'วิษณุ'ยัน ไร้ปัญหาหลัง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายมีผลบังคับใช้ จัดงบซื้ออุปกรณ์บันทึกภาพไว้หมดแล้ว ย้ำแม้ศาลรธน. ตีตก พ.ร.ก. แต่รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ เหตุยุบสภาไปแล้ว
31พ.ค.2566- ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 1/2566 ว่า เมื่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีใช้บังคับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนบังคับใช้ ซึ่งต้องใช้บังคับ ถึงแม้ว่าจะช้าไป 3 เดือน ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาจัดหาซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือหลังจากที่ได้งบประมาณแล้ว ดังนั้น ปัญหาไม่มีอะไรมาก และได้มีการดำเนินการจัดซื้อกล้องและอุปกรณ์แล้ว
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีตนเป็นประธาน และมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เป็นกรรมการ จึงได้เวลาที่จะต้องประชุมเพื่อวางแผนว่าจะต้องทำงานอย่างไร เช่น กฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการบันทึกภาพที่ในกฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ ขณะจับกุม โดยระบุว่าจะต้องถ่ายใน 3 จุดด้วยกัน ได้แก่ 1.ขณะเข้าจับกุมต้องมีอยู่ในมือผู้จับหรือตำรวจ 2.มีติดอยู่ในรถที่ใช้ในการจับกุม และ3.ที่สถานีตำรวจ โดยถ่ายเมื่อนำผู้ต้องหามาสอบสวนที่สถานีตำรวจ จากนั้นทั้งหมดจะเก็บไว้ในคลังกลาง และเก็บไว้ให้ถึงเวลาจบคดี ซึ่งปัญหาอาจจะมีว่าเก็บไว้ที่ไหน ใครเป็นคนเก็บ เพราะถ้าแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างสร้างเครื่องมือเก็บคงจะสิ้นเปลือง จึงต้องหาวิธีส่งไปเก็บไว้ที่คลังกลาง และต่อไปใครจะใช้ก็ไปดึงมาใช้ ถือเป็นรายละเอียดที่จะต้องประชุมกัน โดยแต่ละหน่วยงานสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่กฎหมายที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่าน ทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากไม่มีการยุบสภามาก่อนก็จะมีผลกระทบ เพราะเมื่อออก พ.ร.ก.แล้วไม่ผ่าน รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าไม่ผ่านโดยศาลมีความแตกต่างกัน เวลารัฐบาลเสนอกฎหมายไปที่สภา แล้วสภาไม่ผ่านแปลว่าสภาไม่ให้ความไว้วางใจ แต่การส่งไปที่ศาลแล้วศาลไม่ให้ผ่าน ไม่ได้แสดงว่าศาลไม่ไว้วางใจ แต่แสดงว่ามันไม่ถูก จึงมีความแตกต่างกัน มีนัยยะที่แตกต่างกัน ซึ่งเคยมีกรณีทำนองนี้มาก่อน เหมือนในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยออก พ.ร.ก.ส่งไปสภาแล้วสภาไม่ผ่าน นายกฯจึงเลือกยุบสภา เป็นการที่รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบโดยยุบสภาหรือลาออก แต่วันนี้ไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นเพราะถึงอย่างไรรัฐบาลได้ยุบสภาแล้ว จะมาลาออกซ้ำอีกก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นไปนั้นต้องรักษาการ
เมื่อถามว่า หากมีคนไปร้องเอาผิดกับรัฐบาลชุดนี้จะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เชิญ ทำได้ และยังไม่รู้ว่าจะเอาผิดข้ออะไร มาตราไหน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เลขาฯป.ป.ช.' คาดคดี '44 อดีตสส.ก้าวไกล' จบกลางปีนี้ เผยมารับข้อกล่าวหาไม่กี่คน
'เลขาฯป.ป.ช.' เผย คดี 44 อดีตสส.ก้าวไกล แก้ 112 มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเองไม่กี่คน ส่วนใหญ่ส่งไปทางไปรษณีย์ ยันพิจารณาพฤติการณ์รายบุคคล คาดจบกลางปีนี้
'ไพบูลย์' ย้ำ 'บิ๊กป้อม' ลุกขึ้นซักฟอกนายกฯเอง หวังเร่งให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ป.ป.ช. มีมติรับคำร้อง สว. สอบ 'ทวี-ยุทธนา' ผิด ม.157 ปมฮั้วเลือกสภาสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.
ปชน.ยื่น 145 ชื่อเช็กบิล ป.ป.ช.ทบต้นทบดอกไล่ตั้งแต่นาฬิกาหรูถึงคลิปฉาว
'ปชน.-สว.' ร่วมเข้าชื่อ 145 คน ยื่นสอบ 'ป.ป.ช.' ปม ยุติสืบสวนนาฬิกา 'บิ๊กป้อม' พ่วง 'สุชาติ-บิ๊กโจ๊ก' เซ่นคลิปฉาวพบ 'วันนอร์' ที่บ้านพัก
'เรืองไกร' ยกคดีเสียบบัตรแทน-ดิไอคอน ยัน 'คดี 44 สส.แก้ม.112' ต้องฟ้องเป็นกลุ่ม
'เรืองไกร' ยัน 'คดี 44 สส.' ต้องฟ้องเป็นกลุ่ม เหตุ ต้องเสนอญัตติ 'แก้ ม.112' ร่วมกัน ยกคดีเสียบบัตรแทน-ดิไอคอน สอบรายบุคคล แต่รวมฟ้อง ชี้ กันตัวเป็นพยาน ทำได้ยาก ถ้าหลักฐานพอ
สทร.ไม่ให้ราคา ป.ป.ช.เรียก 'เสรีพิศุทธ์' บอกแค่เรื่องจุกจิก
'ทักษิณ' ลั่นไม่กังวลหลัง ป.ป.ช. เรียก 'เสรีพิศุทธ์' ไปเป็นพยานอาการป่วยชั้น 14 อย่าสนเรื่องจุกจิก