ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา ปาฐกถาพิเศษ “Thailand’s Soft Power กับ BCG Economy Model”

ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์  

วันนี้  (14 กันยายน)  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ มีการจัดเวที “เปิดโลกทัศน์ เตรียมความพร้อม  เติมความรู้ ผู้ปฏิบัติงาน พอช.”   โดยมี ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์   วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง Thailand’s Soft Power กับ BCG Economy Model พลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” โดยมีการถ่ายทอดผ่านระบบ  ZOOM เพื่อให้เจ้าหน้าที่ พอช. ผู้บริหาร  และผู้นำชุมชนทั่วประเทศได้รับชม

“Thailand’s Soft Power กับ BCG Economy Model”

ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์  อดีต รมว.อว.  กล่าวว่า  เรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ใบเดิม ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคของ Disruption    ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น   แต่การดิสรัปชั่นยังรวมถึงประเด็นต่างๆ  ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแบ่งยุคดิสรัปชั่นออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ยุค Globalization-Driven Disruption เป็นยุคของโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมให้ทุกคนกลายเป็นพลเมืองโลก  ยุค Technology-Driven Disruption ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม  การใช้ชีวิต  การทำงานและทำให้พลเมืองโลกได้เรียนรู้อะไรต่างๆ

ปัจจุบันยุค Crisis-Driven Disruption เป็นโลกแห่งวิกฤติที่เชื่อมต่อโลกให้เกิดเศรษฐกิจโลก  ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ ‘หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม’ อย่างไรก็ตาม  ไม่ใช่แค่วิกฤติโควิด-19 เท่านั้นที่เป็นชะตากรรมร่วมของคนในยุคนี้  แต่ยังมีวิกฤติสภาวะภูมิอากาศโลกที่ทำให้คนเผชิญปัญหาเดียวกัน

หนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม

เราอยู่ในโลกที่จากนี้ไปสุขก็จะสุขด้วยกัน  ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน  เพราะฉะนั้น  ปัญหาของเราที่เกิดภายใต้โลกที่เชื่อมต่อกันสนิทนั้น  มีเรื่องของความไร้สมดุลต่างๆ มากมาย  เป็นความไร้สมดุลระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ  ด้านของภูมิเศรษฐศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์   นำมาสู่ความขัดแย้งมากมาย  เป็นความไร้สมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างที่เราเห็นกัน  

ความไร้สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ก่อให้เกิดความไม่ยั่งยืน ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความท้าทายมากมาย  ความขัดแย้ง  ความเหลื่อมล้ำ  ความไม่ยั่งยืน  หรือที่เราเรียกว่า “หนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม

หลังจากที่วิกฤติโควิดเริ่มซาตัวลง  เราเริ่มเห็นวิกฤตของเรื่อง Supply Chain เช่น วิกฤตเรื่องพลังงาน  เรื่องอาหาร  เรื่องเงินเฟ้อ  ซึ่งอาจจะนำมาสู่เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่างๆ  จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น สู่โมเดลการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19

ดร.สุวิทย์มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี  ตลอดจนแผนปฏิรูปฯ ต่างๆ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเหล่านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก

“ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นเรื่องไกลตัวประชาชน  ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้ และทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องการมีส่วนร่วม ภาครัฐคิดว่าตัวเองเป็นคุณพ่อรู้ดี  แต่ไม่เคยมีแผนบอกประชาชนว่าเกี่ยวอะไรกับเขา  ใกล้ตัวเขาหรือไม่ ? ”

ที่ผ่านมาในประเทศไทยเราเสียเวลาไปกับการทะเลาะกันจนก่อให้เกิด  ‘สังคม 2 ขั้ว’  เช่น กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง  คนรุ่นเก่า  คนรุ่นใหม่  ทางการเมืองก็จะมีกลุ่มที่เป็นประชาธิปไตย และกลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยม  ในส่วนนี้ปัญหาของประเทศไทย  เราจะก้าวข้ามปัญหานี้ได้อย่างไร ?  

ประเทศไทยเราเองชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น  เปรียบเทียบประเทศไทยกับสิงค์โปร์  เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร  หากเรายังมองดูถูกกันเองอยู่แบบนี้   ถึงเวลาที่ต้องพิจารณาประเทศไทยในมุมมองใหม่ๆ  เราต้องมองประเทศไทยในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ   หรือแง่ดีมากกว่าแง่ร้าย   และมองจากโอกาสมากกว่ามองจากปัญหาได้อย่างไร ?

“เมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยก็ต้องปรับ”

เราอาจจะมองได้ว่า “เมื่อไทยปรับ โลกอาจจะเปลี่ยน” ประเทศไทยอาจจะมีบทบาทสำคัญในการกู้วิกฤตโลก ผ่านเรื่องของ BCG ผ่านเรื่องของ Soft Power ของเราหรือไม่  สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความฮึกเหิม  ไม่มีที่ว่างให้สำหรับฝันเล็กๆ หรือ “No Rule for small Dream”

โจทก์ที่สำคัญคือเราต้องหาจุดพลิกเกม  ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปเชิงระบบครั้งใหญ่  ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งเดียวคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็น The Great Reform ครั้งที่ 1 โดยปรับเพื่อรับภัยคุกคามจากภายนอกเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเราต้องสร้าง The Great Reform ครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันมีแรงปะทุจากภายใน และแรงกดดันจากภายนอกบีบให้ปฏิรูปด้วยเช่นกัน

“ปัญหาประเทศไทยตั้งแต่ความเปราะบาง  ความไร้สมดุลและกับดักหนี้  มีปัญหาหมักหมมซับซ้อนมาก  เราต้องหาจุดคานงัดการเปลี่ยนแปลง  ขณะเดียวกันประเทศไทยมีแต่แผนยุทธศาสตร์  แต่ไม่มีแผนขับเคลื่อนอย่างแท้จริง (Action Plan) คำถามคือ ทำอย่างไรให้สามารถทำได้จริง ?”

แผนปฏิรูปและวาระส่วนใหญ่คิดโดยรัฐและขับเคลื่อนโดยส่วนกลาง  ดังนั้นต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในรูปแบบ  โดยอาจจะเริ่มต้นที่ส่วนกลาง  แต่หัวใจต้องอยู่ที่พื้นที่   เพราะอัตลักษณ์พื้นที่ถ้ามีโอกาสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองจะเติบโตเป็นดอกเห็ดและดีกว่าขับเคลื่อนด้วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งการปฏิรูปในส่วนนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช. มีความเกี่ยวข้องโดยตรง

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า  BCG (Bio-Circular-Green Economy) จะเป็น New Growth Engine ของประเทศไทยหลังโควิด  เพราะถ้าย้อนดูที่ผ่านมา  ประเทศไทยแต่ละช่วงจะมี Growth Engine ที่แตกต่างกัน  อย่างยุคเปลี่ยนวิกฤติพลังงานสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล  คือ Eastern Seaboard  ต่อมาเจอภัยคุกคามคอมมิวนิสต์  จนประกาศเปลี่ยนแนวคิดสนามรบเป็นสนามการค้า   แต่ ณ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 4.0   จึงต้องใช้โมเดล BCG ซึ่งตั้งบนหลักคิด 3 ประการ ดังนี้

1.สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก  2.เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  3.น้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ BCG ยังเป็นโมเดลที่เน้นการเติบโตที่สมดุล ทั่วถึงและยั่งยืน รายละเอียด ดังนี้  1.อาศัยจุดแข็งของความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรม   2.การกระจายตัวของสาขายุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมเป้าหมายในจำนวนพอเหมาะ   ไม่มากหรือน้อยเกินไป  

3.การกระจายตัวของผู้ประกอบการ  ครอบคลุมผู้ประกอบการในระดับฐานราก วิสาหกิจชุมชน   เอสเอ็มอี   ผู้ประกอบการรายใหญ่และสตาร์ทอัพ   4.การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจภูมิภาค  ระดับประเทศ  และเศรษฐกิจโลก   5.สร้างสมดุลระหว่างการนำเข้าเทคโนโลยีกับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า  โมเดล BCG จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง  กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความขัดแย้งไปพร้อมกัน  เนื่องจาก BCG ไปตอบโจทย์ความมั่นคง 4 ด้าน  ได้แก่   สุขภาพ อาหาร  พลังงาน และรายได้-การมีงานทำ   ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จะทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ  ตั้งแต่รายย่อยจนถึงระดับกลาง   และระดับใหญ่   โดยแบ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่   ดังนี้

ภาคเหนือ  เช่น  การยกระดับข้าวด้วยนวัตกรรม, ระบบเกษตรปลอดภัยสำหรับการส่งออก, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงวัฒนธรรม, นำวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ เช่น วัฒนธรรมล้านนามาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์  พัฒนาสินค้าและบริการ

ภาคอีสาน  เช่น  โปรตีนทางเลือกจากแมลง, ระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ, ระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำชนาดเล็ก, ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีวัฒนธรรม

ภาคตะวันออก เช่น พัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มไม้ผล, การพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอนาคต, สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

ภาคกลาง  เช่น  ประเทศไทยไร้ขยะ, นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย, นวัตกรรมเพื่อการต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

ภาคใต้  เช่น  นวัตกรรมด้านฮาลาล, การท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้, นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ Precision Aquaculture, นำเสนอเรื่องราวของปักษ์ใต้ยุคใหม่  พัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงพหุวัฒนธรรม

“BCG เป็นการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลงไประดับพื้นที่  ภาค  จังหวัด  และชุมชน  ถ้าระบบราชการโดยเฉพาะ อบต. อบจ. ผู้ใหญ่บ้าน  สามารถทำในระบบ BCG ได้ดีจะเกิดความยั่งยืนในตัวของมันเอง เกิดชุมชน BCG ตามนิยามของผม  คือ   มีระบบน้ำ   พลังงานไฟฟ้าชุมชน  แหล่งน้ำชุมชน นวัตกรรม  ปลูกไม้มีค่า  เอาธุรกิจชุมชนและคนรุ่นใหม่มาทำมาหากิน  ตลาดกลาง BCG  และกองทุน BCG  ทุกคนมีบ้าน  มีที่ดินทำกิน  เพราะรากฐานของประเทศคือความเข้มแข็งของชุมชน”

หัวใจของ BCG คือชุมชน

จากนี้ไปตัวขับเคลื่อนสำคัญคือทุนของมนุษย์และเทคโนโลยี   ในบริบทของ พอช. คือ  จะทำอย่างไร  ให้ลงทุนในทุนมนุษย์  ทุนสังคม  ฟื้นฟูทุนมนุษย์ให้มาอยู่ที่ระดับชุมชน   และในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึง  ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า BCG คือการต่อจิ๊กซอว์หลายส่วน  ตั้งแต่เกษตรที่ยึดโยงอาหาร  พลังงาน   และสุขภาพ บางส่วนยึดโยงกับการท่องเที่ยว ทั้งหมดจะต้องมีอุตสาหกรรมพื้นฐานในพื้นที่   เช่น   สุขภาพ  การแพทย์ ท่องเที่ยว บริการ  การค้า  และธุรกิจดิจิทัลเพื่อให้เชื่อมต่ออุตสาหกรรมต่างๆ

“หัวใจของ BCG คือชุมชน  ถ้าเราทำให้ชุมชนในประเทศไทยแข็งแรงขึ้นมาได้  สานพลังชุมชน จะก่อให้เกิดพลังอันมหาศาล  ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ  หากประเทศไทยสามารถผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง   โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง   เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

ดังนั้นเราจะต้องมาพิจารณาว่าประเทศไทยมี Soft Power หรือไม่  หากว่ามีจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร  หรือหากไม่มีจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร   โอกาสในการสร้าง Soft Power ของไทยมีอย่างน้อยใน 3 ช่องทางด้วยกัน คือ

1.ชูจุดเด่น : ด้วยการนำคุณค่าของอัตลักษณ์ถิ่นหรือมรดกทางวัฒนธรรมแปลงให้เป็นมูลค่า จะทำอย่างไรให้ People, Place และ Product ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เพื่อสร้าง Attraction ของการเป็น Place to Invest, Product to Buy หรือ People to Work With

2.หาจุดร่วม  :  พัฒนาจุดร่วมเชื่อมกับประชาคมโลกในประเด็นสำคัญ ๆ อาทิ Rule of Law,Low Carbon Society, Climate Agenda และResponsible Investment Principle อย่าง ESG

3.สร้างจุดเริ่ม  :  ผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ ๆ  นวัตกรรมเชิงนโยบายที่ยังไม่มีในโลก อย่าง SEP for SDGs ที่เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  หรือการผลักดัน BCG for SDGs ในเวทีการประชุมเอเปค  เป็นต้น

ดร.สุวิทย์  กล่าวในตอนท้ายว่า  Thailand Soft Power เป็นการถักทออดีต   ปัจจุบัน  และอนาคต  ซึ่งผู้ที่จะสานต่อเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือ “เยาวชน”  เนื่องจากพลังเยาวชนเป็นพลังที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ได้อีกมากมาย  

“ดังนั้นเราต้องช่วยกันสร้าง Youth Empowerment Ecosystem ให้เยาวชนสามารถเปล่งพลังและปลดปล่อยศักยภาพของพวกเขาออกมา  ให้เยาวชนได้ Amplify Their Voices, Amplify Their Ideas และ Amplify Their Impact  เพื่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน Thailand Soft Power ผ่าน  Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power ต่อไป”

 

เรื่อง  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุน (องค์การมหาชน) ข้อมูลเพิ่มเติมจาก  https://thaipublica.org/2022/08/suvit-maesincee27-soft-power/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล