233เสียงยื่นศาลตีความ ฝันขีดเส้นรื้อรธน.ให้ชัด

รัฐสภาถกยาว! ญัตติอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หลัง “วันนอร์”  ตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของ “ชูศักดิ์” ก้าวไกลท่องคาถาไม่ควรให้อำนาจองค์กรอิสระเข้ามาชี้นำ สว.อัดเสียเวลาทั้งที่ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง สุดท้ายที่ประชุมเสียงข้างมาก 233 เห็นชอบส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย หวังสะเด็ดน้ำคำตัดสินที่ 4/2564

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มี.ค.2567 มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณาญัตติเรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายชูศักดิ์กล่าวเสนอญัตติว่า  ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ แจ้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ตนเองและคณะเป็นผู้เสนอ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประธานรัฐสภา จึงไม่สามารถบรรจุเป็นวาระการประชุมรัฐสภาได้นั้น เท่ากับว่าประธานรัฐสภาเห็นว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเห็นว่าเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญ 2560 (2) และการเสนอญัตติเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 แล้ว จึงชอบที่ประธานจะบรรจุเป็นระเบียบวาระ ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยยังไม่มีผลประชามติได้หรือไม่ และหากรัฐสภาสามารถบรรจุร่างได้แล้ว การจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสาม โดยสอบถามไปพร้อมกับกรณีมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ หากไม่ได้จะต้องสอบถามในขั้นตอนใด

 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รู้สึกหนักใจที่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทุกครั้งที่รัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการยื่นดาบให้แก่ตุลาการ 9 คนที่ถูกแต่งตั้งโดยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ไม่อยากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กลุ่มคนดังกล่าวชี้ขาดรัฐสภาว่าทำได้ ทำไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักไม่เป็นคุณ

จากนั้นเวลา 13.25 น. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า เห็นด้วยกับญัตติจะได้หายสงสัยในกระบวนการว่าต้องทําอย่างไร และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ก็น้อมรับคําตัดสินทุกประการ แต่หัวใจสําคัญของเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่การทําประชามติ แต่เป็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย ส.ส.รทสช.ทุกคนยินดีโหวตให้ญัตตินี้ แต่หากเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังยึดจุดยืนเดิมที่เคยประกาศไว้ คือไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงไม่กระทบกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็ขอให้ผู้เสนอญัตติวางหลักประกันให้เรามีความไว้วางใจ

ต่อมาเวลา 13.40 น. พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สว. กล่าวว่า วันนี้ต้องเข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่การประชุมร่วมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นข้อขัดแย้งของประธานรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาฯ กับคณะของนายชูศักดิ์ ในฐานะผู้เสนอร่างที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ถามว่าปัญหามาที่สภาหรือยัง ขอบอกว่ายัง เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เข้ามาบรรจุในสภา ปัญหาจึงไม่เหมือนปี 2564 เราจึงหาทางออกด้วยการเห็นด้วยกับญัตตินั้น เพื่อส่งเรื่องนี้ที่เป็นปัญหาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลจึงมีคำวินิจฉัย 4/2564 ออกมา คราวนี้ญัตตินี้เป็นญัตติที่เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เสนอร่าง และประธานสภาฯ แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เข้าสภาฟันธงว่าปัญหายังไม่เกิดกับสภา

“ถ้าเราผ่านเรื่องนี้ไป อนาคตจะมีปัญหากับสภาแน่ๆ เมื่อไหร่ที่มีคณะผู้เสนอร่างกฎหมายไม่ว่าอะไรก็ตาม เสนอประธานรัฐสภา แล้วประธานรัฐสภาไม่บรรจุ ก็อ้างว่าเกิดความขัดแย้งกับสภา ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นมีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาล ให้ศาลวินิจฉัย ทำไมไม่ให้คู่ขัดแย้งอย่างประธานรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้ทำเรื่องไปที่ศาล ไม่ต้องนำเรื่องนี้มาขอมติที่สภา”

จากนั้นนายชูศักดิ์ใช้สิทธิ์พาดพิงว่า วันนี้ไม่ใช่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสนอญัตติตามข้อบังคับที่ 31  ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า นี่เป็นการพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2)  ก่อนที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัยยังคงยืนยันขอให้ประธานวินิจฉัยว่านี่เป็นการประชุมตามข้อบังคับข้อที่ 10 หรือไม่

ต่อมาเวลา 15.50 น. นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท.อภิปรายว่า เห็นด้วยกับนายชูศักดิ์ที่มีความจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา เพราะขวากหนามต่างๆ ถ้าเราไม่ยกย่องอำนาจตัวเอง แล้วปล่อยให้อำนาจอื่นซึ่งเป็นปลาคนละน้ำมาวินิจฉัยอำนาจของเรา เราจะอ่อนข้อเกินไปหรือไม่ แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไรถ้าอำนาจเหล่านี้ไม่มี อยากให้สภามีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จากนั้น นายวันชัย สอนศิริ สว. อภิปรายว่า หากจะหาข้อยุติและให้เรื่องนี้เดินไปได้ ก็ขอให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลจะรับไปวินิจฉัยหรือจะวินิจฉัยว่าอย่างไร ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือจะไม่วินิจฉัยเลย

ต่อมาเวลา 16.10 น. นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐสภาไม่จำเป็นต้องไปถามศาลหรือขออนุญาตตุลาการ 7 คนในสิ่งที่พวกเรามีอำนาจชัดเจนอยู่แล้วในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นนั้นยังมีปัญหาอย่างอื่นด้วย เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการไปเปิดช่องหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเอง จนเสียสมดุลทางอำนาจในระบบรัฐสภา ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น ซึ่งการใช้ดุลพินิจในการไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เข้าสู่สภาไม่ถูกต้อง เพราะร่างนายชูศักดิ์ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่ขัดรัฐธรรมนูญ

“เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เรามีอำนาจอยู่แล้ว  พวกผมก็ไม่สนับสนุนให้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ” นายชัยธวัชกล่าว

นายสมชาย แสวงการ สว. อภิปรายว่า เห็นด้วยประธานรัฐสภาลงความเห็นไม่บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายชูศักดิ์ หากเดินหน้าต่อไปแล้วสภาพิจารณาอาจเกิดการขัดรัฐธรรมนูญ  และเสียเวลาที่ต้องมานั่งประชุมในสิ่งที่ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถที่จะบรรจุระเบียบวาระได้ และไม่มีความจำเป็นจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยอีก

ต่อมาเวลา 17.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่าถูกพาดพิงหลายครั้งในการปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และจำเป็นต้องชี้แจง ไม่ใช่ความเห็นที่ไม่ต้องการ แต่อยากชี้แจงในการปฏิบัติหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกับประธานเสมอไป ซึ่งเรื่องที่ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่นายชูศักดิ์เสนอมาเป็นเพราะอะไร เพราะร่างของนายชูศักดิ์เป็นร่างทำนองเดียวกันกับร่างที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะเสนอมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2564 ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาขณะนั้นได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุได้ จึงเป็นที่มาของญัตติวันนี้ เพื่อให้สภาพิจารณาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยว่าสภาจะมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจในการตรากฎหมาย แต่เพื่อให้ความชัดเจนต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/64

“ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจะเห็นตามญัตติหรือไม่ เพื่อความชัดเจนที่จะต้องเดินไปข้างหน้า เพื่อไปแล้วไม่ล้ม ไปแล้วไม่เสียของ ไปแล้วไม่เสียงบประมาณ ไม่เสียเวลาของประชาชนโดยไม่จำเป็น”

จากนั้นเวลา 18.10 น. ที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ด้วยคะแนน 233 ต่อ 103 งดออกเสียง 170 ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง