'พปชร.'จี้ รัฐบาลประมูลไฟฟ้าพลังงานทางเลือกโปร่งใส หลังใช้คุณสมบัติผู้ประมูลเป็นตัวตั้ง เหมือนไม่มีเจตนาลดราคา ข้องใจ รองนายกฯเศรษฐกิจ-รมว.พลังงาน พูดสวนทางกัน พร้อมจี้ รบ.ตอบให้ชัดเจน แจกเงินดิจิทัลรอบสองเมื่อไหร่ หวั่นทิ้งระยะนาน ไม่กระตุ้นศก. เพิ่มภาระคลัง ทำไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง
31 ต.ค. 2567 - ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงหัวข้อ “พปชร.เตือนรัฐบาล เศรษฐกิจเข้าสู่จุดพลิกผันจะฟื้นจริง? หรือฟุบ!!!” โดยนายอุตตม กล่าวว่า ไตรมาส 3 และ 4 เริ่มมีสัญญาณจากหลายสำนักทั้งในและนอกประเทศว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเริ่มฟื้นตัวได้ แต่ความเสี่ยงยังมีในหลายเรื่อง โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องสงคราม ความขัดแย้งอาจกระทบเศรษฐกิจ เวิลด์แบงก์ชี้ว่าอาเซียนน่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนในอาเซียน ตั้งแต่โควิดซาเราฟื้นช้ากว่าคนอื่น เราโตกว่าแค่เมียนมา ส่วนโพลของหอการค้าชี้ออกมาว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศยังไม่กระเตื้อง ลดต่อเนื่องมา 7 เดือนแล้ว ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า ไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ดี เราจะเสียโอกาส เพราะประเทศเพื่อนบ้านโตเร็วกว่า ชิงโอกาสได้ดีกว่าเรา รัฐบาลจึงต้องเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่สะสม
นายอุตตม กล่าวอีกว่า ภาระหนี้ของประชาชนน่าเป็นกังวล ภาระหนี้ครัวเรือนจะแตะร้อยละ 90 ของขนาดประเทศไทยที่วัดโดยจีดีพี อยู่อันดับ 7 ของโลก ถ้ารัฐบาลหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว แต่ไม่ปลดภาระตัวนี้ ใส่เท่าไหร่ก็ต้องไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบอยู่ดี ไม่หายในข้ามคืน อยากเห็นรัฐบาลแก้ไขหนี้ที่เหมือนเป็นวาระแห่งชาติ แก้ทั้งระบบด้วยกระบวนการที่ครบถ้วน ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอย่างไร พักอย่างไร เอาให้มันทำได้จริง อยากเห็นกระบวนการแก้หนี้ที่ชัดเจน
ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สองนโยบายเรือธงของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายแรกเรื่อง พลังงาน พรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศชัดเจนว่าเมื่อเป็นรัฐบาลจะลดราคาทันที แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ผ่านมาปีกว่า เป็นรัฐบาลมาสองคณะ คือ ยังไม่เห็นความชัดเจนนโยบายด้านพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ที่มีความพยายามในการจะรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน แต่กลับได้รับสัญญาณจากรองนายกฯที่คุมเศรษฐกิจในทิศทางตรงกันข้ามว่าไม่สามารถทำราคาพลังงานให้ถูกลงได้ คิดว่ารัฐบาลต้องเร่งทำความกระจ่างว่าที่ รมว.พลังงานจะรื้อโครงสร้างด้วยการแก้กฎหมายจะเสร็จเมื่อไหร่ และจะมีผลกระทบต่อราคาพลังงานหรือไม่ ส่วนเรื่องไฟฟ้า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การประมูลการได้สิทธิผลิตไฟฟ้า ล่าสุดรัฐบาลประกาศจะประมูลเรื่องพลังงานทางเลือก สิ่งที่น่าสังเกตและน่ากังวลอย่างยิ่งคือ การดำเนินการประมูลรอบที่แล้วนำมาซึ่งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส เน้นไปเฉพาะเรื่องของคุณสมบัติของผู้ยื่นสมัครประมูล ทำเลที่ตั้ง
"ดูเหมือนให้ความสำคัญกับราคาไฟฟ้าน้อย แต่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติผู้ยื่นประมูลเป็นหลัก รัฐบาลต้องการลดราคาพลังงาน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่วันนี้จะนำไปสู่ลดได้จริงหรือไม่ เพราะราคาไม่ได้เป็นตัวแปรหลักในการประมูล ขออย่าเอานโยบายตั้งแต่ปี 65 มาเป็นตัวตั้ง ไม่เช่นนั้นจะดูเหมือนรัฐบาลไม่มีเจตนาทำให้ไฟฟ้าถูกลง และน่ากังวลว่า ทำไมต้องเร่งประมูล พปชร.ขอเสนอแนะให้รัฐบาลทำอย่างโปร่งใส อย่าให้มีข้อครหา การประมูลพลังงานทางเลือกที่จะใช้ในอนาคตเป็นการประมูลที่มีระยะเวลา ไม่ใช่ประมูลเสร็จผลิตทันที แต่มันบวกด้วยคำว่าเทคโนโลยี ระยะเวลาที่เปลี่ยนผ่านในอนาคต ต้นทุนการผลิตจะถูกลง การกำหนดราคาในวันนี้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันควรแปรผัน และสะท้อนต้นทุน" นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบางนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องดำเนินการนโยบายต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดพลังหรือพายุหมุน แต่ปัจจุบันเมื่อแจกครั้งที่หนึ่งเสร็จแล้ว ครั้งที่สองยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่า อะไรคือปัญหาที่ให้คำตอบไม่ได้ว่าการแจกครั้งที่สองจะมาเมื่อไหร่ และหากรัฐบาลจะแจกรอบที่สอง ต้องชัดเจนว่าแจกเมื่อไหร่ หากล่าช้ากว่ารอบที่หนึ่ง พรรค พปชร.ไม่เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ใช้ครั้งเดียวหมด ไม่ได้เกิดพายุหมุน และเม็ดเงินมหาศาลที่ใช้จะเป็นภาระใหญ่มากของประเทศในอนาคต
"และขณะนี้ต่างชาติเริ่มประเมินภาวะการคลังของประเทศไทยแล้ว มีแนวโน้มจะลดเครดิตเรตติ้ง อันเกิดจากภาวะการคลังที่เปราะบางขึ้น ในส่วนเพดานหนี้สาธารณะนั้น ภาระหนี้มีส่วนต่างแค่ล้านเศษๆ ถ้าเดินนโยบายผิดพลาดจะกระทบภาพใหญ่ความมั่นคงทางการคลังของรัฐบาลแน่นอน"นายสนธิรัตน์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาล ยกโพลสนง.สถิติแห่งชาติ ชี้ประชาชนร้อยละ 87 พอใจ 'แจกเงินหมื่น'
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 4 – 22 พ.ย.67 ดังนี้ 1.การสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2568