ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีคนตกงานมากขึ้น หลายคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ในภาพกลุ่มคนไร้บ้านรอรับการแจกอาหารริมถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายสิบปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน เช่น การไร้ที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ ขาดโอกาสทางการศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ
ข้อมูลจาก Credit Suisse (สถาบันการเงินรายใหญ่ของโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ศึกษาในช่วงปี 2551-2561 ระบุว่า คนรวยที่สุด 10% ในประเทศไทยถือครองสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และคนรวยสุด 1 % ของประเทศ ถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกันถึง 2,500 เท่าของค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนที่จนสุด 20 % แรกของประเทศ
ขณะที่ข้อมูลจากสำงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2564 ครัวเรือนไทยจำนวนเกินกว่าครึ่ง หรือ 51.5% มีหนี้สินเฉลี่ย 205,679 บาท/ครัวเรือน โดยหนี้สินค่าใช้จ่ายในครัวเรือนมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 75.4%
ส่วนการถือครองที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรก็มีความเหลื่อมล้ำไม่ต่างกัน เพราะคนจนไร้ที่ดินทำกินต้องเข้าไปทำมาหากินอยู่ในเขตป่า ในที่ดินรัฐ เช่น สวนปาล์มที่หมดสัมปทานจากรัฐ เพียง 5 ไร่ 10 ไร่ เพื่อเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงครอบครัว ต้องถูกจับขังคุกหรือถูกอิทธิพลมืดเข่นฆ่า แต่บรรดานักการเมืองและเจ้าสัวรายใหญ่ไม่กี่ตระกูลต่างถือครองที่ดินคนละหลายร้อยหลายพันไร่ เจ้าสัวบางคนถือครองที่ดินทั่วประเทศกว่า 630,000 ไร่
ด้านการศึกษา ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “มีเด็กไทยที่อยู่ใต้เส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,700 บาทต่อเดือนมากเกือบ 2 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า...มีเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึงเทอมละเกือบ 200,000 คน และจนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน ขณะที่พบว่ามีเกือบ 15% ของเด็กนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ยังไม่กลับเข้ามาในระบบการศึกษา...!!” ฯลฯ
‘สวัสดิการภาคประชาชน’ แนวคิดจาก ‘ครูชบ ยอดแก้ว’
ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ดังกล่าว บรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ต่างเห็นตรงกันว่า ‘เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ซึ่งจะต้องแก้ไขกันทั้งระบบ เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การกระจายทรัพยากร การแก้ไขกฎหมายการถือครองที่ดิน การปฏิรูปด้านภาษี เก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า การจัดสวัสดิการสังคมให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยดูเหมือนจะยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะมีอุปสรรคขวางกั้นนานัปการ ขณะเดียวกันภาคประชาชน คนเล็กคนน้อยในสังคม ปราชญ์ชุมชน ฯลฯ ก็มิได้รอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพียงอย่างเดียว พวกเขาต่างก็ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในจุดเล็กๆ เท่าที่ตนจะทำได้ เช่น ร่วมกันออมเงิน สะสมเงินเพื่อเป็นกองทุนในการกู้ยืมไปประกอบอาชีพ ใช้จ่ายในยามจำเป็น นำผลกำไรจากดอกเบี้ยมาช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บป่วย เดือดร้อน ฯลฯ
ดังตัวอย่างของ ‘ครูชบ ยอดแก้ว’ ครูประชาบาลจากโรงเรียนวัดน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันเสียชีวิต) ที่มองเห็นว่า ประชาชนทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทเอกชน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย จะหาเงินไปเป็นค่ารักษาพยาบาลก็ยาก บางครั้งไม่มีเงินแม้จะซื้อข้าวมากิน ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือเอาที่ดินไปจำนองเพื่อนำมาประกอบอาชีพ ส่งลูกหลานเล่าเรียน ฯลฯ
ครูชบ ยอดแก้ว (ภาพจาก facebook สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา)
ในปี 2522 ครูชบได้จัดตั้ง ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์’ ในโรงเรียนวัดน้ำขาวขึ้นมา เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความประหยัด อดออม มีสัจจะ โดยนำเงินออมมาช่วยเหลือกัน หลังจากนั้นจึงขยายผลไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลน้ำขาว
โดยมีแนวคิดคือ “ให้ชาวบ้านลดรายจ่ายเพียงวันละ 1 บาท แล้วนำเงิน 1 บาทมาสะสมร่วมกัน เพื่อให้คนเดือดร้อนกู้ยืม หรือนำไปประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย เมื่อกลุ่มมีรายได้จากดอกเบี้ยก็จะนำมาปันผลให้สมาชิก และช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกตั้งแต่เกิดจนถึงตาย”
หลักการสำคัญของกลุ่มสัจจะก็คือ สมาชิกและคณะกรรมการจะต้องมี ‘สัจจะ’ ทั้งในเรื่องการฝากเงินเข้ากลุ่มอย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา เมื่อกู้ยืมเงินจากกลุ่มไปใช้ก็จะต้องชำระเงินคืนตามสัจจะที่ให้ไว้แก่กลุ่ม เพื่อกลุ่มจะได้มีเงินเอาไว้ช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของครูชบยังมีเป้าหมายเพื่อ 1.ให้เกิดนิสัยพึ่งตนเอง มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว 2.เพื่อให้เกิดวินัยในตนเอง มุ่งมั่นการทำงานให้สำเร็จ 3.เพื่อให้เกิดนิสัยขยันหมั่น เพียร ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน และอดออม ฯลฯ
จะเห็นได้ว่ากลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของครูชบไม่ได้มีเพียงการ ‘ฝากเงินเพื่อกู้ยืม’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาคนทางอ้อม ให้มีวินัย มีสัจจะ มีความซื่อสัตย์ โดยใช้เงินหรือกลุ่มสัจจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนา...
เมล็ดพันธุ์ที่งอกงาม...
จากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ในช่วงเวลาต่อมาครูชบได้ขยายแนวคิดไปสู่ ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิต’ โดยสมาชิกจะต้องนำเงินมาฝากที่กลุ่มเดือนละ 1 ครั้ง สมาชิกที่เดือดร้อนจำเป็นจะกู้ยืมเงินไปหมุนเวียนประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายในครอบครัว โดยเสียดอกเบี้ยตามที่กลุ่มกำหนด
เมื่อถึงสิ้นปีกลุ่มจะนำผลกำไรมาเฉลี่ยแบ่งปันสมาชิก 50 % ส่วนอีก 50 % จะนำมาจัดตั้งเป็น ‘กองทุนสวัสดิการ’ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกจนครบวงจรชีวิต หรือช่วยเหลือสมาชิกในยาม ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ รวมถึงนำเงินมาพัฒนาสาธารณประโยชน์ในตำบลด้วย
ในปี 2542 กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิตตำบลน้ำขาว มีสมาชิกทั้งหมด 19 กลุ่ม จำนวนสมาชิกทั้งหมด 2,653 คน มีเงินออมรวมกันทั้งหมด 10.9 ล้านบาทเศษ และมีเงินกองทุนสวัสดิการรวม 3.6 ล้านบาทเศษ ถือเป็นต้นแบบของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ
ในช่วงปี 2547 ครูชบได้เดินสายไปให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีแนวคิดจะจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เพื่อช่วยเหลือกันเอง โดยมีหลักคิดคือ “ให้สมาชิกลดค่าใช้จ่ายวันละ 1 บาท เพื่อนำมาสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการ เมื่อมีเงินกองทุนมากขึ้นก็นำเงินมาช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย”
แม้วันนี้ครูชบ ยอดแก้ว จะเสียชีวิตไปแล้ว (เสียชีวิตปี 2556 สิริอายุ 78 ปี) แต่เมล็ดพันธุ์ที่ครูหว่านเอาไว้ได้งอกงามและเบ่งบาน เพราะกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ และต่อยอดไปเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็น ‘สวัสดิการภาคประชาชน’ ที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม...!!
(เฉพาะในจังหวัดสงขลา จากการริเริ่มของครูชบในปี 2522 ปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อพฤศจิกายน 2565) จังหวัดสงขลามีกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 140 กองทุน สมาชิกรวม 131,898 คน เงินกองทุนรวม 219 ล้านบาทเศษ)
รูปจำลองของครูชบ ตั้งอยู่ที่สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา
จากกลุ่มสัจจะขยายผลสู่กองทุนสวัสดิการชุมชน
แนวคิด “สะสมเงินเพียงวันละ 1 บาทเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือกัน” -ของครูชบ ยอดแก้ว ในเวลาต่อมาได้ถูกต่อยอดจากชุมชนหลายแห่ง จนพัฒนามาเป็น ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2548 โดยนำร่องจัดตั้งจำนวน 99 กองทุนทั่วประเทศ เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล หรือเทศบาล (หากเป็นกรุงเทพฯ จะเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับเขต)
หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ ประชาชนจะต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการขึ้นมา แล้วคัดเลือกคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ เช่น มีคณะกรรมการบริหาร ฝ่ายบัญชี พิจารณาความช่วยเหลือ ฝ่ายตรวจสอบ ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ สมาชิกกองทุนจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือเดือนละ 30-31 บาท หรือปีละ 365 บาท เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็น เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร เสียชีวิต ทุนการศึกษาเด็ก ประสบภัยธรรมชาติ ไฟไหม้ ฯลฯ
ส่วนจำนวนเงินและวิธีการช่วยเหลือก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของสมาชิกแต่ละกองทุนที่จะกำหนดระเบียบขึ้นมาตามความเหมาะสมของสถานภาพของกองทุน กองทุนที่มีสมาชิกเยอะ มีเงินกองทุนมาก ก็สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้มากและหลากหลายประเภท เช่น ช่วยแม่คลอดบุตรรายละ 500-1,000 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ช่วยค่ารถหรือค่าเยี่ยมไข้วันละ 100-300 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน เสียชีวิต (ช่วยตามระยะเวลาที่เข้าเป็นสมาชิก) 3,000-30,000 บาท ฯลฯ
แม้ว่าจำนวนเงินที่ช่วยเหลืออาจจะดูไม่มากมาย แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที ไม่มีกฎระเบียบ ขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพียงนำหลักฐาน เช่น ใบรับรองแพทย์มาแสดงกับคณะกรรมการกองทุนฯ ที่รับผิดชอบก็สามารถเบิกเงินมาใช้ตามความจำเป็นได้ !!
(ภาพจาก face book สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา)
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ โดยรัฐจะร่วมสมทบงบประมาณผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เข้าสู่กองทุน ในอัตรา 1 ต่อ 1 (ประชาชนสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 365 บาท รัฐจะสมทบ 365 บาท) นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. อบจ. ก็สามารถสมทบเงินเข้ากองทุนได้ รวมทั้งกองทุนยังสามารถรับเงินบริจาคจากภาคเอกชน หรือนำไปลงทุนเพื่อให้เงินกองทุนงอกเงยได้ เช่น ซื้อพันธบัตร สลากออมสิน ฯลฯ
ดังตัวอย่าง กองทุนออมทรัพย์สวัสดิการประชาชนตำบลอุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน จัดตั้งขึ้นในปี 2550 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 7,000 คน มีสวัสดิการช่วยสมาชิกถึง 24 ประเภท เช่น คลอดบุตร รับขวัญบุตร 500 บาท ช่วยเหลือแม่ 500 บาท, บวชเป็นพระภิกษุ 1 พรรษาขึ้นไป-เป็นทหารเกณฑ์ช่วย 3,000 บาท, จบปริญญาตรีช่วย 1,500 บาท, แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ช่วย 1,000 บาท, สวัสดิการผู้สูงอายุ (60-80 ปี) ช่วยปีละ 600-1,800 บาท, เสียชีวิตช่วย 2,500-7,000 บาท ฯลฯ ขณะที่เทศบาลตำบลอุโมงค์ได้สนับสนุนการจัดสวัสดิการแก่ประชาชน โดยสมทบเงินเข้ากองทุนประมาณปีละ 1 ล้านบาท
เทศบาลตำบลอุโมงค์มอบงบสนับสนุนในปี 2564
สวัสดิการที่มากกว่าเงิน
แก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ ซึ่งมีบทบาทส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง บอกว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนหากพูดในหลักของธรรมะ ถือเป็น ‘กองบุญ’ ที่สมาชิกทุกคนร่วมกันบริจาค หรือสมทบเงินเข้ามาเพื่อเป็นกองบุญคนละ 1 บาท เพื่อเป็นเงินเอาไว้ดูแลสมาชิกในยามทุกข์ยากลำบาก หรือคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนก็ยังช่วยเหลือ เช่น ผู้ด้อยโอกาส พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ
รวมทั้งยังช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน เช่น ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลป่าชุมชน แหล่งน้ำ สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติในป่า ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา ดูแลและปกป้องท้องทะเลหน้าบ้าน อนุรักษ์สัตว์น้ำ ฯลฯ ทำให้มีแหล่งอาหารเอาไว้ให้ลูกหลาน เป็นสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืน
เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลออย อ.ปง จ.พะเยา ในช่วงกลางปี 2557 พื้นที่ในอำเภอปงเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ชาวบ้านไม่มีน้ำในการทำนา แกนนำกองทุนสวัสดิการจึงมีแนวคิดในการสร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยนำไม้ไผ่และกระสอบทรายมากั้นทำเป็นฝาย ในช่วงฤดูฝนน้ำที่หลากมาจะไม่ไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฝายจะช่วยชะลอทำให้น้ำไหลล้นไปอย่างช้าๆ และน้ำที่ถูกกักเอาไว้จะค่อยๆ ซึมลงไปอยู่ใต้ดิน
ในช่วงฤดูแล้งจะช่วยให้ชาวบ้านทั้งตำบลมีน้ำใช้ ถือเป็น “ฝายมีชีวิต” เพราะเกิดแหล่งอาหารทั้งในน้ำและริมตลิ่ง เช่น มีผักกูด สาหร่าย ตะไคร่น้ำ มีฝูงปลามาอาศัย และสร้างเขตอภัยทานบริเวณลำน้ำหน้าวัด เพื่อให้ปลาได้แพร่พันธุ์ และยังทำให้ผืนดินชุ่มชื้น ไม่แห้งแล้ง ช่วยป้องกันการเกิดไฟป่า และป้องกันโรคที่เกิดจากควันไฟป่า เช่น โรคทางเดินหายใจในเด็กและคนชรา
นอกจากนี้สมาชิกกองทุนยังช่วยกันปลูกแฝกเพื่อป้องกันตลิ่งริมน้ำพังทลาย ช่วยลดปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาใบไม้ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเกิดโรคทางเดินหายใจ โดยช่วยกันทำ “เสวียน” คือเอาไม้ไผ่มาสานและขัดเป็นวงกลมรอบต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ใบไม้ที่ร่วงลงมากลายเป็นปุ๋ย โดยนำน้ำหมักชีวภาพรดใส่กองใบไม้แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย ช่วยลดการเผาใบไม้ ลดปัญหาฝุ่นและควันไฟ ถือเป็น “สวัสดิการที่มากกว่าตัวเงิน”
‘ฝายมีชีวิต’ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งอาหาร ยังประโยชน์แก่ทุกสรรพสิ่ง
นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศได้นำเงินกองทุนของตนเองมาผลิตหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปประมาณ 1 ล้านชิ้นทั่วประเทศ รวมทั้งยังนำข้าวปลา อาหารสดแห้ง รวมทั้งสิ่งของจำเป็นแจกจ่ายให้แก่พี่น้องในชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดด้วย ถือเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันในยามเดือดร้อน
พัชรี บุญมี ประธานกองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ บอกว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรกในปี 2563 คณะกรรมการกองทุนฯ จึงมีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด มีการจัดทำหน้ากากผ้าอนามัยกว่า 10,000 ชิ้น แจกประชาชนทั้งตำบล ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือประชาชนทั่วไป เพราะโควิดมันไม่เลือกหน้า และให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคด้วย
“ในช่วงโควิดแพร่ระบาด คณะกรรมการกองทุนคุณธรรมฯ ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยเราร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ร่วมกับเทศบาลตำบลเมืองแก จัดตั้งศูนย์คัดกรองโควิดในหมู่บ้าน จัดตั้งศูนย์กักกันผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับ รพ.สต.เมืองแกและโรงพยาบาลท่าตูมฉีดวัคซีนให้ประชาชน ใช้งบประมาณจาก สปสช.แจกเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยในตำบล และใช้งบของกองทุนคุณธรรมฯ แจกอาหารแห้ง น้ำดื่มที่จุดพักคอยและกักกันในตำบล รวม 18 จุด ใช้งบ 13,200 บาท” ประธานกองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแกบอก
กรรมการกองทุนฯ ตำบลเมืองแกออกแจกหน้ากากผ้าอนามัยป้องกันโควิดให้ชาวบ้าน
(ติดตาม “สวัสดิการภาคประชาชน” ลดความเหลื่อมล้ำ...สร้างนวัตกรรมทางสังคม (2)
*************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ