ปรับพื้นที่69จว.สีส้ม กทม.-ชลบุรีดริงก์ในร้านถึง3ทุ่มระงับเทสต์แอนด์โก

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะประชุม ศบค.ปีเสือนัดแรก ปรับพื้นที่ทั้งประเทศมีผล 9 มกราคมนี้ ให้ 69 จังหวัดเป็นพื้นที่สีส้ม ส่วน 8 จังหวัดท่องเที่ยวและ 18 อำเภอในบางจังหวัดเฮคงสีฟ้า “คนเมืองกรุง-ชาวชลบุรี” นั่งดริงก์ในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม “ผับ-บาร์-โอเกะ” ซวยต้องปรับเป็นร้านอาหารก่อน 15 ม.ค. ฮึ่ม! ทำผิดสั่งพักใบอนุญาต-ปิดกิจการ พร้อมขอให้เวิร์กฟรอมโฮมยาวถึง 31 ม.ค. สั่งระงับเทสต์แอนด์โก พวกค้างท่อเข้าได้ถึง 15 ม.ค. ไม่ห้ามข้ามจังหวัด แค่เป็นคำเตือนเหมือนน้ำท่วม!

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 1/2565 ว่าต้องค่อยๆ ยกระดับมาตรการ ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ หวังว่าไม่ต้องล็อกดาวน์กันอีกรอบ แต่อย่าลืมว่าสายพันธุ์ที่ระบาดปัจจุบัน นอกจากโอมิครอนที่พูดถึงกันมาก เดลตาก็ยังระบาดอยู่ต้องระวัง เพราะสายพันธุ์เดลตาถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง ประชาชนก็ต้องยกการ์ดสูงเอาไว้ก่อน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ทุกฝ่ายร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หลังจากที่ สธ.ได้ยกระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 รวมทั้งต้องเร่งรัดแผนการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยวางแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 และการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 12 ปี

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากหลายช่องทางเกี่ยวกับราคาชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตนเอง ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนร้านขายยาและร้านค้าออนไลน์ จึงให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเช่นเดียวกับช่วงแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจ ATK แล้วมีปัญหาชุดตรวจราคาสูง

และในเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมว่า สธ.ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด และฉากทัศน์คาดการณ์กันการติดเชื้อที่ปัจจุบันอยู่ในเส้นสีเทา ที่ประชาชนส่วนใหญ่หย่อนยานการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข หากปล่อยเช่นนี้ต่อไป ภายในปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ. ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งไปถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งนายกฯ มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงใช้เวลาประชุมเพื่อรับมือสถานการณ์เวลานาน แต่สิ่งที่ทำให้สบายใจได้ขึ้นมานิดหนึ่งคืออัตราการเสียชีวิตยังต่ำ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ได้มีมติให้ขยายเวลาเวิร์กฟรอมโฮมทั่วประเทศจนถึงวันที่ 31 ม.ค. ส่วนสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะ ให้ปรับไปเปิดในรูปแบบของร้านอาหาร โดยต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนวันที่ 15 ม.ค. พร้อมกันนี้ ศบค.มีมติปรับระดับพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยยกระดับของทั้งประเทศเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม 39 จังหวัด เป็น 69 จังหวัด โดยกิจการและกิจกรรมในพื้นที่สีส้มนั้นทำได้ทุกอย่าง เพียงแต่ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน ร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ แต่ห้ามบริโภคสุราและแอลกอฮอล์ในร้าน ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ยังคงไว้ 8 จังหวัด ได้แก่ กทม., กาญจนบุรี, กระบี่, ชลบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, พังงา และภูเก็ต รวมถึงบางอำเภอใน 18 จังหวัดพื้นที่สีส้ม โดยมาตรการมาตรการพื้นที่สีฟ้าจะทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนพื้นที่สีเขียว แต่ดื่มสุราในร้านอาหารได้ไม่เกิน 21.00 น. ส่วน 5 จังหวัดที่มีขอเพิ่มเป็นพื้นที่สีฟ้านั้น ขอให้เลื่อนไปก่อน เพื่อรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ศบค.มท. และ ศบค.สธ. ตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ อย่างจริงจัง หากทำไม่ถูกหลัก สธ.ให้ดำเนินคดี หรือสั่งพัก สั่งปิด พักใบอนุญาตอย่างจริงจัง ต้องปราบปรามไม่ให้มีการกระทำความผิด โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค.

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ได้ปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มาในระบบเทสต์แอนด์โก ซึ่งพบผู้ติดเชื้อพอสมควร ซึ่งที่ประชุมอภิปรายประเด็นนี้พอสมควร ก่อนสรุปให้ยกเลิกการกำหนดกลุ่มประเทศเสี่ยง 8 ประเทศจากแอฟริกาออกไป เพราะเชื้อโอมิครอนได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว และเห็นชอบเพิ่มพื้นที่แซนด์บ็อกซ์อีก 3 จังหวัด จากเดิมมีเพียง จ.ภูเก็ต โดยเพิ่ม จ.สุราษฎร์ธานี เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า รวมถึง จ.พังงาและ จ.กระบี่ทั้งจังหวัด

“ส่วนระบบเทสต์แอนด์โกที่ยังเป็นช่องว่างนำเชื้อเข้ามา ได้ขอระงับการลงทะเบียนเทสต์แอนด์โกออกไปก่อน โดยที่ประชุมมีการมองกันหลายด้าน ทั้งมิติของเศรษฐกิจและสุขภาพประชาชน จึงให้ระงับการเทสต์แอนด์โกสำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติและจะเดินทางเข้ามาภายหลังวันที่ 15 ม.ค. โดยนายกฯ ระบุว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น จะปรับเปลี่ยนมาตรการได้อีก ตอนนี้ขอดูสถานการณ์ก่อน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงแผนการให้บริการฉีดวัคซีนของปี 2565 โดยที่ปี 64 ประสบความสำเร็จในการดำเนินการไปแล้วรวม 105 ล้านโดส ดังนั้นในปี 2565 กรมควบคุมโรคได้เสนอแผน โดยมี 3 เป้าหมายคือ 1.ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยให้สามารถเข้าวอล์กอินได้ 2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้วหรือผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วให้ได้รับเข็มกระตุ้นตามแนวทางของ สธ. และ 3.กลุ่มอายุ 5-12 ปี ซึ่งเดิมยังไม่มีวัคซีนโดสเด็กนั้น ตอนนี้ให้ฉีดได้ตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง

“กลุ่มผู้ที่ต้องได้รับเข็ม 4 คือบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง คือประชาชนกลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเป็นไปตามสูตรที่ สธ.กำหนด ส่วนผู้ประสงค์จะฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีน สูตรอื่นๆ ให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้ได้รับวัคซีน เรียกได้เปิดกว้างมากขึ้น ส่วนเป้าหมายของแผนการฉีดวัคซีนปี 2565 ตั้งเป้าไว้ในเดือน ม.ค. ประมาณ 9.3 ล้านคน โดยเตรียมไว้ทั้งเข็ม 1, 2, 3 และ 4”

สำหรับแผนการจัดหายารักษาโควิด-19 คือยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาที่มีคุณสมบัติใช้ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย ปานกลาง สธ.ได้ขออนุมัติในการจัดซื้อจาก ศบค.จำนวน 50,000 ชุด ถือเป็นความมั่นคงทางยา โดยนายอนุทินระบุว่าไม่ต้องการให้ซื้อไว้จำนวนมาก เพราะยาหลักยังอยู่ที่ฟาวิพิราเวียร์ ส่วนแพกซ์โลวิดจะมาเสริม ซึ่ง ศบค.อนุมัติให้ใช้เงินกู้มาซื้อยาดังกล่าวตามต้องการ

เมื่อถามถึงกรณี สธ.เสนอให้งดเดินทางข้ามจังหวัด มีมาตรการชัดเจนอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.หารือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตั้งข้อสังเกตมาว่าข้อเสนอดังกล่าวของ สธ.เป็นระดับการเตือนภัย และเป็นข้อแนะนำให้ประชาชน ส่วนข้อปฏิบัติหรือข้อกำหนดต้องเกิดขึ้นจาก ศบค.เท่านั้น และสั่งให้ดำเนินการในภาพรวมของทั้งประเทศ ซึ่งที่ประชุม ศบค.ไม่ได้มีข้อกำหนด หรือข้อคำสั่ง หรือมติที่ประชุมใดๆ ที่จะเป็นการปิดกิจการกิจกรรมใดๆ นอกนั้นการเดินทางยังเหมือนเดิม ขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำของ สธ.สำหรับผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางใช้เป็นเกณฑ์ในการดูแลตัวเอง ใช้เป็นข้อเตือนภัย เช่นเดียวกับการเตือนภัยต่างๆ อาทิ วาตภัยและอุทกภัย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุม ศบค.ได้ใช้เวลาในการหารือเรื่องเทสต์แอนด์โกยาวนาน และค่อนข้างตึงเครียด โดย สธ.ได้เสนอขอให้ใช้ช่องทางนี้ถึงวันที่ 15 ม.ค. เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจากช่องทางดังกล่าวค่อนข้างมาก แต่ปรากฏว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ไม่เห็นด้วยระบุว่าประเทศอื่นไม่มีการเทสต์ด้วยซ้ำ มีเพียงผลยืนยันว่าตรวจไม่พบเชื้อก็ท่องเที่ยวได้เลย ไม่อยากให้ยกเลิกเทสต์แอนด์โก นอกจากนี้ นายสุพัฒนพงษ์ยังเสนอให้แถลงข่าวสื่อสารประชาชนว่าเชื้อโอมิครอนไม่ได้รุนแรง ประชาชนจะได้เข้าใจ ไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป เพื่อให้มีการเปิดประเทศอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวจะได้เข้ามา เศรษฐกิจจะได้ขับเคลื่อน ทำให้นายอนุทินแจงว่าเข้าใจในความห่วงใยด้านเศรษฐกิจของนายสุพัฒนพงษ์ แต่เรื่องนี้เป็นเพราะหมอเขากังวล บางทีตรวจหาเชื้อไม่เจอครั้งแรกแล้วเดินทางไปทั่ว และขณะนี้ในยุโรประบาดหนักมาก แม้โอมิครอนไม่มีอาการรุนแรง แต่อย่าลืมว่าคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนยังเป็นอันตรายอยู่ รวมถึงขณะนี้เทสต์แอนด์โกเองก็มีการยกเลิกไปเยอะเหมือนกัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกล่าวคั่นพร้อมกับพูดกับนายสุพัฒนพงษ์และนายอนุทินว่า “ผมเข้าใจรองนายกฯ ทั้งสองคน อีกคนฝ่ายเศรษฐกิจ อีกคนฝ่ายสุขภาพ อย่างไรขอให้ดูยอดติดเชื้อจะเป็นอย่างไร

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในที่ประชุมยังมีแพทย์รายหนึ่งเสนอให้ปิดร้านเหล้าใน กทม.และชลบุรี เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นมาส่วนใหญ่มาจากร้านเหล้า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าจะดูเป็นพื้นที่ๆ ไป ให้แต่ละพื้นที่ตัดสินใจเอง เหมือนการปิดโรงเรียนก็ไม่ได้กำหนดเปิด-ปิด แต่ให้พื้นที่ประเมินสถานการณ์ความรุนแรง

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยว่า สปส.และสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีแนวโน้มระบาดมากขึ้นแล้ว โดยจะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดเชื้อได้เข้ารับการดูแล และรักษาทันที โดยได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ทั้ง Hospitel กว่า 20,000-30,000 เตียง โรงพยาบาล 254 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมแล้วมีเตียงรองรับผู้ป่วยกว่า 50,000 เตียง และพร้อมขยายเตียงมากขึ้น หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก โดยผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด ให้โทร.สายด่วนโควิด 1506 กด 6 และกด 7 มีคู่สายรวม 350 คู่สาย โทร.ได้ตั้งแต่ 08.00-18.00 น. เริ่มตั้งแต่ 7 ม.ค.เป็นต้นไป โดยจะมีคณะทำงานคอยรับเรื่องแล้วประสานไปยังสถานพยาบาลในทันที จากนั้นไม่เกิน 3 ชั่วโมงจะมีรถโรงพยาบาลมารับไปรักษา ซึ่งทุกอย่างจะรักษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง