‘World Habitat Day 2022’ และ 22 ปี พอช. เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  ได้รับผลกระทบจากโครงการถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

UN – HABITAT   หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม  UN – HABITAT กำหนดคำขวัญว่า Mind  the  Gap  Leave No One and  Place  Behind” หรือ “ใส่ใจช่องว่าง  ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง”   ทั้งนี้ที่ผ่านมา  ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs  ทั่วโลก  จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทุกปี  เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้นๆ  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน

เครือข่ายสลัม 4 ภาคขอเช่าที่ดิน รฟท. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชาวชุมชน

ส่วนในประเทศไทย  หลายปีที่ผ่านมา  เครือข่ายสลัม 4 ภาคและประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  จะรวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งที่สำนักงาน UN ประจำประเทศไทย 

ในปีนี้  เครือข่ายสลัม 4 ภาคจะเดินทางมาที่หน้ากระทรวงคมนาคม  ถนนราชดำเนินนอก  เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินและระบบราง  เช่น  โครงการรถไฟความเร็วสูง  รางคู่  รถไฟเชื่อม 3  สนามบิน  มีชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ 35 จังหวัด  จำนวน 346 ชุมชน  รวม 27,096 หลังคาเรือน  ในจำนวนนี้หลายชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว  บางชุมชนอยู่ในระหว่างโดนดำเนินคดี  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีกรุงเทพฯ

ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี

ที่ผ่านมา  ชาวชุมชนริมทางรถไฟได้เคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-move  เพื่อผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา  โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565  คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท. ตามข้อเสนอของภาคประชาชนแล้ว

เช่น  ชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ถูก รฟท. ฟ้องร้องดำเนินคดี  ให้สามารถเช่าที่ดินเดิมที่อาศัยอยู่ในลักษณะสัญญาเช่าที่ดินชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี  ในอัตราค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี  หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว  ให้ รฟท. ไปแถลงต่อศาลเพื่อชะลอการดำเนินคดีระหว่างการดำเนินการทำสัญญาเช่าชั่วคราว  กรณีสิ้นสุดแล้วให้ รฟท. จัดหาพื้นที่รองรับใกล้เคียงกับชุมชนระหว่างรอที่อยู่อาศัยแห่งใหม่

ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไปโดยเร่งด่วน

บ้านมั่นคงแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนกว่า 1 ล้านครัวเรือน

ก่อนปี 2560  ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า  ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21 ล้านครัวเรือน  ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเกือบ  6  ล้านครัวเรือน  เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ  3.5  ล้านครัวเรือน 

จากปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยดังกล่าว  รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  มีเป้าหมายกว่า 3 ล้านครัวเรือนมีวิสัยทัศน์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จัดทำแผนดำเนินการ  จำนวน 1 ล้าน 5  หมื่นครัวเรือน   กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนในที่ดินเช่าหรือบุกรุก  และการเคหะแห่งชาติ  ดำเนินการประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน  ในลักษณะให้ประชาชนเช่า  และเช่าซื้อ

โดยขณะนี้  พอช. อยู่ในระหว่างการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ทั้งในเมืองและชนบท  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  โครงการบ้านพอเพียง  (สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน  สภาพทรุดโทรม  ไม่ปลอดภัย)  กลุ่มคนไร้บ้าน  ชุมชนที่โดนไฟไหม้  ไล่รื้อ  (บ้านพักชั่วคราว)  ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้ พอช.ได้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ บ้านมั่นคง’ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา  มีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน”  ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ไม่ต้องอยู่ในที่ดินบุกรุก  สภาพแออัด  เสื่อมโทรม  หรือถูกขับไล่อีกต่อไป

เช่น  ชาวชุมชนร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  ร่วมกันสำรวจข้อมูล  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  รวมคน  รวมเงิน  ฝึกบริหารจัดการการเงินร่วมกัน  ร่วมกันออกแบบบ้านและผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการ  (กรณีอยู่อาศัยในชุมชนเดิมไม่ได้  อาจรวมกลุ่มกันเช่าหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ไม่ไกลจากเดิมมากนัก  เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ)  จัดทำแผนพัฒนาชุมชนหลังการก่อสร้างบ้านเสร็จ  ฯลฯ

ชาวชุมชนช่วยกันลงแรงก่อสร้างบ้านทำให้ประหยัดงบประมาณ  เกิดการพึ่งพาช่วยเหลือกัน  และเป็นพลังที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนต่อไป 

ขณะที่ พอช. จะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือฝ่ายสนับสนุน  เช่น  ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสนับสนุนการรวมกลุ่ม  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  มีสถาปนิกชุมชนให้คำแนะนำการออกแบบบ้านและผังชุมชน  สนับสนุนสินเชื่อระยะยาวเพื่อก่อสร้างบ้านหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่  สนับสนุนงบด้านสาธารณูปโภคส่วนกลางและเงินอุดหนุนการก่อสร้างบ้าน (บางส่วน)   เมื่อก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว  พอช.จะสนับสนุนแผนการพัฒนาชุมชน  เช่น  การพัฒนาอาชีพ  การจัดการสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ

กฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน  พอช.ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  ทั้งในเมืองและชนบทแล้ว  จำนวน 1,486  ชุมชน  รวม 127,920 ครัวเรือน   โครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 4,195 ตำบล  รวม 103,779  ครัวเรือน  ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  รวม 45 ชุมชน 3,539 ครัวเรือน  (จากทั้งหมด 88 ชุมชน  กว่า 10,000  ครัวเรือน)

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน   โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  รวม 1,395 ราย  กรณีเร่งด่วน  ไฟไหม้  โดนไล่รื้อ  รวม  6,041 ครัวเรือน  รวมทั้งหมด 242,674 ครัวเรือน/ราย

โครงการบ้านมั่นคงในจังหวัดภูเก็ต  ช่วยให้คนจนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

‘22 ปี พอช.  และก้าวต่อไป

 พอช.’ จัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2543  มีภารกิจที่สำคัญหลายด้าน  เช่น  การสนับสนุนชุมชนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย   การพัฒนาอาชีพ  ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน  การดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  เสริมสร้างประชาธิปไตยฐานรากจากชุมชน  โดยสนับสนุนการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อเป็นกลไกลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน

นายกฤษดา  ผอ. พอช.  กล่าวด้วยว่า  ในเดือนตุลาคมนี้  พอช.จะดำเนินงานมาครบ 22 ปี   ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ดำเนินงานมาครบ 20 ปี   หน่วยงานในสังกัด พม.จึงร่วมกันจัดงาน  20 ปี พม. เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายนถึง 3 ตุลาคมนี้ ที่กระทรวง พม.

เพื่อสร้างการรับรู้  และแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย  รวมทั้งจะมีการจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกในวันที่ 3 ตุลาคมที่กระทรวง พม.ด้วย

“นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมนี้  พอช.  ชุมชน  และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ  จะร่วมกันจะจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทั่วภูมิภาค  เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมของชุมชน  ภายใต้แนวคิด ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’ และเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของขบวนองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมียุทธศาสตร์ มีทิศทาง และทำงานเชิงขบวนการที่กว้างขวางมากขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางเข้าร่วม รวมทั้งการผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ไขปัญหาระดับเมือง  ตำบล  และภูมินิเวศน์” ผอ.พอช.บอกถึงแผนงาน

ส่วนพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัยร่วมกัน  ระหว่าง พอช.  ชุมชน  และหน่วยงานภาคีเครือข่าย  ประกอบด้วย ชุมชนในที่ดิน รฟท.ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด (ภูมินิเวศน์อันดามัน  ระนอง พังงา กระบี่  ภูเก็ต  ตรัง สตูล)

ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

การพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร  คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่  คลองสำโรง จ.สงขลา การฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนแออัด  ชุมชนบุกรุกในกรุงเทพ ฯ ทั้ง 50 เขต  รวมทั้งการพัฒนาทั้งตำบลในเขตป่า   อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีชุมชนตั้งอยู่  ฯลฯ

นอกจากจะมีเป้าหมายให้ประชาชนมีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว  ยังเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนต่อไปได้...!!

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี  ดูแลนโยบายที่อยู่อาศัย  สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ

 

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล