อดีตคนธปท.ต้านแทรกแซง

แรงต้านแทรกแซงแบงก์ชาติขยายวง อดีตพนักงาน ธปท.อีก 416 คน ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ยกจรรยาบรรณประธานบอร์ดห้ามเอี่ยวการเมือง เรียกร้องคณะกรรมการสรรหาฯ  คัดเลือกด้วยความรอบคอบโปร่งใส “อุตตม” เตือนสติเศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดพลิกผัน อย่าหาเรื่องหักล้างกัน
เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พ.ย.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในการคัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกลุ่มการเมืองผ่านการแต่งตั้งประธานกรรมการ (บอร์ด)  ธปท. ซึ่งก่อนหน้านี้มีกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 227 คน โดยมีอดีตผู้ว่าการ ธปท. 4 คน ได้ร่วมลงชื่อคัดค้าน ล่าสุด มีอดีตพนักงาน ธปท.อีก 416 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเรื่องจรรยาบรรณที่พึงมีสำหรับตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจดหมายครั้งนี้ มีผู้บริหาร ธปท.ระดับรองผู้ว่าการ 4 คน และผู้ช่วยผู้ว่าการ 12 คน มาร่วมลงชื่อด้วย

สำหรับเนื้อหาสำคัญของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท.  ขอเรียนยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบและกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท.ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท.จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงินและนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ.ธปท.ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน  และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญคือ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ

“บทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท.ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ  ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท.  พ.ศ.2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.”

จดหมายเปิดผนึกระบุอีกว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ  รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระ ในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้ง ธปท. คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

จดหมายเปิดผนึกยังระบุทิ้งท้ายว่า ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการคนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่  ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม”

นายอุตตม​ สาวนายน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องนี้​การเมืองไม่ควรที่จะเข้าไปก้าวก่าย​ แต่ไม่ได้หมายความว่า ธปท.ทำงานด้วยตัวเอง​ ​รัฐบาลต้องทำงานกับ ธปท.​อยู่แล้ว หน้าที่มีอยู่แล้ว แต่จากประสบการณ์คิดว่าต้องประสานงานกัน โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยอยู่ในจุดพลิกผัน จะฟื้นได้จริงหรือไม่ ต้องอาศัยทุกหน่วยงาน และไม่ไปเสียเวลากับเรื่องอื่น ที่จะไปหักล้างความร่วมมือกัน

เมื่อถามว่า ชื่อของนายกิตติรัตน์​ ที่ออกมาดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง นายอุตตมกล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น​ แต่ทราบข่าวว่า​มีแคนดิเดตหลายคน​ ซึ่งเราก็ต้องเชื่อมั่นในคณะกรรมการสรรหาฯ​ เพราะแต่ละคนก็มีคุณวุฒิ เข้าใจว่าเป็นอดีตของผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ของกระทรวง และของ ธปท. เราต้องให้ความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการเหล่านั้นจะกลั่นกรอง​ให้ดีที่สุด​อย่างรอบคอบ​

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการออกแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกว่า เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นที่สามารถทำได้ เพราะอาจจะเกรงหากรัฐบาลมีการใช้กลไกทางการเมืองเข้ามาเป็นแรงกดดัน จะส่งผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท. ไม่มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ดังนั้น กระบวนการในการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องมีความเป็นอิสระ แต่จะต้องไปดูว่าเป็นอิสระในรูปแบบไหน ถ้าความอิสระมาจากทางการเมือง ก็ต้องไปดูว่าบุคคลที่จะเข้ามาในส่วนนี้ไม่มีเงื่อนไขผิดคุณสมบัติกระบวนการสรรหาก็น่าจะสอดคล้องและเหมาะสม แต่ถ้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข ก็มีโอกาสสูงที่บุคคลที่มาจากทางการเมืองจะถูกทำให้เป็นโมฆะได้

 “ข้อห่วงใยของอดีตผู้ว่าฯ ธปท.และนักเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นข้อห่วงใยที่สำคัญ เพราะต่างก็มองว่าเป็นเรื่องของภาพลักษณ์และกระบวนการทำงานของ ธปท. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นานาชาติยอมรับบทบาทของการเป็นธนาคารกลาง ดังนั้นจึงมองว่าการส่งหนังสือดังกล่าวออกมาจึงเป็นการส่งสัญญาณที่จะแสดงให้รัฐบาลต้องพึงระวังในเรื่องนี้” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของไทย จะเห็นรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. มีความเห็นไม่สอดคล้องกันหลายครั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดความห่วงใยว่า หากรัฐบาลกดดันหรือสั่งการให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแทรกแซงโดยรัฐ ตรงนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมากกว่าสำหรับเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง