คัดเลือก Thai Mind Awards องค์กรต้นแบบสร้างสุขภาวะจิต

เพราะ “สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน" ..เมื่อเร็วๆ นี้​ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ประกาศเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต โดยเปิดรับทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จากภาครัฐและเอกชน ที่มีการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า สสส.ดำเนินการด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต มุ่งเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมิ.ย. 2567 พบว่าวัยแรงงานอายุ 20-59 ปี เข้าขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงเป็นอันดับหนึ่ง รวมกว่า 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย สะท้อนความต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต

ทั้งนี้ สสส.ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมการคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นเชิงบวก ทั้งด้านการงานและด้านจิตใจของบุคลากร นำไปสู่การยกระดับเป็นต้นแบบองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของประเทศ ขยายผลปรับใช้เพื่อพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานองค์กรอื่นๆ ต่อไป “สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน ขอเชิญชวนองค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) สร้างระบบงานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาจิตใจของคนทำงาน

"การพัฒนากลไกทางวิชาการสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อความยั่งยืน การทำงานที่จะต้องมีสุขภาพจิตที่ดีควบคู่กับการทำงานที่ใช้ปัญญาสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดเป็นนโยบายแพร่ขยายไปถึงคนไทยที่อยู่ในบ้าน ออฟฟิศ  ชุมชน คนที่อยู่ในวัยทำงานต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ  ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าจนถึงปัญหาฆ่าตัวตาย ทุกองค์กรอยากให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข มีผลงาน  ลดต้นทุน มีการสร้างนวัตกรรมเครื่องมือพัฒนาคัดกรองสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องหยูกยาเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่อยู่นอกมือหมอ สภาวะทางกายภาพ สังคม นโยบายภาครัฐที่ส่งผลกระทบทั่วหน้า เมืองไทยมีองค์กรเป็นแสน แต่ก้าวแรกเราจะขยาย 50องค์กรส่งเสริมสุขภาพจิตต้นแบบ เพื่อผลต่อเนื่องไปยังองค์กรอื่นด้วย" ดร.นพ.ไพโรจน์ตอกย้ำ 

ขณะที่ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน TIMS เปิดเผยว่า การสำรวจสุขภาวะของคนทำงานและปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรปี 2566 พบพนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% ส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุ

1.คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้ 2.มีงานด่วน 3.กลัวผลกระทบกับผลการประเมิน 4.ความจำเป็นด้านการเงิน 5.รู้สึกว่ายังทำไหวไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน ที่สำคัญพบว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง นั่นคือ 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ  41.7% 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 6.7% 3.เพิ่มสวัสดิการการลา 13.1% 4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 11.3% 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 10.1% 6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน (ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส) 6%

"ประเด็นที่สำรวจคนทำงาน 40% ต้องการเข้าถึงนักจิตวิทยา จิตแพทย์ เพื่อสุขภาพกายใจ 17% อยากให้มีการจัดอบรมสร้างความตระหนักรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง 13% อยากให้มีนโยบายกิจกรรมส่งเสริม เพราะทุกวันนี้เราทำงานมากกว่า 11 ชั่วโมง/วัน แม้แต่เวลาเรานอนก็ยังฝันเรื่องงาน พนักงานส่วนหนึ่งต้องการไมโครเบรก หยุดพักในระหว่างงานเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีเวลางีบหลังอาหารกลางวัน การแลกเปลี่ยนรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน เพราะคนทำงานไม่ใช่เครื่องจักรที่ต้องทำงานตลอดเวลา การพูดจาดีบนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน การเพิ่มเงินเดือน โบนัส หรือการให้สิทธิหลังเลิกงานที่จะไม่ต้องอ่านไลน์ หรือโต้ตอบหลังเวลางานโดยไม่ถูกตัดเงินเดือน" อาจารย์เจนนิเฟอร์เปิดเผยและกล่าวอีกว่า

ข้อที่น่าสังเกตคือ พนักงานบางคนที่ฝืนไปทำงานทั้งๆที่ป่วยทางร่างกาย 50% บางคนฝืนมากกว่า 5 ครั้งในรอบ 1 ปี บางคน 1-2 ครั้งในรอบปี ตัวเลข 20% ฝืนไปทำงานทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ไหวแล้ว ด้วยสาเหตุที่ไม่มีใครทำงานแทนได้ บางหน่วยงานเลือก AI มาทำงานในบางเรื่อง งานสำคัญและงานที่จำเป็นต้องใช้คน ถ้าไม่มาทำงานก็จะถูกหักเงินเดือน ไม่ได้รับโบนัส ความรู้สึกที่ผิดอีกทั้งความรับผิดชอบในงาน เมื่อฝืนทำงานต่อไปก็จะส่งผลถึงการหมดไฟในอนาคตได้ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมองค์กรที่สร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับพนักงาน

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า “เราต้องการให้องค์กรต้นแบบแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน นำองค์ความรู้มาแบ่งปันเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางจิต การสร้างเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างปัจจัยทำงานมีผลต่อสุขภาวะทางจิต การเยี่ยมชมองค์กรที่มีความโดดเด่นเพื่อยกระดับองค์กรร่วมกันด้วย ยกย่องการทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ใช่ทำงาน One Man Show องค์กรให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อส่วนรวม มีการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น หลอมรวมการทำงานให้มีความสมดุล  เมื่อทำงานอย่างมีความสุขก็ส่งผลให้ครอบครัวมีความสุขและสมดุลด้วย”

องค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)  ส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดมาได้ที่เว็บไซต์ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. ถึง 15 ก.ย. 2567 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยจะคัดเลือกผู้ชนะ 5 องค์กรที่มีความโดดเด่นใน 4 มิติภายใต้แนวคิด GRACEและมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วม และได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเอง ที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา ทั้งนี้จะประกาศผลวันที่ 15 พ.ย.และจัดงานรับรางวัลช่วงปลายเดือน พ.ย.


5 มิติเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards ชี้แจงว่าการดูแลพนักงานที่ดี ไม่เพียงเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical Environment) เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ  (Psychological Environment) ของพนักงานควบคู่ไปด้วย

สิ่งสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ต้องครอบคลุมมิติทั้ง 5 ด้านที่เรียกว่า “GRACE” ประกอบไปด้วย

G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ

R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ

A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย

E: work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความรู้สึกถึงความสำเร็จ พนักงานรู้สึกว่าสามารถเติบโตได้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น