ก๊วนธรรมนัสวงแตก กลุ่มขอนแก่นวิ่งซบเสี่ยหนู/พท.ปั่นลุงตู่ยุบสภาหนีซักฟอก

ก๊วนธรรมนัส-พรรคเศรษฐกิจไทย วงแตก! ตั้งแต่ยังไม่ทันตั้งไข่ "กลุ่มขอนแก่น-เอกราช" ชิ่งหนี เข้าคอก "เสี่ยหนู-เนวิน" ที่ภูมิใจไทย "ไผ่-ลูกหาบผู้กอง" ยังกั๊กพรรคใหม่ อยู่ขั้ว รบ.หรือฝ่ายค้าน แต่ลูกทีมลุยตั้งสาขาพรรค รอเปิดตัวใหญ่เดือน ก.พ. ส.ว.ชี้ช่อง กกต.สอบ มติป่ารอยต่อฯ ลุงป้อมจัดให้น้องนัสฯ เข้าข่าย "นิติกรรมอำพราง" หรือไม่

ความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะกับการที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะขนทีม ส.ส.เดิมพลังประชารัฐร่วม 21 คน ย้ายไปอยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทย แต่เริ่มพบว่ากำลังเกิดปัญหาภายในกลุ่ม 21 ส.ส.ดังกล่าวแล้ว หลังก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่เป็น 1 ใน 21 ส.ส. ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค พปชร. แย้งว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อบังคับพรรค พปชร.และกฎหมายพรรคการเมือง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ม.ค. แหล่งข่าวจาก ส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า ถึงตอนนี้ ส.ส.ในกลุ่ม 21 คนดังกล่าวเริ่มจะไม่ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว เพราะนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อนสนิทกับ ร.อ.ธรรมนัส ที่ทำธุรกิจด้วยกันมาหลายอย่าง และมีบทบาทคุมพื้นที่เลือกตั้งอีสานจังหวัดขอนแก่นตอนเลือกตั้งให้ พปชร. กับลูกชายคือ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น ซึ่งทั้งสองคนมีชื่ออยู่ใน 21 คนดังกล่าวด้วย ล่าสุดจะย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยแทน โดยก่อนหน้านี้บุตรชายคนเล็กคือ นายพิทักษ์ชน ช่างเหลา ได้ไปเปิดตัวในการประชุมใหญ่พรรคภูมิใจไทยที่ จ.นครราชสีมา ที่ผ่านมาแล้ว

ส่วนความเคลื่อนไหวของ ส.ส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส ที่จะย้ายไปพรรคเศรษฐกิจไทยในส่วนอื่นๆ พบว่าเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่บริเวณห้องประชุมวัดบางพลี ตำบลบางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ปรากฏว่า น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.เขต 3 จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่ม ส.ส.ในสังกัดของ ร.อ.ธรรมนัส ได้ประชุมจัดตั้งตัวแทนประจำจังหวัดสมุทรสาครของพรรคเศรษฐกิจไทย เขตเลือกตั้งที่ 3 โดยมีสมาชิกและประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

มีรายงานว่า ส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสจะทยอยจัดการประชุมจัดตั้งตัวแทนประจำจังหวัดพรรคเศรษฐกิจไทยเขตเลือกตั้งต่างๆ ให้ครบทั้ง 77 จังหวัดต่อไป สำหรับความคืบหน้าในส่วนนโยบายพรรคเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่า ร.อ.ธรรมนัสจะเรียกประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือน ก.พ.นี้

ขณะที่นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชรและ 1 ใน 21 ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงการย้ายไปพรรคเศรษฐกิจไทยหลังถูกถามว่ามีการวางตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและตำแหน่งอื่นๆ แล้วหรือยัง ว่ายังไม่ทราบ เบื้องต้นตามที่ได้โพสต์ไปในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าได้มีการพูดคุยกัน และน่าจะมีทิศทางที่ตรงกัน แนวทางไปด้วยกันได้ดี และดูแล้วเป็นพรรคที่เข้าได้กับทุกคน

เมื่อถามว่า ในเรื่องของแผนดำเนินการในอนาคตยังไม่มีความชัดเจนใช่หรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า ยังไม่ชัด

ถามชัดๆ ว่า จากการได้พูดคุยกันเบื้องต้นกับพรรคเศรษฐกิจไทย จะอยู่ฝั่งรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือเป็นกลาง นายไผ่ กล่าวว่า รอให้ผู้ใหญ่คุยกันก่อน จะพูดก่อนก็ไม่ดี และเมื่อชัดเจนจะประชุมกัน แต่ต้องดูท่าทีของกลุ่มด้วยว่าเป็นอย่างไร ส่วนความชัดเจนในเรื่องการไปพรรคเศรษฐกิจไทยจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ในส่วนของการยื่นเรื่องที่พรรค พปชร.มีมติขับออกต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องของพรรค พปชร. ทางพรรค พปชร.ต้องเป็นคนดำเนินการ แต่หลังจากวันที่มีมติแล้วคือสิ้นสุด แต่ต้องตามขั้นตอน

ประเด็นดังกล่าวนี้ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ให้ข้อมูลว่า การยื่นเรื่องต่อ กกต.ถึงมติขับ 21 ส.ส.ดังกล่าว เท่าที่ทราบเรื่องนี้ต้องยื่นภายใน 15 วัน และตอนนี้กำลังทำรายละเอียดอยู่ ส่วนการตั้งคนไปรักษาการแทนในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค พปชร.แทนคนที่ออกไปนั้น ทางฝ่ายกฎหมายจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อหัวหน้าพรรคเข้าใจว่าสามารถเคาะผู้รักษาการได้เลย แต่ต้องมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งจากกรรมการบริหารพรรคไปรักษาการตำแหน่งดังกล่าว

จอมแฉโบกมือลา พปชร.

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า หลังสมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร.ได้ประมาณ 8 เดือน ได้โอกาสทำงานที่ชอบคือ กมธ.วิสามัญร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในสัดส่วนของ พปชร.แต่หลังจากเป็น กมธ.ดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ช่วยทำงานอื่นให้พรรค จะทำเฉพาะงานตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐและพรรคการเมืองต่างๆ ในนามส่วนตัวตามความถนัดอย่างมีอิสระ แต่ตนได้รับการร้องขอให้ชะลอเรื่องการจะตรวจสอบเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะครบ 8 ปี ตามที่ได้ให้ข่าวไปเมื่อต้นปี กรณีนี้ทำให้รู้สึกไม่อิสระ แต่ก็รอได้เพราะยังมีเวลาอีกประมาณ 7 เดือน และนายกฯ อาจจะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนก็เป็นไปได้มาก และจากตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา ยังมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ควรร้องขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการต่อไป โดยจะมีทั้งนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส.และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ มีประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่อาจทำให้หลุดจากตำแหน่งหรือถูกดำเนินคดีตามมาได้

"หากผมยังอยู่พรรค พปชร.ต่อไป เรื่องตรวจสอบคงทำได้ไม่อิสระ ดังนั้นเพื่อให้การทำงานตรวจสอบของผม ดำเนินการได้อย่างอิสระ คิดว่าควรลาออกจาก พปชร.น่าจะเหมาะสมกว่า ดังนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือลาออกด้วยตนเองที่พรรค พปชร.วันที่ 24 ม.ค. เวลา 10.00 น." นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ทางการเมืองมีความไม่มั่นคง สภาล่มบ่อย รัฐบาลได้รับการติติงมาก แต่ฝ่ายค้านส่วนมากก็ไร้ฝีมือ มีแต่ฝีปาก ไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างที่คุยโว และค้านแบบไม้หลักปักขี้เลน มีแต่สำนวน ไร้สาระ ไร้น้ำยา ตนเห็นประเด็นสำคัญหลายเรื่อง จึงมีงานที่ต้องทำและน่าจะทำได้ดีกว่าฝ่ายค้าน ในช่วงเวลานี้

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีท่าทีทางการเมืองเช่นกัน โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสว่า เป็นปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ขอวิจารณ์ลึกลงไปในรายละเอียด แต่ถ้าจะถามว่าจบหรือยังนั้น ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปตอบแทนได้ว่าจบหรือไม่จบอย่างไร แล้วถ้าถามว่ามีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ในภาพรวมก็ต้องยอมรับว่าอาจมีผลกระทบ แต่ทั้งหมดก็ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ผลจะปรากฏออกมาอย่างไร รัฐบาลยังมีเสียงที่แน่นเหนียวกับรัฐบาลจำนวนเท่าไหร่ และฝ่ายค้านเหลือเท่าไหร่ ฝ่ายค้านเขาก็มีของเขาอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดก็ต้องไปดูข้อเท็จจริงด้วยว่าสุดท้ายแล้วเสียงจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้คิดว่ายังแกว่งอยู่ ยังคาดการณ์เป็นข้อสรุปขั้นสุดท้ายยังไม่ได้ เพราะยังปรากฏข่าวที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนว่าสุดท้ายแล้วเสียงที่อยู่กับรัฐบาลมีเท่าไหร่ เสียงที่คาดว่ายังไม่มีความแน่นอนนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ ก็ต้องดูต่อไป

เมื่อถามถึงอุบัติเหตุทางการเมืองภายในปีนี้นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่เกิดอุบัติเหตุ หลายคนก็พยายามถามเรื่องยุบสภาว่าจะมียุบสภาหรือไม่ อันนี้ยิ่งตอบไม่ได้ เพราะยุบสภาเป็นอำนาจนายกฯ และประเทศไทยของเราส่วนใหญ่ถ้ายุบสภา ก็หมายความว่ามันจะต้องเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดปัญหาทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มันก็ยังไม่เกิด แต่ถ้าเกิดมายุบตอนนี้มันจะมีปัญหาเรื่องหนึ่งตามมา ก็คือปัญหาเรื่องกฎหมายลูกที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นจะไปต่อได้อย่างไร ถ้าเกิดยุบสภามีแต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกที่จะเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา และการกำกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงยังไม่ออกมาแล้วจะไปยังไง อันนี้ก็เป็นคำถามอยู่

เชื่อ"บิ๊กตู่"ยุบสภาก่อนซักฟอก

ด้านท่าทีฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ว่า เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้ยาก เพราะวิธีการที่เคยทำมา ยังมีอำนาจการต่อรองอีกมากในการร่วมรัฐบาล ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะมีทางออกอยู่ 4 ทาง คือ ลาออก, หาคนมาดำรงตำแหน่งแทน, ยอมปรับคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอยุบสภา และรัฐประหาร

"แต่มองว่าวิธีที่ 1 และ 4 ไม่มีทางเป็นไปได้ ส่วนวิธีการยอมปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภาเป็นไปได้ เว้นแต่ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศสละตำแหน่ง หลังดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะถือเป็นวีรบุรุษและได้รับการยอมรับ เพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุด" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุไว้

นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีสัญญาณจากการประชุมสภาสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เกิดปัญหาสภาล่มบ่อย แสดงให้เห็นว่ากลไกในสภาทำงานไม่ได้ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะเห็นสภาล่มอีกบ่อยครั้ง หากฝ่ายที่ต้องการอำนาจจากการต่อรองไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรียอมปรับคณะรัฐมนตรี ก็อาจจะยังเดินต่อไปได้ เพราะเสียงข้างมากยังอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล แต่เสียงข้างน้อยยังต้องทำงานอย่างหนักในการขับไล่ในสิ่งที่ไม่ชอบธรรมต่อไป

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า ผลพวงจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลดลง 21 เสียง พรรคร่วมรัฐบาลเหลือ ส.ส.ในสภา 244 เสียง หักลบประธานและรองประธานสภา 3 เสียง ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านมี 208 เสียง ขณะที่การพิจารณาในสภาจะต้องมีเสียงในสภากึ่งหนึ่งที่ 237 เสียงจากทั้งหมด 473 เสียง จึงถือว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาเพียง 4 เสียงเท่านั้น ดังนั้นจึงเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจยุบสภาก่อนที่จะมีการเปิดสมัยประชุมสภาฯ สมัยหน้า 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติด้วย โดยเชื่อว่าหากฝ่ายค้านร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วเสียงของฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่เพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้แน่นอน

ส่วนมุมข้อกฎหมายในเรื่องมติของพปชร.ในการขับ ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังมีความเห็นตามออกมา โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีข่าวขับ 21 ส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ต่อมานายสมศักดิ์ พันธ์เกษม หนึ่งใน ส.ส.ที่ถูกขับออก ออกมาร้องขอความเป็นธรรม ระบุว่า

"กรณีตามข่าวนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ได้ทันทีถ้า กกต.ก้าวเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยประเด็นสำคัญที่สมควรตรวจสอบเพื่อตอบคำถามให้ชัดเจนในฐานะองค์กรผู้กำกับดูแลพรรคการเมืองให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าตกลงแล้วนี่เป็นการจงใจขับออกจากพรรคโดยบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) จริงหรือไม่? เพราะผลของการที่ ส.ส. "ถูกขับออกจากพรรค" ตาม 101 (9) กับ "ลาออกจากพรรค" ตาม 101 (8) มันต่างกันเยอะ

นายคำนูณแสดงทัศนะอีกว่า "ลาออก" ทำให้พ้นสภาพ ส.ส. "ถูกขับออก" ยังคงสภาพ ส.ส.ไว้ได้ หากหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน รัฐธรรมนูญไทยมีบทบัญญัติบังคับ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองมาตั้งแต่ปี 2517 เพื่อแก้ปัญหา ส.ส.ต่อรองกดดันฝ่ายบริหารอันเป็นเหตุให้การเมืองขาดเสถียรภาพในช่วงปี 2512-2514 จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารตอนปลายปี 2514 นับจากนั้นมาการย้ายพรรคระหว่างวาระทำไม่ได้โดยหลักการ ยกเว้น ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคจะยอมแลกด้วยตำแหน่ง ส.ส. ก็ไม่ว่ากัน ทำได้ โดยปกติ ส.ส.จะย้ายสังกัดได้เมื่อมีการยุบสภาแล้วเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญบางฉบับมีกำหนดระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ยาวถึง 90 ไว้อีกต่างหาก ทำให้การย้ายพรรคไม่ง่ายนัก"

สร้างอนาคตไทยคึกลุยอีสาน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในส่วนของพรรคสร้างอนาคตไทย หรือที่เรียกกันว่าพรรคกลุ่มสี่กุมารนั้น พบว่าเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่จังหวัดนครพนม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พร้อมด้วยนายสุพล ฟองงาม และนายวัชระ กรรณิการ์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ลงพื้นที่พบปะเครือข่ายกลุ่มสร้างอนาคตไทยภาคอีสานกว่า 100 คน โดยมีกลุ่มการเมืองเลือดอีสานเข้าร่วม อาทิ นายชัยมงคล ไชยรบ อดีตนายก อบจ.สกลนคร, นายวิริยะ ทองผา อดีตรองนายก อบจ.มุกดาหาร, นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ อดีตรองประธานสภา อบจ.อุบลราชธานีมาร่วมด้วย

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า หลังจากเปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทยและผู้ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งพรรคกลุ่มแรก เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางพรรคตั้งใจจะเริ่มเดินหน้าลงพื้นที่พบปะเครือข่ายผู้ร่วมอุดมการณ์สร้างอนาคตไทย โดยประเดิมพื้นที่ภาคอีสานที่ จ.นครพนมเป็นที่แรก พื้นที่ภาคอีสานนั้นถือเป็นพื้นที่แม่ทางการเมือง เป็นหัวใจสำคัญทางการเมือง และมีความตั้งใจส่วนตัวที่อยากจะลงมาพบปะเป็นพื้นที่แรก โดยโอกาสแรกคือตั้งใจมาสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานของพรรค ซึ่งได้รับการตอบรับเกินความคาดหมายจากที่คิดไว้ แสดงให้เห็นว่าพี่น้องกลุ่มการเมืองภาคอีสานมีความตื่นตัวต่อพรรคสร้างอนาคตไทยในการเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อนำไปสู่การร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ส่วนโอกาสที่สองคือ มาพบปะขุนพลหลักๆ ของภาคอีสานที่จะเป็นแกนนำสำคัญที่จะปักธงการทำงานการเมืองของพรรคร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าพรรคจะเป็นทางออกและทางเลือกสำคัญที่พี่น้องทางภาคอีสานจะให้ความไว้วางใจ และนับจากนี้พรรคจะเริ่มเดินหน้าทางการเมืองเต็มรูปแบบ จะไม่ทำการเมืองที่ประชาชนเข้าไม่ถึง แต่จะมุ่งเน้นการทำงานเพื่อประชาชน

นายสนธิรัตน์ยังได้กล่าวถึงคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคว่า พรรคกำหนดคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไว้ชัดเจนคือ 1.ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะนำพาไปสู่การแก้วิกฤตของประเทศได้ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และพี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่น 2.จะต้องเป็นผู้ที่มีบารมีมากพอที่จะรวบรวมพลังของคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลังของนักการเมือง นักธุรกิจ และพลังเครือข่ายด้านสังคม และ 3.จะต้องเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และสามารถนำพาประเทศแข่งขันกับนานาชาติได้

นายสุพล ที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานให้พรรค กล่าวว่า ได้มีผู้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาร่วมสร้างอนาคตไทยกับพรรคเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากนี้จะต้องมีการประสานดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ในภาคอีสานครบทุกเขต ส่วนพื้นที่จ.อุบลราชธานี จะเริ่มที่ 4-5 เขต ซึ่งจะต้องดูที่ความพร้อมและคุณสมบัติผู้สมัครเป็นสำคัญ และในวันนี้ยังไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะได้จำนวน ส.ส.เท่าไหร่ แต่มั่นใจว่าพรรคนี้จะเป็นคำตอบเรื่องเศรษฐกิจของคนอีสาน เพราะคนที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศอยู่ที่พรรคนี้ โดยส่วนตัวมั่นใจว่าพรรคจะเป็นหนึ่งที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะมั่นใจในนโยบาย และผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และที่สำคัญมือสะอาดทุกคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง