'ปิยบุตร' ทิ้งทวนอย่ามองอคติ! ลั่นจะรักษาสถาบันให้มั่นคงในศตวรรษนี้

“สุทิน” เชื่อคนใน 16 ล้านเสียงอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ วอนทุกฝ่ายรับหลักการ “ปิยบุตร” ยันไม่ได้ล้มล้างระบอบการปกครอง

17 พ.ย.2564 - เมื่อเวลา 01.00 น.ในการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ฉบับภาคประชาชน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายกล่าวตอนหนึ่งว่า มีการกล่าวหาทั้งวันว่าพวกเราไม่เคารพ 16 ล้านเสียงที่ผ่านร่างประชามติมา คิดว่าจะต้องทบทวนและคิดใหม่ว่าใครกันแน่ที่ไม่เคารพ ผ่านมาแล้ว 5 ปีวันนี้ เขาอาจอยากแก้รัฐธรรมนูญแทบตายก็ได้ จะไปคิดได้อย่างไรว่าเขาไม่อยากแก้ ดีหรือไม่ดี 16 ล้านเสียงอาจจะมีชื่ออยู่ในกว่า 100,000 คนที่ลงร่วมลงชื่อแก้ไขในวันนี้ก็ได้ เรื่องนี้ง่ายนิดเดียว หากเคารพ 16 ล้านเสียง ขอให้ลองผ่านวาระหนึ่ง วาระสอง และวาระสามร่างนี้ดู เพื่อให้ 16 ล้านเสียงได้พิจารณาอีกครั้ง ถึงอย่างไรก็ต้องกลับไปทำประชามติอยู่ดี แต่ถ้าปิดโอกาสลงมติตกตั้งแต่วาระแรกถือว่าไม่เคารพ 16 ล้านเสียง

“เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องรับหลักการในวาระแรก เพื่อตอกย้ำและแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ดีและมีข้อบกพร่อง จึงต้องแก้ไข รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับโดยให้ประชาชนเขียนหรือมีส่วนร่วมมากที่สุดด้วยการตั้ง ส.ส.ร. แต่ครั้งนั้นร่างกฎหมายถูกตีตกไป จึงเห็นด้วยกับร่างของประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ตั้ง ส.ส.ร. แต่ก็เป็นร่างที่ประชาชนยื่นเข้ามา ก็ต้องรับเพราะเชื่อว่าการจะเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีนั้นเราเป็นคนใช้ เราเป็นผู้รับเหมา คนเขียนสเปกต้องเป็นประชาชน”

จากนั้นเวลา 01.18 น. นายปิยบุตร แสงกนกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าในฐานะผู้เสนอร่าง อภิปรายสรุปว่า กระบวนการในวันนี้คือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการที่นำความต้องการเสียงเรียกร้องของประชาชนที่อยู่ด้านนอกของสภาเข้ามาถกเถียงอภิปรายกันในสภาตามระบบครรลองอย่างมีอารยะ หลายความเห็นของเพื่อนสมาชิกเป็นประโยชน์มาก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็จะเป็นผู้ฟังและนำไปชั่งน้ำหนักเหตุผลว่าเหตุผลของใครฟังได้ และเหตุผลของใครฟังไม่ขึ้น ร่างฉบับนี้ถูกตั้งฉายาต่างๆ นาๆ ว่ารวมศูนย์อำนาจ บั่นทอน ควบคุม ล่วงเกิน ล่วงล้ำ ลวงลูก ลงเหว บ้างก็ว่าถูกยกร่างมาด้วยความเกลียด ความกลัวและความเกิน ยืนยันว่าร่างนี้ไม่ได้มีลักษณะแบบที่ตั้งสมญานามมาแต่ประการใด ตรงกันข้ามการอภิปรายในบางท่านอาจจะซับซ้อนมีทัศนคติของการเกลียดนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินไป และสะท้อนทัศนคติของความโกรธที่ร่างแบบนี้เข้ามาสภาได้อย่างไร อาจจะมาจากการกลัวที่ตัวเองต้องสูญเสียอำนาจลงไปบ้างหรืออาจจะคิดเกินไปหมดว่าคนเสนอร่างต่างๆ เหล่านี้มีความไม่สุจริตต้องการมาล้มล้างหรือมาปั่นป่วน แต่จริงๆแล้วร่างฉบับนี้ยกร่างขึ้นมาจากสมมุติฐานที่ว่าระบบรัฐธรรมนูญไทย และระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติ เฉไฉออกนอกลู่นอกทางประชาธิปไตยมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้นร่างฉบับนี้มีเพียงความต้องการที่จะปรับปรุงเข้าสู่จุดสมดุลมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

“ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องสุดโต่งแต่ประการใดแต่เป็นเพียงการทำให้กติกากลับมาเป็นการอีกครั้งจากที่เอนเอียง มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าฝ่ายหนึ่ง เป็นกลางมากขึ้นและแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมภายใต้กติกานี้ร่วมกัน เป็นการคืนความปกติ เพราะเราอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ผิดปกติ และระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนมานานเกือบสองทศวรรษแล้ว ดังนั้นร่างนี้คือการคือความปกติให้กับสังคมการเมืองไทยหากใครคิดว่าสุดโต่ง เพราะท่านอาจใส่แว่นสายตาที่สุดโต่ง ร่างฉบับนี้มุ่งแก้ไขสี่ประเด็นหลักท่านอาจจะไม่พอใจ”

นายปิยบุตรกล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองนั้น ไม่มีตรงไหนล้มล้างเลย ประเทศนี้ยังคงปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศนี้ยังคงมีอำนาจนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร ยังมีอำนาจบริหารโดยคณะรัฐมนตรี และยังมีอำนาจตุลาการโดยศาลที่ตัดสินในพระปรมาภิไธยต่างๆ ระบบรัฐสภายังคงดำรงอยู่ต่อไป พระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นพระประมุขอยู่ต่อไป นายกรัฐมนตรีก็เป็นคนรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ผู้พิพากษาก็ยังคงตัดสินคดีความตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไป หากร่างฉบับนี้จะเป็นการล้มล้างเราไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญกำหนดผลักดันความคิดภายใต้กระบวนการ ดังนั้นอย่ากังวลและอย่ากลัวกับเราจนเกินไป ให้ประชาชนได้แสดงออกถึงการใช้อำนาจของเขาบ้าง

“ผมยืนยันว่าไม่ได้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยความอคติ ขอให้ทุกคนช่วยพิจารณาร่างนี้ด้วยความไม่อคติเช่นกัน ขอให้ดูบทบัญญัติหลายมาตรา อย่าดูหน้าผม ท่านไม่ชอบหน้าผม ไม่เป็นไร เห็นไม่ตรงกันไม่เป็นไร ขอให้ดูเหตุการณ์และตัวบทรัฐธรรมนูญ อย่ามองหน้าผมเป็นสำคัญ ความคิดแบบพวกเรานี่แหละจะรักษาประชาธิปไตยได้ และจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงต่อไปได้ในศตวรรษนี้” นายปิยบุตร กล่าว

จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.39 น. และนัดลงมติร่างดังกล่าวในเวลา 10.00 น.วันที่ 17 พ.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช' กระตุกปรับครม.หมุนเก้าอี้ตามโควต้า หวังรมต.คุมกห.ดันแก้กม.ปฏิรูปกองทัพต่อ

'ชัยธวัช' ชี้ปรับครม.ขอเน้นคนเหมาะกับงานมากกว่าหมุนเก้าอี้ตามโควต้าทางการเมือง ไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาล ทำให้ประชาชนผิดหวัง หวังรมต.คุมกลาโหม ดันแก้ร่างกม.ปฏิรูปกองทัพต่อ

'สุทิน' โต้ฝ่ายค้านรู้ไม่จริง 'ฟริเกต-เรือดำน้ำ' โบ้ยไม่ทันฟัง 'วิโรจน์' แฉคนในรัฐบาลตบทรัพย์

'สุทิน' เย้ยฝ่ายค้านรู้ไม่จริง 'ฟริเกต-เรือดำน้ำ' เหมือนคลำหา ชี้ข้อมูลเก่า 90% เหมือนโดนบีบให้ขึ้นชกทั้งที่ยังไม่พร้อม อ้างทันฟัง'วิโรจน์' แฉคนในรัฐบาลตบทรัพย์ฟริเกต เผยถ้ามีคนโทรหาแค่ให้กำลังใจ บอกทร.ใจเย็นๆได้เรือแน่ เชื่อปมเรือดำน้ำจบใน เม.ย. มั่นใจเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านดีแล้วเรื่องสิทธิ์ที่ดิน พร้อมแจงประเด็นตัวเลขนายพลผิดเหตุมองตารางพลาด