ภาคีเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศร่วมงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ ที่ พอช.

ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ ที่ พอช.

พอช. / พอช.และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศร่วมจัดงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ เพื่อนำเสนอรูปธรรมตำบลเข้มแข็ง  ด้าน ผอ. พอช.ย้ำเป้าหมาย ‘ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินภายในปี 2580’  โดยมีภาคีเครือข่ายชุมชน ‘คนมีของ’ ร่วมเสวนาคับคั่ง  เช่น ‘โอวากะเทยขายข้าว’ ใช้สื่อออนไลน์  สร้างคอนเทนต์ขายข้าวปีละ 1.5 ล้านบาท  เกษตรกรปากช่องใช้ ‘สมารทโฟน’ ควบคุมการรดน้ำแปลงเกษตร  ลดเวลา  ประหยัดแรงงานและทุน

ระหว่างวันที่ 12-13  กันยายนนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่าย  จัดงาน ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ ขึ้นที่สถาบันฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนต่างๆ  และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ  300 คน

การจัดงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. นำเสนอรูปธรรมความสำเร็จของเครือข่าย องค์กรชุมชนที่นำไปสู่ตำบลเข้มแข็ง  2.เพื่อนำเสนอองค์ความรู้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายใต้รูปธรรมตำบลนวัตกรรม เข้มแข็ง  และ 3.เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนงานพัฒนาโดยชุมชนเป็นแกนหลัก  และนำข้อเสนอไปใช้เป็นแนวทางพัฒนาชุมชน   และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสนับสนุนและผลักดันเชิงนโยบายต่อไป

ส่วนรูปแบบการจัดงานมีหลากหลาย  เช่น  การอภิปรายจากวิทยากรที่ทรงความรู้  การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาพื้นที่ตำบลรูปธรรม  การจัดนิทรรศการนำเสนอผลงาน  การออกร้านจำหน่ายและแสดงสินค้าจากพื้นที่ตำบลรูปธรรม  ฯลฯ

ชุมชนต่างๆ นำสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาจำหน่าย

ผอ.พอช. ย้ำวิสัยทัศน์ พอช. ‘ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินในปี 2580’

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวมีใจความสรุปว่า  พอช.มีภารกิจหลัก  คือสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน  เพราะเชื่อว่าถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง  ประเทศไทยจะไปรอด  ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นมีหลายปัจจัย  ความเข้มแข็งของชุมชน  เกิดจากประชาธิปไตยชุมชน   เป็นเรื่องของคนในชุมชนที่กำหนดร่วมกัน ขับเคลื่อนด้วยสภาองค์กรชุมชน  เรื่องแผนชุมชนที่ทำกันมานาน  เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  เรื่องทุนทางชุมชน  ทุนภูมิปัญญา  ทุนสิ่งแวดล้อม  สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดได้หลาย ๆ เรื่อง  เช่น  เรื่องขยะ นำมาสู่การประกันชีวิตของชุมชน เช่น  ที่ปลายบาง  จังหวัดนนทบุรี  และอีกหลายแห่ง

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

“ความเข้มแข็งจากสัมมาชีพชุมชน  คือการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม  วันนี้มีบูธเกษตรอินทรีย์มาออกร้านหลายแห่ง   ไม่เบียดเบียนดิน  น้ำ  ป่า และเพื่อนมนุษย์   เราไม่สามารถจะผลิตภาคเกษตรในเชิงปริมาณไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้   เพราะดินเสื่อมจากการใช้สารเคมี การผลิตในโลกลดลง  ซึ่งหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ทำข้าวอินทรีย์ส่งไปขายในต่างประเทศ  เป็นทางรอดของพี่น้อง”  ผอ.พอช. ยกตัวอย่าง

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า  การพัฒนาในประเด็นต่างๆ เหล่านี้  รวมทั้งการสร้างภาคีพัฒนา  การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  อำเภอ   อบจ.  กรมการพัฒนาชุมชน  ภาคีวิชาการ  ภาคธุรกิจเอกชน  ฯลฯ   มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน  และจะนำไปสู่ความเจริญ  ผาสุก  มั่นคง  ยั่งยืนของชุมชน  ซึ่ง พอช. และภาคีเครือข่ายจะเดินหน้าต่อไป  ตามวิสัยทัศน์ของ พอช.  โดยมีเป้าหมาย คือ ‘ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินภายในปี 2580’

เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง

ดร.นณริฏ  พิศลยบุตร  นักวิชาการอาวุโส  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง ‘ทิศทางการเติบโตของประเทศไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง  เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง  คุณภาพชีวิตประชาชนยั่งยืน มีใจความโดยสรุปว่า  การนำเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนเป็นเงิน  เมื่อแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นแล้ว  เศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.หมุนเวียนภายในประเทศ 2.หมุนเวียนจากภายนอก  โดยการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ  และประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ  แต่พอเกิดโควิด-19  ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศย่ำแย่

ดร.นณริฏ  พิศลยบุตร  

ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตนั้น  ดร.นณริฏกล่าวว่า    ปี 2565 ภาคส่งออกดีขึ้น  การท่องเที่ยวในประเทศอาจจะฟื้นมาเป็นปกติ   แต่หากหวังจะพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะลำบาก  และสิ่งที่น่ากังวลคือ  ปีหน้า สหรัฐอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย   กรณีรัสเซีย-ยูเครน  ซึ่งยูเครนเป็นผู้ผลิตสินค้าชั้นนำหลายชนิด  เช่น  น้ำมัน  ก๊าซธรรมชาติ  เมื่อเกิดสงครามจะส่งออกไม่ได้   นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว  ที่ผ่านมาเราพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน  แต่ตอนนี้จีนปิดประเทศไม่ให้คนเข้า-ออก  และอากาศแปรปรวน  ตอนนี้ประเทศไทยน้ำท่วม  หลายประเทศเจอภัยแล้ง  ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ

ส่วนแนวทางสำคัญในการพัฒาระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนนั้น  ดร.นณริฏมีข้อเสนอ เช่น  1.การเชื่อมโยงการค้าในพื้นที่ ต้องเพิ่มการค้าในพื้นที่ให้มากขึ้น   2.การพัฒนาการผลิตสินค้าในพื้นที่ การหมุนเวียนสินค้า  การพัฒนาระบบการตลาด   (สร้างประสบการณ์การขาย  การสร้างคอนเทนต์  และการสื่อสารเผยแพร่)  4.การเพิ่มมูลค่าของสินค้า  เช่น   ข้าวที่เพิ่มวิตมิน   ข้าวที่ดีต่อสุขภาพ   5.สร้างรูปธรรมความสำเร็จของสินค้าให้เกิดขึ้น  พัฒนาเป็นโมเดลสินค้าที่น่าสนใจ  เกิดประโยชน์ต่อสังคม   การสนับสนุนความยั่งยืน

‘โอวากะเทยขายข้าว’  ใช้สื่อออนไลน์  ยอดขายปีละ 1.5 ล้านบาท

การเสวนาเรื่อง  ‘เศรษฐกิจฐานรากกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต’  เริ่มเสวนา โดย ธนาวัฒน์ จันนิม  อายุ 35  ปี   เป็นคนรุ่นใหม่คืนถิ่น   จบการศึกษาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เคยทำงานที่กรุงเทพฯ  แล้วกลับภูมิลำเนาจังหวัดสุรินทร์ไปขายข้าวหอมมะลิสุรินทร์  โดยใช้สื่อออนไลน์  เช่น  ทำเฟซบุ๊ก  คลิป VDO  ‘โอวากะเทยขายข้าว’  เผยแพร่ทางช่องยูทูป  มีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน  มีรายได้ประมาณปีละ 1.5 ล้านบาท

โอวากะเทยขายข้าว (ภาพจากรายการมนุษย์ต่างวัย)

“เด็กรุ่นใหม่ขี้เกียจ  แต่เด็กรุ่นใหม่มีความคิด  ถ้าเรารู้ว่าคนนี้เป็นลูกค้า  เราก็ไม่เหนื่อย  ทุกอย่างต้องคิดให้เยอะ  หาจุดเด่นจุดด้อย  clip ของโอวา จะไม่ยาว TIK TOK  มีความยาว 60 วินาที  เราไปศึกษาจาก TIK TOK  เราเรียนรู้จากประสบการณ์  เป็นเพลงสั้น ๆ 1 นาที” 

“เราต้องเรียนรู้จากลูกค้า  โอวาต้องถามลูกค้า  รู้ว่ามีลูกค้ากินข้าวผสม  เอาข้าวกล้อง  ข้าวหอมมะลิ  นำมาใส่สูตร  ผสมคลุกข้าวเป็นข้าวจักรพรรดิ์  ต้องทำให้เหนือกว่าคนอื่น  สิ่งที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง  พยายามคิดสร้างสรรค์  ทุกคนเล่าเรื่องไม่เก่ง  ลูกค้าจะซื้อเราไม่ใช่สินค้าอย่างเดียว  ข้าวไม่ใช่แค่ข้าว  ปีใหม่โอวาเอาข้าวใส่กล่องกระดาษ ‘สวัสดีปีใหม่’  ใส่ตระกร้าหวาย 5 กิโลฯ  ขายได้ 750 บาท  งานศพ เอาข้าวไปเป็นพวงหรีด  นำไปขายต่อ  คนเราใช้อารมณ์ในการตัดสินเรื่องสินค้าเสมอ”  ‘โอวา’ เผยเทคนิคในการขายข้าว

เกษตรรุ่นใหม่ใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวดูแลพื้นที่ทั้งแปลง

“เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ทิ้งเรื่องเกษตรไม่ได้เลย  เงินทองเป็นของมายา  ข้าวปลาเป็นของจริง  เริ่มทำมา  พบว่าเศรษกิจฐานรากประสบปัญหาค่อนข้างสูง  วิธีการที่ใช้ทำ  ทำให้เราขาดทุนตั้งแต่เริ่มทำ  ทำให้ค้นหาว่าปัญหาอยู่ตรงไหน  มาดูเรื่องปัญหา  มาหาเรื่องของทางแก้”

นิรันดร์ สมพงศ์  เกษตรกรรุ่นใหม่  smart farmer  ผู้นำสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  เกริ่นนำ

นิรันดร์  สมพงษ์  เกษตรกรรุ่นใหม่

สหกรณ์ฯ มีสมาชิกทั้งหมด 85 ราย  ส่วนใหญ่ปลูกผักสวนครัว  ผลไม้  เช่น  ฝรั่ง  แก้วมังกร  พืชไร่   เช่นข้าวโพด  มันสำปะหลัง  ฯลฯ   เน้นการปลูกแบบอินทรีย์  แต่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ  จึงต้องใช้ระบบการจัดการน้ำในแปลงเกษตร  โดยวางท่อเพื่อรดน้ำแบบสปริงเกอร์และระบบน้ำหยด  ต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อพื้นที่  5 ไร่ 

นิรันดร์จึงศึกษาเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้โทรศัพท์มือถือควบคุมการเปิด-ปิดน้ำแบบอัตโนมัติ  เพราะเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์ (จากเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)  เมื่อนำไปให้บริษัทคิดราคาเพื่อติดตั้งระบบ  บริษัทคิดราคาวาล์วละ 8,000 บาท  แต่เขาไม่มีเงิน  จึงคิดหาอุปกรณ์ที่มีขายอยู่ทั่วไปในร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาประกอบเป็น ‘เครื่องควบคุมน้ำด้วยโทรศัทพ์มือถือ’ 

โดยใช้แอพพิลเคชั่น E-Welink และใช้เครื่อง Sonoff  ควบคุมการสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ  สามารถตั้งเวลาในการเปิด-ปิดน้ำ  สั่งการด้วยเสียงพูดได้  และยังใช้โทรศัพท์มือถือสั่งเปิด-ปิดน้ำจากที่ไหนก็ได้ที่มีสัญญานอินเตอร์เน็ท    โดยไม่ต้องมาที่ไร่  ใช้เงินไม่เกิน 350 บาทต่อ 1 วาล์ว  ใช้ท่อน้ำพลาสติกขนาดเล็ก 4-6 หุนเพื่อประหยัดงบ  ไม่ต้องใช้ท่อขนาดใหญ่  และใช้แผงโซล่าร์เซลล์มาเป็นตัวจ่ายไฟ  ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้  เริ่มทำใช้ตั้งแต่ปี 2561  

ต่อมาในปี 2562 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  หรือ  depa  เพื่อฝึกอบรมการใช้เครื่องควบคุมน้ำด้วยโทรศัทพ์มือถือให้แก่เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ปากช่อง  จำนวน 60 ครอบครัว  ช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตร  ประหยัดเวลาจากเดิมต้องใช้เวลารดน้ำในแปลงเกษตร 3-4 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้ง  เหลือเพียง 15 นาทีต่อครั้ง  หลังจากนั้นได้เผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรทั่วไปโดยจัดอบรมแบบออนไซต์  และทำคลิปสอนทางออนไลน์

“ผมฝันว่าเกษตรกร  เช้ามาต้องมีรายได้  2 พันบาท  ตอนนี้ทำได้วันละ 1 พันบาท  ภายหลังคิดว่าวันละ 2  พันบาทไม่ใช่คำตอบ  เปลี่ยนมาเป็นการปรับวิธีคิดสำคัญ  ผมคิดว่าคนที่ไม่มีอะไรในมือเขายังรวยได้  ต่างประเทศสร้างเครื่องมือมาใช้  เราซื้ออย่างเดียวกลายเป็นภาระหนี้สิน”  นิรันดร์ให้แง่คิด

ต่อยอดอัตลักษณ์ชายแดนใต้สู่การท่องเที่ยวชุมชนบูนาดารา

มะเยะ  แดเมาะ   กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบูนาดารา   ต.ตะโละกาโปร์   อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตาบอกว่า

เมื่อ  7 ปีที่แล้วคิดว่าจะทำอย่างไร   เรามีป่าชายเลน 5,000 กว่าไร่   คนในชุมชนสำคัญที่สุด  อัตลักษณ์ของชุมชน  7  ปีที่ผ่านมามีเรื่องความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้

มะเยะ  แดเมาะ   

การท่องเที่ยวชุมชนเป็นวงจรธุรกิจ   คนมาเที่ยว 100 คน   เงินสะพัดมากมาย   ปีแรกมีคนทักว่าพื้นที่ 3 จังหวัด มีความรุนแรง   แต่ผมคิดว่า  ทุนเหล่านี้ขายทั้งชาติไม่หมด   นักท่องเที่ยวมีเงิน ถ่ายรูป   นักท่องเที่ยวสบายใจ  ได้กินอาหารทะเลสด ๆ  เดิมไปกินปูกิโลกรัมละ 200 บาท   ตอนนี้กินปูกิโลกรัมละ 400 บาท   สร้างรายได้ให้ชุมชน

“อุโมงค์โกงกาง  ทุนเหล่านี้เราไม่ต้องสร้าง  ธรรมชาติสร้างให้เรา  เราใช้ทุนที่มีในชุมชน   เรามีการอนุรักษ์ธรรมชาติ   ปัจจุบันสมาชิกมี 100 คน  แต่คนที่ได้รับประโยชน์มีทั้งตำบล  ก่อน covid-19  ผมไม่เคยจับเงินล้าน   แต่พอทำท่องเที่ยวบูนาดารา  ยอดเงินได้เกิน 1 ล้านบาท  เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ (มาเลเซีย)  กระบวนการท่องเที่ยวชุมชนสำคัญที่สุด  การบริการ  และต้องไม่ทำให้ชุมชนเปลี่ยนวิถี   คนในชุมชนไม่มีปริญญา  แต่เขาจบปริญญาโทในด้านความรู้  เพราะเขามี story  การบริหารจัดการมีความสำคัญ  และต้องเชื่อใจ  ให้ชุมชนทำกันเอง”  มะเยะบอกประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำเรื่องท่องเที่ยวโดยชุมชน

ตอนเริ่มทำท่องเที่ยวชุมชน   มีนักศึกษาปริญญาตรีมาช่วยเรื่องพัฒนาการท่องเที่ยว   ผู้สูงอายุได้เล่าเรื่อง story ของพื้นที่ทำให้มีความสุข   การมีภาคีความร่วมมือมีความสำคัญ   มีการพัฒนาศักยภาพสมาชิกชุมชนให้เป็นไกด์ท้องถิ่น  ให้ข้อมูลการท่องเที่ยวที่ถูกต้องของพื้นที่   การท่องเที่ยว  การซื้อซ้ำมีความสำคัญ 

“ผมขายทุกอย่าง   ขายเส้นทางล่องเรือปีก่อน   ปีถัดมาดูนก   มีฐานเรียนรู้ในชุมชน  สิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนาตลอด  เพราะหลาย ๆ พื้นที่ก็ทำเรื่องท่องเที่ยวเหมือนกัน   เราทำแล้วต้องทำให้มีความสุข  วิถีชุมชนสำคัญที่สุด        การทำงานชุมชนต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน   ผู้นำต้องนำทำกิจกรรมก่อน  สมาชิกจะเห็นว่าทำ  ร่วมทำ ร่วมกิน  ร่วมนอนกับชาวบ้านด้วยกัน   บูนาดารามีเมนูใหม่เสริฟตลอด  แค่ story อย่างเดียวเล่าได้ทั้งวัน”  มะเยะบอกทิ้งท้าย

ส่วนการออกร้านจำหน่ายสินค้าและแสดงผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ  มีชุมชนมาออกร้านจำนวน 40 บูธ  เช่น  กลุ่มเกษตรกรจากบ้านเสรีราษฎร์  อ.พบพระ  จ.ตาก  นำสินค้า  เช่น  ชาใบกัญชง   กัญชงแปรรูป  กาแฟ  ผ้าทอชาวกะเหรี่ยง  กลุ่มเกษตรกรจากอำเภอกบินทร์บุรี  จ.สระแก้ว  นำสินค้าเกษตรอินทรีย์  พืช  ผัก  ผลไม้  เกษตรกรจากจังหวัดตราด  น้ำพริกเผาสับปะรด  ใบขลู่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  สบู่  แก้โรคผิวหนัง  บำรุงผิว   ฯลฯ

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล