ที่ปรึกษานายกฯ-เด็กแม้ว โผล่ป้องนายใหญ่


20 ก.พ.2567 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ ว่า เราต้องตั้งสติกัน อำนาจอธิปไตยของไทยแบ่งเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ การพักโทษอยู่ในขอบเขตอำนาจการบริหาร อย่างที่ตนเคยเรียน คดีเก่าๆ ของนายทักษิณที่กลับมารับโทษในกระบวนการยุติธรรมจบลงแล้วตั้งแต่ศาลออกใบแดงแจ้งโทษ ขณะนี้ท่านอยู่กระบวนบังคับโทษ บริหารโทษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร คือ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่บริหารโทษอยู่

หากใครเห็นว่ากระบวนการบังคับโทษไม่ถูกอย่างไรก็ควรใช้เวทีสภาเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม ไปตั้งกระทู้ถาม หรือหากถึงเวลาที่เหมาะสมพรรคฝ่ายค้านก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วตรวจสอบกันในระบบสภาดีกว่าจะเลือกที่รักมักที่ชัง มีอคติต่อกัน แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าการชี้แจงอันไหนตอบได้ ไม่ได้ เคลียร์ ไม่เคลียร์ ถ้าบ้านเมืองอยู่กันแล้วไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ตามใจกัน เอาแต่ใจกัน อยากวิงวอน ตนตั้งใจมาพูด ไม่ได้จะว่าร้ายใคร ยืนยันเรื่องนี้สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายว่าการพักโทษเป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบหรือไม่ เราต้องมีหลักการ ยืนยันว่าการพักโทษนายทักษิณไม่ได้ทำลายกระบวนการยุติธรรม

นายพิชิต กล่าวว่า สำหรับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นายทักษิณถูกแจ้งข้อกล่าวหานั้น คดีนี้จะทำให้เห็นว่านายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วในเวลาที่เหมาะสม แม้จะไม่สะดวก นั่งรถเข็นไป นายทักษิณก็เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ไปพบอัยการ เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร และได้มีการนัดหมายฟังคำสั่งกัน ทั้งนี้ ขอว่าอย่าเอา 2 เรื่องมาปนกัน ถ้าเข้าใจตรงนี้ ขอให้เข้าใจกลไกระบบรัฐสภา เข้าใจเครื่องมือในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เราจะได้อยู่กันด้วยหลักด้วยเกณฑ์ ไม่เช่นนั้นจะกลับไปสู่ความแตกแยกในสังคมที่ไม่พึงประสงค์ ตนจึงออกมาพูดในวันนี้ให้ทุกคนตั้งหลักว่าระหว่างการพักโทษท่านก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไม่อิดเอื้อน ไม่ได้ถูกอายัดตัว และไปพบอัยการเองด้วย ซึ่งตอนนี้ได้รับการประกันตัวออกมา

“ในฐานะนักกฎหมาย ผมมองว่าเรื่องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยากมันน่ากลัวมากกว่าสิ่งที่เรียกร้องว่าทำลายกระบวนการยุติธรรม ยังมีอีกหลายเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยากมาก เราน่าจะมาศึกษาว่าทำไมหลายเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้หรือเข้ายาก”นายพิชิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องอาการนายทักษิณที่ระบุว่าวิกฤต แต่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ นายพิชิต กล่าวว่า อยากให้ไปดูหลักเกณฑ์ของการพักโทษว่าท่านป่วยระดับไหน ไม่ใช่ว่าท่านจะต้องถึงขั้นโคม่า มันมีหลักเกณฑ์ ลำดับ การให้คะแนนสุขภาพ และการจะป่วยจริงหรือไม่ อย่าเอาความรู้สึกส่วนตัวมาวัด เราต้องแยกกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ออกจากตัวนายทักษิณ ซึ่งนายทักษิณเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบว่าจะได้รับการพักโทษหรือไม่ ส่วนป่วยจริงหรือไม่ป่วยจริงให้ตรวจสอบกันในระบบรัฐสภา และคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการพักโทษมีรวมแล้ว 19 หน่วยงาน เรื่องนี้อยากให้ดูหลักเกณฑ์ เพราะถ้าเอาความรู้สึกมาวัดจะเถียงกันไม่จบ ส่วนที่มีการร้องเรียนให้แพทย์เปิดเผยอาการของนายทักษิณนั้น ไม่ใช่แค่นายทักษิณ แต่คนไข้ทั่วโลกไม่มีหมอคนใดจะเอาข้อมูลของคนไข้มาบอกกับสังคม มันเป็นกฎ กติกา จริยธรรม จรรยาบรรณของแพทย์ ส่วนกรณีไม่ติดกำไลอีเอ็มนั้น เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาพักโทษที่จะกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติตัวออกมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณได้พูดอะไรบ้างหรือไม่ เกี่ยวกับเสียงวิจารณ์ นายพิชิต กล่าวว่า ตนไม่ได้ติดต่อกับท่าน แต่สิ่งที่ตนพูดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และข้อเท็จจริงที่ทราบ ส่วนการเคลื่อนไหวชุมนุมข้างทำเนียบฯนั้น ตนมองว่าเป็นสิทธิ์ แต่การให้ข้อมูลในที่ชุมนุม ควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุณัย เปิดร่างเอกสาร ‘ทักษิณ’ ขอชนกลุ่มน้อยเมียนมาเป็นตัวกลางไกลเกลี่ยขัดแย้ง

ดูกันชัดๆ! เปิดร่างเอกสารที่ ทักษิณ ขอให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร เมียนมา แต่งตั้งตัวเองเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

ผิดเหลี่ยมปลุกผีโกงจำนำข้าว เพื่อไทยพัง-'ยิ่งลักษณ์'เจ๊ง!

อีเวนต์ระดับชาติเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าทำให้พรรคเพื่อไทยเสียแต้มทางการเมือง และอาจทำให้นายใหญ่นายหญิงเจ๊งซ้ำ

บี้รับผิดชอบ! นายกฯ-รมต. รู้เห็นเป็นใจ 'นักโทษ' จุ้นจ้านเมียนมา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า รัฐบาลเมียนมาตำหนิทักษิณทำสิ่งไม่เหมาะสม ระวังกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่อง“โมเดล”ดับไฟเมียนมา “ทักษิณ”พลิกธุรกิจสีเทาเข้าระบบ

ระดับแกนนำ“พรรคเพื่อไทย”ออกอาการอ้ำอึ้ง ไม่รู้ไม่เห็นกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ไปคุยกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา แต่สื่อตะวันตกต่างนำเสนอข่าวอย่างครึกโครม