ศาล รธน.ประกาศพื้นที่ควบคุม รับมือพิจารณา 2 คดีใหญ่ ยุบพรรคก้าวไกล-ชี้คุณสมบัตินายกฯ ขีดเส้นอนุญาตเฉพาะคู่กรณีเข้ารับฟัง ดับฝัน “ทักษิณ” แห้วร่อนไปดูไบ รักษาตัวพบบุคคลสำคัญ ศาลอาญายกคำร้อง ชี้อาการป่วยมีแพทย์ในประเทศตรวจรักษาประจำอยู่แล้ว เปิดผลความเห็น กมธ.กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม ฉลุย 15 กับ 13 ติดปีกล้างคดี 112 "ทักษิณ" "อนุทิน" จองแต่ไก่โห่เสียบเก้าอี้หมออ๋อง ปลื้มกระแสชื่อนายกฯ สำรอง ประกาศชัดไม่รับเลี้ยงงูส้ม พลังประชารัฐล่าชื่อวุ่นตะเพิดสามารถ
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ พร้อมออกเอกสารข่าวแจ้งว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันพุธที่ 7 ส.ค. และคดีคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 14 ส.ค.เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และให้เพื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังนี้ กำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจ หรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต
รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อยู่ในห้องพิจารณาคดี เพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดให้มีช่องทางการรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสื่อมวลชน
ศาลรัฐธรรมนูญยังประกาศกำหนดอาณาบริเวณ หรือพื้นที่ที่กำหนด ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ดังต่อไปนี้ ในวันพุธที่ 7 ส.ค.2567 เวลา 00.01 น. ถึง 23.59 น. (หลังเที่ยงคืนวันที่ 6 ส.ค.) สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยในคดีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล
และวันพุธที่ 14 ส.ค. 2567 เวลา 00.01 น. ถึง 23.59 น. สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยคดีที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (4)และ (5) หรือไม่
ทักษิณแห้วไปดูไบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาเเละมีคำสั่งในวันเดียวกัน
วันนัดฟังคำสั่งโจทก์ จำเลย ทนายจำเลยมาศาล หลังจากศาลได้ไต่สวนพยานแล้วมีคำสั่งในทางไต่สวนสรุปได้ความว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาและห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยมีความประสงค์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปพำนักอยู่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ระหว่างวันที่ 1-16 ส.ค.2567 เพื่อพบแพทย์ซึ่งเคยตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยเกี่ยวกับปอดอักเสบเรื้อรัง ระบบหายใจและหลอดเลือดหัวใจ เอ็นไหล่ขวาฉีกขาด และหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ในสถานพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 2 เเละ 8 ส.ค.2567
โดยช่วงเวลาที่จำเลยพำนักอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำเลยยังมีนัดหมายกับบุคคลสำคัญหลายคน เกี่ยวด้วยภารกิจส่วนตัวของจำเลยหลายเรื่อง จำเลยจะเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานซึ่งศาลนัดไว้ในวันที่ 19 ส.ค.2567
เห็นว่า แม้จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องเดินทางออกนอกราชอามาจักร โดยมีเอกสารหลักฐานจากแพทย์สนับสนุน และนัดพบบุคคลสำคัญหลายคน โดยช่วงเวลาที่จำเลยพำนักอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นช่วงเวลาก่อนกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานก็ตาม แต่อาการป่วยของจำเลยเป็นโรคที่เกิดแก่บุคคลทั่วไป และแพทย์ในประเทศไทยตรวจรักษาเป็นประจำอยู่แล้ว การเดินทางไปพบบุคคลสำคัญของจำเลยเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย
ทั้งไม่มีพยานหลักฐานยืนยันชัดแจ้งถึงความจำเป็นดังกล่าว ประกอบกับช่วงระยะเวลาที่เดินทางใกล้กับวันนัดตรวจพยานหลักฐานในชั้นนี้ไม่สมควรอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ยกคำร้อง
กมธ.ล้างผิด 112
มีรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน กมธ. ได้แจ้งกับสื่อว่า จะส่งเอกสารรายงานผลการศึกษา-ข้อสรุปของคณะกรรมาธิการฯ ต่อประธานสภาฯ ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากเลื่อนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาฯ ต่อไป หลังจากคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมสภาฯ เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ใช้เวลา 19 สัปดาห์ในการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ก่อนที่สภาจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หลังจากที่ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาไปแล้วถึง 4 ร่าง คือ ร่างของพรรคก้าวไกล, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, ร่างฉบับภาคประชาชน
ซึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ คณะกรรมาธิการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่มีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงบุคคลภายนอกเช่นนักวิชาการ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะกมธ.ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการหารือเรื่องว่า ควรจะมีข้อเสนอหรือความเห็นของ กมธ. ต่อการนิรโทษกรรมคดี 112 อย่างไร แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปเป็นมติของ กมธ.ได้ ทำให้ต้องมีการให้ กมธ.แต่ละคนแสดงความเห็นแบบรายบุคคล แล้วให้บันทึกไว้ว่ากรรมาธิการแต่ละคนเห็นอย่างไร ที่ความเห็นดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานผลการศึกษาดังกล่าวที่จะเสนอต่อสภาที่แบ่งความเห็นออกเป็นสามฝ่ายคือ เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม เห็นควรมีการนิรโทษกรรม และควรมีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข
ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เปิดเผยว่า ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติทั้ง 3 คนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ที่จะไม่เห็นชอบให้มีการรวมนิรโทษกรรมคดี ม.112 และ ม.110 ได้แก่ นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส. ชุมพร, นายเจือ ราชสีห์ และตนเอง
นายพงศ์พลเปิดเผยว่า ความเห็นคณะ กมธ.นิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง โดยเป็นการบันทึกความเห็นอย่างมีอิสระ ไม่มีการโหวต ผลความเห็นล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 ไม่นิรโทษฯ 112 จำนวน 13 เสียง, นิรโทษฯ 112 จำนวน 3 เสียง, นิรโทษฯ 112 โดยห้ามกระทำผิดซ้ำ จำนวน 12 เสียง
“โดยผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ เตรียมยื่นให้ประธานสภาฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในวาระการประชุมสภาในลำดับต่อไป ฝากถึงพี่น้องคนไทยที่รักสถาบัน และเชื่อมั่นในความถูกต้อง ติดตามเรื่องนี้ไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด” นายพงศ์พลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากผลการออกความเห็น ของ กมธ.ศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่แม้ไม่มีการโหวต แต่ได้ผลดังนี้ ไม่นิรโทษกรรม 112 จำนวน 13 เสียง, นิรโทษกรรม 112 จำนวน 3 เสียง, นิรโทษกรรม 112 แบบมีเงื่อนไข เช่น ห้ามกระทำผิดซ้ำ จำนวน 12 เสียง
จึงเท่ากับว่า แม้จะไม่มีการโหวต แต่ผลความเห็น ถ้านำความเห็นที่ว่า ให้นิรโทษกรรม 112 จำนวน 3 คนบวกกับ ให้นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข 12 คน ก็จะเท่ากับว่ามี กมธ.มีความเห็นด้วยให้นิรโทษฯ คดี 112 จะเท่ากับ 15 เสียง ที่มากกว่าฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการให้นิรโทษกรรมคดี 112 ที่มี 13 คน
และพบว่ามีกรรมาธิการหลายคนได้ขอสงวนความเห็นในเรื่องนี้ ที่คาดว่าเพราะไม่ต้องการให้มีการบันทึกความเห็นของตนเองไว้ในเอกสารรายงานดังกล่าว
ติดปีกล้างคดีแม้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ "รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ" ฉบับที่จะเสนอสภาเพื่อดูบันทึกความเห็นของ กมธ. โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ว่ามีท่าทีอย่างไรต่อการนิรโทษกรรมคดี 112 หลังปัจจุบันนายทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นจำเลยคดี 112 ที่ศาลอาญาฯ
พบว่า ในส่วนของแนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวคือคดีมาตรา 110 และ 112 ปรากฏว่า นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการและที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ที่เคยเป็นอดีตทนายความให้กับนายทักษิณ สมัยหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องความมั่นคง”
ขณะที่แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข มีคนจากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว 2 คนคือ นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและอดีตแนวร่วมเสื้อแดงภาคอีสาน ในฐานะกรรมาธิการฯ
ซึ่ง นพ.เชิดชัยให้ความเห็นว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีความเห็นตรงกันว่า ต้องมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาซึ่งไม่ใช่คดีแพ่ง โดยจำแนกการกระทำเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยใช้วิธีการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน ให้มีการนิรโทษกรรมคดีความผิดที่ชัดเจน แบบอัตโนมัติและให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาวินิจฉัยคดีที่มีการอุทธรณ์ และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองแบบมีเงื่อนไข
ซึ่งจากการสอบถามผู้ที่จะก่อเหตุประท้วงก็เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ลักษณะเช่นนี้ จึงควรหาแนวทางที่จะทำให้เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งเมื่อการดำเนินคดีกับเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชน
“การนิรโทษกรรมผู้กระทำ ความผิดตามมาตรานี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างมาตรา 112 รวมถึงในช่วงนี้เป็นเวลา ที่เหมาะสมที่จะมีการนิรโทษกรรม จึงขอยืนยันความเห็นเดิมว่าให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ตามมาตรานี้แบบมีเงื่อนไขตามรูปแบบที่เสนอ และยืนยันให้ใช้คำว่า “คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง” ซึ่งจะรวมถึงคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย แต่การจะกำหนดเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้อย่างไร ควรพิจารณาจากการกระทำความผิดเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ปี 2567 เป็นปีมหามงคล จึงเหมาะสมที่จะให้มีการนิรโทษกรรมในปีนี้ เพื่อให้เกิดความสงบในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเปลี่ยนมุมมองของเยาวชนบางส่วนได้” นพ.เชิดชัยให้ความเห็นไว้ตอนหนึ่ง
และอีกคนหนึ่งคือ นายสมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเคยเป็นแกนนำ สส.เพื่อไทยปี 2556 ในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เรียกกันว่านิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้ความเห็นไว้ว่า ควรมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข เพราะผู้ที่ถูกดำเนินคดีในแต่ละคดีอาจกระทำความผิดแตกต่างกัน บางคดีเป็นการจงใจ กระทำความผิด และบางคดีไม่ใช่การจงใจกระทำความผิด จึงสามารถแยกนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีเหล่านั้นแบบมีเงื่อนไขได้
ก้าวไกลเสียงแตก
ขณะที่ในส่วนของ กมธ.จากพรรคก้าวไกลเอง โดยเฉพาะที่เป็น สส. ตรวจสอบแล้วพบว่ามีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่เช่นกัน โดยในกลุ่ม กมธ.ที่เห็นด้วยกับการให้นิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว (มาตรา 110 และ 112) มีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค กับนายรังสิมันต์ โรม เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข
โดยนายชัยธวัชให้ความเห็นว่า การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขโดยกำหนดเงื่อนไขและมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำที่เหมาะสม เช่น การไม่กระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลาที่กำหนดสามปีหรือห้าปี โดยระบุตอนหนึ่งว่า
“การนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับองค์พระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่มีความเห็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในปัจจุบัน และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพิ่มความศรัทธาในเรื่องสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ และลดเงื่อนไขที่จะนำเอาประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง” นายชัยธวัชระบุช่วงหนึ่ง
ส่วน สส. กมธ.จากพรรคก้าวไกลที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว อย่างคดี 112 โดยไม่มีเงื่อนไข คือ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. หรือทนายแจม อดีตทนายความคดี 112 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดย น.ส.ศศินันท์กล่าวไว้ตอนหนึ่งที่ปรากฏในเอกสารรายงานของกรรมาธิการฯ
“คดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ เห็นว่าคดีตามมาตรานี้เป็นคดีทางการเมือง และหากมีข้อถกเถียงเรื่องนี้มากเท่าใด ก็เป็นตัวชี้ชัดว่าเป็นคดีทางการเมืองที่แท้จริง ....บริบททางการเมืองในปัจจุบันและเจตนารมณ์ของการที่มีคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ ควรย้อนไปฟังการอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงเหตุผลที่ต้องมีการนิรโทษกรรม ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนเห็นตรงกันว่าเพื่อต้องการรักษาความสงบและคืนความปกติให้กับประชาชน การไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะทำให้เกิดความขัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไป” สส.ก้าวไกลระบุ
จองเก้าอี้หมออ๋อง
ที่กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวให้จับตาว่านายอนุทินจะเป็นนายกรัฐมนตรีสำรอง ว่า สำรองแสดงว่าไม่ใช่ของจริง
เมื่อถามย้ำว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายเศรษฐา คนที่จะได้นั่งในตำแหน่งนายกฯ ต่อคือนายอนุทิน ทำให้นายอนุทินอุทานขึ้นว่า "โอย สมพรปาก" ตนเอาตามกติกา กติกาคืออะไร พรรคที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดก็ต้องเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ส่วนพรรคที่มีสมาชิกไม่ถึงก็ต้องเป็นพรรคร่วม และเมื่อร่วมกันแล้วก็ต้องสนับสนุนกันให้ตลอดรอดฝั่ง
ส่วนมีสัญญาณอะไรมาถึงแล้วหรือไม่ นายอนุทินกล่าวติดตลกว่า มีสัญญาณ 5G มือถือติดตลอด พร้อมถามกลับว่าทำไมจึงตีหวยมาออกทางตน ฝีมือไม่ได้เรื่องเลย ทุกวงการมันมีกฎกติกามารยาท ถ้าเราเคารพกฎเสียอย่างมันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล พร้อมยกตัวอย่างว่าหากพรรคภูมิใจไทยมาด้วยที่นั่งสูงสุดใครก็มาแย่งตนเป็นนายกฯ ไม่ได้เหมือนกัน
เมื่อถามต่อว่า มีการวิเคราะห์กันว่าที่ตัดสินคดียุพรรคก้าวไกลก่อน อาจนำไปสู่งูที่จะเข้ามาสังกัดภายในพรรค และอาจจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ นายอนุทิน ปฏิเสธว่า ไม่มี ก่อนจะระบุต่อว่าเลี้ยงงูแล้วมีความสุขหรือ ใช่ไหม ไม่เอาหรอก
เมื่อถามต่อว่า หากกรณีพรรคก้าวไกลถูกยุบ จะมีการเล็งผู้ที่จะทำหน้าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 แทนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลแล้วหรือยัง นายอนุทิน ระบุว่า "ภูมิใจไทยก็ต้องขอแหละครับ หากมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น และก็ต้องให้กำลังใจนายประดิพัทธ์ ขอให้โชคดีทุกคน มันหมดเวลาชิงดีชิงเด่นไปนั่งปรารถนาร้ายต่อกัน ไม่มีประโยชน์ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการทำหน้าที่"
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการปรับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล มีการพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.แล้วหรือไม่ นายอนุทินเดินออกจากวงสัมภาษณ์พร้อมโบกมือปฏิเสธว่าตนไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร
เมื่อผู้ข่าวถามย้ำว่า ไม่ชอบเลี้ยงงูหรือ นายอนุทินปฏิเสธว่า ไม่ได้เลี้ยง เมื่อผู้สื่อข่าวแซวว่าออร่านายกรัฐมนตรีจับ นายอนุทินกล่าวติดตลกว่า ไปฉีดโบทอกซ์มา เติมฟิลเลอร์
ล่าชื่อไล่สามารถ
ที่รัฐสภา นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะใช้มติกรรมการบริหารพรรคขับไล่ออกไปว่า ตนไม่ได้ทำอะไรให้พรรคเสียหาย ทำในนามส่วนตัว คำว่าพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคลูกไล่ หรือพรรคสาขา พรรคพลังประชารัฐเรามีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถ้าตนจะเชียร์ให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วตนผิดหรือ ตนจะต้องถูกขับออกจากพรรคหรือ
“ผมเชียร์ ผมชมหัวหน้าพรรค เอาคนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค กลับจะถูกให้ขับออกจากพรรค ผมเลยตอบไปว่าไม่ต้องขับผมหรอกครับ ถ้าขับผมแล้วสมาชิก 60,000 คนจะเดือดร้อน เพราะถ้าพูดไม่ได้ ต่อไปด่ารัฐบาลไม่ได้ หากวันนี้จะตั้งกรรมการสอบ ก็ไม่ต้องสอบหรอก เพราะถ้าทำแบบนั้น 60,000 คนจะออกหมด ไม่งั้น พล.อ.ประวิตรคงบอกให้ตนลาออกไปนานแล้ว” นายสามารถระบุ
ทั้งนี้ ระหว่างที่นายสามารถให้สัมภาษณ์ ปรากฏว่านายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้ลงมาชั้นล่างพอดี นายอรรถกรได้ทำท่าเบ้ปาก และเอามือวนที่หู ก่อนจะส่ายหน้าและโบกมือในอาการกวน โดยช่วงที่นายอรรถกรเดินผ่านวงสัมภาษณ์ไปนั้น ได้กระแอมใส่ด้วย ก่อนจะเดินออกไปทันที
ล่าสุด เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 31 ส.ค. นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร. ได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพถ่าย สส.พรรคกว่า 30 คน พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ที่รัฐสภา พร้อมระบุข้อความว่า "พวกเราพี่ น้องพรรคพลังประชารัฐ อยู่รวมกัน เป็นหนึ่งเดียว ยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน ปลดแน่นอนคนที่สร้างความวุ่นวายครับ เซ็นกันทั้งพรรคทุกคนครับ" ป.ล.รูปเพิ่งถ่าย 12.30 31/7/67
โดยก่อนหน้านี้ นายสามารถได้โพสต์ว่า ลุงป้อมโทรมาเช้านี้ พร้อมบอกว่าไม่มีใครปลดมึงได้ ไม่ต้องห่วง เป็นกำลังใจให้ลุงด้วยนะเอฟซี ส่วนเย็นนี้ผมจะพา สส.เข้าพบลุงป้อม คุยการเมืองต่อ
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน กรรมการบริหารพรรคและ สส.ได้ร่วมลงชื่อเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่วันที่ 1 ส.ค. นายสันติจะเรียกนายสามารถเข้าพบ
วันเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่จะให้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปว่า ยังไม่มีความคิดว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใคร ยังเชื่อมั่นในตัวของนายชัยธวัชเหมือนเดิม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน