นายกฯปัด‘พ่อ’ครอบงำ คลังสนองไอเดียซื้อหนี้

"อิ๊งค์" รีบแก้เกี้ยว "พ่อ" หวังดีกับประเทศผุดไอเดียซื้อหนี้ประชาชน ปัดครอบงำ  ขออย่ามองเป็นการเมือง ลั่นอะไรที่ดีอยากให้เกิดขึ้นจริง “พิชัย”​ อ้างคิดมาก่อน​ “ทักษิณ” แล้ว มี​ 2-3 แผน​ อิงโมเดลแก้วิกฤตต้มยำกุ้งปี​ 40 “จุลพันธ์” รับลูกสอดรับแนวทางคลังกำลังทำอยู่ “ธีระชัย” ซัดสร้างวิมานในอากาศ ทำได้จริงหรือวาทกรรมหาเสียง แนะแบงก์ชาติให้ข้อมูล ปชช.

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร โดยให้เอกชนลงทุนแทนว่า เป็นเรื่องที่นายทักษิณเป็นนักธุรกิจมาก่อน และเป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 ปี ความจริงเราคุยเรื่องนี้กันมาอยู่แล้ว ซึ่งนายทักษิณเป็นคนสนใจเรื่องเศรษฐกิจ มองเห็นปัญหาเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน ฉะนั้นจึงหาทางช่วยว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถคิดขึ้นมาได้                    

"แน่นอนว่าเป็นความคิดของคนที่หวังดีกับประเทศ อย่าเพิ่งเล่นประเด็นการเมือง แต่ถ้ามองในทางการเมือง กระบวนการกว่าจะผ่าน จะต้องพูดคุยกัน นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และนำเข้าที่ประชุมสภา มันมีอีกเยอะ ไม่ได้ครอบงำอะไร มันไม่ใช่การครอบงำอะไร เป็นความคิดของคนที่มีความรู้เท่านั้นเอง" นายกฯ ระบุ

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน  นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าตอนนี้ ถ้าประชาชนเองฟังให้มีความหวัง ส่วนในเรื่องการทำให้เกิดขึ้นจริงเดี๋ยวจะไปคุยกันอีกทีหนึ่ง ทั้งตัวนายกฯ   รัฐมนตรี และที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ  เพื่อหาทางออก

ส่วนจะเชิญนายทักษิณมาร่วมดีลด้วยหรือไม่นั้น น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เดี๋ยวดู อันนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ ประมาณนี้ก่อน อย่างไรก็ตามอะไรดีๆ อยากให้เป็นจริงอยู่แล้ว

ด้านนายพิชัย​ ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  หลักการแก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่จำนวนมาก ปกติมี 2-3 วิธีอยู่แล้ว คือ การปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจจะใช้การเจรจา ยืดหนี้​ ลดดอกเบี้ย​ เพื่อทำให้อยู่ได้ และเมื่อทำไปแล้วรู้สึกไม่คุ้ม​ เงื่อนไขธนาคารมาก​ แต่สินเชื่อใหม่ต้องปล่อยออกไปเรื่อยๆ จะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด นอกจากนี้ อีกวิธีคิดหนึ่งคือ ใช้วิธีคล้ายกับในปี 2540 (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง)​ อาจต้องแยกบัญชี จำแนกประเภทธนาคาร หรือ​ใช้มาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) โดยการดำเนินการต้องร่วมกับธนาคารผู้เป็นเจ้าของหนี้ รวมถึงเอกชนบางรายที่อยากจะเข้ามาบริหาร และต้องพิจารณาด้วยว่าภาครัฐจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่วิธีคิด และอาจจะต้องใช้เวลาเคลียร์กันอีก แต่อาจจะดำเนินกันอยู่นอกธนาคาร ซึ่งช่วงนี้ตนได้คิดมาหมดเรียบร้อยแล้วว่ามีกี่วิธี หรือจะเริ่มดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง

 ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดซื้อหนี้จากธนาคารของนายทักษิณ เป็นไปได้หรือไม่ในการดำเนินการ นายพิชัย​กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องขอดูข้อมูลและความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งหมดก่อน และในวันนี้จะพบกับสมาคมธนาคาร คงจะต้องนำเรื่องนี้มาหารือกันด้วย

เมื่อถามว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้เงินของรัฐบาลแม้แต่บาทเดียวใช่หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า​ ขณะนี้ยังไม่ทราบเงื่อนไข ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้

 ส่วนมาตรการดังกล่าวจะใช้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย​ (เอ็นพีแอล)​ ใช่หรือไม่​นั้น นายพิชัยกล่าวว่า  ครอบคลุมไปถึงผู้ที่เป็นหนี้ดีด้วย​ ซึ่งรวมถึงหนี้บ้านและหนี้รถ โดยของเดิมมีอยู่ประมาณพันล้านนิดๆ​

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ที่อดีตนายกฯ พูด สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงการคลังที่ทางนายพิชัยดูแลอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แนวทางการดำเนินการ เรื่องนี้จะช่วยให้คนที่เป็นหนี้เสียมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นกลไกให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ส่วนคนที่เป็นจ่ายหนี้ปกติเป็นหนี้ดี อย่างไรก็ตาม อย่าไปคิดว่ารัฐบาลไม่ดูแลคนที่เป็นลูกหนี้ที่ดี เพราะคนเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า และได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอยู่แล้ว ตามการจัดชั้นหนี้

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางเรื่องของหนี้เสียดีขึ้นมาก ตัวเลขตอนที่เข้ามาใหม่อยู่ในเทรนด์ขาขึ้น แต่ในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่ตัวเลขทรงตัว แต่ยังไม่มีมาตรการที่จะดึงคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลออกมาจากการเป็นเอ็นพีแอล จึงต้องมีมาตรการในส่วนนี้ต่อไปที่จะเอาคนกลุ่มนี้ออกจากส่วนที่ค้างอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียหายไปแล้ว ต้องหากลไกที่จะให้กลับมาให้เป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่ทำการผลิตได้ต่อ ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยคนที่มีความเปราะบางก่อนกลุ่มอื่นๆ

เมื่อถามว่า เรื่องนี้เป็นการแฮร์คัตหนี้หรือไม่  นายจุลพันธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแฮร์คัตหนี้  เพราะมีการไปซื้อหนี้ออกมาจากสถาบันการเงิน  ซึ่งการจะใช้เงินของรัฐและเอกชนนั้นทำได้ 2 แบบ เหมือนกับการที่ก่อนหน้านี้ที่ธนาคารออมสินเคยทำบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) ขึ้นมา แต่เป็นการดูแลหนี้ของภาคธุรกิจ โดยในส่วนนี้ที่รัฐบาลจะทำใหม่คือการทำให้มีโครงสร้างที่ลงไปถึงระดับประชาชนรากหญ้าได้

ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง ในฐานะประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า หนี้ของประชาชนในขณะนี้มีปัญหาในการผ่อนชำระ และบานปลายไปถึงหนี้นอกระบบ พรรคพลังประชารัฐมีความเป็นห่วงและได้เคยเสนอแนวคิดให้กับรัฐบาลในการหาทางแก้ไขมาแล้ว เพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จและเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่การไปลดดอกเบี้ย แต่จะต้องมีการลดเงินต้น หรือแฮร์คัต แล้วดอกเบี้ยจะลดลงไปโดยอัตโนมัติ แต่รัฐบาลไม่ได้เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

นายธีระชัยกล่าวว่า แนวคิดใหม่เช่นนี้ยังไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน แต่ขอเตือนประชาชนว่า  อย่าเพิ่งฟังแล้วไปเชื่อใจว่าแนวคิดนี้จะเป็นไปได้จริงหรือไม่อย่างไร ต้องแยกแยะให้ชัดว่าเป็นวาทกรรมเพื่อหาคะแนนเสียง หรือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแล้วเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจ และหนีไม่พ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น จะต้องมีสอบถามนายกรัฐมนตรี

 “ผมขอให้องค์กรที่สำคัญที่มีความรู้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเครดิตบูโร ออกมาอธิบายกับประชาชนว่า สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณพูดเป็นเพียงบัลลังก์เมฆฝัน ที่อยู่ในอากาศ สามารถทำได้จริงหรือไม่ รวมถึงขอให้แบงก์ชาติอธิบายว่า มีประเทศใดในโลกหรือไม่ที่ทำแบบนี้ ถ้าบอกว่าให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการโดยไม่มีรัฐบาลหนุนหลังอยู่ มันเป็นได้ไปได้จริงหรือ แบงก์พาณิชย์จะยอมให้ความเชื่อถือหรือ และถ้าเกิดเป็นกรณีที่รัฐบาลยังอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะโดยตรงหรืออ้อม ธปท.ต้องอธิบายมาว่าภาระหนี้ในขณะที่มีอยู่ในระบบของประชาชนที่อาจจะมีถึง 20 ล้านบาทนั้น ถ้ามันกลายเป็นภาระของรัฐบาล และเป็นภาระทางการคลังประเทศชาติรับได้หรือไม่” นายธีระชัยระบุ

อดีต รมว.การคลังกล่าวด้วยว่า กำลังเดาว่านายทักษิณอาจจะให้บริษัทเอกชนมาออกเงินดิจิทัล ถามว่าหากไม่มีนายทักษิณหนุนหลังบริษัทเอกชนเหล่านั้น เงินที่ออกมาจะเชื่อถือได้ขนาดไหน จะมีทองคำหรือดอลลาร์อยู่หรือไม่ ลักษณะการเงินแบบนี้ จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเก็บกำไร และคนที่จะดำเนินการ จะสามารถฉกฉวยหากำไรเป็นกรณีพิเศษได้หรือไม่อย่างไร และหากเงินดิจิทัลที่ออกเป็นบริษัทที่ดำเนินงานตามคำสั่งของการคลัง ต้องถามว่าลักษณะเช่นนี้ จะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะได้อย่างไร และจะเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวินัยทางการเงินการคลังหรือไม่อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซูเปอร์โพลชี้ผลสำรวจคนไทยมีความทุกข์มากขึ้น แต่ยังมั่นใจฝีมือ 'อิ๊งค์'

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในสายตาของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,215 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา