ดีเซลสุดอั้นขยับ30.44บ. คลังบี้‘ธปท.’หั่นดอกเบี้ย

เอาไม่อยู่! กบน.เคาะขึ้นเบนซินลิตรละ 50 สตางค์ ส่งผลขายปลีกอยู่ที่ 30.44 บาท มีผล 6 เม.ย.นี้   “คลัง” แจงปมขาดดุลปี 68 เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท ยันไม่กระทบเครดิตประเทศ การันตีฐานะการคลังแข็งแกร่ง  พร้อมจี้ “แบงก์ชาติ” ตอบสังคมเหตุดอกเบี้ยไทยยังสูง

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้หารือถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งราคาในตลาดโลกยังอยู่ระดับสูง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กบน.จึงพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินกองทุนน้ำมันประเภทน้ำมันดีเซล 0.20 บาทต่อลิตร จาก 4.57 บาทต่อลิตร เป็น 4.77 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 30.44 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2567 เป็นต้นไป

นายวิศักดิ์กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 และตามแผนวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องดีขึ้น สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 ติดลบ 99,821 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 52,729 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,092 ล้านบาท

วันเดียวกัน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) โดยให้ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 1.52 แสนล้านบาท จากที่ขาดดุล 7.13 แสนล้านบาท รวมเป็นขาดดุลงบประมาณที่ 8.65 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากฐานะการคลังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงที่ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

 “วันนี้ฐานะประเทศเข้มแข็งมาก ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 ที่ประเมินว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 66.93% ต่อจีดีพีนั้น ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี และเมื่อมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ก็จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการปรับลดรายจ่ายประจำตรงไหนที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันที่ต้องทำควบคู่คือการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ เรื่องนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่ และหากดูตามประมาณการในเอกสารงบประมาณ ก็ยังพบว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ หากต้องมีการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ก็เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในเรื่องนี้ว่า การเพิ่มการขาดดุลอีก 1.5 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการประเมินเครดิตเรตติ้งของไทย โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือคงดูว่าเราเอาเงินที่ได้จากการขาดดุลเพิ่มไปใช้ทำอะไร เกิดประโยชน์อย่างไร และคงดูเรื่องแผนการใช้คืนจากรัฐบาลว่ามีความชัดเจนหรือไม่ หากรัฐบาลมีคำตอบที่ดีกับเรื่องนี้ ก็ไม่น่ามีผลกระทบอย่างแน่นอน

นายลวรณยังกล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับสังคม โดยดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร ทำไมถึงไม่ลง ขณะที่มุมของคลังอาจมองอีกแบบว่าอัตราดอกเบี้ยวันนี้มันสูงเกินจริงไปหรือไม่ เพราะหากมีการปรับลดลงมาก็ไม่ได้มีผลในทันที มันมีช่วงเวลาที่ต้องส่งผ่านก่อนเห็นผล แต่การส่งสัญญาณที่ถูกต้องว่าวันนี้ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และควรส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินการคลังมีการทำงานที่สอดประสานกันนั้น จะเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง