ฟื้นฟูโกดังเก่าริมน้ำเป็นต้นแบบเรียนรู้ “สวนสานธารณะ” ลดความเหลื่อมล้ำคนกรุงเทพฯ

The Great Outdoor พื้นที่ตาบอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามเยาวราช สสส.-UddC-กลุ่ม WE! PARK-กทม.-ภาคีเครือข่ายเปิดเวทีสาธารณะ ถกแนวทางพัฒนาเมืองบนฐานความรู้สุขภาวะ ดึงภาครัฐ-การศึกษา-ประชาสังคม ฟื้นฟูพื้นที่รกร้างย่านกะดีจีน-คลองสาน สู่ “สวน สาน ธารณะ” ด้าน “รองผู้ว่าฯ กทม.” ยกเป็นต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำคนกรุงเทพฯ

            ที่ดินแห่งนี้เป็นสนามมวยเก่า โกดังเก่า เป็นที่เก็บโรงเกลือ โรงสีข้าวสาร ถั่วเขียว เจ้าของเลิกกิจการแล้ว ตั้งอยู่บนที่ดินตาบอด 2 ไร่ 1 งาน ไม่มีทางเข้า-ออก ต้องอาศัยเดินผ่านที่ดินรายอื่นเข้ามา อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเรือท่องเที่ยว River Star Princess จอดเทียบท่า มีจุดสังเกตคือ ต้นไทรย้อยขนาดใหญ่ ต้นจามจุรีแผ่กิ่งก้านสาขา รายรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ ต้นโพธิ์มีป้ายข้อความ "สวนสานธารณะ” ฯลฯ ซึ่งกลุ่ม Big Tree สมาคมรุกขชาติ เข้ามาดูแลตัดแต่งกิ่งก้านอยู่เสมอ ที่ดินอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับโครงการคอนโดมิเนียมบางกอก ริเวอร์พาร์ค เยาวราช เจ้าของที่ดินนำไปขายต่อให้ตระกูลวศินสังวร แต่ยังทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นที่ทิ้งขยะ เกิดเพลิงไหม้หลายครั้ง สังเกตได้ว่าบริเวณใกล้เคียงนั้นยังมีบ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 2 ตั้งอยู่ มีช่างทำนากเก่าแก่  ต่อมาเจ้าของที่ดินตระกูลวศินสังวรติดต่อ กทม. เพื่อยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ กทม.จะได้เข้ามาจัดการให้เป็นประโยชน์สาธารณะในระยะเวลา 12 ปี

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยกิจกรรมสาธารณประโยชน์ มีการสร้างแปลงพืชผักสวนครัวรายรอบพื้นที่ ต้นกะเพราแดง ต้นโหระพา สะระแหน่ พริก ฯลฯ พืชสมุนไพร พลับพลึงตีนเป็ด พร้อมเขียนบรรยายสรรพคุณ นำมาย่างกับไฟแก้ฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอกได้ ต้อยติ่งฝรั่ง (ดอกขาว) แก้อาการปวดเมื่อย ตรีชวา (หางกระรอก) กิจกรรม Workshop ระบายสีกระต่ายทำจากเปเปอร์มาเช่ โดยมีป้าน้อย ธนธรณ์ ธงน้อย จากบ้านหมูกระดาษหลังวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารเป็นครูสอน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายของ กทม.ว่า กรุงเทพมหานครเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา ได้ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่ม WE! PARK ปั้นเมือง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงาน “TALK IN SOI เสวนาสาธารณะกระบวนการพัฒนาเมืองบนฐานความรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน” หนึ่งในกิจกรรมของงานศิลป์ในซอย : แสง-สี-ศิลป์ เวทีแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาบนฐานความรู้จากบทบาทที่แตกต่างกัน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและวิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคชุมชน มุ่งเชื่อมการเรียนรู้สู่การขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2565

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงแนวทางการทำงานของ สสส. ว่า อยากให้คนมีสุขภาพดีท่ามกลางสิ่งแวดล้อม สังคมกายภาพที่ดี เน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะให้คนมาพบกัน ด้วยความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่สนับสนุนการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน สสส.ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมในวิถีชีวิตประจำวัน ผ่านการส่งเสริมให้ผู้คนมีความรอบรู้ทางสุขภาพ ส่งเสริมค่านิยมและการสร้างบรรยากาศของความกระฉับกระเฉงให้สังคม รวมไปถึงสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งนี้พื้นที่สวนสานสาธารณะจึงเป็นหนึ่งในการเข้าไปจัดสภาพแวดล้อมให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายได้เพิ่มมากขึ้น

“พื้นที่แต่ละแห่งพัฒนาเป็นโมเดลที่แตกต่างกัน กระจายทั่ว กทม. ให้เจ้าของพื้นที่เข้าร่วมโครงการกับนักวิชาการ พัฒนา ดึงผู้นำชุมชนเข้ามาร่วมมือกันทำงานในสิ่งที่ชุมชนอยากได้ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ ปรับพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ที่มีผลผลิตบริโภคได้ จากพื้นที่ตาบอดให้คนเข้าถึง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การสร้างพื้นที่สุขภาวะ ใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นจุดขาย เจ้าของที่ดินแปลงนี้เป็นกรณีตัวอย่างแทนที่จะปลูกกล้วยบนที่ดิน กลับยกให้ กทม.เข้ามาพัฒนาเป็นเวลา 12 ปี จากเดิมพื้นที่นี้รกร้างว่างเปล่า กลายเป็นที่ทิ้งขยะ กทม.พร้อมด้วยเครือข่ายช่วยกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุด ดึงคนออกมาจากหน้าจอเพื่อจะเข้ามาพักผ่อน ใช้ชีวิตในการเรียนรู้ร่วมกัน รำลึกเรื่องราวในอดีต เกิดการเรียนรู้เพื่อร่วมกันพัฒนา”

การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สาธารณะกับทุกฝ่าย แทบจะไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน เพราะทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ขณะนี้เจ้าของที่ดินย่านบึงพระราม 9 โฉนดที่ดินทั้งๆ ที่เป็นผืนน้ำต้องเสียภาษีเท่ากับโฉนดที่ดิน ขณะนี้เจ้าของที่ดินใน กทม.หลายแปลงให้ความสนใจที่จะยกที่ดินตาบอดเข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้เป็นพื้นที่สาธารณะร่วมกัน  

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวถึงสวนสาน ธารณะว่า ย่านกะดีจีน-คลองสาน ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นผลมาจากโครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมืองในวาระครบรอบ 250 ปีของกรุงเทพฯ ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะบนฐานความรู้ การสนับสนุนให้เมืองเดินได้-เดินดี การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จนผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาเชื่อมพื้นที่ภายในย่าน ทั้งสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่ถือเป็นสวนลอยฟ้าแห่งแรกของไทย ตลอดจนการปรับปรุงทางเดินริมน้ำกะดีจีนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่และการมีกิจกรรมทางกายของคนในชุมชน

“การผลักดัน กทม. 250 ให้มีสวน สาน ธารณะ มาแล้วถึง 7 ปี ตอนนั้นหลายคนมีอายุยังไม่ถึง 40 ปี การจัดทำหลักสูตรผู้จัดการมรดกวัฒนธรรม ความรู้ด้วยข้อมูลทางวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงการทำมาหากิน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ไอคอนสยาม จัดทำผังเมืองการเรียนรู้พัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นโจทย์ของทั่วโลกในการสร้างเมืองที่ต้องการความรู้ เมืองต้องสนับสนุนให้คนแสวงหาความรู้ได้ในหลากหลายพื้นที่ กทม.เป็นเมืองใหญ่มาก แต่ละย่านเป็นเมืองย่อยๆ มีระบบสังคม การเมือง วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน สสส.สนับสนุนทุนวิจัย ทำให้เราเชื่อมกับกลุ่มองค์กร ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ สนับสนุนการศึกษา กทม.มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีพื้นที่เรียนรู้เป็นห้องสมุด มีมรดกทางวัฒนธรรม 232 แห่ง ฯลฯ อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในระยะ 500-800 เมตร

นายยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม We! Park กล่าวถึงสวนสานธารณะว่า นับเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะบนที่ดินของเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาพื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนโดยรอบ ทั้งในมิติของการเกิดพื้นที่ทำกิจกรรมทางสังคม การสนับสนุนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 10 ปี และได้กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมที่ชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีต่อไป

“We! Park ได้ทุนสนับสนุนจาก สสส. ทำงานร่วมกับ กทม. สร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม เป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การสร้างกลไกกระตุ้นความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงการสร้างอาชีพใหม่ด้วยเครื่องมือ การใช้ทุนมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลง เราได้รับการติดต่อจากเจ้าของที่ดิน ยกที่ดินแปลงนี้ให้ กทม.เข้ามาพัฒนา 12 ปี จึงพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว ใช้ศักยภาพชุมชนโดยรวมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม จัดกิจกรรม workshop ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปลอดมลพิษจากควันพิษ ไรฝุ่น ทำให้จิตใจเยือกเย็น.

**

กะดีจีน-คลองสาน

โครงการกรุงเทพฯ 250 เป็นโครงการของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. ในการดำเนินงานของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เพื่อฟื้นฟูย่านเมืองเก่าให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพในวาระครบ 250 ปี พ.ศ.2525 เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ กรอบแนวทางการฟื้นฟูย่านเมืองเก่า กทม.ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระดับเมืองและระดับประเทศในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ เติมเต็มกับผังเมืองรวม กทม. สู่เมืองน่าอยู่หลากหลายและเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับทุกคน

โครงการกรุงเทพฯ 250 ระยะที่ 1 คัดเลือกพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่นำร่อง หนึ่งในย่านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของ กทม. ที่ยังคงเหลือมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ที่ทรงคุณค่าจำนวนมาก ตั้งอยู่บนทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงรัตนโกสินทร์ ผนวกกับเป็นพื้นที่ที่มีระดับของต้นทุนทางสังคมสูง สถาบันทางสังคมภายในย่านบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) แต่ปัจจุบันย่านนี้กำลังเผชิญกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง การเร่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่ริมน้ำตลอดจนการเจริญเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ จึงทำให้เห็นปัจจัยของความไม่ยั่งยืนและความเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้

ศูนย์ยังได้เสนอผังแม่บทเพื่อการส่งเสริมภูมิทัศน์ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกับบริบทของพื้นที่และรักษาคุณค่าและความสำคัญของมรดกวัฒนธรรม โดยแบ่งการพิจารณาเป็น 3 กลุ่มพื้นที่ ภูมิทัศน์พื้นที่รับน้ำ ภูมิทัศน์รอบศาสนสถานและโบราณสถาน และภูมิทัศน์ทางสัญจรที่สำคัญ

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองดำเนินโครงการศูนย์ชุมชนย่านภาคีรอบคลองสานระยะที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนของ บ.ไอคอนสยาม จำกัด โดยเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งของ กทม. อุดมด้วยมรดกวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจาก 3 ศาสนา พื้นที่ 2 ตาราง กม. ของย่าน พบว่ามีมรดกทางวัฒนธรรม 121 รายการ อีกทั้งสถาบันหลักทางสังคมภายในย่านวัด ชุมชน โรงเรียน ยังมีความสัมพันธ์อันดี มีความร่วมมือสร้างสรรค์กิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูกว่า 40 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เล่าเรื่อง"เหล้า"หลากมิติ ปัญหาเก่ามารูปแบบใหม่

เป็นที่ยอมรับว่า การดื่มเหล้าสร้างปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ มีรายงานยืนยันออกมาว่า สุราคร่าชีวิตคนทั่วโลกหนึ่งคนทุกสิบวินาที องค์การอนามัยโลกรายงานว่า

คัดเลือก Thai Mind Awards องค์กรต้นแบบสร้างสุขภาวะจิต

เพราะ “สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน" ..เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพื่อนหญิง ชูกลไกขับเคลื่อน 4D,5S แก้ปัญหาความรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นระบบนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน มูลนิธิเพื่อนหญิง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ม.รังสิต จับมือ สสส. และบริษัทเทลสกอร์ ร่วมพัฒนาหลักสูตร Young Influencer for Social Change

วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท เทลสกอร์ จำกัด