กกพ.เปิดรับฟังค่าเอฟที3แนวทาง

“พีระพันธุ์” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแลระบบผลิตไฟให้เพียงพอไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับ เชื่อพีกปีนี้มาเร็วแน่  “กกพ.” เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีงวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. แบ่ง 3 กรณี แพงสุด 5.43 บาท/หน่วย ต่ำสุดคือ 4.18 บาท/หน่วยเท่าปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า   เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เวลา 19.47 น. มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 32,704 เมกะวัตต์   และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจเกิดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกเร็วกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.    เนื่องจากฤดูร้อนเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ โดยในปีที่ผ่านมาได้เกิดพีกเมื่อวันที่ 6 พ.ค. เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

 “ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมในการดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว

ขณะเดียวกัน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ในการประชุม กกพ.ครั้งที่ 11/2567 มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับงวดเดือน พ.ค.- ส.ค.2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8-22 มี.ค.2567 ดังนี้ กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว) แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค.2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวด งวดละ 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมแวต) เป็น 4.3405 บาทต่อหน่วย

และกรณีที่ 3 (ตรึงเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ.เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด) แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวด งวดละจำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมแวต) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย  เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

“3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ.เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท” นายคมกฤชกล่าว

นายคมกฤชกล่าวอีกว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิง โดย ปตท.และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่ง กกพ.ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค.-ส.ค.2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค.2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง