เสียงเตือนจาก 'ดร.โกร่ง-ผู้ล่วงลับ' พรรคเพื่อไทยจะ 'ปลุกผีจำนำข้าว'

คำเตือนจาก 'ดร.โกร่ง-อดีตนักเศรษฐศาสตร์-อดีตรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ' โครงการรับจำนำข้าวเปิดช่องคอร์รัปชัน ทำลายโครงสร้างตลาด ระบุรัฐบาลเสียเงินมากมาย แต่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ไม่ได้อะไรเลย ชูประกันรายได้-จ่ายส่วนต่างส่งตรงไปยังเกษตรกร ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสี ผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง

9 พ.ย.2564 - จากกรณีราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว ทำให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะฟื้นโครงการรับจำนำข้าวที่เคยทำไว้ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น

ล่าสุดสังคมเริ่มมีความกังวลว่าหากมีการฟื้นโครงการรับจำนำข้าวจะเกิดการคอร์รัปชันครั้งใหญ่อีกรอบ ขณะที่โซเชียลมีการแชร์ต่อบทความเรื่อง "จำนำข้าวเปิดช่องทางทุจริต ทำลายโครงสร้างตลาด" เตือนไปยังพรรคเพื่อไทย

บทความนี้เขียนโดย นายวีรพงษ์ รามางกูร หรือ "ดร.โกร่ง" นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบัน ดร.โกร่ง ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับบทความดังกล่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 โดยมีเนื้อหาดังนี้

นโยบายและมาตรการอันหนึ่งที่น่าห่วงเพราะใช้เงินเป็นจำนวนมากมีปัญหาทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ โครงการที่ว่านี้คือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เช่นข้าว ยางพารา มันลำปะหลัง ข้าวโพด กุ้งฯลฯ

ฟังดูว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาท มาหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้ นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรนี้เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ทำกันมา ตั้งแต่ปี 2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสีผู้ส่งออก ลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้

เริ่มต้นชื่อก็ผิดแล้ว การรับจำนำนี้ปกติผู้รับจำนำต้องรับจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยคาดว่าผู้จำนำจะมาไถ่คืน แต่การรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่น่าจะเรียกว่าการรับจำนำเพราะไม่มีใครมาไถ่คืนในราคาจำนำที่สูงแล้วเอาไปขายในราคาที่ต่ำในตลาด การตั้งซื้อว่าโครงการรับจำนำจึงเป็นการตั้งชื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้นเอง

ในทางทฤษฎี สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศทุกตัว เรา เป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกของสินค้านั้นๆ ตลาดภายในของเรากับตลาดโลกเป็นตลาดเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่มีโควตาการส่งออก ไม่มีภาษีขาออก

สินค้าเกษตรทุกตัว ยกเว้น ยางพารากับมันสำปะหลังเช่น ข้าว จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมา คือ อินเดียและอินโดนีเซียตามลำดับ ในกรณีข้วโพด อเมริกาเป็นผู้ผลิตมากที่สุด

ข้าวที่ขายหมุนเวียนในตลาดโลกจึงมีสัดส่วนไม่มาก มันสำปะหลังก็เหมือนกันผู้ผลิตรายใหญ่คือ อินโดนีเชียในกรณียางพาราแม้ว่าประเทศเราจะยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดแต่ก็ยังมีอินโตนีเซีย มาเลเชีย ศรีลังกา จีนและประเทศอื่นๆ อีกมากมาผลิตด้วย

นอกจากนั้น สินค้าเกษตรทุกตัวยังมีของทดแทนกันได้เป็นคู่แข่ง เช่น ข้าว ก็มีข้าวสาลีข้าวโพดและธัญพืชอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง เพราะถ้าข้าวราคาแพงผู้บริโภคในจีน อินเดีย และที่อื่นก็หันไปบริโภค หม่านโถว จาปาตี บะหมี่ แทนข้าวได้ ยางพาราที่ใช้ผลิตยางรถยนต์ก็มียางเทียมที่ผลิตจากน้ำมันปีโตรเลียมเป็นคู่แข่ง มันสำปะหลังก็มีพืชจำพวกแป้งอื่นๆเป็นคู่แข่ง

ด้วยเหตุนี้สินค้าเกษตรทุกตัว ราคาจึงถูกกำหนดโดยตลาดโลก รวมทั้งมันสำปะหลังซึ่งเราเป็นผู้ส่งออกสำคัญเพียงรายเดียวของโลก เราจึงเป็น "ผู้รับราคา" หรือ "price taker" ไม่ใช่ผู้กำหนดราคา หรือ "price maker"

นอกจากนั้นสินค้าเกษตรทุกตัวมีปริมาณออกสู่ตลาดโลกตลอดเวลา การกักตุนเพื่อเก็งกำไรไม่สามารถทำได้ หรือการกักตุนของเราก็ไม่ทำให้ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเพราะจะมีผู้ผลิตรายอื่นเสนอขายในตลาดโลกแทนเราและถ้าเราเก็บไว้นาน 3-4เดือน ก็จะมีผลผลิตใหม่ออกมาแทนที่ พอเราจะขายราคาก็จะตกทันที การกักตุน จึงมีแต่ขาดทุน นอกจากมีไว้เพื่อค้าขายปกติ

ด้วยเหตุนี้ โครงการมูลภัณฑ์กันชน ระหว่างประเทศ หรือ "International BufferStocks" ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลภัณฑ์กันชนดีบุก หรือแนวคิดเรื่องมูลภัณฑ์กันชนสินค้าประเภทอาหาร โดยข้อเสนอขององค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือUNCTAD ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2จึงประสบความลัมเหลว ใครเก็บกักข้าวไว้ก็เท่ากับช่วยให้คู่แข่งขายได้ก่อน ราคาอาจจะดีกว่าตอนที่เราขายทีหลัง เพราะถ้ามีใครกักเก็บ ผู้ซื้อผู้ขายก็รู้ว่ายังมีข้าวรอขายอยู่ก็จะไม่ยอมซื้อในราคาแพง

ฟังว่าจะใช้เงิน 4-5 แสนล้านบาทหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรมากักตุน ก็เท่ากับคิดจะปั่นราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก หรือที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าจะ "corner the market"ตลาดโลกข้าวมันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดจึงเป็นไปไม่ได้ คนเคยทำแล้วล้มละลายก็มีมาก ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ที่ส้มก็สืบเนื่องมาจากการพยายามปั่นตลาด หรือจะ corner ตลาดใบยาสูบ ดังนั้น เมื่อผลิตได้เท่าไร รีบส่งออกได้มากเท่าไรยิ่งดี แล้วก็ปลูกใหม่

ในทางปฏิบัติยิ่งมีปัญหา วิธีทำก็คือ การเลือกโรงสีเข้าร่วมโครงการ โรงสีไหนได้รับเลือกก็เหมือนถูกหวย

เมื่อรัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูงกว่าราคาตลาด สมมติ 10 เปอร์เซ็นต์ โรงสีก็จะซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด หรือไม่ก็ไม่ซื้อเลย แล้วทำใบประทวน สินค้าปลอมว่าซื้อข้าวใส่โกดังแล้วให้ชาวนาหรือลูกจ้างของตนมาลงชื่อว่าเอาข้าวมาจำนำเท่านั้นเท่านี้เกวียน แล้วเอาค่าลงชื่อไป 50 บาท 100 บาท อาจจะซื้อข้าวจากชาวนาที่มีอิทธิพลบางรายในราคาที่รัฐบาลประกาศบ้าง เวลาทางการมาตรวจเช็คก็จะให้เอาชาวนา 5-6 คนนี้มายืนยัน

เวลาทางการมาตรวจสต็อก ก็เอา สต็อกข้าวของตนเองมาแสดงพอเป็นพิธี ชาวนาโดยทั่วไปเมื่อขายข้าวให้โรงสีก็ขายในราคาตลาดนั่นเอง นี่คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวงในรอบแรก

ต่อมาเมื่อข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นของรัฐบาล อาจจะมีข้าวจริงบ้าง ข้าวลมบ้างกระทรวงพาณิชย์ก็เอาไปขายเป็นข้าวรัฐบาลโดยจะมีบริษัทส่งออกที่รู้กันกับรัฐมนตรี ไปเร่ขายในตลาดต่างประเทศ และกล้ารับคำสั่งซื้อเพราะรู้กันกับรัฐมนตรีว่าจะสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด รายอื่นไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะขายให้หรือไม่ในราคาเท่าใด ผู้ส่งออกรายอื่นๆจึงไม่อาจจะรู้ต้นทุนของตน ยกเว้นรายที่ทำมาหากินกับรัฐมนตรีพาณิชย์หรือนายกรัฐมนตรีประเทศเราส่งออกปีละ 9-10 ล้านตันบางปีข้าวรับจำนำของรัฐบาลมีปริมาณถึง3.5 ล้านต้น

โครงการนี้จึงเป็นโครงการทำลายโครงสร้างตลาดข้าวภายในประเทศ โรงสีที่ไม่มีเส้นสายเข้าร่วมโครงการก็ล้มละลายไป เพราะไม่มีข้าวส่งออก ทำให้โรงสีมีน้อยลง โรงสีที่เคยมีการแข่งขันก็กลายเป็นการผูกขาดโดยโรงสีที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น

เป็นการเพาะศัตรูให้กับพรรครัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาเพราะโรงสีที่ไม่ได้ร่วมโครงการหรือผู้ส่งออกที่ไม่ใช่พวกรัฐมนตรี มีมากกว่าที่เป็นพวกรัฐมนตรี

ในกรณีรับจำนำมันสำปะหลังก็ดี ยางพาราก็ดี หรือแม้แต่ลำไยก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ โรงมัน โรงเก็บยางแผ่น ซื้อมัน ซื้อน้ำยางยางแผ่นในราคาตลาด ให้ชาวไร่ชาวสวนยางลงชื่อเพื่อรับเงินค่าลงชื่อ แล้วก็เอามาจำนำกับรัฐบาลในราคาสูงกว่าราคาตลาด เมื่อรัฐบาลจะขายก็ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้กับผู้ส่งออกที่หาเงินให้รัฐมนตรีไป ขายในตลาดโลกตัดราคาผู้ส่งออกรายอื่นเอาคำสั่งซื้อไป เพราะตนรู้อยู่คนเดียวว่าจะลามารถซื้อจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด

เมื่อรัฐบาลจะขายข้าว ขายมัน ขายยางโดยรับคำสั่งซื้อแล้วก็จะไม่ส่งออกเอง แต่มอบให้พ่อค้าผู้ส่งออกประมูลไป การประมูลก็ทำหลอกๆ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติให้ตรงกับผู้ส่งออกที่รัฐมนตรีกำหนดตัวไว้แล้วแบ่งกำไรกินกัน

นี่คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเอง ที่ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง

ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนที่เคยได้ประโยชน์จากโครงการชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ก็จะโวยวายถ้าหันกลับไปใช้โครงการรับจำนำอีก แต่ถ้าไม่ทำ โรงสี โรงมัน ผู้ส่งออกก็คงจะจัดคนมาเดินขบวน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อสส. เห็นชอบไม่อุทธรณ์ คดีศาลฎีกาฯนักการเมือง ยกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' โยกย้าย 'ถวิล'

นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดเห็นชอบควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โวอีกไม่เกินสัปดาห์จะเปิดโฉมขบวนการฮุบที่ดิน ส.ป.ก.

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยหลังเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยมีนายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สว.ตัวตึง ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ใช้โมเดลทักษิณกลับไทย จะเป็นฟางเส้นสุดท้าย

‘สว.กิตติศักดิ์’ ชี้หาก ‘ยิ่งลักษณ์’กลับไทย เป็นฟางเส้นสุดท้าย เชื่อหนทางไม่ง่าย ดักคอ ช่องกม.นิรโทษ ลั่น หากทำต้องยกโทษให้คนทั้งประเทศ แต่ทำให้คนเดียวไม่เห็นด้วย