เสียโอกาสเพราะด้อยค่าวัคซีน!

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น 7,793 ราย เสียชีวิต 18 ราย กรมควบคุมโรคยืนยันวัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิภาพดี  ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ ย้ำประชาชนฉีดเข็ม 3 ป้องกันโอมิครอน "หมอยง" เผยวัคซีนสูตรไขว้  SV-AZ ขณะนี้ทำเสร็จแล้ว จะแสดงผลในโอกาสต่อไปและส่งเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาเราเสียโอกาสไปมากจากการด้อยค่าวัคซีนเชื้อตาย

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,793  ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,501 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,459 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 42 ราย  มาจากเรือนจำ 22 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 270 ราย  หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,202 ราย อยู่ระหว่างรักษา 77,368 ราย  อาการหนัก 527 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 105 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 7 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ราย โรคเรื้อรัง 2 ราย เสียชีวิตมากที่สุดใน จ.ชลบุรี 3 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 2,316,408 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 2,217,124 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 21,916 ราย

ฉีดวัคซีนวันที่ 14 ม.ค.เพิ่มขึ้น 602,487 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 108,916,435 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 324,233,702 ราย เสียชีวิตสะสม 5,547,126 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ  777 ราย, สมุทรปราการ 681 ราย, ชลบุรี 525 ราย, ภูเก็ต 420  ราย, นนทบุรี 419 ราย, อุบลราชธานี 269 ราย, ปทุมธานี 239  ราย, นครศรีธรรมราช 194 ราย, เชียงใหม่ 179 ราย และขอนแก่น  177 ราย

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์และประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 108 ล้านโดส ซึ่งในเดือนมกราคมนี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 9 ล้านโดส ขณะนี้ผ่านไปได้ครึ่งทางสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าแล้ว

และเมื่อติดตามประเมินผลประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง  ด้วยการวัดผลในพื้นที่จริง (Real World Effectiveness)  พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพดีมาก ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิดทุกสายพันธุ์ได้ถึง 90-100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการฉีดสูตรปกติ สูตรไขว้ หรือบูสเตอร์โดส อีกทั้งยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอสมควร

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการฉีดวัคซีน หากผ่านพ้น 3 เดือนไปแล้วประสิทธิภาพจะค่อยๆ ลดลง เพราะฉะนั้นการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสจึงเป็นเรื่องสำคัญ จากข้อมูลบ่งชี้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ทั้งสูตรแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และไฟเซอร์ (Pfizer) มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้มากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์จากการระบาดที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ปูพื้นด้วยเชื้อตาย 2 เข็ม

นายแพทย์โอภาสกล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนเข็มกระตุ้นมีดังนี้ 1.ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac-AstraZeneca ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca 2.ผู้ที่ได้รับวัคซีน  AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564  ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer และ 3.ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน  AstraZeneca

"ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ภายในเดือนมกราคม 2565 ส่วนผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca กระตุ้นได้ 1 เข็ม  สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ แต่คนไหนที่ได้รับครบแล้วยังไม่ต้องกระตุ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค  โทร.1422" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า "โควิด-19 วัคซีน การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนชนิดต่างๆ หลังให้เชื้อตายครบ 2 เข็ม

ข้อมูลการศึกษาวิจัยของศูนย์เห็นได้ชัดเจนและได้รับการลงพิมพ์ในวารสารแล้ว การให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม เป็นการปูพื้นที่ดีมาก  เพื่อการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีน Virus Vector (AZ) หรือ  mRNA (PZ) เราจะเห็นว่าการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้สูงมาก  ขึ้นสูงถึง 2 log scale หรือประมาณ 100 เท่า และภูมิต้านทานดังกล่าวสามารถขัดขวางสายพันธุ์แอลฟาและเดลตาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การศึกษาระดับเซลล์ CMIR ก็พบว่ามีการตอบสนองที่ดี

ขณะนี้ได้มีการศึกษาจากต่างประเทศตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ที่ลงพิมพ์ใน MedRxiv โดยทีมยุโรปและจีน ที่ศึกษาการกระตุ้นด้วย  mRNA ตามหลังวัคซีน Sinovac มีการกระตุ้นที่สูงมากเช่นเดียวกับของเรา การปูพื้นด้วยเชื้อตาย 2 เข็มจึงเป็นวิธีการที่ดี เพื่อการกระตุ้นในเวลาต่อมา และได้ระบบภูมิต้านทานที่สูงมาก และน่าจะขัดขวาง omicron ด้วย

จากการศึกษาของเราจะเห็นว่า การกระตุ้นเข็ม 3 ถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายกระตุ้น ภูมิต้านทานจะสูงขึ้นเพียง 1 log หรือประมาณ 10 เท่า  แต่ถ้าใช้ AZ จะสูงขึ้นไปประมาณ 2 log หรือเกือบร้อยเท่า ถ้าเป็น  mRNA จะสูงขึ้นถึง 200 เท่า เมื่อเปรียบเทียบอาการข้างเคียงของวัคซีนทั้ง 3 ตัวแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าวัคซีนเชื้อตายมีอาการข้างเคียงน้อยที่สุด ดังแสดงในรูป

ขณะนี้เรากำลังทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงปฏิกิริยาการขัดขวางต่อสายพันธุ์ omicron โดยใช้เชื้อเป็น omicron ที่แยกได้ในประเทศไทย ผลจะออกมาในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาในอินโดนีเซีย บราซิล  ที่ร่วมกับ Oxford และต่อไปก็จะมีงานสนับสนุนและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

ส่วนการศึกษาการกระตุ้นเข็มสาม หลังให้วัคซีนสูตรไขว้ SV  AZ ขณะนี้ทำเสร็จแล้ว จะได้แสดงผลในโอกาสต่อไปและส่งเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาเราเสียโอกาสไปมากจากการด้อยค่า ของวัคซีนเชื้อตาย"

สถานะโรงพยาบาลสนาม

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนประชาชนอย่าประมาทจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้เชื้อจะไม่รุนแรงในเด็กและคนสูงอายุ แต่โอมิครอนยังทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ยืนยันรัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ขอเพียงประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ Universal  Prevention งดเข้าสถานที่เสี่ยง ชะลอเดินทาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศเตือนภัยระดับ 4 หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น การแพร่ระบาดลดระดับลง อาจมีการพิจารณาลดระดับในระยะถัดไป

นายธนกรกล่าวว่า สรุปสถานภาพการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม  (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค.65) ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19  ตามระดับอาการ ดังนี้

1.สถานะโรงพยาบาลสนามของกระทรวงกลาโหม (กห.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมสถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจาก  3 หน่วยงาน ปัจจุบันมีทั้งหมด 118 แห่ง พร้อมรับ 24,646 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 2,611 เตียง และสามารถรองรับได้เพิ่มเติมอีก 22,035 เตียง

และ 2.สถานะศูนย์แยกกักชุมชน (Community  Isolation) ของ อว. ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 แห่ง พร้อมรับ 2,951 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 201 เตียง และสามารถรองรับได้เพิ่มเติม 2,705 เตียง ทั้งนี้ 14 วันที่ผ่านมา แผนชะลอการระบาดถือว่าสามารถควบคุมได้ดี ขอความร่วมมือประชาชนมารับวัคซีนให้ครบตามที่สาธารณสุขแนะนำ เน้นมาตรการ ATK First ขณะเดียวกันการดำเนินการของมาตรการทางการแพทย์ได้มีระบบสายด่วนประสานผู้ติดเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1330 หรือสายด่วนในระดับจังหวัด

โดยในขณะนี้ยังเน้นการดูแลที่บ้าน Home Isolation เป็นหลัก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมากมีจำนวนมากที่สุด  ประมาณร้อยละ 90 โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีระบบการติดตามและดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาล  หากดูแลที่บ้านไม่ได้ก็สามารถดูแลผ่านศูนย์ระดับชุมชน Community  Isolation ซึ่งหากระหว่างการติดตามอาการพบว่าผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น ก็จะดำเนินการส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที

“นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขมาตรการรับมือต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้มากที่สุด ยืนยันว่าไม่เคยลดหย่อนการทำงานแม้สถานการณ์จะดีขึ้น  ในส่วนของมาตรการต่างๆ จะพิจารณาผ่อนคลายให้เร็วที่สุดภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น โดยจะเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ย้ำขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันป้องกันตัวเองตามมาตรการ VUCA ประกอบด้วย V-Vaccine, U-Universal Prevention, C-Covid-19 Free  Setting และ A-ATK เพื่อป้องกันตัวเองและเป็นการช่วยกันลดการแพร่ระบาด” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง