ต้นยางนายักษ์ ไม้มีค่า พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 400 ต้น มูลค่าหลายล้านบาท
โครงการ ‘ธนาคารต้น’ หรือ ‘ปลูกต้นไม้ใช้หนี้’ เพื่อให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าเป็นทรัพย์สิน สามารถนำต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารของรัฐ รวมทั้งยังเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม ริเริ่มผลักดันโดยผู้นำชุมชนและเครือข่ายธนาคารต้นไม้กลุ่มหนึ่ง เช่น จินดา บุญจันทร์ ผู้นำชุมชนจากจังหวัดชุมพร ในช่วงปี 2549-2550 ทำให้รัฐบาลในยุคนั้นและยุคต่อมาขานรับ ส่งผลให้เกษตรกรทั่วประเทศเกิดความตื่นตัว
ดังตัวอย่างชาวบ้านที่ตำบลหนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี...
ปลูกต้นไม้ใช้ค้ำประกันเงินกู้
ชนภัทร วงษ์วิทยา ประธานธนาคารต้นไม้ตำบลหนองยาง เล่าว่า ผู้นำชุมชนตำบลหนองยางเริ่มส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้มีค่าในที่ดินตนเองตั้งแต่ปี 2550 จากนั้นในปี 2552 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาสนับสนุน เช่น อบรมให้ความรู้เรื่องไม้มีค่าประเภทต่างๆ การวัดขนาดต้นไม้ การประเมินมูลค่า การขึ้นทะเบียนต้นไม้ จับพิกัดต้นไม้ที่ปลูก โดยใช้เครื่องมือ GIS (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์แสดงตำแหน่งที่ตั้งและข้อมูลของต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียน) ฯลฯ
ใช้สมาร์ทโฟนบันทึกพิกัดของต้นไม้เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนธนาคารต้นไม้
“ตอนแรกมีชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ประมาณ 30 คน เราให้สมาชิกปลูกไม้มีค่าคนละ 9 ต้น เช่น ยางนา ประดู่ ชิงชัน มะค่า เริ่มจากบ้านหนองจิกเป็นหมู่บ้านแรก ต่อมาจึงขยายไปทั้งตำบล รวม 10 หมู่บ้าน ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 300 คน มีไม้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 3 หมื่นต้น มีกรรมการ 15 คน ถ้าสมาชิกคนใดจะขึ้นทะเบียนต้นไม้ กรรมการจะออกไปสำรวจและจับพิกัดต้นไม้เพื่อนำมาขึ้นทะเบียน และออกโฉนดต้นไม้ให้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานเหมือนกับโฉนดที่ดิน” ประธานธนาคารต้นไม้บอก
เขาบอกว่า แต่เดิมชาวบ้านยังปลูกไม้มีค่าไม่มากนัก เพราะตอนนั้นยังมี พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ห้ามครอบครองไม้หวงห้าม เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ฯลฯ แต่ในปี 2562 รัฐบาลได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า 58 ชนิดในที่ดินของตนเองเพื่อเป็นทรัพย์สินหรือสร้างรายได้ จึงทำให้มีชาวบ้านปลูกไม้มีค่าเพิ่มมากขึ้น
ส่วนไม้ที่จะนำมาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส.ได้ ต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป มีลำต้นตรง 2 เมตรขึ้นไป ต้องเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของตนเอง วัดขนาดเส้นรอบวงของต้นไม้จากพื้นดินขึ้นมา 1.30 เมตร เพื่อนำมาประเมินมูลค่าตามชนิดของไม้ ขนาดอายุ เส้นผ่านศูนย์กลาง เส้นรอบวง และปริมาตรเนื้อไม้ ตามที่ ธ.ก.ส.กำหนดเอาไว้
การวัดขนาดต้นไม้จะต้องวัดจากพื้นดินขึ้นมา 1.30 เมตร เพื่อนำมาประเมินมูลค่า
“ที่ผ่านมา มีสมาชิกธนาคารต้นไม้นำโฉนดต้นไม้ไปค้ำประกันกู้เงินจาก ธ.ก.ส. แล้วจำนวน 3 ราย วงเงินตั้งแต่ 3 หมื่นถึง 2 แสนบาท โดย ธ.ก.ส.จะให้เงินกู้ต้นหนึ่งไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินมูลค่าต้นไม้” ประธานธนาคารต้นไม้แจงเพิ่มเติม
สมหมาย บางแบ่ง อายุ 62 ปี อาชีพทำนา บอกว่าที่ดินของครอบครัวปลูกต้นยางนาประมาณ 5 ไร่ มียางนารวมกันประมาณ 800 ต้น ต้นใหญ่ที่สุดปลูกมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ อายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี วัดเส้นรอบวงได้ 352 เซนติเมตร ราคาประเมินต้นนี้เกือบ 140,000 บาท แต่จะไม่ตัดขาย จะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน นอกจากนี้ในแปลงยางนายังมีผึ้งหลวงมาทำรัง ทำให้ได้น้ำผึ้ง และมีเห็ดต่างๆ ที่กินได้เกิดขึ้น
เจ้าของมรดกต้นยางนาในพื้นที่ 5 ไร่ ประมาณ 800 ต้น มูลค่ามหาศาล
ส่วนข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565) มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรทั่วประเทศ นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันเงินกู้กับธนาคารรัฐ รวม 146,000 ต้น เป็นเงินกว่า 137 ล้านบาท เช่น ธ.ก.ส. จำนวน 318 ต้น ยอดเงิน 3 ล้านบาทเศษ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 23,000 ต้น ยอดเงิน 128 ล้านบาท ฯลฯ ต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักประกัน เช่น สัก มะเกลือ ไม้แดง ยางนา เต็ง ทุเรียน มะม่วง ฯลฯ
ขายคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน
ขณะที่ ชนภัทร วงษ์วิทยา ประธานธนาคารต้นไม้ตำบลหนองยาง บอกว่า ในปีนี้ธนาคารต้นไม้จะร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยาง ขยายผลโครงการปลูกไม้มีค่าหรือธนาคารต้นไม้ โดยจะให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ในตำบลเข้าร่วมเพื่อขยายเครือข่าย โดยปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และยังช่วยสร้างอากาศที่สะอาดให้แก่ชุมชนด้วย
ความร่มรื่นในแปลงยางนา นอกจากจะเป็นไม้มีค่า ยังช่วยสร้างอากาศสะอาด ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
“เราจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนปลูกไม้มีค่าตั้งแต่วันนี้ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตก็จะเป็นบำนาญให้แก่คนปลูกด้วย เพราะหากเด็กอายุ 10 ขวบเริ่มปลูกไม้มีค่าตั้งแต่วันนี้ พออายุ 60 ปีก็จะมีรายได้จากต้นไม้เป็นบำนาญ เช่น ต้นยางนาอายุ 50 ปี จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 147 เซนติเมตร มีมูลค่าต้นละ 14,900 บาท ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 400 ต้น คิดเป็นเงินไร่ละเกือบ 6 ล้านบาท แต่หากปลูกไม้เนื้อแข็ง เช่น ประดู่ ชิงชัน พะยูง ราคาก็จะสูงกว่านี้” ประธานธนาคารต้นไม้กางตารางการประเมินมูลค่าต้นไม้พร้อมทั้งยกตัวอย่าง (ดูข้อมูลเพิ่มที่ http://www.treebankthai.com/)
นอกจากนี้ในปี 2566 ตำบลหนองยางจะจัดทำโครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ซึ่งเป็นโครงการที่ ธ.ก.ส.ส่งเสริมให้ชุมชนเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
แปลงปลูกยางนาที่ตำบลหนองยาง
ทั้งนี้ในปี 2564 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนชุมชนที่เข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตไปแล้ว จำนวน 45 ชุมชน (ไม่เกินชุมชนละ 5 หมื่นบาท) จำนวนต้นไม้ประมาณ 880,000 ต้น ปริมาณการกักเก็บคาร์บอน 280,000 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. มอบเงินสนับสนุนชุมชนต่างๆ ไปแล้วเกือบ 2 ล้านบาท
“ธนาคารต้นไม้ของเรา มีไม้มีค่าที่ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 30,000 ต้น และมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งตำบลประมาณ 38,000 ไร่ โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนเงินให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกตันคาร์บอนละ 100 บาทเราจะได้นำงบสนับสนุนมาพัฒนาชุมชนต่อไป” ชนภัทรบอกทิ้งท้าย
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘วราวุธ’ รมว.พม.ร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ลงนาม MoU. 3 ฝ่ายฟื้นฟู ‘ชุมชน-คน-คลองแม่ข่า’ จ.เชียงใหม่
เชียงใหม่ / ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่เชียงใหม่ โดยมีการลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่ายเพื่อฟื้นฟูคลองแม่ข่า
พม.-พอช.-ภาคีจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่เชียงใหม่ การแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิต‘คนแม่แจ่ม-คลองแม่ข่า’
เชียงใหม่ / กระทรวง พม. พอช. จังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ชูประเด็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย
พลิกฟื้น ‘ชุมชน-คน-คลองแม่ข่า’ จ.เชียงใหม่ สู่ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข”
เชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนามาแต่โบราณ ตามตำนานบอกว่า พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 โดยมีชัยมงคล 7 ประการ
‘แม่แจ่มโมเดล’...การแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิต ปลูกไผ่-กาแฟแทนข้าวโพด สร้างธุรกิจ ‘ต้นน้ำ-ปลายน้ำ’
อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและปากท้องของพวกเขา
วิ่งรักษ์โลกลดโลกร้อนที่นครศรีฯ รมว.อุตฯปลื้มกระแสตอบรับ กว่าพันคนร่วม
หลังจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง "Walk & Run for Ozone and Climate 2065 Net zero" เพื่อปกป้องโอโซนและสุขภาพ กระจาย 4 จังหวัด เพื่อร่วมมือกันรณรงค์ปกป้องโลก ปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน และลดโลกร้อน ปลุกกระแสให้คนไทยตระหนักถึงการรักษ์โลก รักโอโซนผ่านกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการวิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพนั้น
พลังสตรีปัตตานีที่ ‘รูสะมิแล’ ‘สร้างสวัสดิการ สร้างอาชีพให้ชาวชุมชน’
ปัตตานีหรือ ‘ปาตานี’ เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ ดินแดนแห่งนี้ในอดีตเคยมี ‘กษัตรีย์’ หรือ ‘รายา’ ปกครองอาณาจักรต่อเนื่องมานานถึง 4 พระองค์ (พ.ศ.2127-2231)