พท.ชงแก้รธน.ตั้งส.ส.ร. หวังทำประชามติ2ครั้ง

"ชูศักดิ์" นำ 122 สส.เพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไข รธน.เสนอแก้ ม.256 ชงตั้ง ส.ส.ร. หวังให้ศาล รธน.ชี้ขาดต้องทำประชามติกี่ครั้ง ยันทำ 2 ครั้งช่วยประหยัดงบ จ่อยื่นแก้ กม.ประชามติ 3 ประเด็น

ที่รัฐสภา วันที่ 22 มกราคม พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค, นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้วและเลขาธิการพรรค พร้อมคณะ แถลงกรณีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...

โดยนายชูศักดิ์กล่าวว่า ตนและ สส.พรรค พท. จำนวน 122 คน ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1.การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนที่คณะกรรมการชุดนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ แก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำลังจัดทำรายงานสรุปเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่าที่รับทราบมีข้อสรุปว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเสนอให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ครั้งที่ 1 จะเสนอถามประชาชน  โดยยังไม่มีร่างแก้ไขต่อรัฐสภา ว่าสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 เมื่อมีร่างแก้ไขมาตรา 256 เสนอต่อรัฐสภา และร่างได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และครั้งที่ 3 เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแล้ว โดยคณะทำงานของพรรค พท. เห็นว่าสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีการระบุว่าให้ถามประชาชนก่อน ว่าต้องการจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และการถามประชาชนก่อน ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งอาจตีความได้ว่าสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อแก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกระบวนการ ส.ส.ร.ไปก่อนได้

นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐสภาอนุมัติร่างแก้ไข มาตรา 256 ในวาระสามแล้ว จึงไปสอบถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยถามพร้อมไปกับคำถามที่ว่า เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขณะที่สอบถามก็ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น จึงถือได้ว่าได้สอบถามประชาชนก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากทำได้เช่นนั้นก็สามารถลดการทำประชามติเหลือเพียงสองครั้ง ทำให้ลดภาระงบประมาณได้ 3 พัน-4 พันล้านบาท เราจึงเห็นว่าประเด็นดังกล่าว ผู้ที่จะชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาสมาชิกตีความคำวินิจฉัยแตกต่างกันไป

นายชูศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามอำนาจหน้าที่และแนวปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ตอบคำถามหรืออธิบายรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่เป็นองค์กรวินิจฉัย โดยรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ แต่จะวินิจฉัยได้ก็ต้องมีคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องอ้างปัญหาความขัดแย้ง หรือความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้คือ การที่ต้องถามประชามติของประชาชนก่อนว่า เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น สามารถกระทำได้โดยเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไปก่อน และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้ว จึงถามประชามติประชาชนไปพร้อมกับการถามประชามติ ร่างแก้ไขมาตรา 256 ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องสอบถามประชาชนก่อนโดยที่ยังไม่ได้เสนอญัตติใดๆ ต่อรัฐสภาเลย

สส.พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เหตุดังกล่าวพรรค พท.จึงเห็นควรให้เสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภา และหากยึดแนวทางที่ผ่านมา หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติดังกล่าวตามข้อเสนอของสำนักกฎหมายประธานรัฐสภา โดยอ้างว่าไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องถามประชาชนก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา กรณีก็จะเกิดประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา  และหากเป็นเช่นนั้นพรรค พท.มีสิทธิ์ที่จะเสนอประเด็นความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยขอให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ และจะนำไปสู่คำตอบว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง

 “พรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจและเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเข้าใจดีถึงความซับซ้อน ความเห็นที่แตกต่างกันในข้อกฎหมาย  เจตนาที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อหาข้อยุติว่าควรทำประชามติกี่ครั้ง หากสามารถหาคำตอบได้ว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้ง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความกระชับ และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็น โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาเกิดจากคำวินิจฉัยที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น หากในที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ ก็จะถือว่าปัญหาการทำประชามติก็จะจบลง และทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม“ นายชูศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า กังวลว่าจะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อนหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า  เราแก้มาตรา 256 และเพิ่มเติมคือเรื่อง ส.ส.ร. และหากไปถามประชาชนในตอนนั้น และหากในตอนนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราคิดว่าแบบนี้จะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเราคิดว่าไม่ได้เป็นการขัดคำวินิจฉัยอะไร

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ประชามติร่วมด้วยหรือไม่ เพราะมีข้อกังวลเรื่องเสียงข้างมากสองชั้น อาจทำให้การทำประชามติไม่ผ่าน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คณะทำงานของพรรคได้พูดคุยกับเลขาธิการพรรคแล้ว เรามีมติว่าจะขอแก้ไขกฎหมายประชามติด้วย  และขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว โดยมี 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก แก้กฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่มีเงื่อนไขว่า เสียงข้างมากนั้นต้องไม่ต่ำกว่าเสียงประสงค์ไม่ลงคะแนน ประเด็นที่สอง เราเสนอว่าประชามตินั้นอาจทำพร้อมกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ ประเด็นที่สาม ประชามติในอดีตส่วนใหญ่คือการลงคะแนนโดยใช้บัตร แต่ต่อไปนี้เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งนี้เรากำลังเตรียมเสนอให้หัวหน้าพรรคและเลขาฯ พรรคร่วมลงชื่อเสนอเป็นญัตติต่อรัฐสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยชนะ' ฟาดเต็มหน้า 'เพื่อไทย' ดิจิทัลวอลเล็ตคืบหน้าในการหาแพะรับบาป  

“ชัยชนะ” ฟาด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ มีความคืบหน้าในการหา ‘แพะรับบาป’  ชี้ ‘เพื่อไทย’ เผชิญพายุหมุนที่ไม่สามารถเดินหน้าทำโครงการได้ – แนะเอาโครงการคนละครึ่ง มาปรับปรุงแก้ไข

'นิพิฏฐ์' เย้ย 'ก่อแก้ว' ถ้าจะชวนทะเลาะ คลานออกมาจากกระโปรงอุ๊งอื๊ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ก่อแก้ว พิกุลทอง ถ้าจะทะเลาะกับผม คลานออกมาจากกระโปรงอุ๊งอื๊ง