ก้าวไกลจัด33ตัวตึงชำแหละงบ

“วันนอร์” ชวนประชาชนติดตามถกร่าง พ.ร.บ.งบ 67 เด็กเพื่อไทยดักคอฝ่ายค้านอย่าเนียนซักฟอก “โรม” เหน็บรัฐบาลผวาตรวจสอบ ส่งเอกสารให้ช้า “ศิริกัญญา” ขู่ รบ.หนักใจไม่แพ้รับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจแน่ เตือนถ้าไม่รู้เท่าทัน ขรก.อาจเสียเหลี่ยม

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรนี้มา 44 ปี ได้เห็นการพัฒนาของรัฐสภามาโดยตลอด กระทั่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรปี 66 ก็ได้เห็นการพัฒนาไปมาก โดยจะเห็นได้ว่ามีทั้ง สส.คนรุ่นใหม่และ สส.คนรุ่นเก่า รวมถึงหากสังเกตให้ดีจะเห็นการอภิปรายของสมาชิกที่อภิปรายได้มีสาระ มีเนื้อหาที่ครบถ้วน มีการแสดงวีดิทัศน์ภาพของจริงมานำเสนอ และเข้าใจง่าย ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ถือเป็นการวิวัฒนาการการทำงานของสมาชิกสภาฯ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลมีการเอาใจใส่ในการทำงานของรัฐสภามากขึ้น เมื่อมีกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป หรือกระทู้ถามเฉพาะ จะมีรัฐมนตรีมาตอบเกือบทุกครั้ง อาจมีบางครั้งที่รัฐมนตรีติดภารกิจไม่สามารถมาตอบได้ ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าทุกครั้งว่าจะสามารถมาตอบกระทู้ได้เมื่อใด

ประธานสภาฯ กล่าวอีกว่า สภาฯ ชุดนี้ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก พบว่ามี สส.วันละ 40 คน เป็นกระบอกเสียงที่นำปัญหาของประชาชนมาหาทางออกผ่านเวทีสภาฯ ในทุกเช้าวันพุธและเช้าวันพฤหัสบดี หรือประมาณวันละ 40 เรื่อง แต่บางคนก็นำปัญหามาแจ้ง 3-4 เรื่อง เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา

นายวันมูหะมัดนอร์ระบุว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 3  ก.ค. 66 จะเห็นว่าสมัยประชุมที่ผ่านมาอาจยังมีร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาถูกนำมาบรรจุในวาระการประชุม เพราะในช่วงนั้นเพิ่งเลือกนายกฯ คนใหม่ และได้รัฐบาลใหม่โดยที่ยังไม่เสนอกฎหมายเข้ามา ส่วนกฎหมายที่เสนอโดย สส. และภาคประชาชน ก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี

นายวันมูหะมัดนอร์ยังเปิดเผยอีกว่า ช่วงวันที่ 3-5  ม.ค. 67 สภาฯ มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ใช้เวลา 3 วัน ที่รัฐบาลจะนำเสนอต่อรัฐสภา อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญ เพื่อทราบว่าแต่ละกระทรวงใช้งบประมาณเท่าใด เมื่อสภาฯ รับหลักการวาระแรกแล้ว จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อไปพิจารณาในวาระสอง ก่อนจะเสนอกลับมายังรัฐสภาในวาระที่สาม ไม่เกิน 105 วันทำการ หรืออาจใช้เวลาเพียง 90 วัน

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  กล่าวว่า ในวันที่ 2 ม.ค. 67 จะประชุมเตรียมพร้อม มีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการงบประมาณของแต่ละเหล่าทัพ ทีมผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตนจะชี้แจงเองในวาระที่ 1 เพราะไม่มีรัฐมนตรีช่วยและ สส.ช่วยอภิปราย ตนเตรียมพร้อมมาตลอด และวันที่ 2 ม.ค.จะซักซ้อมแนวทาง ส่วนการกำกับดูแลกระทรวงกลาโหม รวมถึงงบประมาณที่จะพิจารณา ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังไม่ได้พูดอะไร เพียงแต่เคยบอกว่าเมื่อมอบให้ดูแล ถ้ามีอะไรหนักใจก็ให้บอกได้ ส่วนกรณีเรือดำน้ำที่มีการสอบถามไปยังอัยการสูงสุด  ยังไม่มีการส่งกลับมา แต่มั่นใจชี้แจงได้หมดในมุมของงบประมาณ

ดักฝ่ายค้านอย่าเนียนซักฟอก

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมรับมือการอภิปรายกฎหมายงบประมาณว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้แบ่งการอภิปรายออกเป็นหมวดๆ อาทิ ด้านสังคม ยุทธศาสตร์ ผู้สูงอายุ  โดยให้ สส.มาลงชื่อว่าต้องการอภิปรายในหมวดใด ขณะนี้กําลังส่งรายชื่อกันมา และจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 3 ม.ค. 67 ซึ่งตนจะมีการหารือกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 2 ม.ค. 67 ก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการติวเข้มอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายครูมานิตย์กล่าวว่า ไม่มี การอภิปรายงบฯ จะไปติวเข้มอะไร เป็นฝ่ายรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนรัฐบาล แต่อาจมีติติงเสนอแนะบ้าง เช่น ปัญหาของเด็กเยาวชน การศึกษา  การคมนาคม

นายครูมานิตย์ยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้จัดสรรงบฯ  ในรอบนี้เองทั้งหมด ต้องยกยอดมาจากรัฐบาลชุดก่อน เนื่องจากทําไม่ทัน หากจะแก้ไขก็ยิ่งล่าช้า เพราะเราจะตั้งรัฐบาลได้ช้า ต้องรองบฯ ปี 68 เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องรับผิดชอบเต็มๆ ทั้งนี้ ฝ่ายค้านจะทำเหมือนอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะต้องยึดกติกาการอภิปรายงบฯ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีกติกาอีกแบบหนึ่ง จะด่ารัฐบาลได้ยังไง เขายังไม่ได้ทำอะไรเลย ต้องให้เขาทำงานก่อน

นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกรณีนายเศรษฐา เชิญหารือเตรียมความพร้อมการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณว่า นายกฯ กำชับขอให้ช่วยกันทำงานเป็นปึกแผ่น ให้อยู่ครบองค์ประชุม ช่วยกันตอบ พรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่ของใคร ใครตอบได้ก็ช่วยกันตอบ ขณะที่พรรค พปชร.จะนำความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มาบอกกล่าว ทั้งนี้ยืนยันพรรค พปชร.สนับสนุนทุกวิถีทางเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ผ่าน หลังจากนี้พรรค พปชร.จะรีดไขมันส่วนเกินงบประมาณ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า ในฐานะรัฐบาลของประชาชน

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ตอบข้อถามกรณีการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่จะเข้าสภาฯ หลังช่วงหยุดยาวว่า ตนคงไม่ได้ลงลึก เพราะเรื่องงบประมาณพรรคมอบให้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าทีมดูแลเรื่องการตรวจสอบงบประมาณ เบื้องต้นคงไม่มีใครได้หยุดในวันหยุด ต้องทำงานกันอย่างขะมักเขม้น เรามีทีมงาน สส.คือนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค ที่ได้คีย์ข้อมูลจากสำนักงบประมาณที่เป็นไฟล์ PDF ก็จะยากในเรื่องหาข้อมูลเชิงลึก เพราะต้องเป็นไฟล์ Excel ที่ขณะนี้ทีมงานของนายณัฐพงษ์กำลังทำอยู่

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ส่วนการอภิปรายเราเตรียมตัวเต็มที่ในภาพรวม รายละเอียดของกระทรวงต่างๆ ว่าการจัดทำงบประมาณตอบโจทย์ประเทศไทยหรือไม่ เพราะเมื่อพูดถึงงบประมาณต้องมาดูว่ามีโจทย์อะไร ซึ่งวันนี้ตนไม่แน่ใจว่า ในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศไทย รัฐบาลเข้าใจโจทย์มากน้อยแค่ไหน เช่นงานความมั่งคงที่ตนติดตามอยู่  ใครดูงานด้านความมั่นคงกันแน่ เท่าที่ทราบคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เข้าใจงานความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน เมื่อเข้าใจน้อยหรือไม่เข้าใจ ก็น่ากังวลต่อทิศทางงบประมาณจะเป็นอย่างไร

ก้าวไกลจัดขุนพลอภิปราย

โฆษกพรรคก้าวไกลระบุว่า ถ้าเราไม่มีโจทย์ชัดเจน แต่ละหน่วย ส่วนราชการต่างๆ ไปคิดและทำกันเอง ประเทศไทยก็จะเดินสะเปะสะปะ อย่างไรก็ตามยอมรับมีเวลาน้อย เรื่องของข้อมูลน่าจะมีเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อส่งมายังสภาฯ ซึ่งตนขอชื่นชม นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะในขณะที่เป็นประธานสภาฯ พยายามทำให้มีเวลา 2 สัปดาห์ในการเตรียมตัว แต่มาครั้งนี้ต้องมาใช้ช่วงปีใหม่ในการเตรียม ทำให้เราทำงานตรวจสอบได้ยากมากขึ้น แต่เข้าใจมนุษย์ปุถุชน ทุกคนอยากหยุดพักผ่อนและ สส.เขตต้องทำงานในพื้นที่

“เมื่อเจอเงื่อนไขตรงนี้ ทำให้เรามีเวลาน้อยที่สุดที่เราต้องเข้าไปดู ซึ่งงบประมาณเยอะขนาดนี้ เอกสารเยอะขนาดนี้ เป็นความท้าทาย เป็นสิ่งที่เราก็เกิดคำถาม ว่า หากรัฐบาลส่งมาเป็นหนังสือไม่ได้ ก็น่าจะส่งเป็นไฟล์ก็ยังดี  เพื่อให้ฝ่ายที่ตรวจสอบทำงานได้ แต่คงเป็นเพราะรัฐบาลไม่อยากให้เราตรวจสอบเท่าไร” นายรังสิมันต์กล่าว

มีความคืบหน้าของพรรคก้าวไกล ในการเตรียมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในธีม "วิกฤติแบบใดทำไมจัดงบแบบนี้"  ซึ่งจะมีการแยกย่อยตามวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยมีผู้อภิปราย 33 คน นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับผิดชอบด้านวิกฤตทางการเมือง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับผิดชอบด้านวิกฤตเศรษฐกิจ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ รับผิดชอบด้านวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5  นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายชยพล สท้อนดี สส.กทม.พรรคก้าวไกล, และนายเอกราช อุดมอำนวย  สส.กทม. รับผิดชอบด้านวิกฤติความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และปัญหางบประมาณกองทัพ  นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล, และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบด้านวิกฤตการศึกษา

น.ส.ศิริกัญญากล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาดักคอฝ่ายค้านว่า อย่าหลงประเด็นใช้การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นเวทีซักฟอก ว่า เราไม่เคยใช้เวทีอภิปรายงบประมาณเป็นเวทีอภิปรายซักฟอกแม้แต่ครั้งเดียว ฝ่ายรัฐบาลที่เคยร่วมฝ่ายค้านมาก่อนก็น่าจะทราบดี ว่าเราโฟกัสแต่เรื่องงบประมาณ ซึ่งสะท้อนมาที่นโยบายและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  อาจจะมีหลุดมาบ้างในเรื่องของนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชัน แต่ไม่ใช่เวทีซักฟอกแน่นอน แต่ความหนักอาจจะไม่แพ้เวทีซักฟอก เนื่องจากเราทำการบ้านมาอย่างหนักและวิเคราะห์กันอย่างเข้มข้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านจะเตือนรัฐบาลในเรื่องใดบ้างหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณ เป็นการประลองกำลังระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการ หากฝ่ายการเมืองไม่เท่าทันฝ่ายราชการ เราก็จะเจอปัญหาอย่างที่เรากำลังเผชิญกัน ฝ่ายการเมืองอาจจะได้แค่สั่ง แต่ไม่สามารถติดตาม ขับเคลื่อน ผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลเกิดขึ้นจริง หรือปรากฏเป็นโครงการอยู่ในงบประมาณได้ ก็จะเป็นการเสียเหลี่ยมทางการเมือง และที่สำคัญในการรู้เท่าทันเรื่องอื่นๆ เช่น การจัดสรรงบไว้ไม่เพียงพอ หากรัฐบาลไม่รู้เท่าทันอีกฝ่าย ฝ่ายราชการอาจจะยัดไส้อะไรบางอย่างเข้ามา โดยที่ตนเองก็ไม่อาจทราบ และอาจจะเกิดผลร้ายได้ในภายหลัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง