'ที่ปรึกษา ครป.' ชี้ไม่ปฏิรูปตำรวจ-เอาผิดรัฐประหารก็ยากแก้ไขกระบวนการยุติธรรม

ที่ปรึกษา ครป.ซัดรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดทำประชาธิปไตยถอยหลังเข้าคลอง บอกตราบใดไม่มีการปฏิรูปตำรวจ ไม่เอาผิดผู้ทำรัฐประหาร ก็ไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้

02 ก.พ.2565 - นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงกระบวนการพฤษภาประชาธรรมที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อกระบวนการยุติธรรม ว่าพฤษภาประชาธรรมที่เกิดขึ้น นำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญแบบปี 2540 ซึ่งเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำคัญครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น การกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ตัดอำนาจในการออกหมายจับหมายค้นของตำรวจ หรือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ว่าให้เป็นอำนาจของศาลเพื่อที่จะให้เกิดระบบการตรวจสอบถ่วงดุล การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่โดยฝ่ายตุลาการ

“เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากซึ่งตอนนั้น ได้รับการถูกคัดค้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมาก เพราะเมื่อก่อนการจะออกหมายค้นหมายจับ ตำรวจสามารถออกได้เลย แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ศาลเป็นคนออกเท่านั้น รวมทั้งเรื่องการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญา เมื่อก่อนตำรวจสามารถที่จะจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดทางอาญา เป็นผู้ต้องหาและขังไว้ที่โรงพักได้เป็นเวลาถึง 7 วัน ในช่วง 7 วันนั้นสามารถที่จะมีพฤติกรรมในการสอบสวน ที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หลายอย่าง เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องหา เป็นต้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในชั้นสอบสวนที่โรงพักได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น”นายสมชาย กล่าว

ที่ปรึกษา ครป. กล่าวต่อว่า ถ้าจะควบคุมนอกเหนือจากกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ต้องขออนุญาตจากศาลเรียกว่าฝากขังต่อศาล ซึ่งมีผลในการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ต้องหาได้พอสมควร นอกจากนั้นยังกำหนดความเป็นอิสระ ในการพิจารณาพิพากษาของตุลาการด้วย ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่ดี กระทั่งให้อำนาจพนักงานอัยการมากขึ้น ในการที่จะตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน แต่ที่เสียดาย คือ ความริเริ่มที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้มีการสานต่อ แทนที่จะมีการพัฒนาทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น กลับทำให้ไม่มีการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปตำรวจ ไม่มีการสานต่อและถือว่าล้มเหลวจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน

นอกจากนี้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังได้รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้จำนวนมาก รวมทั้งสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เป็นปมเงื่อนที่สำคัญ ที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปไม่ถึงไหน คือ ยังไม่มีกระบวนการในทางกฎหมายใดๆ ในการที่จะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร ดังนั้นจึงเกิดการรัฐประหารอย่างน้อยซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 2 ครั้งตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยของไทย ถอยหลังเข้าคลองไปอย่างมาก

“การถอยหลังเข้าคลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้ระบบอำนาจนิยมมีอำนาจมากขึ้น ส่งผลสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร และผลเสียที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ฝ่ายบริหารมีบทบาท หรืออิทธิพลครอบงำองค์กรอิสระ โดยรัฐสภา หรือโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง ของฝ่ายรัฐประหารของผู้มีอำนาจ ทำให้องค์กรอิสระปัจจุบันหลายองค์กร ไม่เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่าประเด็นที่ขัดแย้ง กลับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างมาก ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหรือร่างอย่างแท้จริง”นายสมชาย กล่าว

นายสมชายกล่าวอีกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก รวมทั้งการที่นอกจากจะยอมรับที่จะให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้แล้ว ยังทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจ เข่นฆ่าประชาชนสามารถที่จะลอยนวลได้ เช่น ยอมรับผลพวงของกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งการรัฐประหารทุกครั้ง การปราบปรามประชาชนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าทำการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมยังไม่ถูกต้อง

“ตรงนี้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วทำให้คนเหล่านี้ลอยนวลพ้นผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการหรือรัฐบาลหรือผู้ปฏิบัติ ถือว่าเป็นความบกพร่อง ของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถจะทำให้ คนที่เข่นฆ่าประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อประชาธิปไตยหรือคนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพื่อที่จะเสนอความคิดเห็น หรือข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งจะตรงจุดนี้อาจจะมีบางคนบางกลุ่มอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ถ้าดำเนินการอย่างสันติวิธีไม่ได้ใช้ความรุนแรง รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรที่จะใช้กำลัง เข้าไปปราบปรามเข่นฆ่าเขา แต่กลับทำให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้คนเหล่านี้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นผู้สั่งการลอยนวลผลผิดได้” ที่ปรึกษา ครป. กล่าว

ที่ปรึกษา ครป. กล่าวอีกว่า วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเป็นอุปสรรคอย่างมาก ที่ทำให้ผู้ที่กุมกำลังไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ หรือกำลังที่เป็นอิทธิพลทางด้านการเมือง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย สามารถที่จะใช้อำนาจและกำลัง ในการที่จะไปปราบปรามประชาชน ที่มีความคิดเห็นต่างจากตนเองในทางการเมือง ทั้งนี้ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากรัฐบาลที่ทหารหนุนเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลที่อาจจะมาจากการเลือกตั้ง ก็อาจจะใช้อำนาจหรือกำลังเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ไม่ถูกต้องได้เช่นเดียวกัน โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับผิด เหมือนกับกรณีที่เราเรียกว่าสงครามยาเสพติด เป็นต้น

“ตรงนี้เป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ตำรวจ พนักงานสอบสวน ชั้นอัยการที่ไม่สามารถที่จะเอาเจ้าหน้าที่ที่ กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม การที่ยังไม่มีการปฏิรูปตำรวจ ไม่มีการต่อต้านคัดค้านการรัฐประหาร เอาผิดกับผู้ที่ทำการรัฐประหารอย่างแท้จริง หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้คนที่กระทำความผิดลอยนวล เป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้”

ที่ปรึกษาครป. กล่าวต่อว่า และยังนำไปสู่เรื่องอื่นๆอีกมาก ที่เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดกฎหมาย รู้สึกว่าตัวเองเมื่อทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เช่น การซ้อมทรมาน การอุ้มหายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ประชาชนก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ให้มีการปฏิรูปอัยการ ปฏิรูปศาล กระทั่งผลักดันให้มีการออกกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด เฉพาะการทำความผิดร้ายแรง ทรมานการอุ้มหายลอยนวล แต่ก็ยังไม่ได้รับความสำเร็จ เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาท้าทายสังคมไทย และเป็นปัญหาท้าทายสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

“ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตราบใดที่วุฒิสภายังมาจากการแต่งตั้ง เพราะวุฒิสภาปัจจุบันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นตัวแทน ของกลุ่มที่กระทำการรัฐประหาร เป็นฝ่ายอำนาจนิยม ที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งต่างๆเดิมไว้ทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่สุด อาจจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับที่เรา จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 เป็นต้น” นายสมชายกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' ค้าน 'ณัฐวุฒิ' ย้ำไม่ควรนิรโทษ ม.112 ถามกลับ ใครมาด่าพ่อแม่จะยอมไหม

'ธนกร' ค้าน 'ณัฐวุฒิ' ย้ำ ไม่ควรนิรโทษกรรม คนผิด ม.112 เหตุ เป็นคดีความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่การเมือง ถามกลับ ใครมาด่าพ่อแม่จะยอมไหม แนะ อย่าเหมาเข่ง แม้เห็นต่าง ขอผู้ใหญ่บางพรรค อย่าให้ท้ายเด็กทำผิด ชี้ ปัญญาชนต้องเคารพกม.ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

ปธ.ญาติวีรชนฯ ยื่น 'วันนอร์' เร่งดันพรบ.นิรโทษกรรม จี้กมธ.ทำให้เร็วที่สุดอย่ายื้อเวลา

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เดินทางเข้าพบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือผลักดันการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม

'สมคิด' บอกนิมิตรหมายดีเริ่มนับหนึ่ง กม.นิรโทษฯ

‘สมคิด‘ บอก เป็นนิมิตรหมายที่ดี หลังหารือ กมธ.นัดแรก ย้ำม่การพิจารณาตัวร่างกฎหมาย-ข้อมูลนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านการคัดกรอง จ่อขอขยายเวลาหากศึกษาไม่ทัน 60 วัน

พร้อม! คปท.ดีเดย์บันทึกประวัติศาสตร์ เรียกร้องความยุติธรรม จนกว่าจะชนะ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการชุมหน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 2ก.พ.นี้้ ว่า

'จตุพร' มองนิรโทษกรรมต้องปล่อยทุกคน หากไม่รวมคดี 112 จะเป็นการสร้างพระราชภาระ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ คณะหลอมรวมประชาชน กล่าวว่า นับแต่สมัย นปช. ตนเป็นผู้ที่โดนคดีมากที่สุดในความขัดแย้งเดิมคือ แดง-เหลือง หรือระหว่างฝ่ายต่อต้าน และสนับสนุน นายทักษิณ ชินวัตร

'ก้าวไกล' ชูร่างพรบ.นิรโทษกรรม ถ้าไม่หลับตาข้างเดียวก็จะเห็นปัญหาคดี ม.112

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะสภาที่ 3 เรื่อง ‘ข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง’ โดยมี คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงาน