'คมนาคม' เติมโครงข่ายทั่วไทย เร่งขับเคลื่อนเส้นทางขนส่งเชื่อมอีอีซี

เมื่อพูดถึงโครงข่ายของกรมทางหลวง (ทล.) ที่อยู่ในความรับผิดชอบถึง 5 หมื่นกิโลเมตร (กม.) ทั่วประเทศ เป็นเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” สำหรับการเดินทาง และเป็นภารกิจหลักของกรมทางหลวงที่จะต้องพัฒนา ก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้เป็นโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้การเดินทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงรองรับการเดินทาง ปริมาณการเติบโตของชุมชนเมืองให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็เป็นโครงข่ายการคมนาคมให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ดังนั้น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลกรมทางหลวง ระบุว่า กระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่อีอีซีโดยทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปดูในเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานส่งมอบพื้นที่ ส่วนทางน้ำ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินการในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือ F ที่ผ่านมา กทท.เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเจรจากับบริษัทเอกชนที่ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว

"เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรสายหลักเชื่อมสู่นิคมอุตสาหกรรม และเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอนาคต ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนที่สำคัญและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง เพราะหากระบบคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพจะเป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญการลงทุนในภาคการผลิตและการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในพื้นที่อีอีซี นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล" 

เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้ารองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี ส่วนทางอากาศ เมืองการบิน กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานกำกับดูแล เช่น บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ในอนาคตจะเข้าไปดูในเรื่องตารางการบิน ขณะที่ทางบก มีกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สนับสนุนเส้นทางเชื่อมในพื้นที่อีอีซี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบรายละเอียดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้แล้วเสร็จ รวมถึงการสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางเชื่อมระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 4/2565

ทั้งนี้ เมื่อโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภาแล้วเสร็จ ถือเป็นด่านสุดท้ายของมอเตอร์เวย์ช่วงอู่ตะเภา-มาบตาพุด เป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ที่ช่วยร่นระยะเวลาการเดินเข้าสู่พื้นที่อีอีซี อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในทุกระบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคอื่นๆ

"เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรสายหลักเชื่อมสู่นิคมอุตสาหกรรม และเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอนาคต ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนที่สำคัญและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง เพราะหากระบบคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพจะเป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญการลงทุนในภาคการผลิต และการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในพื้นที่อีอีซี นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล" ศักดิ์สยาม กล่าว

และเพื่อให้โครงการต่างๆ เดินหน้าอย่างรวดเร็ว รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มอบหมายให้ สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดติดตามแผนงานการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงและเพิ่มประสิทธิภาพของการคมนาคมขนส่งบนโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญของประเทศ แก้ไขปัญหาการจราจรและรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ช่วยส่งเสริมศักยภาพการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนอีอีซี

 “ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องประเมินว่ากิจกรรมใดของกรมทางหลวงที่สามารถหมุนเม็ดเงินลงสู่ชาวบ้านได้ อาทิ การซ่อมบำรุง และมีการก่อสร้าง โดยมีจุดประสงค์คือ ต้องพัฒนาให้เดินทางสะดวก ปลอดภัย และมีความสวยงาม เนื่องจากจะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว หน่วยงานจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ นอกจากนี้ยังมีภารกิจสำคัญคือ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงและสนับสนุนอีอีซี" สราวุธ กล่าว

โดยในปี 2566 กรมทางหลวงได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 4,850 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพคมนาคมขนส่งบนโครงข่ายทางหลวง และสนับสนุนอีอีซี 3 โครงการ ซึ่งอยู่ในแผนระยะที่ 2 ปี 2566-2570 จากทั้งหมด 41 โครงการ ทั้งนี้หากได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 แล้วจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2569

1.โครงการทางหลวงหมายเลข 304 ฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ตอน บ.ท่าทองหลาง-อ.พนมสารคาม เป็นโครงข่ายทางหลักเชื่อมโยงภาคกลาง ภาคตะวันออก สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น นิคมเกตเวย์ จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัดเนื่องจากมีปริมาณจราจรสูง จำเป็นต้องก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทางขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการสำคัญตามแผนอีอีซี โดยมีระยะทาง 8.700 กม. วงเงินก่อสร้างประมาณ 2,500 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการผู้ชำนาญการพิเศษแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564

2.โครงการปรับปรุงจุดตัดทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 3 แยกบางพระ-คลองสุครีพ ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) เป็นเส้นทางสายหลักจากกรุงเทพฯ สู่ภาคตะวันออก ช่วงศรีราชา-บางละมุง ปัจจุบันเป็นทางขนาด 6 ช่องจราจร มีปริมาณจราจรสูง มีทางแยกบางพระเป็นแยกสัญญาณไฟจราจร มีชุมชนหนาแน่นตลอดสองข้างทาง จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด จำเป็นต้องปรับปรุงทางแยกพร้อมก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบริเวณดังกล่าว ถือเป็นโครงการสำคัญตามแผนอีอีซี วงเงินก่อสร้างประมาณ 530 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการผู้ชำนาญการพิเศษ (คชก.) แล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 

และ 3.โครงการทางหลวงหมายเลข 3648 ทางเลี่ยงเมืองแกลง ทางหลวงหมายเลข 3 และทางหลวงหมายเลข 344 เป็นเส้นทางหลักของภาคตะวันออกสู่ จ.จันทบุรี, ตราด ช่วง อ.แกลง มีทางหลวงหมายเลข 3648 เป็นทางเลี่ยงเมือง ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรสูง เกิดปัญหาจราจรติดขัด จึงจำเป็นต้องก่อสร้างทางขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมปรับปรุงทางแยกต่างระดับเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณดังกล่าว ถือเป็นโครงการสำคัญตามแผนอีอีซี วงเงินก่อสร้าง 1.820 ล้านบาท ระยะทาง 11.533 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ

“ทั้ง 3 โครงการจะเปิดให้บริการภายในปี 2569 จะช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง นับเป็นทางหลวงสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออก เชื่อมต่อระหว่าง สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและลดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของ จ.ระยอง” สราวุธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนอีอีซีและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก กรมทางหลวงได้มีการก่อสร้างและพัฒนาถนนอีกหลายสาย อาทิ การขยายทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ช่วง อ.บ้านฉาง-ระยอง โดยขยายเป็น 8 ช่องจราจร เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจร ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายพัทยา-มาบตาพุด และเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ ท่าเรือมาบตาพุดและสนามบินอู่ตะเภา นอกจากนี้ยังปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 3304 สายแยกทางหลวงหมายเลข 315 (ดอนสีนนท์) บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (แปลงยาว) ในพื้นที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 20 กม. งบประมาณ 1,195 บาท และขยายทางหลวงหมายเลข 344 สาย อ.บ้านบึง-บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (หนองปรือ) เป็นต้น

เมื่อมีการพัฒนาถนนสายหลักแล้ว ในด้านสายรองซึ่งเป็นโครงข่ายการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ก็ได้มีการพัฒนา โดย อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท หรือ ทช. กล่าวว่า จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรที่หนาแน่น รองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจ การขนส่ง การท่องเที่ยวใน จ.สมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนโครงการอีอีซี ทช.จึงดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย สป.1011 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3-เทพารักษ์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2565 รวมถึงพัฒนาและขยายถนนภายในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกหลายเส้นทาง ซึ่งช่วยให้การคมนาคมในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น. 

เพิ่มเพื่อน