‘ทีมธนาธร’ยึด‘บอร์ดประกันสังคม’

"ลูกทีมธนาธร" ชนะถล่มทลายเลือกตั้ง  "บอร์ดประกันสังคม" หัวหน้าทีมประกันสังคมก้าวหน้า ประกาศลั่น เป็นชัยชนะอีกครั้งของฝ่ายประชาธิปไตย ปักธงจัดระเบียบใหม่การลงทุนให้มีความโปร่งใส เลี่ยงทุ่มเงินธุรกิจไร้ธรรมาภิบาล ขณะที่ "พิพัฒน์” ผิดหวังหนักครั้งแรกในรอบ 33 ปีที่มีการเลือกตั้ง แต่มีผู้มาใช้สิทธิโหรงเหรง

เมื่อวันจันทร์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.)  กระทรวงแรงงาน รายงานผลการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) อย่างไม่เป็นทางการ  เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 66 พบว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งฝ่ายนายจ้าง 7 คน ได้แก่ 1.ดร.มนตรี ฐิรโฆไท (หมายเลข  10) ได้ 409 คะแนน 2.นางวิภาวรรณ มาประเสริฐ  (หมายเลข 9) ได้ 403 คะแนน 3.นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง (หมายเลข 31) ได้ 368 คะแนน 4.นายสมพงศ์ นครศรี (หมายเลข 8) ได้ 319 คะแนน 5.นายสุวิทย์ ศรีเพียร (หมายเลข 19) ได้  315 คะแนน 6.นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ (หมายเลข 3) ได้ 258 คะแนน 7.น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล  (หมายเลข 33) ได้ 252 คะแนน

ส่วนผู้ได้รับการเลือกตั้งฝ่ายผู้ประกันตน (ลูกจ้าง)  7 คน พบว่า "ทีมประกันสังคมก้าวหน้า" ชนะไปเกือบยกทีม ได้แก่ 1.รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (หมายเลข  27) ได้ 71,917 คะแนน 2.นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน (หมายเลข 30) ได้ 69,403 คะแนน 3.นายชลิต รัษฐปานะ (หมายเลข 29) ได้ 69,264 คะแนน 4.นายศิววงศ์ สุขทวี (หมายเลข 28) ได้ 69,256 คะแนน 5.น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ (หมายเลข  31) ได้ 68,133 คะแนน 6.นางลักษมี สุวรรณภักดี  (หมายเลข 32) ได้ 67,113 คะแนน 7.นายปรารถนา โพธิ์ดี (หมายเลข 1) ได้ 15,080 คะแนน

หลังจากนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการแล้วเสร็จ คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งจะส่งรายงานผลคะแนนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ให้แก่คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กดต.) เพื่อรวบรวมคะแนนของที่เลือกตั้งทั้งหมดในจังหวัดนั้นๆ แล้วส่งคะแนนให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เพื่อรวบรวมคะแนนประกาศผลเลือกตั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าผลคะแนนอย่างเป็นทางการจะสามารถประกาศได้หลังปีใหม่ไปแล้ว

ทั้งนี้ บอร์ดประกันสังคมมีวาระ 2 ปี จากนั้นจะมีการเปิดรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมที่ชนะเลือกตั้งฝ่ายตัวแทนผู้ประกันตน เป็นทีมที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของคณะก้าวหน้า โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า  ได้เปิดตัวผู้สมัครบอร์ดประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน 7  คน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มวิชาชีพต่างๆ อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัย, ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานนักสื่อสาร-นักรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการ

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แถลงภายหลังปิดหีบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า รู้สึกผิดหวังกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่น้อยกว่า 50% จากยอดผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนกว่า 8.5 แสนคน แต่มาใช้สิทธิเพียง 1.5 แสนรายเท่านั้น ส่วนยอดนายจ้างมาใช้สิทธิ 46.82% จากจำนวนผู้มีสิทธิ 3,129 ราย ถือว่าใกล้เคียงกับเป้าที่วางไว้ ซึ่งที่จริงอยากให้มีผู้มาใช้สิทธิ 70-80% ทั้งสองฝ่าย

"ที่ผ่านมา สปส.ได้พยายามใช้ทุกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังมีคนออกมาน้อยกว่าเป้ามาก โดยการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ เพื่อเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน มีวาระ 2 ปี เข้ามาทำหน้าที่ดูแลสมาชิกที่เป็นสถานประกอบการกว่า 510,000 แห่ง และผู้ประกันตนกว่า 24.5 ล้านคน การเสนอความคิดเห็น บริหารจัดการ ดูแลผลประโยชน์ และเก็บรักษาเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งยอด ณ ก.ค. 2566 อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท" นายพิพัฒน์ระบุ

โดยช่วงค่ำวันที่ 24 ธ.ค. ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ที่นำโดยนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และผู้สมัครอีก 6 คน หมายเลข 27-33 ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวบริเวณโถงชั้น 2 อาคารอนาคตใหม่ ถนนหัวหมาก หลังการประกาศผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และพบว่าผู้สมัครจากทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

โดยนายษัษฐรัมย์กล่าวว่า ขอขอบคุณพี่น้องคนทำงานที่ได้เดินทางไปลงคะแนนเสียงให้ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ขณะนี้ตนยืนยันได้ว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้รับชัยชนะเกือบจะ 100% แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะอีกครั้งของฝ่ายประชาธิปไตย โดยเชื่อว่าคนที่ออกมาเลือกตั้งนอกจากจะเป็นผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทั้งพนักงานออฟฟิศและคนทำงานอาชีพอิสระ สะท้อนว่าพวกเขาปรารถนาที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากเห็นประเทศนี้มีสวัสดิการที่ดีสำหรับทุกคน จึงขอขอบคุณคนทำงานทุกคนที่ร่วมต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานและสิทธิประกันสังคมมาตลอดกว่า 30 ปี

"ในฐานะตัวแทนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง พร้อมทำงานร่วมกับทุกทีม เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์สูงสุดของคนทำงานทุกคน สิ่งแรกที่จะเร่งทำในฐานะคณะกรรมการประกันสังคม คือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน และการพัฒนาบัญชียาให้มีคุณภาพทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีกทั้งยังต้องจัดการการลงทุนให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้ทำงาน เลิกลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงและไม่มีธรรมาภิบาล การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในที่ทำงาน"

นายษัษฐรัมย์กล่าวถึงกรณีของ น.ส.ธนพร วิจันทร์ ผู้สมัครหมายเลข 33 ที่ไม่มีชื่อในป้ายประกาศผู้สมัคร จนเกิดความกังวลจากผู้ประกันตนว่าถูกตัดสิทธิหรือไม่ และผู้ที่เขียนหมายเลข 33 ลงในบัตรเลือกตั้งจะถือเป็นบัตรเสียหรือไม่ โดยชี้แจงว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด น.ส.ธนพรถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้สิทธิในฐานะผู้ประกันตนขาดช่วงไป โดยได้ต่อสู้เรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้ได้รับชนะในชั้นฎีกาแล้ว  ดังนั้นสิทธิต่างๆ ที่สูญเสียไประหว่างการถูกเลิกจ้างก็ควรจะได้รับกลับคืนมา ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์กับสำนักงานประกันสังคม และเชื่อว่าตามหลักการแล้วจะไม่ถูกตัดสิทธิการเข้าเป็นคณะกรรมการประกันสังคม

ด้าน น.ส.ธนพรกล่าวว่า ตนขอให้ศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมตรวจสอบอีกครั้ง กรณีที่กรรมการการเลือกตั้งบางหน่วยตัดสินให้บัตรเลือกตั้งที่เขียนหมายเลข 33 เป็นบัตรเสีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง