ดาหน้าขยี้ก้าวไกล ชงยุบ-ฟันจริยธรรม-กบฏ ชัยธวัชยอมรับพรรคเสี่ยง

"ก้าวไกล" อ่วม! เจอดาหน้าดาบสอง "เรืองไกร" ยื่น กกต.ส่งศาล รธน.วินิจฉัยยุบพรรค ก.ก.ล้มล้างการปกครอง "ธีรยุทธ" ขยับซ้ำร้องป.ป.ช.ฟันจริยธรรม ไม่หวั่นถูกมองสร้างความขัดแย้ง บอกต้องสานต่อให้ครบถ้วน "มงคลกิตติ์" จี้ ผบ.ตร.สอบเข้าข่ายข้อหากบฏหรือไม่ "ก.ก." ขยับลบนโยบายแก้ ม.112 ออกจากเว็บไซต์ "ชัยธวัช" นำทีมถก สส.ทำความเข้าใจสถานการณ์ ยังดื้อบอก สส.พูดแก้ 112ได้อยู่ รับพรรคเสี่ยงโดนยุบ "ก๊วน 44 สส." ลงชื่อแก้ 112 ไม่หวั่นโดนจริยธรรมตัดสิทธิ์การเมือง "ปิยบุตร" ปลุกโต้กลับแก้ กม.ยุบศาล รธน.บ้าง "พท." ชิงย้ำไม่เคยชูแก้ 112 หาเสียง

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 1 ก.พ.2567 เวลา 10.00 น. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์ทางการเมือง จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล  กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย​อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง

นายเรืองไกรกล่าวว่า ศาล รธน.ระบุชัดเจนผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาล รธน.สั่งได้อย่างเดียวคือให้เลิกการกระทำ และวินิจฉัยว่าให้เลิกการกระทำอย่างไร โดยตนเข้าใจว่าห้ามยกเลิกมาตรา 112 และอีกข้อหนึ่งที่เข้าใจ คือ การจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายอื่นๆ เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่จะตรากฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก สามารถทำได้แต่ต้องชอบด้วย ดังนั้นถ้าศาลวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว คำว่ากำลังการปกครองอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งในกรณีนี้มีพรรคเดียวที่เคยโดนคือพรรคไทยรักษาชาติ

"ผมยื่นเรื่องขอให้ กกต.นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวยื่นเรื่องต่อศาล รธน.เพื่อวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (1) (2) ซึ่งคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวจะผูกพันถึง กกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ ส่วนองค์กรที่ 2 คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกร้องเป็น สส. 44 คน ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวผมได้เคยยื่นเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2564 ซึ่งนี่เป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ไม่ได้มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือนำความเห็นส่วนตัวมาร้องแต่อย่างใด" นายเรืองไกรกล่าว

ถามว่า คำวินิจฉัยนี้จะส่งผลต่อพรรคการเมืองๆ อื่นๆ ที่เคยใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง หากมีน้ำหนักพอก็จะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่เคยหาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112 

ซักว่ามั่นใจพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ไม่น่าจะรอด เพราะศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งก็จะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายเรืองไกรกำลังให้สัมภาษณ์อยู่นั้น น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) กลุ่มทะลุวัง และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ปรากฏตัว โดยมีเชือกพันธนาการที่ข้อมือและลำคอของทั้งสองคน เดินทางเข้ามาในพื้นที่พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ 

"เราหญิงสาวทั้งสองคนได้กระทำการล้มล้างการปกครองด้วยโพลอันนี้ กระดาษแผ่นนี้และสติกเกอร์นี้ กระดาษและสติกเกอร์ที่ราคาไม่กี่บาท ที่ถูกมองว่าทำให้ประเทศนี้ล่มจม พวกเรารู้สึกผิดไปแล้วที่ทำให้ประเทศนี้ถูกล้มล้างการปกครอง ได้โปรดประหารเราแทนเพื่อนทั้งหลายด้วยเถิด เพราะเราทำผิดกว่าพวกเขามาก" น.ส.ทานตะวันและ น.ส.อรวรรณกล่าว

ดาหน้าร้องยุบ 'ก้าวไกล'

ต่อมาเวลา 11.00 น. นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้องต่อศาล รธน.ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธาและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ เดินทางมาที่ กกต. ยื่นคำร้องต่อประธาน กกต.และ กกต. ให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกลตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาล รธน. 

นายธีรยุทธกล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาล รธน. มีผลผูกพัน กกต.ด้วย ดังนั้นตนเป็นคนหลักที่ยื่นคำร้องเรื่องดังกล่าว จึงมองว่าเป็นเรื่องผูกพันที่จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำคำร้องเพื่อนำเสนอต่อ กกต. พร้อมเอกสารกว่า 100 หน้า เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล รธน. ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1 โดยขอให้ยื่นคำร้องต่อศาล รธน.พิจารณาสั่งยุคพรรคก้าวไกล

ถามว่า ในอนาคตหาก กกต.มีการส่งศาล รธน.ให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้ง นายธีรยุทธกล่าวว่า ไม่ได้กังวลใจ เพราะคำวินิจฉัยของศาลเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกลหรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาล รธน. ก็เชื่อว่าหลักการนี้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง

"ที่มีนักวิชาการบางคนมองคำวินิจฉัยสร้างบรรทัดฐานใหม่ การจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ อีกทั้งในและนอกสภานั้น แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่านหรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยโดยละเอียด อาจจะฟังแบบผิวเผิน ให้กลับไปฟังให้หลายๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายช่วงก่อนจะจบท่านวินิจฉัยโดยบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ" นายธีรยุทธกล่าว

อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล 44  คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธาด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง  เชื่อว่าจะเหมือนกับกรณีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หรือเต้  หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เพื่อขอให้นำคำพิพากษาของศาล รธน. กรณีนายพิธาและพรรคก้าวไกล ใช้นโยบายหาเสียงแก้ ม.112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นการกระทำเข้าข่ายฐานความผิดข้อหาเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญาม.113 (1) ด้วย

 "ผบ.ตร.มีอำนาจหน้าที่ตาม รธน.และตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  พ.ศ.2565 ตามมาตรา 1 ต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ จำเป็นต้องนำคำพิพากษามาเป็นองค์ประกอบและวินิจฉัยพฤติกรรมและพฤติการณ์ของนายพิธาและพรรคก้าวไกล หากไม่ดำเนินการ ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นายมงคลกิตติ์กล่าว

ด้านความเคลื่อนไหวพรรคก้าวไกล ล่าสุดบนเว็บไซต์ https://election66.moveforwardparty.org ที่มีข้อมูล 'เลือกตั้ง 66' ของพรรคก้าวไกล 3 ส่วน ได้แก่ 1.ข้อมูล สส.เขตทุกคนทั่วประเทศ 2.ข้อมูล สส.บัญชีรายชื่อทุกคน และ 3.ข้อมูลนโยบายพรรคกว่า 300 นโยบาย นโยบาย ‘แก้ไข มาตรา 112’ ซึ่งเคยปรากฏอยู่ในลิงก์  https://election66.moveforwardparty.org/policy/detail/policy_21  ได้หายไป และไม่ปรากฏข้อความอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในเว็บไซต์นี้ด้วยเช่นกัน

'ชัยธวัช' ยอมรับพรรคเสี่ยง

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลได้นัดประชุม สส. วันที่ 1 ก.พ. เวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา โดยแหล่งข่าวรายงานว่า มีการขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมประชุมเก็บโทรศัพท์มือถือด้วย จึงคาดว่าเนื้อหาการประชุมในครั้งนี้ไม่ใช่วาระการประชุมปกติทั่วไปประจำสัปดาห์ แต่เป็นการหารือถึงแนวทางของพรรคในอนาคตเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว 

กระทั่งเวลา 16.20 น. สส.พรรคก้าวไกล ทยอยเดินทางมาที่ห้องประชุม ภายในรัฐสภา ตามที่มีการนัดหมาย โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วม สส.ว่า เป็นการพูดคุยกับ สส.เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ให้ตรงกัน และหารือการทำงานของพรรค โดยหลังจากนี้ สส.จะยังทำงานตามปกติ

ถามถึงกรณีเว็บไซต์พรรคลบนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกเนื่องจากสาเหตุใด นายชัยธวัชกล่าวว่า เนื่องจากฝ่ายกฎหมายเห็นว่าเป็นประเด็นที่ศาล รธน.หยิบขึ้นมาอยู่ในคำวินิจฉัยด้วยว่าการที่ยังมีนโยบายเรื่องนี้อยู่ในเว็บไซต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่บทสรุปว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งความจริงเราไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นสาระสำคัญ

ซักถึงการที่ สส.หรือสมาชิกพรรคยังมีความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ในสื่อโซเชียลมีเดีย นายชัยธวัชกล่าวว่า คำวินิจฉัยไม่ได้บอกว่า สส.จะเสนอแก้ไขปรับปรุง ม.112 ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น สส.พรรคไหน ซึ่งตนได้ย้ำในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ไปแล้วว่า ม.112 ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้นการที่สมาชิกพรรคบางส่วนยังมีความเห็นว่าควรแก้ไขมาตรานี้ก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องดูว่าอะไรคือการเสนอกฎหมายโดยชอบตามคำวินิจฉัยของศาล รธน.

ถามว่า มีอดีต สส.พรรคก้าวไกล อาทิ น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะเป็น 1 ใน 44 รายชื่อที่ยื่นแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 64 หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่คิดว่าน่าจะมาประชุมคณะกรรมาธิการฯ ไม่ใช่วาระที่จะคุยกับกลุ่ม สส. 44 คน 

ซักว่ากังวลหากถูกร้องจริยธรรม ซึ่งอาจมีโทษถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องจริยธรรมเป็นคนละเรื่องกับเรื่องถูกร้องยุบพรรค เป็นคนละกระบวนการ และน่าจะใช้เวลามากกว่า ไม่ได้บอกว่าหากเป็นคดีจริยธรรมแล้วถูกตัดสินว่าผิด จะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตขึ้นอยู่กับศาล ซึ่งส่วนนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคก็ได้เตรียมต่อสู้ไว้อยู่แล้ว เรายังคงต้องรอดูคำวินิจฉัยตัวเต็ม เพราะยังมีรายละเอียดทางกฎหมายอยู่

 “ไม่ว่าจะโดนร้องเรื่องอะไร ตอนนี้สิ่งที่เรารอคือรอดูคำวินิจฉัยตัวเต็ม เพราะจะมีความสำคัญในทางข้อกฎหมาย” นายชัยธวัชกล่าว

ถามถึงการนัดรับประทานอาหารค่ำของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า เป็นการนัดรับประทานอาหารกันตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่หลายพรรคไม่เคยทำงานร่วมกันใกล้ชิด ดังนั้นแทนที่จะประชุมกันเพื่อให้มีความใกล้ชิดรู้จักกัน ก็น่าจะนัดรับประทานอาหารกันสักครั้ง ไม่ได้มีวาระอะไร

ซักว่า กังวลคำวินิจฉัยศาล รธน.จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์พรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ หัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า ไม่ได้กระทบแน่นอน แม้ว่าเราจะมีความเห็นหรือข้อวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวได้ประเมินถึงการยุบพรรคไว้หรือไม่ นายชัยธวัชยอมรับว่า มีความเสี่ยง อย่างน้อยวันนี้ก็มีคนไปร้องแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ป๊อกปลุกแก้ กม.ยุบศาล รธน.

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าไม่ย่อท้อ และจะวางแผนลงพื้นที่ต่อ เพราะมีแผนงานประจำปี แต่ตอนนี้ต้องเป็นแผนงานประจำเดือน และวันนี้เป็นวันพฤหัสบดี ก่อนที่ สส.จะทยอยกลับบ้านกัน จึงขอใช้โอกาสนี้ในการประชุมประจำเดือน ก.พ.ไปเลย

ถามถึงกรณีหลายคนไปร้องเรียนพรรคก้าวไกล นายพิธากล่าวว่า ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวกรณีมีคนไปร้อง ป.ป.ช.เอาผิด

ผิดจริยธรรมผู้ที่ร่วมลงชื่อแก้ไข ม.112ว่า เรื่องนี้ตนไม่ได้กังวล เพราะทุกวันนี้ทุกคนไม่ได้เสียสมาธิกับการทำงาน เราทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ดังนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ

"กลุ่ม 44 คนที่ร่วมลงชื่อไม่ได้กังวล  เพราะไม่ว่าจะเป็น น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ สามารถขึ้นทำหน้าที่แทนพวกเราได้ และผมเชื่อว่าการทำงานการเมืองแบบนี้ต่อไปก็จะมีคนมาเติมเต็มไปเรื่อยๆ อย่างไรเสียเรื่องของแนวคิดการขับเคลื่อนพรรคไม่หายไปไหน เราได้เตรียมพร้อมทางด้านการเมืองอยู่แล้วกับทุกความเป็นไปได้ ดังนั้นคิดว่าตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำคือโฟกัสกับการทำหน้าที่ให้เต็มที่ที่สุด" นายณัฐพงษ์กล่าว 
วันเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "ข้อเสนอทางกฎหมายที่พอเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน" ตอนหนึ่งระบุว่า การต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจล้ำแดนองค์กรอื่นๆ ต้องให้องค์กรที่ถูกล้ำแดนใช้อำนาจโต้กลับไป เช่น ใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไข พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.บ.ต่างๆ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ ผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง ยังพอหลงเหลืออำนาจทำอะไรได้บ้างในเวลานี้

นายปิยบุตรได้เสนอแนวทางแก้ รธน.ไว้ 7 ข้อ ที่น่าสนใจ อาทิ แก้มาตรา 49 ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รวมถึงการใช้อำนาจของรัฐสภาและการเสนอร่างกฎหมาย ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซง สกัดขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติ ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน เป็นต้น

ขณะที่ นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  เคยระบุจะแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กังวลหรือไม่จะมีคนนำเรื่องนี้ไปยื่นร้องให้ยุบพรรคว่า เรื่องนี้เป็นการตอบคำถามของนายเศรษฐา ในขณะที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งสื่อมวลชนถามว่าคิดเห็นอย่างไร ตนก็เคยถูกถามเช่นกัน และพูดชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน

"สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำมาโดยตลอดคือไม่ได้เป็นแคมเปญหลักของพรรค ไม่ได้เป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรค เพราะเรามุ่งเน้นไปที่เรื่องปากท้องของประชาชน และมั่นใจว่าคำตอบของพวกเราชัดเจน ให้เป็นแคมเปญย้ำว่าไม่ใช่แคมเปญหลักของพรรค" นายสรวงศ์กล่าว 
ถามว่า ไม่หวั่นว่าจะมีคนไปร้องยุบพรรคใช่หรือไม่ เลขาฯ พรรค พท.กล่าวว่า ไม่หวั่น เพราะเป็นสิ่งที่เราชัดเจนมาโดยตลอด ตนก็เคยโดนถามขณะที่ลงพื้นที่หาเสียง และสิ่งที่เราตอบก็ตอบเหมือนกัน ทุกคนตอบเหมือนกันว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน
"มาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราพูดกันมาโดยตลอด คนในพรรคมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่เป็นจุดยืนของพรรคจริงๆ คือเราต้องเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อะไรที่เราคิดว่าเป็นสิ่งไม่สมควร เราก็ไม่ยุ่ง อะไรที่เราคิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราคุยกัน เรื่องย้ำว่ามาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเราต้องระมัดระวัง" เลขาฯ พรรค พท.กล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง