‘22 ปี พอช.’ และก้าวย่างต่อไป...เป้าหมายชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน !!

‘พอช.’ ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม  โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา

“พอช. เป็นกลไกรัฐ  แต่เป็นเครืองมือของประชาชน”  นี่คือคำพูดของอดีตผู้บริหาร พอช.ท่านหนึ่ง (ปฏิภาณ  จุมผา อดีตรองผู้อำนวยการ พอช.) ที่ให้คำจำกัดความและฉายภาพให้เห็นบทบาทและหน้าที่ของ พอช. ได้กระชับและชัดเจน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เป็นหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่  สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  เปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543  มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรชุมชน  เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  ในชุมชนท้องถิ่น

พอช. ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม   เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมแบบ “สั่งการ”  หรือ “จากบนลงล่าง  เป็นล่างขึ้นบน”  โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา  สามารถคิด  วิเคราะห์ปัญหา  เสนอโครงการ  และบริหารโครงการต่างๆ  ได้เอง  ไม่ใช่เป็น “ผู้รอรับการพัฒนา” 

เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดย พอช. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่มีรายได้น้อย  เข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย  ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  เช่าหรือบุกรุกที่ดิน  สภาพบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมทรุดโทรม  ให้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงในเมืองและชนบท  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  โครงการบ้านพอเพียงชนบท  ฯลฯ   

‘บ้านมั่นคง’ บ้านที่มากกว่า “บ้าน”

โครงการ บ้านมั่นคง’  พอช. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546  เป็นต้นมา มีชุมชนนำร่อง 10 ชุมชนในปีนั้น  เช่น  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ  แหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง   เก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ  โดยรัฐบาลอนุมัติงบสนับสนุนจำนวน 146 ล้านบาท  เพื่อให้ พอช.นำไปสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน-ก่อสร้างบ้าน

 มีแนวทางที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน” ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง ไม่ต้องอยู่ในสภาพบุกรุก  บ้านเรือนแออัด  เสื่อมโทรม  หรือกลัวว่าจะถูกขับไล่อีกต่อไป

เช่น  ชาวชุมชนร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  ร่วมกันสำรวจข้อมูล  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  รวมคน  รวมเงิน  ฝึกบริหารจัดการการเงินร่วมกัน  ร่วมกันออกแบบบ้านและผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการ  (กรณีอยู่อาศัยในชุมชนเดิมไม่ได้  อาจรวมกลุ่มกันเช่าหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ไม่ไกลจากเดิมมากนัก  เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ)  จัดทำแผนพัฒนาชุมชนหลังการก่อสร้างบ้านเสร็จ  ฯลฯ

ชาวบ้านช่วยกันลงแรงสร้างบ้าน  ทำให้ประหยัดงบ  สร้างบ้านได้เร็ว

ขณะที่ พอช. จะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือฝ่ายสนับสนุน  เช่น  ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  มีสถาปนิกชุมชนให้คำแนะนำการออกแบบบ้านและผังชุมชน  สนับสนุนสินเชื่อระยะยาวเพื่อก่อสร้างบ้านหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่  สนับสนุนงบด้านสาธารณูปโภคส่วนกลางและเงินอุดหนุนการก่อสร้างบ้าน (บางส่วน)   เมื่อก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว  พอช.จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชน  เช่น  การจัดการสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาอาชีพ  สร้างรายได้   สร้างแหล่งอาหารในชุมชน  ฯลฯ

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต   การดูแลผู้เปราะบาง  ผู้ด้อยโอกาส   ผู้ป่วยติดเตียง  ผู้สูงอายุ  ฯลฯ  เป็นการสร้างบ้าน “บ้านที่มากกว่าบ้าน”

ขยายสู่แผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปี

ก่อนปี 2560  ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า  ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21 ล้านครัวเรือน  ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเกือบ  6  ล้านครัวเรือน  เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ  3.5  ล้านครัวเรือน 

จากปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยดังกล่าว  รัฐบาล (ในขณะนั้น) ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศกว่า 3 ล้านครัวเรือน  มีวิสัยทัศน์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จัดทำแผนดำเนินการ  จำนวน 1 ล้าน 5  หมื่นครัวเรือน   กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนในที่ดินเช่าหรือบุกรุก  และการเคหะแห่งชาติ  ดำเนินการประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน  ในลักษณะให้ประชาชนเช่า  และเช่าซื้อ

โดยขณะนี้  พอช. อยู่ในระหว่างการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ทั้งในเมืองและชนบท  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  โครงการบ้านพอเพียง  (สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน  สภาพทรุดโทรม  ไม่ปลอดภัย)  กลุ่มคนไร้บ้าน  ชุมชนที่โดนไฟไหม้  ไล่รื้อ  (บ้านพักชั่วคราว)  ฯลฯ

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน  พอช.ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  ทั้งในเมืองและชนบทแล้ว  จำนวน 1,486  ชุมชน  รวม 127,920 ครัวเรือน   โครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 4,195 ตำบล  รวม 103,779  ครัวเรือน  ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  รวม 45 ชุมชน 3,539 ครัวเรือน  

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน   โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  รวม 1,395 ราย  กรณีเร่งด่วน  ไฟไหม้  โดนไล่รื้อ  รวม  6,041 ครัวเรือน  รวมทั้งหมด 242,674 ครัวเรือน/ราย

ชุมชนริมคลองลาดพร้าว  สร้างบ้านเสร็จแล้วใน 35 ชุมชน  กว่า 3,000 ครัวเรือน

กองทุนสวัสดิการชุมชน ตาข่ายรองรับทางสังคม

แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว  ที่ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร  ประชาชนทั่วไป  ไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจ  หรือบริษัทเอกชน   พอช. จึงสนับสนุนให้ชาวชุมชนรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา  เพื่อให้กองทุนเป็นเครื่องมือช่วยเหลือดูแลสมาชิกในชุมชน  เป็นกองทุนระดับตำบลหรือเทศบาล  ถือเป็น กองบุญ’ ที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา  เพราะเงินที่สมทบจะนำไปช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อนจำเป็น 

เริ่มจัดตั้งครั้งแรกในปี 2548   มีชุมชนนำร่องทั่วประเทศประมาณ 99  กองทุน  มีหลักการที่สำคัญ คือ ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  ขณะเดียวกันรัฐบาลจะสมทบงบประมาณผ่าน พอช.เข้ากองทุนในอัตรา 1 ต่อ 1  (ต่อมาภายหลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จึงร่วมสมทบ) แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน 

เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500-1,000 บาท  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100-200 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10คืน  ช่วยไฟไหม้  น้ำท่วม  ภัยพิบัติ  ไม่เกิน 2,000 บาท  ช่วยสมาชิกที่เสียชีวิต  3,000-20,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิกและสถานะการเงินของกองทุน)  ฯลฯ  โดยสมาชิกจะนำหลักฐานมาเบิกจ่ายที่คณะกรรมการ  

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา  จ.ระยอง  ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

แม้จำนวนเงินที่ช่วยเหลือจะไม่มากนัก  แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที  ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีระเบียบขั้นตอนมากมาย   ยิ่งเมื่อกองทุนสวัสดิการชุมชนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย  ยิ่งทำให้เกิดพลัง  ช่วยเหลือกันได้มากขึ้น  เช่น  เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ระดมข้าวของจำเป็นต่างๆ ไปช่วยชาวเกาะ สมุยที่ตกงานในช่วงโควิด  ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอต่างๆ  เมื่อเร็วๆ นี้

หลายกองทุนขยายไปส่งเสริมด้านอาชีพ  สร้างรายได้ให้สมาชิก  ซ่อม-สร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส  ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในตำบล  เช่น  นำเงินกองทุนไปซื้อกล้าไม้เพื่อให้สมาชิกช่วยกันปลูก  ปลูกสมุนไพร อนุรักษ์พันธุ์ปลา  ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ  เป็นดอกผลหรือสวัสดิการชุมชนในระยะยาว  ทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหาร   มีสมุนไพรใช้ในยามจำเป็น  เช่น   มีฟ้าทะลายโจรใช้ในช่วงโควิด-19  

เหล่านี้ล้วนเป็นตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) รองรับผู้เดือดร้อน  ผู้ยากลำบากที่คนในชุมชนจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลกันเอง !! 

นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  ตั้งแต่ต้นปี  2563  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับ พอช.  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์กรปกครองท้องถิ่น  อสม. ฯลฯ  จัดทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายประชาชนในท้องถิ่นรวมกันประมาณ 1 ล้านชิ้น

ยกระดับพัฒนากองทุนสวัสดิการแนวใหม่

ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ  จำนวน 5,509 กองทุน  สมาชิกรวม  6,166,928 คน  เงินกองทุนสะสมรวมกัน 19,148,079,027 บาท (เฉลี่ยมีเงินกองทุนละ 3.7 ล้านบาทเศษ) บางกองทุนมีสมาชิกระดับหลักร้อย  แต่หลายกองทุนมีสมาชิก 3-4 พันคน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทองมงคล  อ.บางสะพาน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  มีสมาชิก 3,512 คน

อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมารัฐบาลจะสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศผ่าน พอช.  เพื่อสนับสนุนกองทุนให้เติบโต  (เฉพาะสมาชิกกองทุนที่สมัครเข้าใหม่  มีอายุการเป็นสมาชิกครบ 1 ปี) แต่มีเงื่อนไข  คือ  รัฐบาล (โดยสำนักงบประมาณ) จะสมทบเงินไม่เกิน 3 รอบ  หรือ 3 ปี   เครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจึงมีข้อเสนอให้ปลดล็อกเงื่อนไขดังกล่าว   โดยเสนอให้รัฐบาลสมทบได้มากกว่า 3 รอบ  เพื่อส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเติบโต  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสได้ทั่วถึง

ผอ.พอช. (ที่ 3 จากซ้ายไปขวา) ร่วมงานกองทุนสวัสดิการชุมชน  จ.ลำปาง  เมื่อเร็วๆ นี้

นายกฤษดา   สมประสงค์  ผอ.พอช. กล่าวว่า  ข้อเสนอของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนนั้น  ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ (บอร์ด พอช.) ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณา  และมีความเห็นชอบตามข้อเสนอของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน   และจะนำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการต่อไป

 ส่วนเรื่องการลดหย่อนภาษีให้ภาคธุรกิจเอกชนที่สมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน  เพื่อสร้างแรงจูงใจให้องค์กรเอกชนหรือภาคธุรกิจในพื้นที่หรือระดับต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมากขึ้นนั้น

ผอ.พอช. กล่าวว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนถือเป็นรูปแบบการพัฒนาอีกด้านหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม  เพราะที่มาของกองทุนสวัสดิการชุมชนมาจาก 3 ส่วน  คือ  ประชาชน 1 ส่วน รัฐบาล 1 ส่วน และท้องถิ่น 1 ส่วน

“แต่ในระยะยาวกองทุนสวัสดิการชุมชนต้องการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น  โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ  เข้ามาเป็นส่วนที่ 4 ซึ่งหากมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชน  เชื่อว่าจะมีภาคเอกชนที่จะมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นจำนวนมาก   ซึ่งเรื่องนี้ บอร์ด พอช. ได้พิจารณาและเห็นชอบแล้ว    เบื้องต้นได้หารือกับกรมสรรพากร   โดยกรมสรรพากรได้เห็นด้วยในหลักการ   และมีข้อเสนอให้ พอช.  เป็นผู้รับบริจาค  จนกว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนจะมีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล  และให้ พอช. ยกร่างรายละเอียดเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป” 

ผอ.พอช.กล่าวและว่า  สิ่งที่สำคัญ  คือ  การพัฒนาให้องค์กรสวัสดิการชุมชนมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการที่เปิดเผย  และสามารถตรวจสอบได้  รวมทั้งการพัฒนารายได้ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้  ผอ.พอช. ยังได้กล่าวถึงแนวทางของ พอช. ในการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ว่า  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  พอช.จะดำเนินการยกระดับการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน  โดยการค้นหารูปธรรมความสำเร็จการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีนวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาที่มากกว่าด้านการเงิน

กองทุนสวัสดิการฯ ตำบลที่วัง อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช  นำขยะรีไซเคิลมาแลกของใช้ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

เช่น  การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น  ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น  การนำขยะรีไซเคิลมาให้กองทุนเพื่อรวบรวมไปขาย  หรือปลูกไม้ยืนต้น  ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่สาธารณะ  ในชุมชน  วัด  โรงเรียน  เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว  เพิ่มออกซิเจนให้ชุมชน  เช่น  สมาชิกปลูกต้นไม้ 10 ต้น  แบ่งให้กองทุนสวัสดิการ 5 ต้น  แล้วช่วยบำรุงดูแล  โดยสมาชิกไม่ต้องสมทบเงินเข้ากลุ่มเป็นรายปี  วิธีนี้จะทำให้สมาชิกที่ไม่มีรายได้  ไม่มีภาระในการสมทบเงิน  แต่จะได้รับสวัสดิการเหมือนสมาชิกทั่วไป   เมื่อต้นไม้เหล่านี้เติบโต  สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือขายเป็นรายได้ของสมาชิกและกองทุน 

รวมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกกองทุนปลูกไม้ยืนต้น ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ  ในพื้นที่ของตัวเอง  เป็นการออมต้นไม้มีค่าเพื่อเป็นรายได้หรือเป็นสวัสดิการในยามเกษียณ  ในลักษณะธนาคารต้นไม้  หากชุมชนใดมีต้นไม้เยอะ    ก็สามารถนำมาเข้าโครงการ  “คาร์บอนเครดิต” เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ประมาณ 50,000 บาทต่อชุมชน

“ตัวอย่างแนวทางการจัดสวัสดิการชุมชนแนวใหม่นี้   พอช. จะนำไปขยายผลและสนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้  เพื่อไม่ให้กองทุนหยุดนิ่ง  สามารถช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน”  ผอ.พอช. ยกตัวอย่างการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว  อ.ลานสกา  จ.นครศรีธรรมราช  สนับสนุนสมาชิกปลูกไม้มีค่า

เหลียวหลัง 22 ปี...เพื่อก้าวต่อไป

นอกจากบทบาทของ พอช. ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการส่งเสริมสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนดังกล่าวแล้ว   พอช.ยังมีโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อส่งเสริมชุมชนและองค์กรชุมชน  เช่น  ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท  ส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน  การส่งเสริมอาชีพ   แปรรูปผลผลิต     การท่องเที่ยวโดยชุมชน

ส่งเสริมประชาธิปไตยฐานราก  โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล (หรือเทศบาล) เพื่อเป็นเวทีปรึกษาหารือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  เชื่อมโยงท้องถิ่นมาทำงานร่วมกัน   การดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  การจัดการภัยพิบัติ   ฯลฯ  (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.codi.or.th)

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า  ในเดือนตุลาคมนี้   พอช.ดำเนินงานมาครบ 22 ปี  และกำลังย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 23  มีประสบการณ์และบทเรียนในการทำงานมากพอสมควร 

ขณะเดียวกัน  พอช. ได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  (นิด้า)  จัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี  (พ.ศ. 2566 – 2570)  โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการสถาบันฯ  คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  ผู้แทนหน่วยงานรัฐ  ภาคประชาสังคม  นักวิชาการ  ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน พอช. เพื่อทบทวน  สรุปบทเรียนการทำงาน  และนำมาจัดทำเป็นแผนงาน

โดยแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570  จะมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและขบวนองค์กรชุมชน เพื่อให้บรรลุผลตามวิสัยทัศน์ของ พอช.  คือ  “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย ในปี 2579”  โดยมีประเด็นการพัฒนา 4 เรื่องที่สำคัญ  คือ

1.การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง  เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองบนพื้นฐานทุนชุมชนท้องถิ่น  และผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2.การสานพลังความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายพัฒนา  สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย  เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่ชุมชนเข้มแข็ง  องค์กรชุมชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่

3.การพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้นำ คนและขบวนองค์กรชุมชน  เพื่อให้ผู้นำชุมชน  คนรุ่นใหม่  มีศักยภาพ  สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยุคใหม่   องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนสู่การพึ่งพาตนเอง

4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  โดย พอช. เป็นหน่วยงานกลางขององค์กรชุมชนและประชาสังคมในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   และบุคลากรมีสมรรถนะสูง  สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมสู่การบริหารจัดการในยุคดิจิทัล                     

“สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นองค์การมหาชน ที่จัดตั้งมากว่า 20 ปี  ภายใต้ระบบงบประมาณและบุคลากรในพื้นที่จำนวนจำกัด  กลไกในการดำเนินงาน คือ ขบวนองค์กรชุมชน  ประชาสังคม  ที่ทำงานร่วมกับภาคีการพัฒนา  ดังนั้น  การพัฒนาบุคลากร และผู้นำขบวนองค์กรชุมชนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และการหนุนเสริมทรัพยากรในการทำงานร่วมกัน  ทั้งการเชื่อมโยงกับองค์กรภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนงานพัฒนาไปด้วยกัน  เป็นสิ่งสำคัญ  ดังคำที่ว่า ‘เราจะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาด้วยกัน’ ” นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. กล่าวในตอนท้าย

ผอ.พอช. (ที่ 3 จากซ้ายไปขวา) ร่วมงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง ‘ ที่ พอช. เมื่อเร็วๆ นี้  โดยมีผู้นำชุมชน  และภาคีเครือข่าย  และนักวิชาการ  ร่วมงานอย่างคับคั่ง  เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเดินไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินในปี 2579”

 

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล