ผุดศปภ.แก้อุทกภัย นายกฯตื่น!นัดถกด่วน อนุทินชงเคาะเยียวยา

นายกฯ ตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” นั่งบัญชาการเอง พร้อมประชุมนัดแรก "บิ๊กอ้วน" สั่งกองทัพระดมช่วยเหลือน้ำท่วมอีสาน จัดกำลังพลทำความสะอาดโคลนฟื้นฟูเชียงราย “อนุทิน” เปิดกองบัญชาการ ปภ. แห่งชาติ ชง ครม. 17 ก.ย. เคาะมาตรการเยียวยา สั่ง กฟภ.-กปภ.ลดค่าไฟค่าน้ำ เชื่ออีสานไม่วิกฤตเท่าเหนือ หนองคายยังวิกฤต! ระดับน้ำโขงพุ่ง  13.82 ม. ส่วนนครพนมอพยพด่วนร้านค้าใต้ถุนพญานาค บึงหนองโคตรขอนแก่นน้ำเต็มความจุอ่าง ผู้ว่าฯ สั่งเร่งพร่องน้ำ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า "พรุ่งนี้ (16  ก.ย.) ดิฉันจะเรียกประชุมทีมงานที่ทำเนียบรัฐบาล  เพื่อเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.), คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนบูรณาการเข้ามาบริหารจัดการวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้อย่างคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้นค่ะ"

มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในวันที่ 16 ก.ย. นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมทุกหน่วยงานเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ของประเทศนัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และ 2.คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ โดยมีองค์ประกอบ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ

ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รมว.สาธารณสุข เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นายชยันต์ เมืองสง) ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ขณะที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการและเลขานุการ และรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ นายกฯ ห่วงใยอาสากู้ภัย จิตอาสา อาสาสมัคร ที่เข้าไปร่วมช่วยเหลือประชาชนและสัตว์  รวมถึงภารกิจต่างๆ ในหลายๆ พื้นที่น้ำท่วม โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัย ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง และให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งต้องขอขอบคุณในความเสียสละของทีมอาสากู้ภัย และเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ได้ทำหน้าที่เพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่  นับเป็นการกระทำที่น่ายกย่อง และแสดงออกถึงน้ำใจของคนไทยที่ทั่วโลกประทับใจ ในส่วนของรัฐบาลได้เตรียมแผนเผชิญภัยในพื้นที่เสี่ยง และแผนฟื้นฟูในพื้นที่น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลาย โดยคาดว่าจะได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ด้วย รวมทั้งยังห่วงใยสุขภาพประชาชน ขอให้ดูแลตนเองและคนในครอบครัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงราย นายกฯ  ได้รับรายงานความคืบหน้าการกู้ระบบประปาของสถานีผลิตน้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ขณะนี้สามารถจ่ายน้ำประปาให้ประชาชนในจังหวัดเชียงรายได้ตามปกติแล้ว และจะสามารถส่งน้ำได้ในพื้นที่เขตตัวเมืองภายในเที่ยง เพื่อให้ประชาชนได้สามารถนำน้ำมาทำความสะอาดบ้านและชำระล้างดินและทรายได้ก่อนในลำดับแรก เนื่องจากน้ำประปายังคงมีความขุ่นเล็กน้อย ซึ่งทาง กปภ.จะเร่งปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้เกณฑ์มาตรฐานภายในวันที่ 16 ก.ย. ส่วนประปาสาขาแม่สาย กองบัญชาการกองทัพไทยร่วมกับกรมอุทยานฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยแก้ไขปัญหาดินโคลนและตะกอนทรายทับถมโรงผลิตระบบผลิตน้ำประปา ให้สามารถกลับมาผลิตน้ำประปาได้ภายใน 5-7 วัน

สั่งทหารช่วยน้ำท่วมอีสาน

ทางด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้กองทัพภาคที่ 2 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานอย่างใกล้ชิด จัดกำลังพลยุทโธปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.หนองคาย พร้อมลำเลียงคน-สิ่งของ และสัตว์เลี้ยง ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หนองคายเช่นกัน โดยสนธิกำลังร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้าพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อให้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย

ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เชียงรายหลังน้ำลด โดยกองทัพภาคที่ 3 จัดกำลังเพิ่มเติมเข้าช่วยเหลือประชาชนใน อ.เมืองฯ พร้อมชุดเครื่องมือช่างทำความสะอาดโคลน ทั้งนี้ หน่วยต่างๆ ของกระทรวงกลาโหมในพื้นที่ส่วนกลาง ยังได้เตรียมการให้การสนับสนุนพื้นที่ตามการร้องขออีกด้วย

 ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพยากรณ์และการบริหารจัดการน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด  เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)

นายอนุทินกล่าวว่า ปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองคาย เลย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี รวม 39 อำเภอ 182 ตำบล 797 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,073 ครัวเรือน ซึ่งนายกฯ และรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน จึงสั่งการให้เร่งระดมช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน โดยเฉพาะงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย หากจังหวัดใดงบประมาณไม่เพียงพอ ให้รีบดำเนินการขอขยายวงเงินทดรองราชการ เพื่อไม่ให้งบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนสะดุด สำหรับพื้นที่ที่น้ำท่วมลดลงเริ่มคลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายของครัวเรือนประชาชน เพื่อดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาประชาขนอย่างเร็วที่สุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะดำเนินการเชื่อมโยงวอร์รูม ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อร่วมคาดการณ์ ประสานการแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง  รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ตรงเป้าหมายและทันต่อสถานการณ์

ชง ครม.เคาะเยียวยา

ส่วนการเยียวยาพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ปภ. เร่งจัดทำบัญชีรวบรวมศึกษาข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนรายหลังคาเรือน เพื่อให้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือ  ขณะนี้การสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนาม คาดว่าวันที่ 17 ก.ย.นี้ จะเสนอ ครม.พิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด สำหรับการเยียวยาทางอ้อม เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ที่เร่งให้คณะกรรมการพิจารณาลดค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตโดยเร็วที่สุด คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะทราบรายละเอียด

นายอนุทินกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม จ.หนองคายว่า ทราบว่าเช้านี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ทางพื้นที่ได้เร่งทำคันดินและพนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเอาไว้ ส่วนพื้นที่ริมตลิ่ง ถือเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่สามารถปรับตัวได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่เร่งเกลี่ยทางเพื่อให้น้ำสามารถระบายออกจากพื้นที่ได้สะดวก คาดว่าสถานการณ์น้ำพื้นที่ในจังหวัดอีสานจะไม่หนักเท่าพื้นที่ภาคเหนือ

ส่วนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือ จ.เชียงใหม่และเชียงราย นายอนุทินกล่าวว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดขออนุมัติงบประมาณไปแล้ว 100 ล้านบาท โดยจังหวัดใดก็ตามที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย มีเงินทดรองเบื้องต้น 20 ล้านบาท แต่หากไม่เพียงพอ ผู้ว่าฯ สามารถขอขยายวงเงิน  โดยกรมบัญชีกลางจะเร่งดำเนินการให้ในช่วงนี้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายว่า  สถานการณ์ที่เชียงรายเข้าสู่ในระยะฟื้นฟูแล้ว โดยสาธารณสุขจังหวัดเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการภายหลังน้ำลดแล้ว ทั้งการเร่งจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสุขศึกษา เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ติดตามสุขภาพร่างกาย จิตใจผู้ที่อยู่ในศูนย์ วางแผนการจัดการดูแลผู้ป่วยในกลุ่ม NCD และแจกจ่ายยาน้ำกัดเท้า ชุดยาสามัญประจำบ้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าช่วยเหลือ โดยได้ดำเนินการซ่อมแซมสะพานขาด ด้วยการติดตั้งงานทอดสะพานเหล็กเบลีย์บนทางหลวงหมายเลข 1338 ขาแหย่ง-ป่าเมี่ยง บริเวณ กม.9+650, ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้-ผาตั้ง บริเวณ กม.80+185 และทางหลวงหมายเลข 1098 ท่าข้าวเปลือก-แก่นใต้ บริเวณ กม.18+366-กม.18+446 นอกจากนี้ บางพื้นที่น้ำลดลงแล้ว ทำให้มีเศษดินโคลน ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าบูรณะหรือฟื้นฟูสายทางที่ได้รับผลการกระทบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ หรือสายด่วน กรมทางหลวง 1586 และกรมทางหลวงชนบท 1146

เร่งตั้งประปาสนาม

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พร้อมสั่งการในที่ประชุมติดตามสถานการณ์ฯ ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ และภาคประชาชน ที่ศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ว่าการอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย โดยให้เร่งรัดแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะระบบน้ำประปาซึ่งไม่สามารถใช้ได้นั้น สั่งให้กรมการทหารช่างกองทัพบก จัดตั้งประปาสนาม แต่ในขั้นต้นให้ร้องขอการสนับสนุนน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อน

สำหรับเรื่องการรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีมิจฉาชีพได้เข้ามาทำให้เกิดปัญหา และประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านพัก และการเข้าไปฟื้นฟู เป็นไปด้วยความยากลำบากนั้น ผบ.ทสส.จึงขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลทหารในพื้นที่ จัดชุดดูแลความปลอดภัยเพื่อให้ประชาชนได้สบายใจและออกจากพื้นที่ต่างๆ ได้แล้ว ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันยังมีดินโคลนที่มีความสูงมาก บางพื้นที่ลึกมากกว่า 2 เมตร จึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนเครื่องมือช่างจากหน่วยงาน โดยเฉพาะของกองทัพ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ถึงแล้วเสร็จ

พ.ท.หญิงปวีณา ศรีบัวชุม ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำโขงสูงกว่าระดับวิกฤต ล้นตลิ่ง และเกิดน้ำท่วมฉับพลันเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 1,000 หลังคาเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 700 ไร่ ในพื้นที่ อ.ปากชม จ.เลย และ อ.สังคม, อ.ศรีเชียงใหม่, อ.โพนพิสัย, อ.รัตนวาปี, อ.ท่าบ่อ และ อ.เมืองฯ จ.หนองคาย กองทัพบก โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 จัดกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยช่วยยกสิ่งของขึ้นที่สูง อพยพประชาชน ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียงไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมวางแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน นอกจากนี้ กองทัพบกจัดกำลังพลชุดหมอเดินเท้ามอบยาและเวชภัณฑ์ และช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมจัดรถครัวสนามเพื่อประกอบอาหารกล่องปรุงสุกให้กับผู้ประสบอุทกภัย

ผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงรายรายงานว่า   สถานการณ์น้ำจากลำน้ำสายพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย พบว่าน้ำได้แห้งลงในเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นจุดที่ต่ำและอยู่ริมฝั่ง เช่น ชุมชนสายลมจอย ชุมชนไม้ลุงขนและเหมืองแดงบางส่วน ฯลฯ สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สิ่งของต่างๆ ที่ลอยและค้างอยู่ตามจุดต่างๆ ขณะเดียวกัน การประปา อ.แม่สาย ได้เข้าตรวจสอบจุุดสูบน้ำดิบบริเวณชุมชนหัวฝาย  พบว่าดินโคลนได้เข้าท่วมพื้นที่ลึกหลายเมตร ส่งผลทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ เพราะต้องนำดินโคลนทั้งหมดออกและทุบกำแพงโดยรอบเพื่อนำน้ำที่คงค้างอยู่ภายในออก จึงจะสามารถซ่อมแซมระบบและผลิตน้ำประปาได้ต่อไป นอกจากนี้   พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดกำลังพลออกตรวจตราดำเนินคดีกับคนร้ายลอบเข้าไปในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม

หนองคายยังอ่วม

ที่ จ.หนองคาย ระดับแม่น้ำโขงช่วงเช้า อยู่ที่ 13.82 เมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับตลิ่งถึง 1.62 เมตร ในส่วนของน้ำโขงที่เอ่อล้นตลิ่งนั้น ได้ท่วมลานวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง และถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ชุมชนโพธิ์ศรี ไปจนถึงชุมชนวัดธาตุ เป็นระยะทางเกือบ 2 กม. มีการงดสัญจรเส้นทางในจุดนี้ด้วย นอกจากจะท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคายแล้ว ยังได้เอ่อล้นถนนเข้าท่วมภายในบริเวณตลาดสดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่ริมถนนประจักษ์ศิลปาคม ที่เป็นตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในเทศบาลเมืองหนองคาย ซึ่งถนนประจักษ์ศิลปาคมที่เป็นถนนสายหลักยังคงปิดการสัญจร เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง 30-50 ซม.

ที่ จ.นครพนม ระดับแม่น้ำโขงเริ่มใกล้จุดล้นตลิ่ง โดยเวลาเที่ยงคืนอยู่ที่ 11.28 เมตร ขณะที่จุดวิกฤตคือ 12.79 เมตร แต่มวลน้ำจะไม่เอ่อท่วมพื้นที่เขตเทศบาล (ทม.) นครพนม เนื่องจากมีเขื่อนป้องกันตลิ่งสูงจากเดิม ขณะที่นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม ได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง 4 อำเภอชายแดนติดแม่น้ำโขง ได้แก่ อ.บ้านแพง, อ.ท่าอุเทน, อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม และล่าสุด ทม.เมืองนครพนม สั่งให้ร้านจำหน่ายสินค้าของฝากที่อยู่ใต้ลานพญานาค อพยพสิ่งของขึ้นที่สูงด่วน เพราะระดับน้ำแตะขอบพื้นฟุตปาธแล้ว สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบล่าสุด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อำเภอโซนเหนือ อ.นาหว้า อ.นาทม อ.ศรีสงคราม และ อ.ท่าอุเทน เพราะเป็นพื้นที่ที่ติดกับลำน้ำสาขาสายหลักคือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ ทำให้เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรมากกว่า 70,000 ไร่

ที่ จ.ขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้บึงหนองโคตร ซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ในการรับน้ำไม่ให้เข้าเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด มีปริมาณน้ำที่เต็มความจุอ่างคือ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องหาทางพร่องน้ำด้วยแผน 2 คือการใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกลผันน้ำไปในพื้นที่รับน้ำใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด เพราะยังคงต้องเฝ้าระวังพายุฝน ที่คาดว่าจะตกอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"

ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด

ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"