'ปิยบุตร'ย้ำ 5 ข้อหักล้างส.ว.รื้อระบอบประยุทธ์ ย้อน'คำนูณ'รธน.60 รวมศูนย์ บั่นทอน ควบคุมเช่นเดียวกัน

'ปิยบุตร' ย้ำ 5 ข้อหักล้าง ส.ว. รื้อระบอบประยุทธ์ แก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ย้อน'คำนูณ' รัฐธรรมนูญปี 60 หนึ่งรวมศูนย์ สองบั่นทอน และสี่ควบคุมเช่นเดียวกัน

17 พ.ย.2564 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาดังนี้

5 ข้อหักล้าง ส.ว. : ร่าง #รื้อระบอบประยุทธ์ แก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง - ควบคุมกลไกต่างๆ จนไม่สะท้อนเจตจำนงประชาชน ]
.
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตัวแทนผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกวุฒิสภารวม 5 ประเด็น
.
1) ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่การเขียนแบบปฏิวัติตามที่ ส.ว. คำนูญ สิทธิสมาน ตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะรัฐธรรมนูญแบบปฏิวัติหมายถึงต้องลบไปทั้งฉบับแล้วเขียนแบบที่ไม่มีเค้าร่างเดิมอยู่เลย แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับนี้เป็นการปฏิรูป เราไม่ได้ลบทิ้งทั้งฉบับ แต่เราเข้าไปแก้ไขประเด็นที่มีปัญหาสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 โดยร่างของเรายังใช้เค้าเดิมทั้งหมด ประเทศไทยยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
2) ข้อสังเกตว่าข้อเสนอตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่เป็นการบั่นทอนความเป็นอิสระของศาลนั้น การที่เราเขียนไว้ว่าห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร เพื่อที่ให้ศาลมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไปใช้อ้าง ไปใช้ในการวินิจฉัยคดี แม้ว่าต่อไปหากมีการทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารเขียนนิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้วก็ตาม เพราะที่ผ่านมาผู้พิพากษาหลายๆ คนก็อยากจะวินิจัยแตกต่างออกไป ไม่รับรองการรัฐประหาร แต่ไม่มีตัวบทกฎหมายใดให้อ้างอิง ดังนั้นถ้าเขียนไปในรัฐธรรมนูญแบบนี้ ต่อไปผู้พิพากษา ตุลาการก็จะสามารถนำมาใช้และไม่ยอมรับการรัฐประหารได้ ตรงนี้ไม่ใช่การละเมิดความเป็นอิสระของศาลเลย ตรงกันข้ามทำให้ศาลเป็นองค์กรที่สูงเด่นขึ้น เป็นองค์กรที่ปกป้องประชาธิปไตยและร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร
.
3) ห้ามศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องจากที่ 2 อำนาจเผชิญหน้ากัน โดยศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากไม่มีรัฐธรรมนูญก็ย่อมไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจทั้งหมดก็ใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งอำนาจหนึ่งคืออำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมี 2 ระดับ 1.อำนาจทำใหม่ทั้งฉบับ 2.อำนาจเข้าไปแก้ไข ดังนั้นแล้วอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีการไปเขียนในรัฐธรรมนูญปี 60 เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่สมัยรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ไม่เคยเขียน แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้ช่องเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน ตรงนี้จึงไปกระทบกับการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง 2 อำนาจคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกับอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ยิ่งทำให้เห็นปัญหานี้ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากสมาชิกรัฐสภาไปร้องขอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปนี้ประเทศไทยไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ข้อเสนอของเราจึงเข้าไปจัดการสมดุลต่างหาก
.
4) กระทบความเป็นอิสระของศาลและองค์อิสระนั้น ประเด็นนี้ข้อเสนอของเราคิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เสนอเนื่องจากว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเอาออกไป กลไกต่างๆ ไม่ได้ต่างกันเลย ต่างกันเพียงว่าคนที่จะถอดถอนเปลี่ยนจาก ส.ว. มาเป็น ส.ส. ที่ให้เป็น ส.ส. เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญของเราจะไม่มี ส.ว.อีกและ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน รวมทั้งการกระทำที่เป็นการถอดถอนไม่ใช่เป็นอำนาจตุลาการ และการถอดถอนประเทศไทยไปยืมแนวคิดการถอดถอนจากต่างประเทศ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า impeachment เวลาพิจารณาเป็นการเอาองค์กรทางการเมืองหรือองค์กรตุลาการบางส่วนเข้ามาผสมกันแล้วถอดถอนคนออกจากตำแหน่ง ส่วนจะโดนคดีอาญาหรือไม่นั้นเป็นการไปพิจารณากันอีกในกลไกศาลปกติ นี่จึงไม่ใช่การเข้าไปทบทวนใหม่ของคำพิพากษา
.
5) ข้อเสนอจะทำให้เกิดการควบคุมงบประมาณ ควบคุมคน ควบคุมคำพิพากษานั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ 50 และ 60 ไปเขียนว่า ศาลของบประมาณ แปรญัติได้ และเป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องจัดสรรให้พอเพียงเพื่อประกันความเป็นกลางและความเป็นอิสระ เขียนแบบรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 เป็นการให้ศาลมาแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพราะเรื่องการบริหารงบประมาณเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และเรื่องการพิจารณางบประมาณเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของศาลเลย และยังเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมระหว่างหน่วยงาน หน่วยรับงบประมาณอื่นไม่ได้มีอภิสิทธิ์แบบศาลและองค์กรอิสระที่ไม่ถูกตัดและได้รับข้อยกเว้น และข้อเสนอของเรายังทำให้เกิดหลักถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีเสียงข้างมากฝั่งไหนยึดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้อีกต่อไป แต่มาจากการแบ่งสรรปันส่วนที่ยุติธรรมที่สุด นั่นคือมาจากรัฐบาล 3 คน ฝ่ายค้าน 3 คน และผู้พิพากษาตุลาการอีก 3 คน อาจคลางแคลงใจว่ามันคือ 6 ต่อ 3 แบบนี้ทำไมให้ผู้พิพากษาน้อยกว่า ส.ส. คำตอบคือ เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีท่านกำลังสู้กับอำนาจนิติบัญญัติว่าสภาตรากฎหมายมาแล้วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ท่านกำลังเข้าไปลบ พ.ร.บ.ที่ออกมาใช่ไหม ท่านจึงต้องหาความชอบธรรมที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน นี่เป็นหลักการสากล ดังนั้นลองไปสำรวจศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั่วโลกว่ามีที่ไหนบ้างที่ไม่ให้ ส.ส.มีอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกที่มีหมด คือให้ ส.ส.แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้จะทำให้เกิดดุลยภาพ ไม่มีใครยึดศาลและองค์กรอิสระได้ และยังเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย
.
หลายคนทำราวกับว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจะไม่มีระบบตรวจสอบนักการเมือง กลับเห็นในทางตรงกันข้ามเลย เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบนักการเมืองอันดับต้นๆ ของโลก เป็นรัฐธรรมนูญล้อมคอกนักการเมืองจนแทบกระดิกไม่ได้ ถ้าร่างฯ นี้ผ่านจริง กกต.ก็ยังจัดการเลือกตั้ง มีอำนาจออกใบเหลือง ใบแดงเช่นเดิม ปปช. ยังมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน ความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดิม ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจเช่นเดิม ที่ถามกันว่าถ้าผ่านแล้วใครจะตรวจสอบ ส.ส.นั้น ที่จริงแล้ว ส.ส.โดนตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ไม่ได้ยกเลิกการตรวจสอบเพียงแต่สร้างระบบดุลยอำนาจให้มาเกาะเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น มิฉะนั้น เราจะกลับไปประเด็นปัญหาที่ตั้งไว้แต่แรกว่า เราให้องค์กรเหล่านี้มาตรวจสอบ แล้วใครจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ตรวจสอบอีกที จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะใช้อำนาจโดยชอบเสมอได้
.
สุดท้ายที่ ส.ว. คำนูญ สิทธิสมาน กล่าวหาว่า ข้อเสนอของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี หนึ่งรวมศูนย์ สองบั่นทอน และสี่ควบคุม
.
ปิยบุตร เห็นว่าตัวรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น หนึ่งรวมศูนย์สองบั่นทอน และสี่ควบคุมเช่นเดียวกัน
.
หนึ่ง รวมศูนย์อำนาจให้กับองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อำนาจที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร
.
สองบั่นทอน บั่นทอนอำนาจสภาผู้แทนราษฎรและบั่นทอนประชาธิปไตย
.
สี่ควบคุม ควบคุม ส.ส.จนกระดิกทำอะไรไม่ได้เลย ควบคุมประชาชน การตัดสินอะไรใดๆ ทำไม่ได้เลย เลือกตั้งมายังไงเสียงของประชาชนก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ มี ส.ว. 250 มาเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ควบคุมการตั้งรัฐบาล พอมี ส.ว.พรรคที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ และควบคุมประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์แผนปฎิรูปประเทศ
.
ขอปฏิเสธว่าร่างฉบับนี้ไม่ได้เป็นตามข้อกล่าวหา แต่ตรงกันข้าม เรากำลังเข้าไปแก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้าไปแก้ปัญหาการบั่นทอนประชาธิปไตย เข้าไปแก้ปัญหาการควบคุมกลไกต่างๆ จนไม่สะท้อนเจตจำนงประชาชน
.
#ประชุมสภา #แก้รัฐธรรมนูญ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คำนูณ' จ่อซักฟอกปมเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ดักคอ 'อุ๊งอิ๊ง' บินกัมพูชา

'คำนูณ' เตรียมซักฟอกรัฐบาล ปมเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย 20 ล้านล้าน ดักคอ 'อุ๊งอิ๊ง' บินกัมพูชา ไม่ใช่เรื่องมุบมิบทำอะไรได้ ชี้ต้องเป็นข้อตกลง รธน. ม.187 รัฐสภาเห็นชอบ

'คำนูณ' เตือน! ขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านและสิทธิอธิปไตยไทยยับเยินแน่ หากแยกประเด็นเจรจา

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา แสดงความคิดเห็นต่อกรณีเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่กำลังถูกจับตาในเวลานี้ว่า“เรื่องสำคัญที่สุด

'สว.คำนูณ' เผยได้วันเปิดอภิปรายรัฐบาลแล้ว เลื่อนให้ช้าลงไปอีก

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยถึงการประชุมวิปวุฒิสภาว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงห

'สว.คำนูณ' จี้รัฐบาลทบทวนวันซักฟอกให้เร็วขึ้น หากยื้อเวลาก็ไร้ประโยชน์

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.กล่าวถึงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของวุฒิสภา ว่า โดยปกติการเสนอญัตติให้รัฐมนตรีมาชี้แจงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

'ดร.นิว' ฟาด 'ดร.ป๊อก' สร้างตรรกะอุบาทว์ ทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า