สภาไฟเขียว 292 ต่อ 161 เสียง ผ่านงบดิจิทัลวอลเล็ตเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท “จุลพันธ์” สัญญาจะใช้งบอย่างโปร่งใส บรรลุผลสัมฤทธิ์ ลั่นไม่มี ครม.-ขรก.คนไหนกล้าทำผิด กม. หลัง "ศิริกัญญา" กาง 4 เหตุผลรัฐบาลเล่นแร่แปรธาตุงบดิจิทัลฯ "เผ่าภูมิ" แจงแอปทางรัฐล่มก่อนถึงวันจริง เหตุอัปเดตเวอร์ชันทำระบบรอคิว ลั่น 8 โมงเช้า 1 ส.ค. พร้อมลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินหมื่น
ที่รัฐสภา วันที่ 31 ก.ค. เวลา 10.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในวาระสอง พิจารณารายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว เริ่มพิจารณาวันที่ 19 ก.ค. เสร็จวันที่ 25 ก.ค. เป็นการพิจารณางบกลาง ในส่วนรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และยินดีชี้แจงข้อซักถามในทุกมาตรา
นายนพณัฐ มีรักษา กมธ.ฝั่งพรรคก้าวไกล ขอสงวนความเห็น โดยมาตรา 3 วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 1.22 แสนล้านบาทว่า การตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พบว่ามีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ เรื่องเหตุผลและความจำเป็นในการตราร่าง พ.ร.บ. มีความจำเป็นระหว่างปีงบประมาณหรือภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้หรือไม่ คำถามคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความจำเป็นอะไร ถ้าคำตอบคือเพื่อหาเงินไปใช้กับโครงการดิจิทัลฯ ก็ต้องทราบด้วยว่าโครงการจะเริ่มแจกเงินในไตรมาสแรกของปีงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2568 ทุกฝ่ายทราบดี ไม่ได้แจกในปีงบประมาณนี้ ดังนั้นย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องร่างงบฯ เพิ่มเติมในปี 67 จึงทำให้การร่างกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเงินการคลังของรัฐ
นายนพณัฐกล่าวว่า กระทรวงการคลังอาจชี้แจงว่า แม้จะแจกไม่ทันในวันที่ 30 ก.ย.นี้ แต่สามารถใช้เป็นงบข้ามปีได้ โดยอาศัยช่องทางมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ การก่อหนี้ผูกพันจะต้องมีมูลแห่งหนี้ก่อน ซึ่งอาจมองว่าการลงทะเบียนถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ซึ่งการให้คำอธิบายแบบนี้มีปัญหาแน่นอน เพราะไม่ใช่ว่าสัญญาทุกประเภทจะก่อให้เกิดหนี้ อีกทั้งเจตนารมณ์ของการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อใช้จ่ายข้ามปีมีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงกับระบบราชการไทย
"การเปิดให้ลงทะเบียนแล้วอ้างว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันไม่เคยมีมาก่อน การบอกว่าเงินหมื่นบาทเป็นสัญญาให้เลยเกิดปัญหา เพราะสัญญาให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นต่อให้เปิดลงทะเบียนแต่ยังไม่ส่งมอบเงิน ก็ต้องถือว่าสัญญาไม่สมบูรณ์ฟ้องต่อศาลไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้ากระทรวงคลังยืนยันว่าเป็นหนี้จริงๆ ถ้ารัฐบาลแจกไม่ทันในไตรมาสหนึ่งของงบ 68 แปลว่าผิดนัดชำระหนี้ ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องร้องให้จ่ายเงิน 1 หมื่นบาทแก่ตนเองใช่หรือไม่ ทั้งนี้ หากในอนาคตมีปัญหาเรื่องใช้จ่ายงบประมาณ ผู้เกี่ยวข้องอ้างไม่รู้ในประเด็นกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้" นายนพณัฐกล่าว
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ชี้แจงตอนหนึ่งว่า กรณีที่มี กมธ.บอกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งท่านใช้คำว่าสุ่มเสี่ยง สำหรับตนแปลอีกความหมายว่า ขณะนี้ท่านทราบว่ายังอยู่ในกรอบ ซึ่งหน่วยงานได้ทำความเข้าใจในทุกประเด็นอย่างชัดเจนแล้ว
"การที่รัฐบาลทำโครงการแล้วให้ประชาชนยืนยัน เป็นข้อผูกพันที่อาจต้องจ่ายหรือต้องจ่ายแล้ว เป็นเรื่องของการเสนอแล้วสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิ์ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิ์ ก็มีนิติกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ ของรัฐก็เป็นเช่นนี้ตลอด ก็ตั้งงบประมาณไว้รอ กรณีโครงการนี้เป็นกรณีเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณปี 68 ได้ และเมื่อลงทะเบียนของประชาชนแล้วถือเป็นข้อผูกพันที่จะนำสู่กระบวนการเบิกจ่ายตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายจุลพันธ์กล่าว
ยก 4 เหตุผลตัดงบดิจิทัล
จากนั้นเวลา 12.50 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้แปรญัตติ อภิปรายว่า ขอตัดลดงบในส่วนนี้เหลือ 1 หมื่นล้านบาท ด้วย 4 เหตุผลคือ 1.เราไม่ควรกู้เงินเพิ่มอีกแล้ว เพราะด้วยฐานะทางการคลังของประเทศวันนี้ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่ยังปริ่มเพดาน ไต่ขอบไต่เส้น และหนี้สาธารณะ ท่านจะเล่นแร่แปรธาตุอย่างไรก็ตาม แต่ดอกเบี้ยไม่หลอกใคร
“ดิฉันจึงเสนอว่า ไม่ควรกู้เพิ่มอีกแล้ว แถมยังเป็นการกู้ที่สุดเพดาน ไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดว่าจะจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า กรรมาธิการได้สอบถามบ้างหรือไม่ว่าประมาณการรายได้ของปี 2567 ได้ประมาณการใหม่ไว้หรือไม่ เราจะจัดเก็บพลาดเป้าเดิมจากที่สภาเคยอนุมัติไว้เมื่อต้นปีที่เท่าไหร่ แม้จะมีการสอบถามแค่ตัวแทนจากกระทรวงการคลังก็บอกว่าได้มีการประมาณการรายได้ใหม่ไว้แล้ว แต่ไม่บอกว่าเท่าไหร่" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
นอกจากนี้ 2.แม้จะกู้ได้ แต่ก็ต้องใช้ในปีงบประมาณตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บอกว่าการลงทะเบียนจะเข้านิยามของหนี้ตามมาตรา 4 ยกเว้นจากการอื่นใด แต่การจะเป็นหนี้ได้ต้องมีระเบียบมารองรับต่อไป และจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดต่อไป 3.แม้จะกู้ได้ แต่ต้องทำสัดส่วนลงทุนรายจ่ายถูกต้อง ซึ่งท่านเคยชี้แจงในห้องกรรมาธิการงบประมาณว่าทำไมจึงคิดว่ารายจ่ายของดิจิทัลวอลเล็ตเป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% แต่เมื่อมาชี้แจงในห้องคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มีแล้วว่า 80% เป็นรายจ่ายลงทุน แต่ใช้การวิเคราะห์ที่ทำให้เกิดดอกผลและไม่เกิดดอกผล รวมถึงบอกว่าการก่อให้เกิดดอกผลเป็นการลงทุน โดยในมาตรา 20 (1) ระบุว่าเราต้องมีรายจ่ายลงทุนมากกว่าที่กู้เพื่อชดเชยขาดดุล แต่การกู้ครั้งนี้ท่านกลับเอาค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคตามปกติครัวเรือนมาบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายลงทุน
4.แม้จะกู้ได้ แต่ก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำ เพราะแหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่จะมีการเติมเงินเข้ามาใหม่ในระบบ 3.5 แสนล้านบาท จากการกู้ 3 แหล่งคือ กู้ชดเชยขาดดุล 2567, กู้ชดเชยขาดดุล 2568 และกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ตอนนี้เหลือเพียงแค่กว่า 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น จากที่เคยประเมินเอาไว้ว่าจะโต 1.2-1.8 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขตอนนี้จะไม่เท่าเดิมอีกต่อไป แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเขาก็บอกว่าประเมินให้ใหม่แล้ว เพราะแหล่งที่มาของเงินลดลง แล้วก็จะเหลืออยู่ที่ 0.9 เปอร์เซ็นต์ แต่พอแถลงข่าวรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังก็กลับไปใช้ตัวเลข 1.2-1.8% ขอใช้ตัวเลขสูงไว้ก่อน
“ยิ่งสะท้อนว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการประเมินความคุ้มค่าไว้ล่วงหน้า ท่านอาจจะบอกว่าโครงการนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้ เลยไม่รู้ว่าจะประมาณการอย่างไร แต่เราสามารถจะประเมินขั้นต่ำขั้นสูงกันได้อยู่แล้ว ถ้าโครงการนี้มันมีการประเมินอย่างรอบคอบ รอบด้าน แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแบบนี้ สรุปว่าไม่รู้จะใช้ตัวเลขไหนกันแน่ และเอกสารงบประมาณก็ไม่ได้มีการระบุตัวเลขไว้อย่างชัดเจน ดิฉันจึงไม่สามารถที่จะเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
เวลา 13.00 น. นายจุลพันธ์ชี้แจงอีกครั้งว่า ยืนยันตามมติคือไม่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ส่วนที่มีการพูดถึงการใช้ผิดประเภท เช่น ประชาชนไปคุยกับร้านค้าแล้วเอาเงินสดออกมาโดยที่ไม่รับสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นห่วงใยที่ทาง กมธ., นายกฯ และ ครม. มีข้อสังเกตในเรื่องของการป้องกันการใช้เงินผิดประเภทอย่างเข้มข้น มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านติดตามการใช้จ่ายผิดประเภท ซึ่งมีข้อสรุปเสนอคณะกรรมการนโยบายอย่างละเอียด ประเด็นสำคัญคือป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น ซึ่งมีการพูดคุยกับผู้พัฒนาระบบในการที่จะกำหนดให้ระบบสามารถตรวจจับได้ในเบื้องต้น และสามารถส่งตำรวจหรือตำรวจไซเบอร์ลงไปในสถานที่ที่มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างน่าสงสัย และกลไกที่เก็บข้อมูลทั้งหมดผ่านระบบบล็อกเชน ซึ่งข้อมูลที่มีทั้งหมดจะสามารถนำกลับมาตรวจสอบหากมีการใช้จ่ายที่ผิดประเภท
ฉลุยงบเพิ่มเติมผ่านวาระ 2-3
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ที่ถามว่าการใช้เงินอาจกระจุกตัวอยู่ที่รายใหญ่ ก็ต้องเรียนว่าอาจจะไม่มีตัวเลขว่าเราคาดหวังว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ที่จะไปลงกับร้านใหญ่และร้านเล็ก แต่กลไกตลาดเป็นอย่างไรเราไม่ได้เข้าไปแทรกแซง เราเชื่อว่าด้วยกลไกที่เรามี จะสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนและกระจายตัวอย่างมีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นร้านใหญ่หรือร้านเล็ก ทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน
"เรื่องการขาดดุลยืนยันว่าทั้งหมดอยู่ในกรอบของกฎหมายและ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และไม่มีข้าราชการคนไหนกล้า และพร้อมที่จะทำผิดกฎหมายที่ตัวเองถือเพื่อรัฐบาล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผมในฐานะ ครม.คนหนึ่ง เราก็ไม่พร้อมหากมีข้อที่ผิดหรือขัดไปจากกฎหมายที่กำกับอยู่ ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ มีหน่วยงานภาครัฐมาชี้แจงครบถ้วน เราถึงมั่นใจนำเข้าสู่สภา เพราะฉะนั้นจงเชื่อมั่นว่าทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมาย และยืนยันว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์กับประชาชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน”นายจุลพันธ์กล่าว
กระทั่งเวลา 13.20 น. ที่ประชุมสภาลงคะแนนมาตรา 3 เสียง ส่วนใหญ่เห็นด้วยตามคณะกรรมาธิการที่ไม่แก้ไข ด้วยคะแนน 288 ต่อ 171 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 4 งบกลาง วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ
เวลา 14.52 น. หลังจาก สส.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ครบทั้ง 6 มาตรา ซึ่งถือว่าจบวาระสอง จากนั้นที่ประชุมลงมติวาระสาม โดยสมาชิกเห็นด้วย 292 เสียง ไม่เห็นด้วย 161 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ
นายจุลพันธ์กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ให้ความเห็นชอบ และขอให้ความมั่นใจว่างบประมาณที่ได้รับการอนุมัติจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด โดยรัฐบาลจะกำกับดูแลการใช้จ่ายงบให้โปร่งใส บรรลุผลสัมฤทธิ์ ยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้งบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง ชี้แจงกรณีแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ล่มในวันที่ 31 ก.ค.ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรายงานเข้ามา ซึ่งในช่วงเวลา 19.00-22.00 น. ของวันเดียวกัน จะมีการอัปเดตเวอร์ชันที่เป็นระบบรอคิวในการที่จะไปเช็กกับทะเบียนราษฎร เพราะตอนนี้ในตัวของแอปยังไม่มีระบบรอคิว ซึ่งระบบจะถูกปิดในช่วงเวลาดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่เพราะระบบล่ม โดยทุกอย่างจะพร้อมในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 1 ส.ค.นี้
ถามว่า วันที่ 1 ส.ค. จะมีคนลงทะเบียนค่อนข้างเยอะ ระบบจะไม่ล่มใช่หรือไม่ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ความพร้อมของระบบได้ถูกวางแผนไว้แล้วว่าต้องมีการเซตระบบเพื่อให้เป็นระบบรอคิว เพื่อที่จะส่งไปที่ทะเบียนราษฎร ซึ่งหากเกิดความล่าช้าไม่ใช่เพราะตัวแอป แต่ล่าช้าด้วยการรอคิว โดยทางระบบจะทำหน้าที่รับคนอยู่แล้ว และหากเกินกว่า 5 ล้านคน ก็จะเป็นระบบรอคิว
ซักว่าหากครบเวลาที่กำหนดแล้วประชาชนบางส่วนยังไม่สามารถลงทะเบียนได้ จะมีการขยายระยะเวลาหรือไม่ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ทุกคนที่ต้องการจะลงทะเบียนจะต้องลงได้ เหตุผลอะไรที่จะลงไม่ได้ ยืนยันว่าแอปจะไม่มีปัญหา และระยะเวลาการลงทะเบียนจะเป็นไปตามกำหนดคือ 1 ส.ค.-15 ก.ย. เพราะแอปจะไม่มีปัญหาแน่นอน
ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกและผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประมาณการผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ยังไม่ได้มีการใส่ในประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. แต่ยอมรับว่าผลของโครงการดังกล่าวในปี 2567 น่าจะใกล้เคียงกับที่หลายภาคส่วนประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีผลในช่วงไตรมาส 4/2567 ราว 0.2-0.3% ขณะที่ผลของทั้งโครงการต่อภาพรวมเศรษฐกิจ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9%
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการย้ายทะเบียนบ้านก่อนลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า เรื่องนี้กรมการปกครองจะร่วมมือกับกระทรวงการคลัง จึงไม่ต้องกังวล เพราะมีวิธีและมาตรการในการป้องกันการกระทำความผิด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม