อวดภาพท้าทายปชช. ทักษิณเล่นน้ำยกดัมเบลระรื่น ตอกย้ำ‘น.ช.เทวดา’ไม่ป่วยจริง

"อุ๊งอิ๊ง" อวดภาพ "ทักษิณ" โชว์ฟิต เล่นน้ำกับหลาน ยกดัมเบลออกกำลังกายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม "โรม" ชี้ตอกย้่ำกระบวนการพักโทษไร้มาตรฐาน ทักษิณไม่ได้ป่วยจริง งงผลอาการป่วยได้ 9 คะแนนทั้งที่ฟิตขนาดนั้น  ฉะราชทัณฑ์​สร้างนักโทษชนชั้นนำ หน่วยงานตรวจสอบนิ่งเฉย กระบวนการยุติธรรม​ถูกทำลาย​ "หมอวรงค์" ย้อนถามนี่หรือผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ เตือนการท้าทายกฎหมายคือการท้าทายประชาชน พร้อมเปิดเอกสารลับนักโทษชั้น 14 ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด "เทพไท" โอดบั่นทอนจิตใจคนรักความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 8 เมษายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ ได้โพสต์รูปภาพนายทักษิณลงในอินสตาแกรมส่วนตัว @ingshin21 ซึ่งเป็นภาพขณะที่นายทักษิณกำลังเล่นน้ำกับหลานๆ และกำลังยกดัมเบลฟองน้ำเพื่อออกกำลังกายในน้ำด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมระบุข้อความว่า  “วันหยุด ณ บ้าน ตาตา สนุกสนานไม่อยากกลับกันเลยยย #babytitarnandhergrandpa #babythasinandgrandpa #mmdpskids”

ด้านนายรังสิมันต์​ โรม​ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธารโพสต์รูปภาพนายทักษิณกำลังเล่นน้ำกับหลานว่า ประเด็นนี้ยิ่งตอกย้ำว่ากระบวนการที่ทำให้นายทักษิณได้รับพักโทษนั้นตกลงมาตรฐานอยู่ตรงไหน ถ้าจะบอกว่ามาตรฐานที่นายทักษิณได้รับมันจะถูกปรับใช้กับทุกคน เป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกคนจะได้รับตนก็โอเค แต่ปัญหาคือเราต่างก็รู้ดีว่า สิ่งที่คุณทักษิณได้รับมันอาจจะเป็นสิทธิพิเศษ ผ่านการใช้กลไกของรัฐ รวมถึงกลไกต่างๆ ผ่านกระบวนการยุติธรรม ยิ่งนายทักษิณออกกำลังกายได้ ก็ยิ่งสะท้อนว่านายทักษิณไม่ได้มีอาการป่วยแบบที่ผลของการประเมินอาการป่วยออกมาแย่ขนาดนั้น

"การที่คุณทักษิณได้ผลประเมิน 9 คะแนน นั่นแปลว่ามันต้องแย่มาก เราดูแล้วมันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คุณทักษิณจะได้รับผลการประเมินที่แย่ขนาดนั้น ถ้าดูจากสภาพความฟิตความพร้อม" นายรังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามว่า กรมราชทัณฑ์จะต้องกลับมาคิดทบทวน เรื่องเกณฑ์การให้พักโทษหรือไม่ หรือจะต้องมีความรับผิดชอบใดๆ กับเรื่องนี้ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าสุดท้ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็จะมีกฎหมายที่รองรับอยู่แล้ว  โดยการดำเนินการตามกฎหมายที่จะให้สู่จุดนั้น ตนมองว่าจะต้องพิจารณากันว่ามีการทุจริตในขั้นตอนไหน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนหมอ หรือเป็นขั้นตอนของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หรือรัฐมนตรี หรือว่าจริงๆ แล้วอาจจะเป็นขั้นตอนที่นายทักษิณเองที่อาจจะหลอกหมอ ซึ่งตนไม่รู้ว่ามีการทุจริตกันในขั้นตอนไหนแน่

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนจะตั้งคำถามต่อไปคือ องค์กรที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกำลังทำอะไรอยู่ โดยการที่จะตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)​ ไม่ต้องมีผู้ร้องก็ได้ บางอย่างถ้าเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะดำเนินการได้ สำหรับพรรคการเมือง​ก้าวไกลเอง เรายังไม่ได้คุยกันในเรื่องที่จะยื่นตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ว่าเบื้องต้นเราพยายามตั้งคำถามว่า ขั้นตอนที่มีความผิดปกติอยู่ในขั้นตอนไหนกันแน่ ซึ่งจากที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.แบบบัญชีรายชื่อ​ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามไปถึงกรณีนายทักษิณ เราก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ที่ชัดเจน ดังนั้นมองว่าเรื่องนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมแน่นอน

"ผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ยิ่งเราสร้างนักโทษชนชั้นนำแบบนี้ สุดท้ายไม่ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันเกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งความเท่าเทียมคือเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนเขารู้สึกถูกทำลายลงไป ซึ่งไม่ได้ถูกทำลายลงแค่กรมราชทัณฑ์ แต่เป็นลูกโซ่ที่จะส่งผลกระทบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบที่ไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ถูกทำลายทั้งหมด ซึ่งจะเกิดความเสียหายที่ฝังรากลึกลงในสังคมไทย" นายรังสิมันต์ กล่าว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "คนอื่นตายช่างมัน การที่อุ๊งอิ๊งโพสต์ภาพนักโทษที่อยู่ในระหว่างพักโทษกรณีพิเศษ  ยกดัมเบลเล่นกับหลานในสระน้ำ นี่หรือนักโทษที่ต้องพักโทษกรณีพิเศษเพราะอายุเกิน 70 ปีและช่วยตัวเองไม่ได้  ไม่รู้ว่าอุ๊งอิ๊งรู้หรือไม่ว่า หลักการพักโทษกรณีพิเศษ จากเงื่อนไขอายุเกิน 70 ปี และช่วยตัวเองไม่ได้ จากการประเมินคะแนนช่วยเหลือตัวเองได้ 9 คะแนน นั่นหมายถึงสภาพที่ย่ำแย่ มีปัญหาทั้งการกินอาหาร ใส่เสื้อผ้า เดินไปมา ขึ้นลงบันได ลุกจากเตียง ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำ ใช้ห้องน้ำ กลั้นอุจจาระ กลั้นปัสสาวะ"

เตือนท้าทายประชาชน

"เขาใช้หลักมนุษยธรรม เพื่อให้มาใช้ชีวิตบั้นปลาย สำหรับคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไม่ให้เป็นภาระกับทางเรือนจำ จึงให้การพักโทษกรณีพิเศษ สุดท้ายนี้ อนุกรรมการพักโทษ รวมทั้งอธิบดี รัฐมนตรี ต้องมารับผิดชอบแทน เพราะพวกคุณประเมินคะแนนต่ำกว่าความเป็นจริง เข้าหลักขอให้กูรอด คนอื่นตายช่างมัน การท้าทายกฎหมายก็คือการท้าทายประชาชน"

นพ.วรงค์ยังโพสต์ข้อความเรื่อง "เปิดเอกสารลับนักโทษชั้น 14"  ระบุว่า "นี่คือรายงานลับที่ผมสรุปมา เกี่ยวกับปัญหาของนักโทษชั้น 14 ที่พวกเราได้ร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และทางผู้ตรวจการฯ ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆ

1.การส่งตัวนายทักษิณ ผู้ต้องขัง ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และการปกปิดข้อมูลทางการแพทย์ และขั้นตอนการดำเนินการ ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเฉพาะราย  เป็นการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรมราชทัณฑ์ชี้แจงสรุปได้ว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ประสานทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ให้จัดส่งแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ เพื่อมาตรวจร่างกายนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเข้าใหม่ ร่วมกับพยาบาลของเรือนจำตามระเบียบ

ส่วนการอนุญาตให้ไปรักษานอกเรือนจำ หลังจากทำทะเบียนประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว พบว่าผู้ต้องขังมีอายุ 74 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาและติดตามอาการ โดยแพทย์ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ผู้ทำการตรวจ ได้มีความเห็นให้ทางเรือนจำตรวจติดตาม เฝ้าระวังผู้ต้องขังทุก 3-4 ชั่งโมง เพื่อประเมินอาการ ต่อมาพยาบาลเรือนจำได้ตรวจติดตามเฝ้าระวังผู้ต้องขัง ตามระยะเวลาที่แพทย์สั่งเรื่อยมา

เมื่อเวลาดึก คืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ระหว่างตรวจติดตาม เฝ้าระวังผู้ต้องขัง ประกอบการพิจารณาประวัติการรักษาของผู้ต้องขังจาก รพ.ต่างประเทศ และพิจารณาความพร้อมในการรักษา โรคเฉพาะทางของ รพ.ราชทัณฑ์ จึงได้มีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อชีวิตผู้ต้องขัง เห็นควรให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาต่อยัง รพ.ตำรวจ ซึ่งมีความพร้อมด้านเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ต้องขัง และแพทย์ รพ.ตำรวจ ได้รับตัวผู้ต้องขังไว้เป็นผู้ป่วยในความดูแล

จะพบว่าการส่งตัวของกรมราชทัณฑ์จากข้อเท็จจริง เหตุผลนี้มาจาก 'เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อชีวิตผู้ต้องขัง' แสดงว่าเป็นการส่งตัวผู้ต้องขังไป รพ.ตำรวจ 'เพื่อป้องกันความเสี่ยง' ไม่ใช่เป็นการเจ็บป่วยจริง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อ 2 ของกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

2.กรณีรับตัวผู้ต้องขังเข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษของ รพ.ตำรวจ แยกจากผู้ป่วยทั่วไป รพ.ตำรวจชี้แจงสรุปได้ว่า รพ.ตำรวจได้รับข้อมูลมาว่า ผู้ต้องขังรายนี้มีอาการวิกฤตฉุกเฉิน เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งควรได้รับการรักษาใน ICU (จะพบว่าข้อมูลนี้ขัดแย้งกับข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ที่รายงานว่าส่งมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้ป่วยจริง แต่มาถึง รพ.ตำรวจกลับอ้างข้อมูลว่าผู้ต้องขังมีอาการวิกฤตฉุกเฉิน)"

เอื้อประโยชน์เลือกปฏิบัติ

"ทั้งนี้ห้องผู้ป่วยแบบพิเศษชั้น 14 นี้ รองรับผู้ป่วยทั่วไปทุกระดับชั้น ปัจจุบันชั้นนี้ยังมีผู้ป่วยภายนอกเข้ามาพักรักษาตัวตามปกติ ไม่ได้มีการปิดกั้นเฉพาะชั้นแต่อย่างใด (เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (2) ที่ห้ามผู้ต้องขังพักห้องพิเศษ ที่สำคัญในระยะเวลา 180 วัน จะไม่มีเตียงสามัญ หรือไอซียูว่างเลยหรือ ที่จะต้องย้ายผู้ต้องขังลงไป เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวง)

ชั้น 14 แบ่งเป็นซ้ายขวา บริเวณฝั่งปีกขวาเป็นห้องพักฟื้นผู้ป่วยโควิด ปัจจุบันยังไม่เปิดใช้งาน เนื่องจากมีน้ำรั่ว ฝั่งซ้ายเป็นห้องพักฟื้นผู้ป่วย โดยมีประตูกั้นการเข้าออกพื้นที่ กั้นเป็นเขตหวงห้าม มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2  นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ปทุมวัน 2 นาย มีการจัดโต๊ะควบคุมพื้นที่เข้าออกดังกล่าว ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา ทุก 2 ชม. โดยการถ่ายภาพห้องที่ผู้ป่วยพัก ส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์ (การกั้นเป็นเขตหวงห้ามก็ย้อนแย้งกับรายงานที่แจ้งว่า มีผู้ป่วยภายนอกเข้าพักในชั้นนี้)         

กล้องวงจรปิดได้รับการชี้แจงว่าชั้นนี้เสีย และกล้องวงจรปิดเสียทั้งอาคาร เนื่องจากงบประมาณได้รับไม่เพียงพอ (ปกติทุกโรงพยาบาลจะมีเงินบำรุง ที่ผู้อำนวยการสามารถใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมได้ มีเจตนาพิเศษแอบแฝงหรือไม่ที่ไม่มีการซ่อมแซม)

เรื่องห้องวีไอพี จากการแสวงหาข้อเท็จจริง พบว่า ป้ายหน้าลิฟต์ชั้น 14 ปรากฏข้อความสั้นๆ เพียงว่า หอผู้ป่วยพิเศษเท่านั้น (ก็เป็นการยืนยันว่า ผู้ต้องขังพักที่ห้องพิเศษจริง ซึ่งขัดกับกฎกระทรวงที่ห้ามพักห้องพิเศษ)

เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตอบกระทู้ในสภา เรื่องการที่ผู้คุมขังไปพักห้องพิเศษชั้น 14 เพราะเกรงความปลอดภัย โดยอ้างคาร์บอมบ์ในอดีตร่วม 20 ปีที่แล้ว แต่กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 วรรคท้าย ถ้ามีเรื่องความปลอดภัยของผู้ต้องขังให้ย้ายกลับโรงพยาบาลสังกัดราชทัณฑ์หรือสถานพยาบาลอื่น ไม่มีสิทธิ์อยู่ห้องพิเศษ

3.ผู้ต้องขังยังไว้ผมยาว เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครชี้แจงสรุปว่า ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ความในหมวดที่ 1 การตัดผมและการย้อมผม ข้อ 6 ได้กำหนดว่า เมื่อผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำ จัดให้มีการตัดผมหรือไว้ผมให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รับตัว โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะจัดให้ผู้ต้องขังใหม่ตัดผมในเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่รับตัว

ต่อมาผู้ต้องขังไปรักษาอาการป่วยยัง รพ.ตำรวจ ตามความเห็นของแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.  2566 ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่ได้ตัดผม หาก รพ.ตำรวจอนุญาตให้รับตัวกลับมาคุมขังยังเรือนจำเมื่อใด ทางเรือนจำจะดำเนินการตามระเบียบต่อไป (แม้ผู้ต้องขังจะอยู่โรงพยาบาล ยังถือเป็นผู้ต้องขัง ยังไม่พ้นจากการคุมขัง ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคท้าย กฎระเบียบต่างๆ ต้องมีผลบังคับ รวมทั้งการตัดผมด้วย)

4.แพทยสภาชี้แจงว่า แพทยสภาเคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ และรพ.ตำรวจ ปฏิบัติตัวกับผู้ต้องขังในลักษณะเอื้อประโยชน์ เลือกปฏิบัติ ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนจริยธรรม  อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

รายงานของแพทยสภา โดยเฉพาะการลงความเห็นในใบรับรองแพทย์ ในช่วงเวลาต่างๆ จะมีความสำคัญมากกว่าการส่งตัวไป รพ.ตำรวจ รวมทั้งการให้พักที่ รพ.ตำรวจ ต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร"

 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า "วันหยุดครอบครัวสุขสันต์ แต่มันบั่นทอนจิตใจคนไทย ผู้รักความเป็นธรรมทุกคน ทั้งตัวนักโทษและครอบครัวนักโทษคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอภิสิทธิ์เหมือนคุณทักษิณ

ผู้ป่วยที่เอ็นยุ่ย ต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 180 วัน  กลับบ้านยังต้องใช้เป้สะพายแขนอยู่ หลังจากนั้นไม่นาน ออกเดินสาย ว่ายน้ำ เล่นดัมเบลได้อย่างสบาย ฝากหมอวาโย หรือผู้รู้ช่วยวินิจฉัยโรคให้หน่อยว่า ที่ผ่านมาเป็นโรคสำออย ป่วยทิพย์ หรือเป็นอะไรกันแน่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง