สภาน้ำเงินคว่ำกระดานเลือกตุลาการศาล รธน.ร่วงทั้งคู่! โหวตไม่เห็นชอบ “สิริพรรณ” 136 เสียงต่อ 43 เสียง ส่วน “ชาตรี” ไม่เห็นชอบ 115 ต่อ 47 เสียง ประชุมลับถล่มหนัก 112 พ่นพิษ ทัศนคติต่อสถาบันมีปัญหา ปล่อยให้ขึ้นนั่งบัลลังก์ไม่ได้ ส่วนอดีตทูตกรุงเฮกไร้ผลงาน หึ่งสัญญาณพิเศษ ล้มเพื่อเปิดทางคนสนิทบิ๊กซอยรางน้ำเข้าชิงใหม่
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม เวลา 09.40 น. ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ได้เสนอญัตติด่วนให้ชะลอการลงมติดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งมีผู้รับรองเพียงแค่ 3 คน
โดย พล.อ.เกรียงไกรวินิจฉัยว่า สำหรับญัตติด่วนด้วยวาจาที่ น.ส.นันทนาได้เสนอนั้น ตนวินิจฉัยแล้วว่าเป็นญัตติที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงไม่รับเป็นญัตติ และให้ดำเนินการตามวาระต่อไป ทำให้ น.ส.นันทนาร้องขอให้การเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาดังกล่าวบันทึกการประชุมแทน ซึ่ง พล.อ.เกรียงไกรย้ำว่า การประชุมวุฒิสภาทุกครั้งจะมีการบันทึกการประชุมและทุกคนทราบดี
ต่อมาเวลา 11.00 น. พล.อ.เกรียงไกรได้เข้าสู่วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โดย พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว. ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงรายงานว่า ก่อนจะแถลงรายงาน ตนขอชี้แจงเรื่องที่มาของ กมธ.สามัญชุดนี้ เพื่อไม่ให้มีสมาชิกเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการที่สภาแห่งนี้จะพิจารณาอะไรต้องทำภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้ ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาโดยอำเภอใจของผู้ใดแต่อย่างใด และคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นกรรมการ บุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการสรรหาชุดนี้
“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด คนที่กล่าวอ้างนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องนอกจากรัฐธรรมนูญ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และ สว.ที่เข้ามาตามระบบ ต้องทำงานตามประมวลจริยธรรมด้วย ขอความกรุณาให้ความเคารพสภาแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ทำงาน ที่ได้อยู่มีหน้ามีตาในสังคมเพราะสภาแห่งนี้ อย่าด้อยค่าตัวเองหรือ สว. ไม่มีประโยชน์ อย่ากระเหี้ยนกระหือรือทำในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” พ.ต.อ.กอบกล่าว
คำนึงถึงสัดส่วนทางเพศ
จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายเปิดเผยอย่างกว้างขวาง โดยฝ่ายที่สนับสนุนบุคคลทั้งสอง อาทิ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.อภิปรายว่า คนที่นางสิริพรรณจะเข้าไปแทนคือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็ให้ความเห็น กลับมาตรา 112 ไว้ โดยมีการเผยแพร่ในสื่อช่วงปี 2554 เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่นางสิริพรรณมีมุมมองต่อมาตรานี้ รวมถึงนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาเกี่ยวกับมาตรานี้ หากหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะหากมีปัญหาทั้ง 2 ท่านก็คงจะเป็นประเด็นไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นจึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกับการพิจารณา
นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. อภิปรายว่า ได้อ่านประวัติของทั้ง 2 ท่าน ก็จะทราบว่าได้ผ่านการคัดเลือกมาด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์อย่างแท้จริง แทบจะไม่มีข้อสงสัยใดๆ และทุกคนที่ได้อ่านประวัติล้วนแล้วแต่ชื่นชมยินดี โดยเฉพาะนางสิริพรรณ จึงอยากให้สมาชิกได้พิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจะลงคะแนนให้ท่านได้เป็นตุลาการศาล และเราจะได้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นสุภาพสตรีที่มีความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครในประเทศไทย
ส่วนนายชาตรี เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องรัฐศาสตร์ทางการทูตอย่างดี ถ้าเรามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ล่วงรู้ไปถึงกลไกของศาลโลก เรายอมที่จะได้รับอานิสงส์จากท่านเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นไม่ว่าใครจะพิจารณาแล้วเห็นเป็นอย่างไร ก็เป็นเอกสิทธิ์ของทุกคน แต่ส่วนตัวขอสนับสนุนทั้ง 2 ท่านให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร สว. อภิปรายว่า อยากเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีสัดส่วนทางเพศ และอยากเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ และต่อไปในการพิจารณาคัดเลือกองค์กรอิสระ ดิฉันอยากเห็นคนที่ทำงานโดยที่ไม่กลัว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่กลัวการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่เอาตัวเองเป็นหลักในการที่จะปกป้องคนอื่น จึงอยากให้สมาชิกเลือกด้วยความรอบคอบและเป็นอิสระ” นางอังคณากล่าว
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. อภิปรายว่า ทั้ง 2 ท่านที่ได้รับการเสนอชื่อในการดำรงตำแหน่งได้ผ่านกระบวนการอันชอบธรรม โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง บางท่านอาจจะได้เสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 8:0 บางท่านอาจจะผ่านการพิจารณาถึง 3 รอบ ซึ่งตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทั้ง 2 คน เพราะอยู่คนละแวดวงกัน แต่ตนให้เกียรติคณะกรรมการสรรหาทั้ง 8 คน มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ส่วนตัวก็จะเลือกทั้ง 2 คน แม้อาจจะมีบางคนต้องต่อสู้คดีบ้าง ปัจจัยสิ่งสำคัญคือคำพิพากษา เมื่อพิสูจน์แล้วว่าบริสุทธิ์ ถือว่าผ่าน
แซะต้องไปเมืองรอง
“เราควรดูว่าเขาทำงานได้หรือไม่ มีปัญหาไม่ดี ไม่งาม หรือไม่ ผมไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานว่าได้รู้จักกับใครหรือไม่ เขาเคยไปท่องเที่ยวเมืองรองหรือเปล่า ซึ่งเมืองรอง มีหลายเมือง เคยไปหรือไม่ หรือไม่ไปก็ยังไม่ผ่าน ต้องไปสันถวไมตรีก่อนถึงผ่าน หากเกณฑ์เป็นเช่นนี้ก็น่าเศร้าใจ หลายคนดำรงตำแหน่งจนถึงทุกวันนี้เพราะความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองมั่นใจในคุณธรรมที่มี จึงไม่ไปสันถวไมตรีกับผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหน และถ้าเหตุผลนี้จะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตกไป ผมคิดว่าน่าเสียดาย” นพ.เปรมศักดิ์กล่าว
จากนั้นได้มีการประชุมลับ เพื่อให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นในส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จากนั้นเวลา 13.25 น. เข้าสู่การลงมติวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการประชุมลับ เป็นเวลากว่า 2 ชม. และลงมติลับ
โดยที่ประชุมลงมติ นางสิริพรรณ เห็นชอบ 43 เสียง ไม่เห็นชอบ 136 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และลงมติ ส่วนนายชาตรี เห็นชอบ 47 เสียง ไม่เห็นชอบ 115 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ถือว่าบุคคลทั้ง 2 ได้คะแนนเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งขณะนี้มี สว.ปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 199 คน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของการอภิปรายคัดค้าน สว.ส่วนใหญ่หลายสิบคนอภิปรายไปในแนวทางเดียวกันว่า การที่นางสิริพรรณไปร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องไม่สมควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แม้จะมีการทำหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการมาที่ กมธ.สอบประวัติของวุฒิสภา และตอนมาให้สัมภาษณ์แสดงวิสัยทัศน์กับ กมธ.สอบประวัติ ที่ชี้แจงว่าเป็นการให้ความเห็นเชิงวิชาการในฐานะนักวิชาการ
แต่ สว.หลายคนเห็นว่าเป็นคำชี้แจงที่ฟังไม่ขึ้น เพราะสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่เหมาะสม หากโหวตให้เข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. จะทำให้วุฒิสภาถูกสังคมวิจารณ์และตั้งคำถามว่า ทำไมถึงโหวตเห็นชอบให้เข้าไปทำหน้าที่ตุลาการศาล รธน.ได้ ทั้งที่มีทัศนคติต่อสถาบันแบบนี้ จะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อ สว.ตามมา
ถล่มหนักปม 112
โดยมีรายงานว่า สว.บางคนมีการใช้คำอภิปรายที่รุนแรงพอสมควรในเชิงตำหนิท่าทีและบทบาทของนางสิริพรรณในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มีการไปตรวจค้นข้อมูลในอดีตพบว่า นางสิริพรรณเคยพูดเรื่องปัญหามาตรา 112 หลายครั้ง รวมถึงการวิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญๆ ที่ไม่มีหลักทางวิชาการรองรับ โดย สว.ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบต่างอภิปรายใส่กันเต็มที่ เพราะเป็นการประชุมลับ จนบรรยากาศการประชุมร้อนระอุ แม้จะมี สว.อีกประมาณ 16 คน พยายามลุกขึ้นช่วยสนับสนุนนางสิริพรรณ และโต้แย้ง สว.สีน้ำเงิน ว่า การลงชื่อของนางสิริพรรณเป็นเรื่องความเห็นเชิงวิชาการ เป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพ แต่หากเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. เชื่อว่า ดร.สิริพรรณจะต้องปรับบทบาทของตัวเองไป จึงไม่ควรเอาเรื่องในอดีตมาเป็นเหตุผลที่จะโหวตสกัดไม่ให้ ดร.สิริพรรณเป็นตุลาการศาล รธน. โดย สว.ทั้ง 2 ฝ่ายต่างลุกขึ้นอภิปรายสลับกันไปมา
ขณะที่การอภิปรายในส่วนของนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุลและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ การอภิปรายของ สว.ใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึง 1 ชั่วโมง โดยพบว่า สว.สีน้ำเงินลุกขึ้นอภิปรายกันเป็นส่วนใหญ่
เนื้อหาส่วนใหญ่อภิปรายใน 3 ประเด็นหลัก คือหนึ่ง การที่นายชาตรีผ่านเข้ารอบมา พบว่ากรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ต้องลงมติถึง 3 รอบ กว่าจะผ่านเข้ารอบส่งชื่อมาให้วุฒิสภา แสดงว่ากรรมการสรรหามองว่านายชาตรีไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นคนโหวตให้ผ่านตั้งแต่รอบแรกแล้วเหมือนนางสิริพรรณ จึงไม่สมควรโหวตเห็นชอบ เพื่อที่กรรมการสรรหาจะได้เปิดรับสมัครใหม่ เพื่อจะได้คนที่มีความเหมาะสมมากกว่าสมัครเข้ามาใหม่
สอง นายชาตรีสมัยรับราชการอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งสมัยอยู่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมการกงสุล และตอนเป็นทูต และสาม มีการอภิปรายประวัติการทำงานในอดีต โดย สว.สีน้ำเงินบางส่วนอภิปรายว่า สมัยรับราชการอยู่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และตอนเป็นทูตที่กรุงเฮก ที่ตอนนั้นมีกรณีเรื่อง MOU 44 ไทย-กัมพูชา ไม่ได้มีผลงานที่ประจักษ์ชัดว่า ได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด
ทำให้เมื่อมีการอภิปรายกันเสร็จ จึงมีการให้ลงมติ ผลจึงออกมาว่านางสิริพรรณและนายชาตรีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จึงถือว่าไม่ผ่านความเห็นชอบให้เข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. ทำให้ต้องส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ให้มีการนัดประชุมคณะกรรมการสรรหาใหม่เพื่อกำหนดวันและขั้นตอนการเปิดรับสมัครตุลาการศาล รธน.รอบใหม่ 2 คนต่อไป ที่ก็จะใช้เวลาอีกหลายเดือน
สัญญาณบิ๊กซอยรางน้ำ
แหล่งข่าวจาก สว.สีน้ำเงินให้ข้อมูลว่า การโหวตไม่ให้ความเห็นชอบนางสิริพรรณและนายชาตรีรอบนี้ สว.สีน้ำเงินได้รับสัญญาณพิเศษ ผ่านวิป สว.สายสีน้ำเงินเมื่อช่วงเช้าก่อนเข้าห้องประชุมว่าให้โหวตคว่ำ เพื่อล้มกระดานการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรอบนี้ จะได้ไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยสัญญาณการโหวตครั้งนี้ จะแตกต่างจากการโหวตองค์กรอิสระของ สว.แบบรอบที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้ สว.สีน้ำเงินถูกจับตาเยอะ ก็เลยเกรงกันว่าความลับจะหลุดไปก่อน จากปกติที่ส่วนใหญ่จะรู้แนวทางล่วงหน้าก่อนการลงมติหลายวัน แต่รอบนี้มีการส่งสัญญาณพิเศษมา 2 รอบ
รอบแรก เป็นการส่งสัญญาณผ่านระดับแกนนำ สว.สีน้ำเงิน เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 17 มี.ค. หลังการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นลงว่าให้โหวตแบบไหน และอีกรอบหนึ่ง ตอนเช้าวันนี้ก่อนเข้าประชุมวุฒิสภา ที่แกนนำ สว.สีน้ำเงินที่เป็นวิป สว.สีน้ำเงิน มีการไปแจ้ง สว.สีน้ำเงินเป็นการส่วนตัว รวมถึงหากสนิทไว้ใจกันมากๆ จะส่งไลน์กันเลยว่า ให้ลงมติไม่ผ่านทั้ง 2 คน ไม่ใช่แค่นางสิริพรรณคนเดียว
“สาเหตุที่นายชาตรีชื่อไม่ผ่าน ก็มีการวิจารณ์กันว่า เพราะไม่ใช่คนที่สีน้ำเงินต้องการ เพราะเขาอยากให้นายสราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมทางหลวง หรือนายสุรชัย ขันอาสา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนใดคนหนึ่งเข้ารอบสุดท้ายไปเป็นตุลาการศาล รธน. ซึ่งเมื่อมีการเปิดรับสมัครใหม่ ต้องดูว่าทั้ง 2 คนจะไปสมัครหรือไม่ เพราะยังมีสิทธิ์สมัครได้อยู่ เพราะเดิมทีทั้ง 2 คนมีสิทธิ์จะผ่านเข้ารอบ แต่ตอนโหวตในชั้นกรรมการสรรหาเสียงไม่ถึง ไปแพ้นายชาตรีเสียก่อน หรือไม่แน่อาจจะเป็นชื่อใหม่ก็ได้ เพราะทั้ง 2 คนเริ่มถูกจับตามองแล้ว” แหล่งข่าว สว.สีน้ำเงินระบุ
สำหรับนายสราวุธและนายสุรชัยมีข่าวว่า ทั้ง 2 คนรู้จักกับน้องชายคนดังแห่งซอยรางน้ำ ที่เคยเป็น รมว.คมนาคม และเคยเป็นประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย จึงทำให้รู้จักกับนายสุรชัยสมัยรับราชการอยู่มหาดไทย
นอกจากนี้มีแหล่งข่าวในวุฒิสภาระบุว่า การอภิปรายในที่ประชุมลับไม่ได้สะท้อนถึงทิศทางการลงมติ แต่คะแนนเสียงที่ออกมาทำให้เห็นว่าเสียงข้างมากที่ไม่เห็นชอบนั้นมีจำนวนน้อยลง อยู่ที่ประมาณ 130 กว่าคนเท่านั้น เนื่องจากมี สว. ในกลุ่มเสียงข้างมากเปลี่ยนใจมาลงมติเห็นชอบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนครูทั่วปท. ขอ‘ใบอนุญาต’ ก่อน‘สอนเด็ก’
รัฐบาลแนะครูรีบต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ถูกต้องตามกฎหมาย
หนุนกาสิโนเพิ่มเงินคนแก่
“สุทิน” คาด 28-30 พ.ค. เปิดสภาวิสามัญถกงบปี 69 เชื่อความเห็นต่างพรรคร่วมฯ
‘อันวาร์’หลุด‘อมพระ’ โซเชียลเดือดตั้งใจหรือพลาด!ลบคลิปหารือ‘แม้ว-อุ๊งอิ๊ง’แทบไม่ทัน
สื่อโซเชียลลุกเป็นไฟ เพจ Anwar Ibrahim ของนายกฯ มาเลเซีย
‘บิ๊กต่าย’ซัด‘ขยะสังคม’ ทางหลวงแจ้งข้อหาพีช
ไม่สนิทแล้ว! คดีขับรถปาดหน้าเขย่าการเมือง "ภูมิธรรม" วอนอย่าจับแพะชนแกะ ปัด "ทักษิณ" ไม่มีความสัมพันธ์พิเศษกับนายกเบี้ยว
กต.ซูฮกผลงาน‘อันวาร์’
“อันวาร์” ชี้ อาเซียนมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือเมียนมา หวังทุกฝ่ายหยุดยิง
อนุทินปลื้มคุมสงกรานต์ อุบัติเหตุเจ็บ-ตายลดวูบ!
“อนุทิน” ปิดศูนย์ ศปถ.แล้ว ปลื้มยอดเกิดอุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย ลดลงถึงใน 1 ใน 4 มีนัยสำคัญ เผย 7 วันเกิดเหตุ 1,538 ครั้ง