ก.ก.เมินตำแหน่งกมธ.งบฯ งดถ่ายทอดสดหวั่นถูกฟ้อง

"ภูมิธรรม” นั่ง ปธ.กมธ.งบฯ "ก้าวไกล" ปักหลักฝ่ายค้านไม่ร่วมวง สละทุกตำแหน่ง เสียงเป็นเอกฉันท์งดถ่ายทอดรวมถึงไลฟ์สด หวั่นเจอฟ้องร้องระนาว ขณะที่ สว.ไม่ปล่อยมือ ตั้ง กมธ.คู่ขนานตามประกบ "เศรษฐา" ยัน  3 รมต.พ้นเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่กระทบการทำงาน 

เมื่อวันจันทร์ เวลา 16.00 น. วันที่ 8 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นัดแรก เพื่อแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ โดยที่ประชุมให้นายทวี สุระบาล สส.ตรัง  พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราว และมีมติให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน กมธ.               

ส่วนรองประธาน 19 คน ได้แก่ 1.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.), 2.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, 3.นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, 4.นายวราเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), 5. นางมนพร เจริญศรี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม,

6.นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, 7.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), 8.นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค พท., 9.นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.), 10.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.)

11.นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรค พปชร., 12. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต สส.เชียงราย พรรค พท., 13.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรค พท., 14.น.ส.จิราพร สินธุไพร รองหัวหน้าพรรค พท., 15.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ  สส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), 16.นายสรวุฒิ  เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, 17.นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.), 18.นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช  พรรค ปชป. และ 19.นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ (ปช.)

ขณะที่เลขานุการ 6 คน ได้แก่ 1.นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ สัดส่วนพรรค พท., 2.นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรค พท., 3.น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรค พท., 4.น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย พรรค พท., 5.นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ สส.ศรีสะเกษ พรรค ภท. และ  6.น.ส.กุลวลี นพอมรบดี สส.ราชบุรี พรรค รทสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายศรัณย์ได้เสนอชื่อโฆษก กมธ.ทั้ง 7 คน โดยมีชื่อ น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ และนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นั้น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ได้แย้งว่า ทั้งนายณัฐพลและน.ส.พนิดาไม่ได้เสนอชื่อเป็นโฆษก กมธ. ขอให้นำรายชื่อทั้งสองรายชื่อออก ทำให้เหลือโฆษก กมธ.แค่ 5 คน ได้แก่ 1.นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรค ภท.,

2.นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท., 3.น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท., 4.นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์ พรรค พปชร. และ 5.นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรค ปชป. แต่สุดท้ายมีผู้เสนอให้เพิ่มโฆษกที่เหลืออีก 2 คน รวมเป็น 7 คน คือ นาย นายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรค รทสช. กับนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สส.เพชรบุรี พรรค รทสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในทุกตำแหน่งพรรค ก.ก.ไม่ได้เสนอชื่อแม้แต่ตำแหน่งเดียว นอกจากนี้ ในที่ประชุมนายภูมิธรรมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะจัดให้มีการถ่ายทอดสดภาพและเสียงไปยังบริเวณหน้าห้องประชุม ห้องรับรองผู้ชี้แจง เพื่อให้สามารถติดตามการประชุมได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงที่ประธานเห็นสมควรว่าเป็นการประชุมลับ

แต่ น.ส.ศิริกัญญาได้ขอให้มีการถ่ายทอดสดภาพและเสียงไปยังช่องทางสาธารณะ โดยอ้างอิงรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่พิจารณาการถ่ายทอดสดการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ว่าอยู่ในอำนาจการพิจารณาของประธานที่จะให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมหรือไม่

ทั้งนี้ มีกรรมาธิการไม่เห็นด้วย อาทิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เนื่องจากกังวลว่าการอภิปรายงบประมาณบางครั้งจะพาดพิงไปถึงบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งกฎหมายจะคุ้มครองเฉพาะคนที่พูดในห้องประชุม หากถ่ายทอดออกไปอาจจะทำให้เกิดปัญหาจนมีการฟ้องร้องกันได้

ขณะที่นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ระบุว่า ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่ประธานเสนอมาก็เพียงพอแล้ว เพราะข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่ได้ใช้กับการประชุม กมธ. เพราะยังไม่ได้มีการแก้ไขข้อบังคับ หากถ่ายทอดสดออกไปแล้วมีการฟ้องร้อง โดยเฉพาะข้าราชการของสภาฯ จะเดือดร้อน ดังนั้นจึงขอให้ทำเหมือนทุกปีที่ผ่านมาเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ทำให้น.ส.ศิริกัญญายินยอมให้พิจารณาเป็นไปตามเดิม ขณะที่นางมนพร เจริญศรี เสนอในที่ประชุมว่าห้ามไลฟ์สดบรรยากาศในห้องประชุมออกไปด้วย

ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว. เปิดเผยว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 กระบวนการถือว่าช้ามาก ทำให้มีเวลาทำงานน้อย ตามกำหนดการต้นเดือน เม.ย.จะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นสัปดาห์ และต้องส่งให้ สว.พิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 9-10 เม.ย. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายประมาณวันที่ 17 เม.ย. กรอบเวลาของ สว.ในการพิจารณามีน้อยมาก แค่ 6-7 วัน

พล.อ.เลิศรัตน์ระบุว่า ด้วยเหตุนี้ประธานวุฒิสภาจึงมีดำริให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 โดยในส่วนของวุฒิสภาจะตั้งพรุ่งนี้เช้า (9  ม.ค.) จำนวน 41 คน มีทั้งจาก กมธ.วิปฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 5 คน และจะเริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. คู่ขนานไปกับ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะช่วยให้ส่วนราชการด้วยได้มาชี้แจงคู่ขนานกันไปอย่างสะดวก

"ประมาณวันที่ 20 มี.ค. กมธ.ของ สว.ก็จะจบการพิจารณา พร้อมกับ กมธ.ของสภาฯ จากนั้นจึงเข้าสู่การแปรญัตติ และนำเข้าสู่วุฒิสภาเพื่อเปิดอภิปรายงบประมาณในวันที่ 9 เม.ย.ต่อไป เพื่อให้ข้อเท็จจริงและรู้รายละเอียดเพียงพอ ซึ่งตอนนี้ทยอยแจกเอกสารรายละเอียดไปแล้ว เพื่อให้สมาชิกทยอยมารับ” พล.อ.เลิศรัตน์ระบุ

ขณะที่นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต สส.กทม. กล่าวว่า ในการอภิปรายวาระแรก สส.ของพรรคกล่าวถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่กำลังต้องโทษ แต่ขณะนี้ดูเหมือนติดคุกทิพย์อยู่ ขอทำความเข้าใจว่าที่เราพูดไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือความแค้นส่วนบุคคล แต่เป็นบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยที่จะต้องทำให้เกิดความกระจ่าง ขอฝากถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะได้รับหน้าที่ให้กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ต้องทำเรื่องที่สังคมเคลือบแคลงให้ชัดเจน

 “นายพีระพันธุ์เคยพูดว่าไม่เคยเกรงใจใคร ผมจึงเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อพิสูจน์คำพูดตัวเอง และขอความกรุณาให้ร่วมมือกับกลไกการตรวจสอบของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะกับการทำงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจที่จะเข้าไปดูแลเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างในสังคมว่า นักโทษทุกคนได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ไม่สองมาตรฐาน" นายชรินทร์ระบุ  

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะไม่กระทบกับการทำงานของรัฐบาลใช่หรือไม่ว่า ไม่มี ตนเชื่อว่าการทำหน้าที่รัฐมนตรีจะดีขึ้น เพราะท่านได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ ตามที่นายสมศักดิ์ได้พูดไปว่างานตามกระทรวงต่างๆ ก็เยอะอยู่แล้ว พร้อมกับย้ำว่าไม่มีนัยอะไร เพราะเป็นเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารว่า เดิมนัดไว้วันที่ 25 ม.ค. แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีภารกิจด่วน อาจจะมีการเลื่อน ซึ่งนายกฯ คงจะได้กำหนดวันใหม่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นวันไหน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นการเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็ต้องเชิญหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคทุกพรรค เมื่อถามว่า รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นคนเชิญ ต้องให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีช่วยเชิญ เราเป็นเจ้ามือ ไม่ใช่เจ้าภาพ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลจนถึงขณะนี้ยังเหนียวแน่นอยู่ใช่หรือไม่ นายอนุทินยิ้มพร้อมกล่าวว่า ไม่อยากจะโชว์รูปว่าเมื่อวันที่ 7 ม.ค. มีใครมากอดคอตน  เมื่อถามอีกว่า ยังคงมีข่าวพรรคภูมิใจไทยเป็น 1 ในเป้าหมายที่จะถูกปรับออก เพื่อนำพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเสียบแทน นายอนุทินกล่าวว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง