ปชป.ไม่ขวางคุ้ยเอ้ ชัชชาติเต็งหามต่อ

นิด้าโพลเผยผลสำรวจคนกรุง "ชัชชาติ-อัศวิน-สุชัชวีร์" มีลุ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. "พนิต" ชี้ "First Time Voter"    พลังรุ่นใหม่ 7 แสนคนอย่ามองข้าม เชื่อตัดสินเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ชนะสะท้อนการเมืองใหญ่ "ปชป." ยินดีให้ตรวจสอบ “ดร.เอ้” แต่ต้องตรงไปตรงมา ยก รธน.-ข้อบังคับการกระชุมสภาฟาด กมธ.ป.ป.ช.จุ้นสอบพร่ำเพรื่อเกินหน้าที่-ซ้ำซ้อนองค์กรอิสระ ชี้เรื่องร่ำรวยผิดปกติเป็นอำนาจ ป.ป.ช. ติงอย่าใช้เป็นเครื่องมือทำลายคนอื่น

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “อยากได้ใคร       เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10” สำรวจระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-2 ก.พ.2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 1,324 ตัวอย่าง พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.24 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, อันดับ 2 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, อันดับ 3 ร้อยละ 11.03 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์), อันดับ 4 ร้อยละ 8.31 ระบุว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย,  อันดับ 5 ร้อยละ 8.08 ระบุว่าเป็น ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล)

อันดับ 6 ร้อยละ 6.72 ระบุว่าไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO), อันดับ 7 ร้อยละ 5.59 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ, อันดับ 8 ร้อยละ 3.55 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล, อันดับ 9 ร้อยละ 1.96 ระบุว่าจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง,  อันดับ 10 ร้อยละ 1.81 ระบุว่าเป็นนายสกลธี ภัททิยกุล, อันดับ 11 ร้อยละ 1.51 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคกล้า, อันดับ 12 ร้อยละ 1.28 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 0.83 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี ดร.ประยูร ครองยศ (พรรคไทยศรีวิไลย์) ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 9 เดือน ม.ค.2565 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) ยังไม่ตัดสินใจ จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายสกลธี ภัททิยกุล และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO) น.ส.รสนา โตสิตระกูล และผู้สมัครจากพรรคกล้า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสำหรับบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความเรื่อง "First time voter กทม. พวกเขาอยากได้ผู้ว่าฯ กทม. แบบไหน?" ว่า คนที่จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นครั้งแรกมีจำนวนรวมกว่า 700,000 คน เป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า First Time Voter ที่มีอายุ 18-27 ปี จากประชากรทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.ราว 4,479,208 คน ความน่าสนใจคือคนส่วนใหญ่ใน กทม.เป็นคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 28-40 ปี และ Baby Boomer วัย 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนใกล้เคียงกันอย่างมาก สิ่งที่พวกเขาตั้งความหวังไว้กับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่น่าประกอบไปด้วย 1.มีนโยบายในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานานอย่างชัดเจน 2.ต้องเป็นคนที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม และเป็นนักบริหารที่ทำงานคล่องพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ 3.การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ หาเสียงต่างๆ ของผู้สมัครไม่ควรเป็นการสร้างภาพในช่วงหาเสียงเท่านั้น

"ในห้วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้สนามเลือกตั้ง กทม. จึงเป็นที่น่าจับตามองยิ่งนักว่าทั้งผู้สมัครฯ จะเลือกกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียง กำหนดนโยบายอย่างไร และผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วงวัยต่างๆ จะเลือกใคร เพราะสนาม กทม.ก็อาจสะท้อนภาพการเมืองของประเทศได้ และแม้คนรุ่นใหม่อาจไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของ กทม. แต่ก็เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่มิอาจละเลยได้เช่นกัน" นายพนิตระบุ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.)  ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงนายสุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ปชป.ว่า ในส่วนของพรรคยินดีให้มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และเชื่อว่านายสุชัชวีร์สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ คนที่เป็น ส.ส.จะทราบดีว่า กมธ.ของสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับกำหนด คือการพิจารณา ศึกษา เรื่องใดๆ และให้รายงานต่อสภาทราบ แต่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา นอกเหนืออำนาจไม่สามารถกระทำการได้ กรณีนายสุชัชวีร์   อดีตเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งอำนาจในการตรวจสอบในเรื่องของบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงกรณีการร่ำรวยผิดปกติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดในมาตรา 234 (2) ได้กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

"การจะดำเนินการตรวจสอบโดยมุ่งประเด็นไปที่กรณีร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงทรัพย์สิน ถือว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของ ป.ป.ช. กระทำการทั้งๆ ที่ตนไม่มีอำนาจหน้าที่ ขัดแย้งกับหลักการของรัฐธรรมนูญชัดเจน การจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงต้องระมัดระวัง ต้องดำเนินการคิดให้รอบคอบ อย่าคิดเพื่อหวังผลในทางการเมืองอย่างเดียว ที่บอกว่าเป็นพรรคการเมือง นักการเมืองรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่ทำอย่างตรงกันข้าม เพราะหากคิดใช้เรื่องนี้เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ขอให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ จับตาดูให้ดีว่าพรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้คิดถึงประชาชนอย่างแท้จริง ทำอะไรฉาบฉวย ฉกฉวยประโยชน์ทางการเมือง" นายราเมศกล่าว

นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง หยุดใช้กรรมาธิการ ป.ป.ช. พร่ำเพรื่อ มีเนื้อหาว่า ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับ กมธ.ป.ป.ช.ทำการสอบปมนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์    ฐานร่ำรวยผิดปกติ จนเกิดคำถามว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เพราะช่วงเวลาจะ "เป๊ะ" กับในห้วงที่ปี่กลองเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กระหึ่มพอดีว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ส่วนตัวเห็นด้วยที่ผู้อาสามาเป็นผู้แทนไม่ว่าจะระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น ต้องพร้อมถูกตรวจสอบ แต่ที่อยากติงไว้เพื่อไม่ให้มีการนำ กมธ.ไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง เพราะอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ป.ป.ช.ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 ที่กำหนดไว้ใน (22) ระบุว่า กมธ.ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่ใช่สอบสวนว่าใครผิดใครถูกตามที่ กมธ.ป.ป.ช.กระทำต่อ ดร.สุชัชวีร์ เพราะอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของ ป.ป.ช.โดยตรงอยู่แล้ว มิเช่นนั้นจะมี ป.ป.ช.ไว้ทำไม จึงมองว่ากรรมาธิการฯ กำลังทำหน้าที่ซ้อนกับองค์กรอิสระ

"จึงขอเตือนให้ กมธ.ป.ป.ช.ได้เข้าใจในกระบวนการและบทบาทอำนาจหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้อง อย่าใช้ตำแหน่งกมธ.พร่ำเพรื่อ หรือใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัวและพวกพ้อง เพราะจะนำไปสู่ความเสื่อมและความถดถอยของสภาผู้แทนราษฎร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ไม่ว่าจะชื่ออะไร ถูกตรวจสอบได้ แต่คนทำหน้าที่ตรวจสอบก็ต้องให้ถูกฝา ถูกตัว อย่าอ้างการตรวจสอบมาเป็นเครื่องมือในการทำลายคนอื่น" นายเชาว์ระบุ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า  พรรคไทยสร้างไทยตั้งใจที่จะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจา มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70-80% ยืนยันว่าไม่ปิดบัง บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในส่วนของพรรค แต่ขอให้การพูดคุยประสานงานเป็นที่เรียบร้อยจะรีบเปิดเผย ยอมรับว่าอาจมีความล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากพรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคใหม่ และต้องดำเนินการหลายเรื่อง ทั้งการเตรียมผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต การเตรียมผู้สมัคร ส.ก. รวมถึงการเตรียมส่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ทั้งหมดยืนยันว่าพรรคไทยสร้างไทยจะสู้ทุกสนามภายใต้เวลาที่จำกัด ลงตัวเมื่อใดจะบอกทันที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง