'ปิยบุตร' ปลุกก้าวไกล จะยุติสภาวะแปลกแยก ถูกโดดเดี่ยวจากการเมืองไทยได้ ต้องมี 'ประชาชน' เป็นพวก

พรรคจึงจำเป็นต้องมีนักการเมืองของพรรค อันได้แก่ ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. และ รมต. ทีมงาน รมต ทำหน้าที่ดังกล่าว ไปพูด ไปอภิปราย ไปลงมติ ไปทำหน้าที่ ไปบริหารราชการ ตามแนวทางที่ได้ตกลงกันไว้ หากไม่มีพวกเขาเหล่านี้ สิ่งที่คิดฝัน ก็จะล่องลอยอยู่ในอากาศ ไม่อาจจับต้องมองเห็นได้อย่างรูปธรรม และพรรคก้าวไกลก็จะกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก หรือพรรคอินดี้ ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่มีวันที่จะได้เป็นรัฐบาลเปลี่ยนแปลงประเทศ

15 พ.ย.2565- นายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ พรรคก้าวไกลกับ”ทวิสภาวะแปลกแยก” (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงสภาวะแปลกแยก “ของ” พรรคก้าวไกลต่อการเมืองไทยไปแล้ว ในตอนนี้ จะบรรยายถึงสภาวะแปลกแยก “ภายใน” พรรคก้าวไกล ระหว่าง ส.ส. กับ คนทำงาน “แบก” พรรค

  • สภาวะแปลกแยก “ภายใน” พรรคก้าวไกล -

พรรคการเมือง จะขับเคลื่อนได้ต้องประกอบไปด้วยคนหลากหลายฝ่าย สมัยพรรคอนาคตใหม่ เรามีอยู่ 4 องค์ประกอบหลักที่เสมือนเป็น “เสาค้ำยัน” พรรค

องค์ประกอบแรก สมาชิกพรรค

พรรคการเมือง คือ ที่รวมตัวกันของสมาชิกที่คิด เชื่อ ในอุดมการณ์แบบเดียวกัน มุ่งหมายเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อนำแนวนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

หากไม่มีสมาชิกพรรค ย่อมไม่มีพรรค

หากมีสมาชิกพรรค แต่พรรคไม่เคยให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรค การตัดสินใจถูกผูกขาดอยู่ที่คนไม่กี่คน สมาชิกพรรคย่อมกลายเป็นเพียงจำนวนนับ เป็นตัวเลขที่มีให้ครบๆตามที่กฎหมายกำหนด

สมาชิกพรรคจึงเปรียบเสมือนฐานรากของพรรคการเมือง

องค์ประกอบที่สอง เครือข่ายคณะทำงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเครือข่ายคณะทำงานเชิงประเด็น (เช่น แรงงาน ชาติพันธุ์ ที่ดิน เยาวชน SME ข้าราชการรุ่นใหม่ เป็นต้น)

พรรคการเมืองจะปฏิบัติงาน ขยายคน ขยายความคิด เพิ่มความนิยม ออกไปได้จำเป็นต้องมีเครือข่ายที่ช่วยกันรณรงค์อย่างแข็งขัน พร้อมนำเอาประเด็นในพื้นที่หรือปัญหาเฉพาะกลุ่มเข้าสู่การพิจารณาของพรรค นำคนที่เป็นตัวแทนของพื้นที่หรือประเด็นปัญหาเฉพาะต่างๆเข้าร่วมกับพรรค คัดเลือกคนเข้ามาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ สมาชิกพรรค ทีมงานแต่ละจังหวัด ไปจนถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง

หากไม่มีเครือข่ายที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งทั่วประเทศ สมัยก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราคงไม่ได้สมาชิกพรรคครบทุกจังหวัดมาร่วมกันก่อตั้งพรรค เราคงไม่ได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งลงครบทุกเขต เราคงไม่สามารถขยายงานขยายความคิดออกไปได้ทั่วประเทศภายในเวลาไม่กี่เดือน

องค์ประกอบที่สาม พนักงานพรรค

งานสำคัญๆของพรรค ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสาร (เช่น คลิปวิดีโอ คอนเท้นเนื้อหา อินโฟกราฟิค โซเชียลมีเดีย การประสานสื่อ ภาพถ่าย งานอีเว้น ฯลฯ) ฐานข้อมูล การสำรวจความเห็น การออกแบบนโยบาย การเตรียมเนื้อหาให้ ส.ส.อภิปราย หรือสัมภาษณ์ การประสานงานกับเครือข่ายทั่วประเทศ การจัดเตรียมเวทีหรือวงประชุมวงเสวนา การทำแคมเปญรณรงค์ การรณรงค์หาเสียง การจัดทำทะเบียนสมาชิก งานสมาชิกสัมพันธ์ งานสำนักงาน งานบัญชี ฝ่ายกฎหมาย การรักษาความปลอดภัย การดูแลอาคารสถานที่ ความเรียบร้อย ความสะอาด อาหารการกิน ทั้งหมดเหล่านี้ เดินได้ด้วยพนักงานพรรค

ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พนักงานพรรคมีส่วนสำคัญมาก เราเริ่มก่ออิฐก้อนแรกๆมาด้วยกัน บางคนอยู่กันมาตั้งแต่พรรคยังเป็นวุ้น ยังเป็นตัวอ่อน และร่วมกัน “ทำคลอด” พรรคขึ้นมา

ผลงานที่นักการเมืองของพรรคแสดงในสภาและในที่สาธารณะ จำนวนมาก จำนวนเกือบทั้งหมด มีพนักงานพรรคอยู่เบื้องหลัง

องค์ประกอบที่สี่ นักการเมือง อันได้แก่ ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. หรือ รมต. (ถ้ามีในอนาคต)

สิ่งที่คนทุกคนมารวมตัวกันก่อตั้งพรรค ก็คือ การเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อนำสิ่งที่คิดฝันร่วมกันไปผลักดันเปลี่ยนแปลงสังคมไทย หากไม่มีอำนาจรัฐ สิ่งที่คิดฝันก็ไม่มีวันเกิดขึ้น หากไม่มีตัวแทนของพรรคเข้าไปใช้อำนาจรัฐ สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนก็จะไม่มีวันเปลี่ยน

ดังนั้น พรรคจึงจำเป็นต้องมีนักการเมืองของพรรค อันได้แก่ ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. และ รมต. ทีมงาน รมต ทำหน้าที่ดังกล่าว ไปพูด ไปอภิปราย ไปลงมติ ไปทำหน้าที่ ไปบริหารราชการ ตามแนวทางที่ได้ตกลงกันไว้

หากไม่มีพวกเขาเหล่านี้ สิ่งที่คิดฝัน ก็จะล่องลอยอยู่ในอากาศ ไม่อาจจับต้องมองเห็นได้อย่างรูปธรรม และพรรคก้าวไกลก็จะกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก หรือพรรคอินดี้ ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่มีวันที่จะได้เป็นรัฐบาลเปลี่ยนแปลงประเทศ
องค์ประกอบทั้งสี่นี้สำคัญเท่าเทียมกัน ขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งไปมิได้

ความตั้งใจของการสร้างพรรคอนาคตใหม่ คือ ต้องการให้เป็นพรรคมวลชน ต้องการให้เป็นพรรคการเมืองที่มิใช่เป็นแค่พรรคเลือกตั้ง ต้องการให้เป็นพรรคที่ทุกคนในพรรคมีคุณค่าเท่าเทียมกันเพียงแต่แบ่งกันเล่นตามบทบาทหน้าที่
แต่ด้วยการเมืองแบบผู้แทน การเมืองแบบรัฐสภา ทำให้บทบาท “ตัวแสดง” ไปรวมอยู่ที่ ส.ส.

บรรดา ส.ส.ของพรรคสามารถเปลี่ยนเป็นผู้มีชื่อเสียงได้ในชั่วข้ามคืน สื่อสารมวลชนนำเสนอเรื่องของพรรค ก็ต้องผ่านการแสดงออกของคนที่เป็น ส.ส.ของพรรค ประชาชนผู้ติดตามการเมืองอยากทราบว่าพรรคคิดอย่างไรในเรื่องต่างๆที่เป็นกระแสในสังคม อยากทราบว่าพรรคมีจุดยืนและเหตุผลอย่างไรในการลงมติ อยากทราบว่าพรรคมีนโยบายอย่างไร หรืออยากทราบว่าบุคลิกของพรรคเป็นอย่างไร ก็พิจารณาจากพฤติกรรม การอภิปราย การวางตน การครองตนของ ส.ส. ของพรรค

นอกจากนี้ ส.ส. และ รมต. ยังเป็นตำแหน่งที่มีเงินเดือนประจำมากกว่าแสนบาท มีเบี้ยประชุม มีค่าเดินทาง มีค่านู่นนี่นั่นอำนวยความสะดวก มีโอกาสเดินทางฟรีไป “ดูงาน” หรือ “ปฏิบัติหน้าที่” ในจังหวัดต่างๆหรือต่างประเทศ มีส่วนในการใช้อำนาจรัฐ ทำให้ ส.ส. และ รมต. มีทั้งเงิน มีทั้งกล่อง มีทั้งโอกาส มีทั้งอำนาจ มีทั้งเกียรติยศ

ด้วยขนบธรรมเนียมแบบไทยที่เคารพและให้ความสำคัญกับ “ใครมีอำนาจ” มากกว่า “ใครทำอะไร” ก็ยิ่งทำให้ ส.ส. รมต. กลายเป็น “พะนะทั่น” ได้ในชั่วข้ามคืน ใครๆต่างก็วิ่งเข้าหาเพื่อหวังผลต่างๆนานา มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง อำนวยความสะดวกให้

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมายังพรรคก้าวไกล ทุกๆคนที่เข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ คนธรรมดาๆหาเช้ากินค่ำในแวดวงต่างๆ ไม่มีใครเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีใครเคยเป็น ส.ส. เป็น รมต. มาก่อน พวกเราทุกคนเข้ามาเพราะมีความฝันความหวังร่วมกัน

แต่วันหนึ่ง เมื่อมี “หัวโขน” ในชื่อ ส.ส. มาใส่ให้คนกลุ่มหนึ่ง แล้วคนกลุ่มนั้นก็ดันบ้าเต้นตาม “หัวโขน” วางต้วเต๊ะท่าว่าข้าเป็น ส.ส. ไม่เห็นหัวคนทำงานแบกพรรคกันมา

เช่นนี้แล้ว… คนทำงานเบื้องหลังที่ “แบก” พรรคไว้ ย่อมฉุกคิดได้ว่า เขาอุทิศตนเพื่อพรรคแห่งนี้ เพื่อดำเนินการตามความฝันร่วมกันของคนทุกคนที่ก่อตั้งพรรคขึ้นมา เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แต่ไฉนเลย พวกเขากลับไม่ได้อะไรกลับไป มีแต่พวก ส.ส.

หากปล่อยให้สภาพแบบนี้เรื้อรังต่อไป นานวันเข้า คนทำงาน “แบก” พรรค ก็จะตั้งคำถามว่า “ตนกำลังทำอะไรอยู่? ทำไมตนต้องทำงานเพื่อให้ใครก็ไม่รู้ได้เป็น ส.ส.?”

สภาวะแปลกแยกระหว่างคนทำงานแบกพรรค vs พรรคและ ส.ส. ย่อมเกิดขึ้น

ประกอบกับการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม กว่าจะไปถึงฝั่งฝันได้ต้องใช้เวลายาวนาน ทำให้แต่ละคนเหนื่อยล้า ท้อแท้ สิ้นหวังมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้า ทำให้คนทำงานแบกพรรคเริ่มหมดไฟ รู้สึกว่าสิ่งที่ตนอุทิศแรงกายแรงใจทำอยู่นั้น ไม่เกิดผลลัพธ์ใด นอกจาก มีคนกลุ่มหนึ่งได้ “ชูคอ” เป็น ส.ส. เป็น รมต.

หลายคนเลือกที่จะออกจากพรรค หันไปทำงานอื่น เพื่อหารายได้สร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ
หลายคนเลือกที่จะออกจากพรรค ออกจากแวดวงการเมืองไปเลย กลับไปเป็นพวก “อยู่เป็น” เพื่อเอาชีวิตให้รอด

หลายคนเลือกที่จะออกจากพรรค เพราะ ตัดสินใจร่วมงานกันที่นี่เพราะเคารพศรัทธาในแนวทางการต่อสู้การอุทิศตนของธนาธร เมื่อไม่มีธนาธร พวกเขาก็ไม่คิดจะอยู่ต่อ แต่พร้อมจะกลับมาเมื่อธนาธรกลับมา

หลายคนเลือกที่จะไปสมัครเป็น ส.ส.เสียเอง เพราะรู้สึกว่า ตนเองทำได้ดีกว่า ส.ส.ของพรรค สิ่งที่ ส.ส.ของพรรคแสดงออกไปก็มาจากพวกตนเองทำให้ทั้งนั้น

หลายคนยังอยู่ต่อ แต่ก็อยู่ไปวันต่อวัน ไม่มีแรงใจไฟฝันเหมือนแต่ก่อน เพราะ ความฝันความหวังร่วมกัน ห่างออกไปทุกที ไม่มีแรงบันดาลใจกระตุ้นให้ลุกขึ้นสู้เหมือนแต่ก่อน ถือเสียว่าทำงานประคองชีวิตหารายได้เลี้ยงชีพไป ถ้ามีเวลามีช่องทาง ก็หารายได้พิเศษจากงานอื่นทำไปด้วย

สภาวะแปลกแยกเช่นนี้ บั่นทอนบอนไซ “สปิริต” ขององค์กรและการทำงาน ทำให้แต่ละองค์ประกอบขัดแย้งกัน ไม่สมัครสมานกัน

การยุติสภาวะแปลกแยกเช่นนี้ได้ ต้องมี

หนึ่ง ความหวังร่วมกัน

สอง การยอมรับนับถือในความสามารถและการเสียสละของ ส.ส.

ในประการแรก พรรคก้าวไกลต้องสร้างและหล่อเลี้ยง “ความหวัง” ร่วมกันกับคนในพรรคทุกฝ่ายให้ได้

ให้ทุกคน ทุกฝ่าย กลับมาเชื่อมั่นร่วมกันอีกครั้งว่า สิ่งที่เราทำอยู่ เป้าหมาย คือ เปลี่ยนแปลงประเทศไทย มิใช่ ทำงานกินเงินเดือนไปวันๆ มิใช่ ทำๆไปแล้วให้ใครไม่รู้เป็น ส.ส.

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าวันไหนพรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาล มี ส.ส. มากๆ เพราะ ต่อให้มีวันนั้น แต่ถ้านักการเมืองของพรรคไม่ได้ทำตามความหวังความฝันร่วมกัน ไม่สามารถทำให้คนทำงานเห็นว่าเรายังคงหล่อเลี้ยงความหวังความฝันของกันและกันอยู่ สภาวะแปลกแยกระหว่างคนทำงานเบื้องหลังแบกพรรคกับนักการเมืองของพรรคก็ยังคงอยู่

แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่ ทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สำนึกทุกเมื่อเชื่อวันว่า สิ่งที่เราลงมือลงแรงลงใจทำอยู่นั้น จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ และนั่นคือ ผลงาน ผลสำเร็จร่วมกัน และเป็นเหตุผลที่เรามารวมตัวกันที่นี่

กล่าวจำเพาะเจาะจงกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี 2566 แกนนำพรรค ส.ส.ของพรรค ต้องสร้าง ปลุกเร้า “สปิริตวิญญาณ” แบบพรรคอนาคตใหม่ตอนเลือกตั้งปี 2562 ให้ได้

ในช่วงนั้น ทุกๆคนทำงานเหนื่อยหนักมากกว่าวันนี้ แต่ทุกคนก็สนุกสนาน มีความสุข มีชีวิตชีวา ไปด้วยกัน

ในประการที่สอง บรรดา ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. และ รมต. (ถ้ามีในอนาคต) ต้องสร้างการยอมรับนับถือกับคนทำงานเบื้องหลังและสมาชิกพรรค

การยอมรับนับถือมาจากหลายรูปแบบ

อาจจะมาจากการทำงานในสภา การทำงานใน กมธ การอภิปรายในสภา การทำงานในพื้นที่ การสร้างชื่อเสียงความนิยมให้พรรค การมีจุดยืนเข้มแข็งไม่ผันแปร กล้าหาญ การอุทิศตนทำงานอย่างหนักไม่ปริปากบ่น การไม่ปฏิเสธงาน พร้อมทำให้ทุกงาน ทุกพื้นที่เพื่อประโยชน์ของพรรค การมีมนุษยสัมพันธ์ เข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ เพื่อนร่วมงานทุกๆคน การมีความรู้ มีนวัตกรรมใหม่ๆให้พรรค หรือแม้กระทั่งการแสดงน้ำใจเล็กๆน้อยๆต่อคนทำงานเบื้องหลัง (ถ้าตามแบบธรรมเนียมไทย ก็เช่น การขอบคุณ การชื่นชมอย่างเปิดเผย การเลี้ยงข้าว เลี้ยงกาแฟ)

คนทำงานเบื้องหลังพรรคจะยอมรับนับถือในตัว ส.ส.และนักการเมืองของพรรคได้อย่างไร หาก ส.ส.พาตัวออกห่างจากคนทำงาน รวมกลุ่มกันแต่กลุ่ม ส.ส. ไม่สนใจทำความรู้จักทักทายพูดคุยกับคนทำงานเบื้องหลัง

จะให้คนทำงานเบื้องหลังพรรคยอมรับนับถือ ส.ส.ได้อย่างไร หาก ส.ส.สนใจแต่เล่นโซเชียลมากกว่าการทำงานในหน้าที่ ส.ส. เล่นโซเชียลกันที เล่นทวิตเตอร์กันที แล้วทีมงานพรรคหลังบ้านต้องมาตามแก้ปัญหา

คนทำงานเบื้องหลังพรรคพร้อมจะยินดีกับผลงานของ ส.ส.ทุกคน เพราะ ประโยชน์ ความนิยม ก็เกิดขึ้นกับพรรคและ ส.ส. แต่อย่างน้อยๆ ส.ส.ก็ควรมีน้ำใจเล็กๆน้อยๆ แสดงความชื่นชมหรือขอบคุณในการอุทิศตนของคนทำงานเบื้องหลัง

หากคิดไม่ออก วิธีง่ายๆ คือ สมมติว่าเราเป็นคนทำงานเบื้องหล้งพรรค เราอยากเห็น ส.ส.แบบไหน การทำงานของ ส.ส.แบบใดที่ทำให้เราภูมิใจ ยืดอกประกาศอย่างสง่าผ่าเผยว่า นี่คือ ส.ส.ของเรา

ไม่เพียงแต่สภาวะแปลกแยกระหว่างคนทำงานแบกพรรค vs พรรคและนักการเมืองของพรรคเท่านั้น ในหมู่นักการเมืองของพรรคเองก็อาจเกิดสภาวะแปลกแยกเช่นกัน โดยเฉพาะกรณี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ด้วยระบบเลือกตั้งแบบปี 2562 ทำให้ ผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตเชื่อว่า พวกเขาลงไปเก็บคะแนนให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และด้วยระบบเลือกตั้งที่จะใช้ในปี 2566 ที่กลับไปเหมือนปี 2544 2548 ทำให้พรรคต้องให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในเขตเลือกตั้งมากขึ้น

คาดหมายได้ว่า ในอนาคต ส.ส.เขตที่ฝ่าฟันเข้ามาได้ (ไม่ว่าจะสมัยที่สองหรือสมัยแรก ในปี 2566 และได้เป็นอีกในสมัยต่อๆไป) จะขึ้นมามีบทบาทการนำมากขึ้น หาก ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่สามารถแสดงผลงานหรือทำให้ ส.ส.เขตยอมรับนับถือได้ เมื่อนั้น ก็จะเกิดสภาวะแปลกแยกกันในหมู่ ส.ส.เองด้วย เช่น ส.ส.เขต รู้สึกว่าตนเองแบกพรรคมากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เห็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อทำคะแนนนิยมให้พรรคหรือเสียสละให้พรรค ในขณะที่พรรคอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ ส.ส.บ้ญชีรายชื่อ คือ ผู้อาวุโส หัวหน้ามุ้ง ส.ส.เขต หรือคนลงขันเอาเงินเข้าพรรค

( หมายเหตุ - สมัยผมยังเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ผมต้องการสร้างอะไรบางอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ส.ส.และคนทำงานทั้งหมด เราคือ พรรคอนาคตใหม่ เราคือเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่ ส.ส.ไปเป็นใหญ่เป็นโต ไปได้เงินทอง อำนาจ วาสนา โดยปล่อยให้ทีมงานทำงานแบกพรรคไป ให้ยึดมั่นร่วมกันว่าทุกคะแนนเสียงที่ได้มา เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคน ผมจึงออกแนวปฏิบัติไว้ว่า ส.ส.เขต ตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วย ได้อิสระ เพราะ ต้องมีคนที่ไว้วางใจในการทำพื้นที่เขตของตน แต่ขอให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วย ได้ 5 คน และแบ่งส่วนที่เหลือมาจัดสรรปันส่วนให้กับ ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง พนักงานพรรค และคณะทำงานเครือข่ายของพรรคทั่วประเทศ รวมทั้งขอให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ซึ่งไม่มีภาระในการทำพื้นที่เหมือน ส.ส.เขต ไม่ต้องใช้เงินและทรัพยากรในการทำพื้นที่เหมือน ส.ส.เขต) หักเงินเดือนของตนบริจาคให้พรรคเดือนละ 15,000 บาท

แนวทางที่ผมวางไว้นี้ ช่วยลดทอน “สภาวะแปลกแยก” ภายในองค์กรได้อยู่บ้าง อย่างน้อยๆ คนทำงานเบื้องหลังแบกพรรคไว้ ก็จะเห็นเป็นรูปธรรมว่า การต่อสู้ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำนั้น มิใช่มีแต่เพียง ส.ส.ไม่กี่คนที่ได้ไป แต่ตำแหน่งต่างๆถูกนำมาจัดสรรปันส่วนให้กับคนทำงานของพรรคด้วย รวมทั้งหักเงินเดือนบริจาคให้พรรคเพื่อให้พรรคมีงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่อไป และอย่างน้อยๆ ส.ส.เขตก็จะเห็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เสียสละให้พรรค ลดทอนความคิดประเภทที่ว่า ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ดีๆ ได้เป็น ส.ส. เพราะมีคนเก็บคะแนนให้ทั่วประเทศตามระบบเลือกตั้ง 2562)

จุดเริ่มต้นการสร้างพรรคตั้งแต่อนาคตใหม่และวิธีคิดเรื่องพรรคการเมืองของเราแตกต่างจากที่เคยทำกันมา
เราไม่ต้องการเป็นพรรคที่หาคนมาลงขันใส่ “ทุน”เข้ามา แล้วรอเป็น รมต. เอาเงินคืน

เราไม่ต้องการเป็นพรรคที่มี “หัวหน้ามุ้ง” จ่ายเงินเดือนเลี้ยงดู ส.ส. เอาจำนวน ส.ส.ไปแลกตำแหน่ง รมต.ให้หัวหน้ามุ้ง แล้วรอเอาเงินคืน

เราไม่ต้องการเป็นพรรคที่เสมือนเป็นที่อยู่อาศัยชั่วครั้งชั่วคราวให้คนมาลง ส.ส. พอไม่ได้ลงก็ขนคนย้ายออก
เราไม่ต้องการเป็นพรรคที่ไม่ทำกิจกรรมใดๆนอกจากลงเลือกตั้ง

ทุกองค์ประกอบ องคาพยพ ที่ร่วมกันก่อร่างสร้างพรรคขึ้นมา มีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด เราคือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อนร่วมงาน พี่น้องมิตรสหาย ไม่มีใครเป็น “เจ้านาย”

เมื่อพรรคก้าวไกลไม่ได้เดินด้วย “เงิน” ปัญหาสภาวะแปลกแยกระหว่างคนทำงานแบกพรรค vs นักการเมืองของพรรค จึงไม่อาจแก้ไขได้ด้วย “เงิน” ไม่อาจอัดฉีดเงินลงไปให้คนทำงานเยอะๆ ส.ส.อัดเงินลงไปเลี้ยงทีมงานให้มากๆเหมือนพรรคอื่นๆ แล้วก็เรียก ส.ส.ว่าเป็นเจ้านายทุกคำ

แต่พรรคก้าวไกล ส.ส. นักการเมืองของพรรค ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยหัวใจ การอุทิศตนทำงาน พฤติกรรม และอุดมการณ์

พรรคก้าวไกลจะยุติสภาวะแปลกแยก ถูกโดดเดี่ยวจากการเมืองไทยได้ ต้องมี “ประชาชน” เป็นพวก

แต่พรรคก้าวไกลไม่มีทางที่จะยุติสภาวะแปลกแยกของประชาชนต่อการเมืองในระบบรัฐสภา และไม่มีทางยุติสภาวะแปลกแยกจากการเมืองไทยที่ตนเผชิญอยู่ได้เลย ตราบใดที่พรรคก้าวไกลเองมีสภาวะแปลกแยกอยู่ภายในองค์กร คนทำงานแบกพรรคไม่รู้สึกเคารพนับถือให้ใจกับ ส.ส.

สร้างพรรคให้เป็นพรรคของมวลชน ให้มวลชน ให้สมาชิก ให้ทีมงาน ควบคุมนักการเมืองของพรรค
นักการเมืองของพรรค ไม่ใช่ “เจ้านาย” พรรค ไม่ใช่ “เจ้านาย” คนทำงานเบื้องหลังพรรค

ส.ส.หรือรัฐมนตรีของพรรค ก็คือ คนที่รับบทบาทหน้าที่ให้ไปทำภารกิจเปลี่ยนแปลงประเทศ

นักการเมืองของพรรคควรมุ่งหน้า “หาเสียง” ให้ตนเองและพรรค

มุ่งหน้า “หาพวก” เปลี่ยนแปลงความคิดคน ให้ความคิดแบบเราเป็นความคิดกระแสหลัก

ไม่ใช่ “หาเรื่อง” ให้พรรค ให้ทีมงาน ให้ตนเองต้องตามแก้ไข

นักการเมืองของพรรคต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ต้องเป็น ส.ส. เป็น รมต. เพราะ เรามีทักษะ มีความถนัด ในการทำงานเหล่านี้ และต้องเป็นเพื่อใช้ตำแหน่งเหล่านี้ไปเปลี่ยนแปลง มิใช่ต้องเป็น เพราะ อยากมี “สายสะพาย” อยากได้อำนาจวาสนา เงินทอง สิ่งอำนวยความสะดวกเย้ายวนใจ

หากสภาวะแปลกแยกระหว่างภายในพรรคมีขึ้นและดำรงอยู่ อย่าคิดฝันถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

'ดร.อานนท์' ชงสูตรการเมืองทำลาย 'ก้าวไกล-ธนาธร' เชื่อยอมเจ็บเถิด จะได้จบ

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า