ห่วงคลัสเตอร์‘กทม.’ยังพุ่ง พบโอมิครอนพันธุ์ย่อย9คน

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 6,718  ราย เสียชีวิต 12 ราย "ศบค." ห่วงคลัสเตอร์ตรุษจีน ขอเคร่งครัดมาตรการโควิดฟรีเซตติง "นายกฯ" สั่งตำรวจ-ฝ่ายปกครองจับตาสถานบันเทิงสัปดาห์แรก หลังไฟเขียวนั่งดริงก์ถึง 5 ทุ่ม ขู่! ใครฝ่าฝืนฟันทันที "สธ." ระบุกลุ่มเปราะบางติดเชื้ออาการไม่รุนแรงโฮมไอโซเลชั่นได้ "กรมวิทย์" เผยพบเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์​ย่อย​ BA.2 ใน​ไทยแล้ว​ 9 ร​าย

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค   ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,718 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,497 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,476 ราย ค้นหาเชิงรุก 21 ราย เรือนจำ 69 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 152 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,391,357 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,659 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,287,768 ราย อยู่ระหว่างรักษา 81,532 ราย อาการหนัก 548 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,057 ราย                    

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 288,356 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 112,759,859 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 25 ม.ค. ได้แก่ กทม. 1,269 ราย, สมุทรปราการ 556 ราย, นนทบุรี 411 ราย, ภูเก็ต 354 ราย, ชลบุรี 314 ราย,  ขอนแก่น 247 ราย, ปทุมธานี 228 ราย,  เลย 152 ราย, นครราชสีมา 144 ราย,  ศรีสะเกษ 118 ราย และอุดรธานี 118 ราย ทั้งนี้ พบคลัสเตอร์ในหลายแห่ง โดยคลัสเตอร์โรงงาน สถานประกอบการ พบที่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย, คลัสเตอร์พิธีกรรมศาสนา พบที่ จ.อุดรธานี ขอนแก่น น่าน ศรีสะเกษ, คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.ขอนแก่น มุกดาหาร, คลัสเตอร์สถานบันเทิงพบที่ จ.ร้อยเอ็ด อุดรธานี,  คลัสเตอร์ค่ายทหารพบที่ จ.ลพบุรี มุกดาหาร, คลัสเตอร์สถานพยาบาล พ บที่ กทม. นนทบุรี อุบลราชธานี ชลบุรี สมุทรปราการ จึงขอให้ทุกภาคส่วนเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล 

พญ.สุมนีกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความห่วงใยการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่ กทม. จึงส่งทีมสำรวจ โดยวันที่ 20 ม.ค. พบคลัสเตอร์ค่ายมวยที่เขตบางกอกน้อย ปัจจัยเสี่ยงมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น นวม กระสอบทราย และไม่มีการวางเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ อีกทั้งทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกันน้อย จึงขอให้ทุกกิจกรรม กิจการระมัดระวังในการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ของตัวเอง

"ในวันที่ 28 ม.ค.-3 ก.พ. จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ศบค.มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงว่าในเทศกาลดังกล่าวจะมีการรวมตัวกันของญาติพี่น้อง มีการเดินทางเพื่อจับจ่ายซื้อของทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาด ไปร้านอาหารเพื่อสังสรรค์กันภายในครอบครัว รวมถึงการไหว้เจ้าขอพรตามศาลเจ้าต่างๆ แต่ละกิจกรรมมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก หากพื้นที่แออัด อากาศปิด เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ขอให้เน้นย้ำมาตรการโควิดฟรีเซตติงอย่างเคร่งครัด และป้องกันการแออัดของจำนวนคน สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร แต่ละพื้นที่ควรตั้งขวดแอลกอฮอล์ เนื่องจาก ศบค.เป็นห่วง ไม่อยากให้เกิดคลัสเตอร์ตรุษจีนขึ้นมา โดยขอให้ประชาชนเข้มงวดมาตรการ หากใครได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะข้อมูลชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนทุกสูตรสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90-100%" ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าว  

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสัปดาห์แรกที่ ศบค.อนุมัติให้ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวและพื้นที่สีส้ม 25 จังหวัด ที่เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 23.00 น. และต้องตรวจสอบต่อไม่ให้มีการเปิดดื่มในร้านหลัง 5 ทุ่ม โดยต้องเข้มโควิดฟรีเซตติง

"นายกฯ ได้กำชับตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ให้ดูแลสถานประกอบการที่ทำผิด หากเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำผิดกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมาย ต้องลงโทษทางวินัย ร้านไหนขายเหล้า  ร้านไหนลักลอบปิดเกินเวลาที่กำหนด ปิดหน้าร้านบังหน้า แอบเปิดหลังร้าน ขอให้เจ้าหน้าที่สอบสวน จับกุม ยึดใบอนุญาต และหากพบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องให้เอาผิดทางวินัย” โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว 

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ร่วมใจฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เปิดบริการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการและพนักงานร้านค้าในศูนย์การค้า

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังช่วงปีใหม่มีอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในกลุ่มเปราะบางมีอัตราเพิ่มขึ้น 6-11% เท่านั้น และตั้งแต่วันที่ 1-20 ม.ค. พบผู้เสียชีวิต 75% เป็นผู้สูงอายุ และ 60% มีประวัติเสี่ยงได้รับเชื้อมาจากผู้ใกล้ชิด ส่วนหญิงตั้งครรภ์แนวโน้มติดเชื้อทรงตัว  มีเสียชีวิตเป็นระยะ ดังนั้นกลุ่มเปราะบางจึงเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างสูง เพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังใน 3 กลุ่ม คือ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย 2.กลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และ 3.ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง และเสี่ยงสัมผัสญาติใกล้ชิดที่ติดเชื้อ

ส่วน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเปราะบาง หากไม่มีอาการรุนแรงสามารถทำโฮมไอโซเลชั่น (การแยกกักตัวที่บ้าน)ได้ โดยกลุ่มผู้สูงอายุทำโฮมไอโซเลชั่นนั้นต้องอายุไม่เกิน 75 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ที่สำคัญผู้ดูแลต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างตลอดเวลา

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ว่าจากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย

 “ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็นความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง