'บิ๊กทิน' ชง ครม. แก้ไขสัญญาจัดหา 'เรือดำน้ำ' แล้ว

“บิ๊กทิน” ชง ครม.แก้สัญญา “เรือดำน้ำ”แล้ว หลังข่าวจีนขาย S26Tให้อินโดฯ “ผู้ช่วยผบ.ทร.” ย้ำข่าวเท็จ พร้อมแจงยิบศักยภาพเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน หลังไม่ได้ใช้เครื่องเยอรมนี ยันขีดสมรรถนะเทียบเท่ารุ่นเดิม เผยต่อเรือไป 64 เปอร์เซ็นต์ คาดส่งมอบปี71

5 ก.ค.2567 - พลเรือเอกชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนของกองทัพเรือว่า ได้ลงนามโครงการเมื่อปี 2560 ข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน การจ่ายเงินมีทั้งหมด 18 งวด ได้จ่ายไปแล้ว 10 งวด หรือคิดเป็น 60% เป็นจำนวนเงิน 7,700 ล้านบาท และยังคงค้างจ่าย 40% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 5,500 ล้านบาท ปัจจุบันการสร้างเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือไทยเสร็จสิ้นไปแล้ว 64% ยืนยันว่าเรือดำน้ำมีความจำเป็น เพื่อรักษาอธิปไตยทางทะเล และปกป้องทรัพยากรทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาท รวมถึงเส้นทางคมนาคมทางทะเล

“ หลังจากที่กองทัพเรือ ได้ร้องขอให้ผู้มีอำนาจในการแก้ไข เรื่องจัดการซื้อเรือดำน้ำ ที่มีด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 1.กองทัพเรือขอแก้ไขข้อตกลง ปัญหา โดยการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า จากรุ่น MTU 396 เป็นเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน CHD620 และ 2.ขอขยายระยะเวลาการส่งมอบเรือดำน้ำตามโครงการออกไป เป็น 1,217 วัน และหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆหลังจากนี้ ขอให้มอบอำนาจให้กับทางกองทัพเรือสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารเรือ ไปลงนามในการแก้ไขข้อตกลง

ล่าสุด วันนี้ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในหนังสือจากกระทรวงกลาโหม เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอแก้ไขข้อตกลงการแก้ไขเรื่องเรือดำน้ำของทหารเรือ ที่ได้เสนอไป 2 เรื่องดังกล่าวแล้ว

ส่วนความเป็นห่วงเรื่องสัญญาที่จะเสียเปรียบ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องยนต์นั้น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือทำสัญญาตั้งแต่ปี 2560 พอปี พอปี 2564 ทางจีนก็ส่งหนังสือแจ้งมาว่าจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ MTU 396 มาติดตั้งในเรือดำน้ำตามสัญญาที่ทำไว้กับฝ่ายไทยได้ ซึ่งในการเซ็นสัญญากับจีน ระบุแค่เพียงรหัสเครื่องยนต์แต่ไม่ได้บอกว่าเครื่องยนต์ต้องซื้อจากเยอรมนี เราต้องการแค่เครื่องยนต์รหัสนี้ แต่ปี 2563 อียูปรับปรุงนโยบาย และแซงชั่นจีนเพิ่มมากขึ้น กระทั่งในปี 2564 จีนมาแจ้งไทยว่าเกิดปัญหาใช้เครื่องเยอรมันไม่ได้ จีนจะใช้เครื่อง CHD 620 แทน ซึ่งเราพยายามแก้ปัญหามาตั้งแต่ ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนคำถามคือจีนรู้ก่อนหรือไม่ก่อนที่จะมาขายให้ไทย หรือเขาหลอกเราหรือเปล่า หรือเราเต็มใจให้หลอก พลเรือเอกชลธิศ ชี้แจงว่า จีนก็ไม่ได้รู้มาก่อนเหมือนกัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกองทัพเรือพยายามแก้ไขปัญหา เราก็บอกว่าเรากับเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดี เราก็ไปซื้อจากเยอรมนีและจ้างจีนติด แต่เยอรมนีไม่ยอม รัฐบาลก็พยายามคุยกับทางเยอรมนี แต่เยอรมันมีนโยบายแซงชั่นกีดกันการขยายความสามารถของจีน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทย แต่ปากีสถานก็โดนเช่นกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2564-65-66 กองทัพเรือพยายามไปศึกษา ไปตรวจสอบไปดู และสุดท้ายถึงขั้นส่งทีมงาน 23 คน ไปร่วมทดสอบเครื่อง 28 วันที่เมืองจีน ไปดูว่าเครื่องที่จีนเสนอมามันใช้ได้หรือไม่ มันได้มาตรฐานหรือไม่ มันมีคุณภาพหรือคุณสมบัติเท่ากับเครื่องที่เขาเคยเสนอมาหรือไม่ ดีกว่าหรือเท่าเทียมกันไหม

โดยผลการทดสอบเมื่อปี 2566 ทีมของเราทั้ง 23 คนก็ได้ทำรีพอร์ตมาว่าเครื่องยนต์มีขีดสมรรถนะเทียบเท่า เป็นไปตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ในสัญญา เช่น สัญญาระบุว่าต้องผลิตได้ออกมาสองพันแรงม้า เครื่องนี้ก็ทำได้ ,ต้องมีความสั่นหรือเสียงไม่เกินเท่านี้ ต้องมีความร้อนไม่เกินเท่านี้ เครื่องนี้ทำได้ เป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาตั้งแต่ปี 2560 เครื่องนี้ทำได้หมด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของเรายังได้ทำการทดสอบเครื่องยนต์ในบางรายการซ้ำ เพื่อให้เรามั่นใจ ซึ่งเราก็บอกว่าเรายอมรับเครื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามจีนบอกไว้ว่าถ้าคุณจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องที่จีนเสนอ มันจะต้องขยายระยะเวลาออกไป 1,217 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่เขาจะผลิตเครื่องยนต์ 365 วัน ส่วนวันที่เหลือเป็นวันที่เป็นไปตามกำหนดการเดิม กองทัพเรือในฐานะผู้ซื้อเห็นว่าเราได้เรือช้าไป จึงเจรจาต่อรองให้จีนหาอุปกรณ์มาชดเชยจากความเสียโอกาส โดยทางจีนจึงได้เพิ่มในส่วนของการรับประกันเป็นมูลค่า 200 ล้าน เช่น การรับประกันอะไหล่ ,ให้ตอร์ปิโดฝึก และยังรับประกันความเสียหายเครื่องยนต์จาก 2 ปี เป็น 8 ปี ,ขยายเวลาการอบรมเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค ดังนั้นเครื่องยนต์เป็นเครื่องใหม่ที่ไปทดสอบมาในชื่อรุ่น CHD620 เป็นเครื่องของจีน ซึ่งเครื่องยนต์รุ่นนี้ใช้ในเรือผิวน้ำอย่างแพร่หลายแล้ว ของไทยมีใช้ในเรือหลวงช้าง 6 เครื่อง เมื่อมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ จีนจึงนำเครื่องรุ่นนี้มาพัฒนาเพื่อใช้กับเรือดำน้ำ

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ย้ำว่า กองทัพเรือพิจารณาอย่างมืออาชีพ และรอบคอบ เพราะเราเป็นคนใช้ เรือดำน้ำอยู่กับเราอย่างน้อย 40 ปี คนที่จะลงไปต้องปลอดภัย เราพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนเรื่องของการขยายเวลาก็ยอมรับได้ การชดเชยได้ต่อรองจนถึงที่สุดก็อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงคิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการที่จะดำเนินการโครงการต่อ ส่วนที่หลายคนถามว่าจีนผิดสัญญา ทำไมไม่เลิกนั้น มันเป็นความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อจีนไม่สามารถหาอุปกรณ์นี้ได้ ทั้งสองฝ่ายก็ได้มาเจรจาแล้วหาทางออกด้วยกัน เปรียบเหมือนเราสร้างบ้านแล้วเราไม่ได้หลังคารุ่นนี้ เราจะเลิกสร้างบ้านหรือไม่ เราก็ไม่เลิก เพียงแต่ว่าหลังคาอันใหม่เราต้องมาพิจารณาว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ ดังนั้นวาทกรรมว่าจีนเป็นฝ่ายผิด ทำไมเราไม่เลิก จึงไม่ใช่อย่างนั้น อีกทั้งถ้าเครื่องที่เขาเอามาทดแทนไม่ได้เรื่องจริงๆ เราก็ไม่รับ

พลเรือเอกชลธิศ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้เมื่อประกอบเสร็จก็จะมีการทดสอบที่โรงงาน แล้วเอาไปติดตั้งในเรือเพื่อทำการทดสอบอีกครั้ง ก่อนจะเอาเรือลงไปทดลองใช้ในทะเลจริง และต้องดำไปใต้น้ำ 300 เมตร ต้องผ่านขั้นตอนพวกนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เราถึงจะยอมรับเรือ ซึ่งขณะนี้สรุปแล้วเราจะได้เรือดำน้ำตามที่ ครม.อนุมัติ 1 ลำ มีเครื่องทั้งหมด 3 เครื่อง ไว้สำรองทดแทน 2 เครื่อง จากที่มีความต้องการ 3 ลำ โดยช่วงเช้าวันนี้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในหนังสือเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อ 1.ขอแก้ไขข้อตกลงในการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนจากรุ่น เครื่องยนต์ดีเซลรุ่น 396 เป็นรุ่น CHD620 2.ขอขยายระยะเวลาการส่งมอบเรือดำน้ำออกไปอีก 1,217วัน จากเดิมระยะเวลาส่งมอบครบกำหนดเวลาไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปี 2566 แล้ว รวมทั้งเสนอว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆหลังจากนี้ขอให้มอบอำนาจให้กับกองทัพเรือสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ได้ และมอบอำนาจให้ ผบ.ทร.ไปลงนามในการแก้ไขข้อตกลง ซึ่งอยากเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นในเดือนนี้

ส่วนการผลิตของจีนเราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจเมื่อเสร็จแต่ละงวดงาน และเราก็จะจ่ายเงินตามงวดงาน โดยคาดว่าเรือดำน้ำจะมาถึงไทยประมาณเดือนมกราคม ปี 2571 ยืนยันว่าเรือดำน้ำนี้ด้วยเทคโนโลยีนั้น จีนก็ยังใช้เรือรุ่นนี้อยู่ ฉะนั้นตนมั่นใจว่าเรือรุ่นนี้มีคุณสมบัติและขีดความสามารถ และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันของเรือดำน้ำ ยังไม่ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ฉะนั้นถามว่าช้าหรือไม่ที่เราได้รับ ยอมรับว่าช้า แต่ถามว่ายังใช้ต่อไปได้อีก 30-40 ปีได้หรือไม่ มั่นใจว่าใช้ได้

ส่วนกณีมีกระแสข่าวว่าจีนจะเลิกขายเรือดำน้ำให้ไทย ไปขายให้อินโดนิเซียแทนนั้น พลเรือเอกชลธิศ ยืนยันไม่ใช่ความจริง โดยได้ตรวจสอบกับบริษัทCSOCผู้แทนรัฐบาลจีน ไม่มีความจริงเลย เป็นข่าวเท็จ ส่วนที่พรรคก้าวไกลคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำนั้น ประเด็นอยู่ที่ความเข้าใจ กองทัพเรือเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เราเป็นมืออาชีพ ท่านมอบหน้าที่ให้เราดูแลผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงทางทะเล เราก็ให้ข้อเสนอแนะตามสายวิชาชีพกับทางรัฐบาล โดยรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และยืนยันว่าไม่เคยน้อยใจ เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เป้าหมายของเราก็คือ เพื่อความมั่นคงของประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อเสนอ 'ครูทหารเรือ' เจรจาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาให้จบก่อน หากถึงทางตันต้องไปที่ศาลโลก

เปิดข้อเสนอ “ครูทหารเรือ” ให้เจรจาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาให้จบก่อน มองสูตรของกัมพูชาเจรจาขุมทรัพย์ก่อนทำได้ยาก ชี้2เรื่องละเอียดอ่อน-ซับซ้อน ปลายทางอาจจบที่ศาลโลก

จับล็อตใหญ่ริมน้ำโขง! ยาบ้าสูตรฟรุ้งฟริ้ง-ไอซ์ มูลค่ารวม 700 ล้านบาท

พล.ร.ต.ณรงค์ เอมดี ผบ.นรข. พ.อ.ปราโมทย์ เนียมสำเภา รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (รอง ผบ.กกล.ฯ) นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม น.อ.แมนรัตน์ บุญสวัสดิ์ ผู้บังคับการ นรข.เขตนครพนม (ผบ.นรข.เขตฯ)

หนุ่มประมง แจ้งความเอาผิดกลุ่มทหารเรือเกือบ 10 นาย รุมทำร้ายร่างกาย

ที่เกิดเหตุบริเวณชายหาด ตรงข้ามหน้าโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ หมู่ที่ 1 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ผู้เสียหายคือ นายอนันต์ นรินทร อายุ 43 ปี

'ในหลวง-พระราชินี' เสด็จฯ ไปงานแข่งขันเรือใบ 'ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า'

เมื่อเวลา 07.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติ

งดงาม 'กองเรือยุทธการ' จัดขบวนเทิดพระเกียรติ เรือของพ่อ 9 ลำ

กองทัพเรือ โดย พลเรือเอก ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผู้บัญชาการ กองเรือยุทธการ เป็นประธานจัดกิจกรรม “ตามรอยพ่อสืบสานต่อเพื่อแผ่นดิน” เทิดพระเกียรติ ๙ เรือของพ่อ

กองทัพเรือ จัดเสวนาหลักกฎหมายอาณาเขตทางทะเล แต่คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ผู้บริหาร

กรมยุทธศึกษา กองทัพเรือ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่องหลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือ ความท้าทายที่กองทัพเรือต้องเผชิญ