สิระต้องคืนเงิน10ล้าน ลาม‘อุตตม’รับรองเท็จ

"ชวน" แจ้งสภา "สิระ" พ้นสมาชิก เหลือ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ 475 คน "หมอสุกิจ" แจงยิบต้องคืนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ใน 1 เดือน คาดราวๆ 10 ล้านบาท อดีต กกต.ชี้ ร้อนไปถึง "อุตตม สาวนายน" อดีตหัวหน้า พปชร. ส่อหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี "บิ๊กป้อม" มั่นใจไม่ถึงขั้นต้องยุบพรรค พปชร. โบ้ยเป็นเหตุส่วนตัว

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากให้นายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) นับแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มีนาคม 2562 ดังนั้นทำให้ ส.ส.เท่าที่มีอยู่และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขณะนี้คือ 475 คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 238 คน

ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายสิระสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค.62 และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 151 ววรคสอง ระบุในกรณีกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงคำวินิจฉัยเต็มเมื่อไหร่ ก็คงจะได้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ โดยสำนักงานการคลังกำลังดำเนินการรวบรวมจำนวนเงินเพื่อรายงานไปยังเลขาธิการสภาฯ

จากนั้นจะแจ้งไปยังนายสิระให้คืนเงิน ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว ส่วนเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่นั้น วันนี้คงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่สำหรับหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินกรณีนี้ ซึ่งเคยใช้กับอดีต ส.ส.พรรคก้าวไกลท่านหนึ่งที่มีกรณีใกล้เคียงกัน คือพ้นจากสมาชิกภาพ และตอนนี้อยู่ระหว่างการคืนเงินให้สภา

นพ.สุกิจกล่าวต่อว่า สำหรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ส.ส. มีดังนี้ 1.เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม คิดตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือวันที่ 24 มี.ค.62-วันที่ 22 ธ.ค.64 เดือนละ 113,560 บาท 2.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประชุม คือค่าพาหนะ 3.ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การประชุม 1 ครั้ง เบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท วันละไม่เกิน 2 คณะ เบี้ยประชุมคณะอนุ กมธ. ครั้งละ 800 บาท วันละไม่เกิน 2 ครั้ง 4.ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้สมาชิกคือ ผู้ช่วย ส.ส. 5 คน คนละ 15,000 บาท, ผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ส. 2 คน คนละ 15,000 บาท, ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. 1 คน 24,000 บาท 5.ค่าโดยสารเครื่องบินโดยใช้ใบเบิกทาง 6.ค่ารักษาพยาบาล มีขั้นตอน และอัตราการเบิก และ 7.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏบัติหน้าที่ในฐานะ กมธ. ทั้งหมดนี้เมื่อแจ้งไปยังนายสิระแล้ว จะต้องคืนเงินภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ระหว่างนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ กำลังรวบรวมเงิน ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อความถูกต้องชัดเจน

มีรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ กำลังคำนวณเงินที่นายสิระต้องคืนอยู่ราวๆ 8-10 ล้านบาท

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า คดีของนายสิระถือเป็นผู้เคยต้องพิพากษาถึงที่สุดในคดีฉ้อโกง ส่วนผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐจะต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ถูก อีกสักพักหนึ่งก็คงเข้าใจชัดเจน แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ถูกว่าในตอนนั้นผู้บริหารของพรรคพลังประชารัฐทราบเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับนายสิระมากน้อยแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางฝ่ายมองว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เนื่องจากเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง รองนายกฯ ตอบว่า ต้องรอดูความชัดเจนในช่วงการรับสมัครและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ได้มีการตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่

เมื่อถามว่า หากจะมีผู้ไปยื่นร้องเอาผิดกับ กกต.และผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น จะสามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่ทราบเหมือนกัน เท่าที่ได้ยินเบื้องต้นมีคนบอกว่าทำได้ แต่ตนไม่แน่ใจ

ถามว่ามีข้อกฎหมายใดที่มีส่วนปกป้อง กกต.ในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ กกต.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบผู้สมัคร แต่บางครั้งก็อาจจะตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวที่สภาผู้แทนราษฎรจะเรียกเงินเดือนและรายได้ทั้งหมดคืนจากนายสิระจากกรณีดังกล่าว รองนายกฯ ตอบว่า ก็ควรจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะนายสิระขาดคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่มาสมัครเลือกตั้ง ไม่ใช่มาขาดคุณสมบัติหลังจากเป็น ส.ส.แล้ว

ซักว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของนายสิระในฐานะประธานกรรมาธิการในสภาฯ จะถือเป็นโมฆะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีผล สิ่งที่นายสิระเคยทำไว้ในฐานกมธ.ก็ยังคงอยู่

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาระบุว่า ลมหนาวอาจไม่พัดผ่านแค่ย่านหลักสี่ แต่อาจหนาวยะเยือกไปถึงที่อยู่ของคนที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคในขณะที่มีการรับสมัคร ส.ส.ด้วย

ทั้งนี้ มาตรา 120 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุว่า หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดออกหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

"หัวหน้าพรรคขณะนั้นเป็นใคร รู้เห็นเป็นใจไหมว่าหนังสือรับรองนั้นเป็นเท็จวันนี้ท่านยังตั้งใจทำงานการเมืองต่อหรือไม่ เพราะเรื่องอาจต่อเนื่องไปถึงการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในอนาคต ฤดูหนาวยังอีกยาวนาน น่าจะยังเป็นประเด็นไม่จบโดยง่าย" นายสมชัยระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐขณะนั้นคือ นายอุตตม สาวนายน

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า “ความผิดของนายสิระเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ต้องห่วง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการกฎหมายเข้ามาดูเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูอยู่แล้ว”

ถามว่าเรื่องนี้จะถูกโยงไปถึงคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า ก็ไม่รู้ มันจะไปยุบได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของตัวบุคคล

วันเดียวกันนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ในนามตัวแทนพรรคเล็ก ร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อประธานรัฐสภา ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายวิเชียรกล่าวว่า การยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมูญทั้ง 2 ฉบับนี้ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภา ในหลักการพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมเราจะทำเฉพาะส่วนที่กระทบจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้มีสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรง เราก็ใช้หลักการนั้นมาบัญญัติ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรการเมือง ประเด็นที่ 1 คือประชาชนเดือดร้อนในการสมัครเป็นสมาชิกพรรค เราเสนอให้ปรับลดค่าธรรมเนียมการสมัคร จากปีละ 100 เป็นปีละ 20 บาท ส่วนกระบวนการที่มีความกังวลเรื่องไพรมารีโหวต ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 เราได้ใช้กระบวนการที่เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ คือ สมาชิกมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดสรรให้ได้ผู้สมัครแต่ละเขต ซึ่งเรายังคงหลักการนั้น แต่ในส่วนของวิธีการที่กำหนดให้ทำไพรมารีโหวตโดยลงคะแนน เราเห็นว่าเป็นกระบวนการที่เกินกว่าหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เราจึงเสนอให้รับฟังความเห็นสมาชิกผ่านตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือตัวแทนสาขา

ด้านนายชินวรณ์กล่าวว่า คาดว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุระเบียบวาระได้ประมาณต้นเดือน ก.พ.65 และคาดว่าจะทำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยพิจารณาวาระแรกช่วงเดือน ก.พ. จากนั้นจะพิจารณาวาระ 2-3 ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือน ก.ค.65 จะแล้วเสร็จ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง