'โรม' เขย่ารัฐบาล ทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่เปลืองงบฯ ปชช.แบกรับความสูญเสีย

แฟ้มภาพ

“รังสิมันต์’ มอง ทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว เหตุทำ 3 ครั้ง เปลืองงบ-เสียเวลา เตือน หากทุกฝ่ายกลัวการตีความกฎหมาย คนแบกรับความสูญเสียคือ ปชช.  เรียกร้อง ‘วันนอร์’ รีบบรรจุวาระแก้รธน. เข้าสภาฯ

21 เม.ย.2567 – นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เตรียมเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้น เสนอทำประชามติ 3 ครั้ง ว่า ตนเองคิดว่าหากจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนด การทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องทำประชามติในครั้งไหนบ้าง โดยกลไกพอจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้เกิดการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยทั่วไปการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็เป็นกลไกที่ครบถ้วนและรอบคอบอยู่แล้ว ที่ประชาชนสามารถตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่เกิดขึ้น การทำประชามติ 3 ครั้ง มันซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น ความซ้ำซ้อนแบบนี้จะนำไปสู่การสูญเสียงบประมาณและสูญเสียเวลา 

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อทุกฝ่ายกลัวที่จะต้องตีความกันหมด ทำให้สุดท้ายคนที่จะต้องแบกรับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือเวลาก็คือประชาชนทั้งประเทศ ตนเองยังมองว่าอยากให้ทุกฝ่ายกล้าหาญในการตีความ ซึ่งตนเองคิดว่าการตีความทางกฎหมาย ไม่ได้เป็นการตีความที่เกินเลยอะไร หากเราอ่านคำวินิจฉัยต่างๆ ก็ไม่ได้ชัดเจนถึงขั้นว่าจะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ตนเองยังคงยืนยันว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง 

“ทั้งนี้ เราก็พยายามยืนยัน ว่าการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลไกรัฐสภา นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ควรจะบรรจุเรื่องนี้เพื่อให้กลไกต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ สุดท้ายผลที่ออกมาศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความในลักษณะว่ายังไม่เป็นปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าเสียดาย หากรัฐบาลจะเดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้ง ที่จะทำให้สูญเสียงบประมาณเพิ่ม ตนขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องไปยังนายวันมูหะหมัดนอร์ ว่าควรจะบรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมและควรมีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้” นายรังสิมันต์ ระบุ

ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเองคิดว่าส่วนที่สำคัญ คือหากทุกฝ่ายเอาจริงเอาจัง ก็จะสามารถแก้ไขและนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ตนเองอยากจะให้รัฐบาลเอาจริงเหมือนกับที่สัญญาไว้กับประชาชน แต่ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้ ก็ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มองไปยังรัฐบาลและตั้งคำถามว่า จะเอาจริงเอาจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากแค่ไหน หากรัฐบาลรู้สึกว่าควรจะจริงจังได้แล้ว เราต้องช่วยกันทำให้การแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนหน้าตารัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ ก็ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะต้องไปว่ากันอีกที. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประธานสภาเตือนสติอย่าดันทุรังชงแก้ รธน.รอผลประชามติก่อน

'วันนอร์' ยันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังนำเข้าพิจารณาไม่ได้ เหตุต้องมีการทำประชามติก่อน เตือนหากดันทุรังแล้วถูกยื่นตีความเสียเวลาเปล่าๆ

โปรดทราบ! 'วันนอร์' ลั่นตำแหน่งประธานสภาฯ หากไม่ได้ลาออก ใครก็เปลี่ยนไม่ได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้การต้อนรับสมาชิกพรรคประชาชาติ จากกรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และนนทบุรี จำนวน 400 คน