ถึงเวลา ยกระดับ'กม.เมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ'

“ชนแก้ว” “แก้ว 2 แก้ว ไม่เมาหลอก” “ขับไหวบ้านอยู่ใกล้ๆแค่นี้เอง” …คำพูดสุดฮิตในวงสังสรรค์ที่อบอวลไปด้วยความสนุกแค่เพียงชั่วคราว เพราะเมื่อยกแอลกอฮอล์เข้าปากไปแล้วจะ 1 แก้ว หรือ 2 แก้ว ก็สามารถอยู่ในอาการมึนเมา ขาดสติ มีความคึกคนอง สายตาพร่ามัว เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้นำไปสู่ความสูญเสียทั้งตัวผู้ดื่มและผู้ประสบภัย โดยข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทย จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย มูลค่าความสูญเสีย 3.7 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ มากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย

ในทางกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำในปัจจุบันบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2565 ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณีเมาแล้วขับ ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 – 100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอและถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ขณะเดียวกันหาก เมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที โดยกรณีที่ทำผิดครั้งแรกอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 20,000 บาท แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์เพียงพอเพราะยังมีบางส่วนที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและมีจำนวนผู้เมาแล้วขับเพิ่มขึ้นทุกปี

เพื่อขับเคลื่อนการใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ  ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับของไทย ได้จัดเสวนา “ครบรอบ 2 ปี กระทำผิดซ้ำเมาแล้วขับกับการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย” พร้อมถอดบทเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนจากดื่มแล้วขับ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จึงจำเป็นต้องเร่งมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ครอบคลุม และลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะความผิดซ้ำ โดยระดับนโยบายและรณรงค์ในพื้นที่ต้องมีการผลักดันข้อกฎหมายดื่มแล้วขับ และกระทำผิดซ้ำ บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนวิเคราะห์หาสาเหตุ ที่สามารถเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น จากที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายถอดบทเรียน ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน ออกแบบระบบตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมออกแบบระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกันตรวจสอบประวัติกระทำผิดซ้ำ ประชาสัมพันธ์ผลการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง

2. ระยะกลาง ภายใน 1 ปี ผลักดันด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อย 15,000 เครื่อง พัฒนาระบบการตรวจสอบ และยืนยันบุคคลผ่านลายนิ้วมือออนไลน์ทั่วประเทศ 3. ระยะต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปี ผลักดันเพิ่มโทษสร้างความเกรงกลัวไม่ให้กล้ากระทำผิดซ้ำ สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี นำปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ตรวจวัดได้ในแต่ละระดับมาเป็นบทกำหนดโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับด้วย

สุรสิทธิ์ ศิลปงาม

ด้านสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีเหยื่อจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาว มีหลายรายที่สูญเสียอวัยวะ เสียโอกาสในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่อ เหยื่อหลายรายไม่ได้รับเงินเยียวยา ถึงเวลาต้องวางแนวทาง ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดื่มแล้วขับที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ที่ผ่านมากฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำในปัจจุบันบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับภาคประชาชน ยังมีผู้กล้ากระทำผิดซ้ำ การเพิ่มโทษ และความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยกระทำผิดเมาแล้วขับ ไม่กล้าเสี่ยงและรับโทษที่รุนแรง

ร่างพิจารณาจราจรทางบก ชั้นของ สคก.

 ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวต่อว่า กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำอาจจะมีช่องว่างของคดี เพราะในการดำเนินการเหยื่อต้องฟ้องศาลแขวงภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่รับสารภาพตำรวจต้องมีการสืบค้นประวัติของผู้กระทำผิด และส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลไม่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกองประวัติอาชญากร ก็เท่ากับทำผิดครั้งแรก ดังนั้นในการกระทำผิดเมาแล้วขับครั้งแรก ศาลจะมีพิจารณาโทษให้รอลงอาญา 2 ปี แต่หากยังกระทำผิดซ้ำเท่ากับว่าผู้กระทำผิดไม่มีจิตสำนึกและยังใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หรือตำรวจที่ไม่ดีใช้แสวงหาผลประโยชน์ทำให้ผู้กระทำผิดซ้ำเหลือเพียงกระทำผิดครั้งแรก ดังนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการบูรณาการโรงพักกว่า 4,600 แห่งทั่วประเทศ ให้มีฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นข้อมูลสามารถเช็คเลขบัตรประชาชน 13 หลักได้ทันที เพราะตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ อยากจะเพิ่มเติมในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้เป็นเหยื่อที่ได้รับความพิการทางร่างกายไม่ว่าจะเป็นเงินสนับสนุนหรือการจ้างงานคนพิการ และรถส่วนราชการควรมีประกันภัย เพราะหากผู้ขับเมาแล้วขับรถจนทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต ซึ่งทางกฎหมายเหยื่อต้องยื่นฟ้องศาลถึง 3 ศาลตามหลังการฟ้องหน่วยงานรัฐและกว่าคดีจะแล้วใช้เวลาค่อนข้างนาน

“นอกจากนี้ในกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำมีรายละเอียดของกฎหมายระบุว่า ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอาจจะสั่งจำคุกแต่รอลงอาญา แตกต่างจากคำว่าศาลจะลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ทำให้หลายคดีที่ตำรวจส่งสำนวนฟ้องส่วนใหญ่รอลงอาญา ทำให้เห็นว่าภาษากฎหมายดิ้นได้ อย่าง เคสน้องการ์ตูน เป็นการฉ้อฉนของคนที่ไม่มีความรับชอบต่อความผิดที่กระทำแต่ผู้กระทำก็ได้รับโทษจำคุก 1 ปี หรืออีกตัวอย่าง คือ ผู้กระทำผิดชนตำรวจเสียชีวิต แต่ผู้กระทำผิดมีการสำนึกผิดในการเยี่ยวยาครอบครัว โดยศาลสั่งรอลงอาญา เพราะทางผู้เสียหายมีความพึงพอใจในการเยียวยาเป็นต้น  ดังนั้นกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำถึงเวลาที่ต้องยกมาตรการให้เข้มข้นเพิ่มขึ้น ด้วยระบบการจัดการและเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการดื่มของสังคมไทย”  ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว

พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์

พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่ผ่าน มีการจับกุมผู้ที่เมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำกว่า 100 ราย ในส่วนของการดำเนินงานแบ่งเป็น การด่านตรวจแอลกอฮอล์ ที่มีมาตรฐานมาอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ  เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดในด่าน ติดตี่งกล้องที่หน้าอกตำรวจผู้ตรวจ และกล้องส่วนกลางในการดูการเรียกตรวจ และการบันทึกจำนวนที่ตรวจ  ระบุปริมาณแอลกอฮอล์ หากพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์เกินที่กำหนด จะส่งต่อไปยังเจ้าหน้าตำรวจสืบสวน ทำให้การทำงานทั้งหมดสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถตรวจสอบได้ซึ่งนับว่าดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา และประชาชนหากพบด่านที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวสามารถแจ้งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้

พ.ต.ท.พชร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนชั้นสอบสวนหากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งต้องอาศัยผู้บังคับบัญชาระดับต้นในโรงพักนั้นๆ ในการดูแล แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลที่ผ่านได้มีการลองใช้แนวทางหากมีการส่งสำนวนฟ้องเมาแล้วขับกระทำผิดครั้งแรก ทางอัยการกับศาลสามารถที่จะสั่งให้พนักงานสอบสวนนำหลักฐานมาแสดงให้ครบถ้วนก่อนจะดำเนินการพิจารณาบทลงโทษได้ เพื่อให้มั่นใจว่าหลักฐานที่ตำรวจยื่นนั้นมีความถูกต้องครบถ้วน เพราะหากหลักฐานที่พบไม่ตรงตามที่ยื่นให้กับศาลตำรวจผู้สอบสวนจะต้องพิจารณาให้ได้รับบทลงโทษ ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสนอแนะในการแก้กฎหมายในอนาคตด้วย แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และผู้ที่กระทำผิดเมาแล้วขับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นิกร จำนง

การรับขอเสนอเชิงนโยบาย  นิกร จำนง คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา กล่าวว่า ประเด็นที่ทางสสส.และภาคีเครือข่าย ได้ร่างนโยบายเพื่อเสนอในการแก้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำจะรับข้อเสนอไว้ แต่ในความเป็นจริงต้องรออีกนานเพราะหากมีการเสนอและมีการพิจารณาต้องใช้ระยะเวลาในแก้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยในการพิจารณาต้องมองภาพกว้างต่อเรื่องที่นำเสนอว่ามีความจำเป็นต้องแก้เร่งด่วนหรือไม่ อย่าง การแก้ในส่วนของศาลที่พิจารณาบทลงโทษให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรอลงอาญาเท่ากับก้าวก่ายระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ซึ่งคนไทยไม่กลัวกฎหมายแต่กลัวศาล ซึ่งในอดีตเคยมีการเสนอให้ตั้งศาลจราจร เพื่อพิจารณาเพิ่มบทลงดทษต่างๆ ให้สามารถบังคับใช้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากศาลพิจารณาว่าเป็นการตั้งศาลใหม่จะทำให้มีคดีจำนวนที่ไม่รองรับได้ ทั้งนี้อยากจะให้มีการทำข้อเสนอให้ชัดเจนมากยิ่งและเสนอต่อประธานที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป .

พิธียื่นข้อเสนอจากสสส.และภาคี ให้กับคณะกรรมการฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

กมธ.ประชามติ สรุปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ชงรายงานให้ สส.-สว. ถ้าเห็นแย้งจะถูกแขวน 180 วัน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นำโดย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. โฆษก กมธ., นายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษก กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันแถลงถึงมติของกมธ.ร่วมกันฯ

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ