สภาสูงถก5ส.ค. คาด3วาระรวด แก้ข้อบังคับสว.

สว.ชุดใหม่ได้ฤกษ์ทำงาน นัด 5-6    ส.ค.ประชุมครั้งแรก “มงคล” บรรจุวาระแรกแก้ไขข้อบังคับ 5 ฉบับเข้าทันที เผยอยากประชุม 3 วาระรวดเพราะเป็นสิ่งขับเคลื่อนการทำงาน “สรชาติ” ผู้จุดพลุหั่น กมธ.ถอยหันมาหนุนฉบับ “พล.ต.ท.ยุทธนา” ที่ตัดเหลือ 21 คณะแทน ชี้ช่วยประหยัดงบ 50-60 ล้านต่อปี

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ออกหนังสือนัดประชุม สว. ในวันที่ 5-6 ส.ค. โดยในวันที่ 5 ส.ค. จะพิจารณาเรื่องด่วน ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ, นายประภาส ปิ่นตบแต่ง, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย, นายเอกชัย เรืองรัตน์ และ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เสนอ ส่วน 6 ส.ค. มีวาระพิจารณาเรื่องด่วนคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ..... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เม.ย.2559 พ.ศ..... ซึ่งสภาเห็นชอบ ทั้งนี้ วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ. ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 12 ก.ย.2567

นอกจากนี้ ยังบรรจุวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่..) พ.ศ..... ซึ่งสภาลงมติเห็นชอบแล้ว โดย สว.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ. โดยจะครบกำหนดในวันที่ 27 ก.ย.

นายมงคลกล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. ได้นัดประชุมนัดแรกหลังจากที่เข้ามาเป็นประธาน สว.  และจะพิจารณาร่างข้อบังคับที่สมาชิก สว.เสนอมา  โดยได้บรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว ซึ่งจะพิจารณาควบคู่กันไปทุกร่าง ว่าเห็นชอบกับร่างไหนก็ลงมติกันไป ยืนยันจะนำทุกร่างที่ได้รับการเสนอมาพิจารณา ส่วนจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภาพิจารณา 3 วาระรวด หรือตั้งคณะ กมธ.ขึ้นมาศึกษานั้น หากสมาชิกเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็คงพิจารณา 3 วาระรวด เพราะร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องมีมาบังคับใช้โดยเร็ว ไม่เร็วคงไม่ได้ เนื่องจากมีงานอื่นมารออีกจำนวนมาก

ด้านนายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม  สว.สายวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มของตนนั้นมีมติให้สนับสนุนร่างแก้ไขข้อบังคับ ฉบับที่ พล.ต.ท.ยุทธนาเสนอ เนื่องจากได้หารือร่วมกัน และมีข้อสรุปเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่าจะเสนอให้มี กมธ. 21 คณะ และมี กมธ.วิสามัญ 1 คณะ ว่าด้วยการเทิดทูนและพิทักษ์สถาบัน ส่วนที่ก่อนหน้านี้ที่ตนเคยนำเสนอร่างแก้ไขให้มี กมธ. 23 คณะ และ กมธ.วิสามัญ 3 คณะนั้น จากที่ได้หารือร่วมกันแล้วเห็นว่าควรปรับปรุงโดยรวม กมธ.บางคณะเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีจำนวนคณะ กมธ.ที่เหมาะสม

 “ผมได้เสนอร่างให้พิจารณาเพื่อให้เกิดการพูดคุยและหารือร่วมกัน เมื่อกลุ่มได้มาพูดคุยกันแล้ว และเห็นว่า กมธ.ควรมี 21 คณะ และ 1 คณะวิสามัญ จึงไม่ขัดข้อง และยินดีสนับสนุนร่างแก้ข้อบังคับที่ พล.ต.ท.ยุทธนาเสนอ” นายสรชาติกล่าว

เมื่อถามถึงทิศทางของกรณีการพิจารณาแก้ข้อบังคับ 3 วาระรวด นายสรชาติกล่าวว่า ต้องพิจารณากันในที่ประชุม และว่าไปตามหน้างาน ทั้งนี้ ที่เสนอ 3 วาระรวด เพราะคิดว่าจะมีร่างแก้ไขเพียงฉบับเดียว และต้องการทำให้เร็ว แต่เมื่อมีการเสนอหลายฉบับ ต้องพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมตินั้นอยู่ที่หน้างาน ทั้งหมดนั้นไม่มีการวางไว้ล่วงหน้า

ส่วน พล.ต.ท.ยุทธนา กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอยุบ กมธ.เหลือ 21 คณะว่า เพราะจำนวน สว.ลดลงจากชุดเก่า 250 คน เหลือ 200 คน จึงต้องการให้สอดคล้องกับจำนวนคนและงบประมาณ เพราะในคณะ กมธ.ยังมีอนุ กมธ.ที่ต้องช่วยกันทำงาน จึงรวมกันให้สอดคล้องกันได้ และจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา 3 วาระรวด

“เหตุผลที่ลดคณะลงเพื่อลดงบประมาณที่ใช้ต่อปีจำนวนหลายล้านบาท งบประมาณคณะหนึ่งใช้งบเยอะต่อปี หากลดลง 50-60 ล้านบาทต่อปี ก็พอช่วยให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้” พล.ต.ท.ยุทธนากล่าว

เมื่อถามว่า คณะ กมธ.ลดลงจะมีปัญหาเรื่องแย่งตำแหน่งประธาน กมธ.หรือไม่ พล.ต.ท.ยุทธนายอมรับว่า คงมีแย่งกันบ้าง แต่ลดลงไม่มาก อีกทั้งยังมีตำแหน่งรองประธาน ซึ่งเดิมมีหลายคณะ อาจไม่มีเวลาประชุม หรือต้องเดินสายประชุมก็ไม่เหมาะ เอาแค่พอสมควรให้มีประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งนี้ก็แล้วแต่มติที่ประชุมวุฒิสภาห ากเห็นควรจะเพิ่มก็ต้องหารือกัน

สำหรับข้อเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุม สว.ของ นพ.เปรมศักดิ์นั้น ได้เสนอแก้ไขจำนวนองค์ประกอบ ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของ กมธ.ให้มี 28 คณะ จากเดิมที่มี 26 คณะ เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพของที่มา สว. และให้ยกเลิกหมวด 10 ภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่ข้อเสนอของนายประภาส ได้เสนอให้คงจำนวน กมธ. 26 คณะเท่าเดิม แต่ปรับเพิ่มเติมรายละเอียดให้เหมาะสมกับภารกิจของ สว.ชุดใหม่ พร้อมเสนอให้ยกเลิกหมวด 10 ภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

ส่วนข้อเสนอของนายเทวฤทธิ์ ได้เสนอแก้ไขให้เปิดเผยผลการออกเสียงลงมติของสมาชิกแต่ละคนไว้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป  เว้นแต่เป็นการลงมติแบบลับ จากเดิมที่ให้เผยแพร่ไว้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพียงที่เดียว และข้อเสนอของนายเอกชัย ได้เสนอให้คง กมธ. 26 คณะเช่นเดิม แต่ให้ยุบ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และตั้ง กมธ.เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและแต้มต่อให้คนไทยแทน พร้อมแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศ  ให้มีภารกิจติดตามการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย และให้ยกเลิกหมวด 10 ภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

วันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล   เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า สว.ชุดใหม่ได้เข้ารับตำแหน่งแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ค. จึงส่งผลเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดย สว.ชุดเก่ามีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 23 ก.ค. โดยมีระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. ถึงวันที่ 21 ก.ย. ส่วน สว.ชุดใหม่ มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค. โดยมีเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. ถึงวันที่ 21 ก.ย. ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายเวลาการยื่นบัญชีฯ ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 21 ก.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล