‘ลิบงโมเดล’ จากประมงพื้นบ้าน สู่เส้นทางการอนุรักษ์-ท่องเที่ยวชุมชน-Sea Farming

พะยูนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้จะสูญพันธุ์  มีแหล่งอาศัยใหญ่อยู่บริเวณชายหาดเกาะลิบง  จ.ตรัง  (ภาพจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

เกาะลิบง  จังหวัดตรัง  มิใช่จะมีฐานะเป็นเมืองหลวงของพะยูนเท่านั้น  แต่ท้องทะเลที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด  เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลและปะการัง  ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน  และที่สำคัญยังเป็นแหล่งอาศัยของปลิงขาว  ปลิงกาหมาด  หอยชักตีน  และหอยเป๋าฮื๋อ  สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง  

ทว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้กำลังจะหมดไป  คนลิบงกลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลของพวกเขาเอาไว้  โดยนำนวัตกรรมและเทคโนลียีสมัยใหม่มาใช้  เพื่อฟื้นฟูท้องทะเล  เฝ้าระวังและอนุรักษ์พะยูน  เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ  สร้างความมั่นคงทางอาหาร  ส่งเสริมการท่องเที่ยว  ฯลฯ เป็น ลิบงโมเดล’  มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเกาะลิบงอย่างยั่งยืน !!\

พะยูนกับคนลิบง

เกาะลิบง  .กันตัง  จ.ตรัง  ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน  มีพื้นที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร  มี 4 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  3,300  คน   เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม   ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน  ทำสวนยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  รับจ้างทั่วไป  ค้าขาย  ฯลฯ  การสัญจรไปมาระหว่างอำเภอกันตัง-เกาะลิบง  มีเรือโดยสารวิ่งตั้งแต่เช้า-เย็น  ใช้เวลาประมาณ 30 นาที  ส่วนบนเกาะจะมีรถซาเล้งหรือมอเตอร์พ่วงข้างเป็นรถโดยสารรับจ้าง

แผนที่เกาะลิบง  (ภาพจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวฯ เกาะลิบง)

ส่วนชื่อ  ลิบง สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า นิบง ในภาษามลายู  หมายถึงต้นหลาวชะโอนซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง   ในอดีตต้นนิบงคงจะมีอยู่มากที่เกาะแห่งนี้  ขณะที่ประชากรดั้งเดิมในแถบนี้เป็นชาวมลายู  จึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า นิบงและในเวลาต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น ลิบง

เกาะลิบงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2562  เมื่อเกิดกรณี มาเรียมพะยูนน้อยที่ยังไม่หย่านมพลัดหลงฝูง  เจ้าหน้าที่จึงนำมาฟูมฟักที่เกาะลิบงซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ขณะที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ  พร้อมใจกันเสนอข่าว  ทำให้เรื่องราวของมาเรียมที่เกาะลิบงได้รับความสนใจนานหลายเดือน  แต่ในที่สุดพะยูนน้อยต้องจบชีวิตลงเพราะขยะพลาสติกในท้องทะเลที่กลืนเข้าไป  สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างในท้องทะเลไทย

สุวิทย์  สารสิทธิ์   อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง  บอกว่า  พื้นที่บริเวณเกาะลิบงเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่  มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่บริเวณหาดทรายใต้น้ำมากถึง 12 ชนิด  จึงเป็นแหล่งอยู่อาศัยของฝูงพะยูนหรือ “ดุหยง” ในภาษามลายูท้องถิ่น  พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  เมื่อหลายสิบปีก่อนฝูงพะยูนมีจำนวนหลายร้อยตัว แต่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงแบบล้างผลาญ  โดยเฉพาะเรืออวนรุนและอวนลากที่ลักลอบเข้ามาทำประมงชายฝั่ง  ทำให้อวนเหล่านี้ลากเอาสัตว์เล็กสัตว์น้อยในท้องทะเล  รวมทั้งพะยูนติดอวนไปด้วย

‘มาเรียม’ พะยูนน้อยได้รับการฟูมฟักก่อนจะเสียชีวิตในเดือนสิงหาคม 2562

นอกจากนี้ยังมีการล่าพะยูนโดยตรง  จึงทำให้ฝูงพะยูนลดน้อยลง  คนเกาะลิบงจึงลุกขึ้นมาปกป้องพะยูนเหมือนกับเป็นญาติที่ต้องดูแลกัน เพราะพะยูนเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลิบง  หากชาวลิบงเห็นพะยูนมาเกยตื้นก็จะช่วยกันนำไปปล่อย  หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาดูแล

ถ้าไม่มีพะยูน  คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้   เพราะถ้าที่ไหนมีพะยูน  ท้องทะเลตรงนั้นก็จะแสดงถึงความอุดมสมสมบูรณ์  และคนเกาะลิบงส่วนใหญ่ก็หากินกับท้องทะเล  ทำประมงพื้นบ้าน  มีปลาอินทรีย์  มีหอยต่างๆ   มีปลิงทะเล  เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ   สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  และเป็นแหล่งอาหารของคนเกาะลิบง  พวกเราจึงต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ  รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนและสัตว์น้ำวัยอ่อน  อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบงบอก

สุวิทย์บอกด้วยว่า  ชาวเกาะลิบงได้ร่วมกันดูแลฝูงพะยูน  โดยการจัดตั้ง กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง  ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2554  โดยมีเยาวชนและชาวบ้านในเกาะลิบงร่วมเป็นสมาชิก  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การเฝ้าระวังไม่ทำร้ายพะยูนแก่นักเรียนและชาวประมง  รณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงทะเล  ช่วยกันเก็บขยะตามชายหาด  สำรวจแหล่งหญ้าทะเล  ฯลฯ

ขณะที่ บังแอนหรือ อิสมาแอน  เบ็ญสะอาด  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง จังหวัดตรัง บอกว่า  ในปี 2562 กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้จัดทำโครงการ ‘การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เกาะลิบงขึ้นมา  แล้วเสนอโครงการไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa)   เพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนถ่ายภาพทางอากาศเพื่อดูแลพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยว  และได้รับการสนับสนุนโดรนจาก depa  จำนวน 1 เครื่อง  (งบประมาณ 240,000 บาทเศษ  โดยชุมชนร่วมออกเงินสมทบ 120,000 บาท)

เราจะใช้โดรนขึ้นบินตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจจะมีเรือประมงต่างถิ่นลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย  และอาจเป็นอันตรายต่อพะยูน  นอกจากนี้ยังใช้โดรนบินถ่ายภาพฝูงพะยูนแล้วต่อสัญญาณภาพมาที่จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู  ไม่ต้องนั่งเรือเข้าไปดูใกล้ๆ  เป็นการรบกวนพะยูน  และอาจทำให้พะยูนได้รับอันตราย  เพราะเมื่อก่อนเคยมีเรือสปีดโบ๊ตพานักท่องเที่ยวมาดูแล้วชนพะยูนตาย บังแอนบอกถึงการใช้ประโยชน์จากโดรน

บังแอนได้รับรางวัล Prime  Minister’s  Digital  Award 2021 สาขา Digital  Community  จาก depa เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีพะยูนอาศัยอยู่ในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมดประมาณ 200 ตัว  ถือเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์  โดยพะยูนจะอาศัยอยู่บริเวณฝั่งทะเลอันดามันมากที่สุด  โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง  เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์  

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง  ระบุผลการสำรวจฝูงพะยูนบริเวณเกาะลิบงและหมู่เกาะใกล้เคียงในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา  พบว่า  มีฝูงพะยูนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 140-170 ตัว

งานวิจัยเพื่อฟื้นฟูเกาะลิบง-ส่งเสริมการท่องเที่ยว

นอกจากการใช้โดรนเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยวดังกล่าวแล้ว  ก่อนหน้านี้ในปี 2546 - 2547    อิสมาแอน  เบ็ญสะอาด  และชาวเกาะลิบงกลุ่มหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดทำโครงการวิจัยท้องถิ่นเรื่อง โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบสานตำนานตะลิบงขึ้นมา 

ท่าเรือบ้านพร้าว  ท่าเรือโดยสารวิ่งระหว่างเกาะลิบง-หาดยาว  อ.กันตัง

มีเป้าหมายเพื่อให้คนลิบงรู้จักประวัติศาสตร์รากเหง้าของตัวเอง  และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์  เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  ในเกาะลิบง  เนื่องจากเกาะลิบงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย  ป่าชายเลนเสื่อมโทรมลง    มีการทำประมงผิดกฎหมาย  การท่องเที่ยวและวิถีวัฒนธรรมจากภายนอกรุกคืบเข้ามา  ที่ดินบนเกาะมีการเปลี่ยนมือจากคนลิบงไปขายให้คนภายนอกเพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว  ฯลฯ

บังแอนบอกว่า  งานวิจัยในครั้งนั้น  ตนได้ไปค้นคว้าเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกาะลิบงในอดีต  เช่น  ที่หอสมุดแห่งชาติ  กรุงเทพฯ  รวมทั้งที่รัฐเคดาห์ของมาเลเซีย  เนื่องจากในอดีตเกาะลิบงหรือ ตะลิบง เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเคดาห์ (เมืองเคดาห์หรือไทรบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์เคยเป็นเมืองประเทศราชของสยาม  ต่อมาในปี  พ.ศ.2452  สยามมีข้อพิพาทกับอังกฤษ  ต้องยอมยกไทรบุรีและเมืองอื่นๆ ให้แก่อังกฤษ) 

นอกจากนี้ยังสำรวจซากเมืองเก่าและสถานที่สำคัญต่างๆ ในเกาะลิบง  พบว่า  เกาะลิบงในอดีตมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมาก  เพราะเป็นแหล่งส่งออกรังนก  ปลิงทะเล  ช้าง  และสินค้าต่างๆ ไปค้าขายทางเรือกับต่างประเทศ  โดยสุลต่านผู้ครองเมืองเคดาร์ได้ส่งเจ้าเมืองมาปกครองที่เกาะลิบง  เพื่อค้าขาย  จัดเก็บภาษี  ฯลฯ  ปัจจุบันยังเหลือซากที่คาดว่าจะเป็นวังของเจ้าเมืองลิบงอยู่ที่บริเวณแหลมพร้าว 

ซากไม้เคี่ยมที่ปรากฎ  สันนิษฐานว่าเป็นแนวกำแพงเมืองลิบง  บริเวณแหลมพร้าว  ตรงข้ามท่าเรือบ้านพร้าว

อย่างไรก็ตาม  นอกจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว  ในปี 2547-2548  ยังมีงานวิจัยเรื่อง โครงการจัดการท่องเที่ยวชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเกาะลิบง โดยทิพย์อุษา  จันทกุน  ชาวเกาะลิบงร่วมกับชาวบ้านและเยาวชน  ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. 

มีเป้าหมายเพื่อศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว  ทรัพยากร  วิถีชีวิต  ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเกาะลิบง  เช่น  สำรวจและศึกษาข้อมูล  หาดทราย  แหล่งท่องเที่ยว  เขาบาตูปูเต๊ะ  แหลมโต๊ะชัย  ถ้ำสมบัติ   หลุมฝังศพเจ้าเมืองลิบง  ซากกำแพงเมือง  การประกอบอาชีพ  ทำอวนปู  ตกหมึก  กุ้ง  สำรวจพะยูน  หญ้าทะเล  ปะการัง  นกทะเล  เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวางแผน  จัดการท่องเที่ยวชุมชนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวเกาะลิบง  และจัดอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น 

อิสมาแอน  เบ็ญสะอาด  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง  บอกว่า  ผลจากงานวิจัยทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว  ได้ถูกต่อยอดนำมาสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  โดยการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวฯ  มีสมาชิกประมาณ 60  คน  มาจากกลุ่มต่างๆ  เช่น  กลุ่มรถซาเล้งรับจ้าง  เรือรับจ้าง  มัคคุเทศก์ชุมชน  กลุ่มโฮม สเตย์  โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านที่มีความพร้อมจัดทำที่พักแบบโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว  ราคาที่พักเริ่มต้น 200 บาท/คน/คืน 

ปัจจุบันมีชาวบ้านที่จัดทำโฮมสเตย์ประมาณ 50  ครอบครัว  และยังมีอาหารทะเลสดๆ  ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง  มีเมนูต่างๆ  เช่น  ปลาอินทรีย์แดดเดียวทอด  แกงเหลืองหรือแกงส้มปลากะพง  หมึกน้ำดำ  ปูม้านึ่ง  ยำสาหร่ายทะเล  อาหารจากปลิงทะเล  ฯลฯ  หรือซื้ออาหารทะเลแปรรูปเป็นของฝาก  เช่น  ปลาอินทรีย์  ปลามง  กะปิ  กุ้งแห้ง  น้ำพริกคั่วกลิ้งปู  น้ำมันปลิงกาหมาด  ปลิงกาหมาดดองน้ำผึ้ง  ฯลฯ  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว 

บ้านจำลองพระยาลิบงได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม  ประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่งสร้างเสร็จ  เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีการสร้างบ้านจำลองของเจ้าเมืองหรือ พระยาลิบงเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ของชุมชน   และล่าสุดเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา  ซากกำแพงเมืองลิบงที่ตั้งอยู่บริเวณแหลมบ้านพร้าวได้โผล่จากพื้นดินขึ้นมา  มองเห็นเป็นแนวยาว  เป็นซากกำแพงที่ทำจากไม้เคี่ยม  อาจจะถูกเผาทำลายพร้อมกับวังเจ้าเมืองในสมัยสงครามพม่า   เพราะเกาะลิบงอยู่ในเส้นทางเดินเรือของทัพพม่าที่เข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ตอนนี้ผมได้แจ้งข้อมูลไปยังกรมศิลปากร  ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง  และวัฒนธรรมจังหวัดเพื่อให้เข้ามาสำรวจข้อมูลแล้ว  เพื่อจะได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่อไป บังแอนบอก

เขาบอกด้วยว่า  ขณะนี้ทางกลุ่มวิสากิจชุมชนการท่องเที่ยวฯ ได้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ บนเกาะลิบง    โปรแกรม 2 วัน 1 คืน  ราคาคนละ  2,550 - 2,260 บาท  ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว  ที่พัก  และอาหาร  จะหักเข้ากลุ่มจำนวน 10 %  เพื่อนำมาเป็นค่าบริหารจัดการ (ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดได้ที่ face  book กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง)

ใช้ข้อมูลแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ‘บ้านมั่นคง’

นอกจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวดังกล่าวแล้ว  ข้อมูลจากงานวิจัยยังต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวลิบง การส่งเสริมอาชีพ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ  โดยมีหน่วยงานต่างๆ จากภายนอกเข้าสนับสนุน

รมิดา สารสิทธิ์  คณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองลิบง  บอกว่า  ในปี 2555  มีการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะลิบง’  มีสมาชิกมาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ  ในตำบลเกาะลิบง  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการจัดตั้ง (พอช.สนับสนุนการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) เพื่อใช้สภาฯ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล 

เช่น  จัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ผู้ด้อยโอกาส  คนพิการ  อาชีพ  รายได้  ฯลฯ  แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์  จัดทำแผนที่ทำมือ  ทำให้มองเห็นข้อมูลต่างๆ ในตำบล  นำไปสู่การวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย  และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้จัดทำ โครงการบ้านมั่นคงเพื่อซ่อมสร้างบ้านเรือนให้แก่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนเพราะในตำบลเกาะลิบง (ทั้งตำบลมี 8 หมู่บ้าน  อยู่บนเกาะลิบง 4 หมู่บ้าน)  มีชาวบ้านที่มีรายได้น้อย  บ้านเรือนที่ปลูกสร้างมานานมีสภาพทรุดโทรมเป็นจำนวนมาก 

“โครงการบ้านมั่นคงตำบลเกาะลิบงเริ่มซ่อมสร้างบ้านตั้งแต่ปี 2560 ตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วประมาณ 700 กว่าหลัง โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณหลังหนึ่งไม่เกิน 25,000 บาท และเราตกลงกันว่าทุกครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องคืนเงินเพื่อเป็นกองทุนเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบที่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป ส่วนในปีนี้เรามีแผนที่จะทำโครงการบ้านมั่นคงเพิ่มอีกประมาณ 200  หลัง  และเตรียมแผนที่จะส่งเสริมเรื่องอาชีพอีกด้วย”  รมิดายกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและงานพัฒนาที่จะทำต่อไป

จากประมงพื้นบ้านสู่ Sea Farming

นอกจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยดังกล่าวแล้ว  ชาวเกาะลิบงยังได้ร่วมกันอนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  เช่น ธนาคารปูม้า โดยชาวประมงที่จับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองจะนำปูมาฝากเลี้ยงที่ธนาคารจนได้ปูม้าวัยอ่อน  แล้วนำลูกปูจิ๋วไปปล่อยคืนสู่ทะเล  ปูม้าแต่ละตัวจะมีไข่ประมาณ 250,000 - 2 ล้านฟอง (แล้วแต่ขนาดปู)  หากมีอัตรารอดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็จะทำให้มีปูม้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,500 ตัวต่อแม่ปู 1 ตัว 

การเพาะเลี้ยงปลิงขาว  ปลิงกาหมาด  หอยเป๋าฮื้อ ในอดีตบริเวณเกาะลิบงจะมีสัตว์น้ำเหล่านี้อยู่ชุกชุม แต่เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีราคาสูง จึงทำให้ถูกชาวประมงจับไปขายจนแทบจะสูญพันธุ์  บังแอนจึงริเริ่มนำสัตว์น้ำเหล่านี้มาเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์และบ่อดิน  โดยได้รับการสนับสนุนด้านความรู้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (ปลิงขาว  ปลิงกาหมาด) และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หอยเป๋าฮื้อ)  ศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านนำมาเลี้ยง

ปลิงกาหมาดนำมาดองน้ำผึ้งรับประทานและน้ำมันปลิงกาหมาด

ปลิงทะเลเมื่อก่อนชาวบ้านจะจับมาตากแห้ง  ขายพ่อค้าราคากิโลฯ ละ 6,000-8,000 บาท  ปีหนึ่งจับได้รวมกันประมาณ 1,000 กิโลฯ  แต่เดี๋ยวนี้จับได้ปีหนึ่งแค่ 10 กิโลฯ  เราจึงต้องช่วยกันขยายพันธุ์  เพื่อนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ  เพราะตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสูง  มีสรรพคุณหลายอย่าง  เช่น  ปลิงขาวบำรุงร่างกาย  บำรุงเส้นเอ็น  ปลิงกาหมาดมีงานวิจัยว่ามีสรรพคุณยับยั้งเชื้อรา  และทำให้การขยายตัวของเซลล์มะเร็งช้าลง บังแอนบอก

เขาบอกด้วยว่า  ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงได้จัดทำโครงการ เขตพัฒนาพิเศษชุมชนต้นแบบ   เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sea  Farming  มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  ( Food  Security)  โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  เพื่อเพิ่มผลผลิต  ลดต้นทุน   เป็นการทำประมงแบบอัจฉริยะ หรือ ‘Smart Farmer’  เช่น  ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง  มีเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำ   คุณภาพน้ำ  มีกล้องวงจรปิดดูแลแทนคนเลี้ยง  และสามารถควบคุมการเลี้ยงผ่านโทรศัพท์มือถือได้ 

นอกจากนี้จากเดิมที่เคยใช้ไม้มาทำกระชัง  ซึ่งต้องเปลี่ยนไม้ใหม่ทุก 2-3 ปี  ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ  โครงการจึงจะนำร่องมาใช้พลาสติก HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรง  ทนทาน  มีความยืดหยุ่นสูง  อายุการใช้งานประมาณ 15 ปี  ไม่มีปัญหาสารพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และยังสามารถใช้แทนไม้ในการทำเรือประมงได้

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังแบบดั้งเดิม

บังแอนบอกด้วยว่า  เฉพาะเรือประมงพื้นบ้านในเกาะลิบงมีประมาณ 300 ลำ  ถ้ารวมทั้งฝั่งอันดามันจะมีเรือประมงพื้นบ้านจำนวนนับหมื่นลำ  ปัจจุบันใช้ไม้ตะเคียนราคาลูกบาศก์นิ้วละ 40 บาทมาทำเรือ  เพราะเป็นไม้เนื้อดี  มีความแข็งแกร่ง แต่ไม้ประเภทนี้กำลังจะหมดไป  และมีราคาแพงขึ้น  ถ้าเปลี่ยนมาใช้พลาสติก HDPE เพื่อทำเรือและอุปกรณ์ประมง  รวมทั้งใช้เทคโนโลยีมาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร  ช่วยลดต้นทุน  และเพิ่มผลผลิตได้

โครงการ Sea  Farming  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ  ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น  จังหวัดตรัง  วัฒนธรรมจังหวัดตรัง  พลังงานจังหวัดตรัง  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมประมง  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  อบต.เกาะลิบง  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  depa  พอช. ฯลฯ

“เราจะทำโครงการ Sea  Farming  ให้เป็นโครงการต้นแบบ  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเกาะลิบง  โดยการเปลี่ยนแปลง  เปลี่ยนวิธีคิด  จากการทำประมงพื้นบ้านแบบเดิมมาสู่การทำประมงที่ยั่งยืน  โดยการเพาะและเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ในกระชังหรือในบ่อร่วมกัน  เช่น  ปลากะพง  ปลาเก๋า  ดุกทะเล  หอย  ปลิง  เพราะปกติสัตว์น้ำพวกนี้ก็อยู่ในทะเลด้วยกันอยู่แล้ว  ถ้าเราเพาะเลี้ยงได้ก็จะช่วยลดต้นทุน  แล้วนำมาแปรรูป  สร้างรายได้  สร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมา”  บังแอนบอกทิ้งท้าย

สมาชิกส่วนหนึ่งที่เลี้ยงปลิงกาหมาดและนำมาแปรรูป

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

ประมงพื้นบ้านตราด ยื่นผู้ว่าฯค้านการแก้ไขพรบ.ประมง หวั่นจะทำให้ประมงพื้นบ้านสูญพันธุ์

สมาคมประมงพื้นบ้านรักษ์ทะเลตราด ยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขพรบ.ประมงฉบับใหม่ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ หวั่นจะทำให้ประมงพื้นบ้านสูญพันธุ์ เหตุให้เรือประมงพาณิชย์ขนาด 100 ตันกรอสทำประมงในพื้นที่ชายฝั่ง และลดพื้นที่ประมงพื้นบ้าน

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10