ผู้ประกันตนออกจากงาน รักษาสิทธิต่อเนื่อง รีบยื่นสมัครมาตรา 39

ประกันตนมาตรา 33 เป็นหนึ่งในแรงงานสำคัญที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนมาโดยตลอด ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์รอบด้าน โดยเฉพาะกรณีว่างงาน ที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองนี้เมื่อถูกเลิกจ้าง ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยหากผู้ประกันตนออกจากงานแล้วไม่เกิน 6 เดือนและสมัครใจที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปจะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคมให้คุ้มครองต่อเนื่อง

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องเป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

สำหรับการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 นั้นจากเดิมปกติที่ผู้ประกันตนจะต้องนำส่งเงินสมทบทุกเดือน ในอัตราเดือนละ 432 บาท ซึ่งใช้ฐานการคำนวณเงินสมทบเดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (9% x 4,800) แต่ล่าสุดได้มีประกาศกฎกระทรวงลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 เหลือเดือนละ 240 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนเมื่อตาย กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออก ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ) หรือภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน) ดังนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

ทั้งนี้ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนสามารถส่งเงินสมทบได้หลายช่องทางผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร/หน่วยบริการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์โลตัส เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น-อีเลฟเว่น) ทุกสาขา เคาน์เตอร์ CenPay Powered by บุญเติม ผ่านระบบ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ หรือชำระเงินสมทบโดยหักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Line ID: @ssothai และทางเว็บไซต์ www.sso.go.th

Website: www.sso.go.th
Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Instagram: sso_1506
Twitter: @sso_1506
YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
LINE: @SSOTHAI
TikTok: @SSONEWS1506

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รู้ยัง! ผู้ประกันตนมาตรา 33-39-40 ส่งเงินสมทบประกันสังคม นำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพกรเปิดให้ผู้มีรายได้ยื่นแบบแสดง

รมว. "พิพัฒน์" ดูแลแรงงานอิสระ รับจ้าง เกษตรกร กว่า 1.8 แสนคน จ.พัทลุง สร้างหลักประกัน ม.40 ประกันสังคม เจ็บป่วยนอนพัก ได้เงินทดแทนขาดรายได้

รมว. "พิพัฒน์" ลงพื้นที่ จ.พัทลุง พบเครือข่ายผู้ประกันตน ชูมาตรา 40 สร้างหลักประกันให้แรงงานนอกระบบ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ

"บุญสงค์" เลขาธิการ สปส. ห่วงใย ผู้ประกันตน เสียชีวิตเหตุพลุระเบิด สุพรรณบุรี มอบ ผู้ตรวจราชการกรม ตรวจสอบข้อมูลเร่งจ่ายสิทธิประโยชน์โดยเร็ว

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 15.30 น. เกิดเหตุพลุระเบิด ที่บ้านข่อยงาม ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี