นเต้นแต่ไม่ตระหนกพร้อมทำทุกหน้าที่