เสียงจาก ‘ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค’ ถึงพรรคการเมือง และสัญญาประชาคมหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม

แบนเนอร์การจัดเวทีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองที่นิด้าวันที่ 24 เมษายนนี้

พลันที่สัญญาณการแข่งขันทางการเมืองดังขึ้น ... เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ  ประกอบด้วย  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  เครือข่ายแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านสวัสดิการชุมชน  กลุ่มองค์กรชุมชนด้านเศรษฐกิจฐานราก  และเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการป้องกันและต่อต้านการทุจริต  ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมืองที่กำลังชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ !!

เอกนัฐ  บุญยัง  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเอกชน  เช่น  สภาหอการค้า  และสมาคมธุรกิจต่างๆ  มักจะมีส่วนในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อพรรคการเมือง  และพรรคการเมืองก็จะรับฟังและนำไปปฏิบัติ   ขณะที่เสียงของภาคประชาชนที่พรรคการเมืองอ้างถึงมาตลอดก็มักจะถูกละเลย 

“การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา  เป็นการพัฒนาที่กำหนดจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง  ประชาชนไม่มีบทบาทสำคัญชุมชนไม่มีส่วนร่วม  จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของประชาชน  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม  ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ  ประสบปัญหาความยากจน  เกิดความไม่เป็นธรรม  สร้างความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม”  เอกนัฐบอก

ดังนั้น   ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนี้  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคจึงได้ระดมข้อเสนอด้านต่างๆ ที่ประชาชนทั่วประเทศประสบ  และเป็นอุปสรรคต่ออการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไปสู่ความเข้มแข็ง  เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น   ให้ชุมชนเข้าถึงสิทธิและทรัพยากรต่างๆ  จึงมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้  ดังนี้

(ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

1.ระบบการเมือง-การปกครอง

ด้านการกระจายอำนาจ : ข้อเสนอ  1.แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ  2.สนับสนุนความเป็นอิสระของท้องถิ่น  สามารถจัดเก็บรายได้และบริหารงบประมาณได้ด้วยตนเอง  เกิดการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอย่างเท่าเทียม  ท้องถิ่นสามารถเข้าถึงทรัพยากรของตนเอง  มีส่วนในการจัดทำแผนพัฒนาทุกระดับ

3.สนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกหนึ่งของการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และเข้าไปเป็นกลไกในการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สามารถขอรับงบประมาณโดยตรงได้   4.ให้ทุกจังหวัดที่มีความพร้อมสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้

นโยบายต่อต้านการทุจริต  :  ข้อเสนอ  1.พรรคต้องไม่เสนอหรือแต่งตั้งให้บุคลากรของพรรคที่เคยและหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีตำแหน่งทางการเมือง  2.พรรคต้องจัดให้มีกลไก และเครื่องมือในการติดตามและรายงานการดำเนินงานของรัฐบาล  ฝ่ายนิติบัญญัติ  หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบต่อสาธารณะ 

3.พรรคการเมืองจะผลักดันให้สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลโครงการและงบประมาณของหน่วยงานรัฐต่อสาธารณะ  และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย  4.พรรคต้องสนับสนุนให้เครือข่ายประชาชนสร้างสังคมสุจริตเป็นกลไกขับเคลื่อนงานสร้างสังคมสุจริตและเฝ้าระวัง  ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ระดับตำบล/เทศบาล/จังหวัด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

2.ด้านเศรษฐกิจ

ข้อเสนอ  1.ใช้เศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Model (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย Bio Economy , Circular Economy  และ Green Economy) ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน  โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ  การเปิดช่องทางให้เข้าถึงแหล่งงบประมาณดอกเบี้ยต่ำของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนระหว่างหน่วยงานรัฐกับชุมชน  หรือเอกชนกับชุมชน  การช่วยเหลือด้านการตลาดอย่างเป็นระบบทั้งภายในและนอกประเทศ

2. 2. สนับสนุนชุมชนที่อาศัยอยู่ทั้งในและนอกเขตป่าอนุรักษ์แบบครบวงจร ตามแนวทาง BCG เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และการปกป้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกลไกเฝ้าระวังผลกระทบการค้าเสรี  ถ้าหากเกิดขึ้น และรัฐต้องชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม

3.สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจเกื้อกูลระดับภาค หรือกลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงด้านการผลิตและการตลาดระหว่างกัน  รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกื้อกูลทั้งในระดับภาค   กลุ่มจังหวัด  และจังหวัด

4.ส่งเสริมการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นบ้านอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่สีเขียว  และการสร้างพื้นที่ป่าในพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนท้องถิ่น

5.จัดตั้งโครงข่ายธุรกิจ  สร้าง Modern Trade ชุมชน  ใช้แนวทางแผนธุรกิจเพื่อชุมชน (Community Business Model Canvas : CBMC) และส่งเสริมแนวทางนี้  โดยมาตรการงดเว้นและยกเลิกการจัดเก็บภาษีองค์กรที่มีการดำเนินการตาม CBMC

6.ส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการนำผลผลิตทางการเกษตร  ทรัพยากรท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า  เช่น  การผลิตสุรา  พลังงาน  ที่ดิน  ฯลฯ  โดยแก้ไขกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดของชุมชน ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญา และทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า

7.แก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำอย่างเป็นระบบ  ตั้งแต่เรื่องต้นทุนการผลิต   เครื่องจักรการเกษตร/นวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสม   พ่อค้าคนกลาง  โดยกำหนดโครงสร้างราคาผลผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นธรรม

3. ด้านสังคม

นโยบายส่งเสริมสวัสดิการภาคประชาชน  :  ข้อเสนอ 1.ให้ส่งเสริมสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนในรูปแบบ “หุ้นส่วน” อย่างต่อเนื่อง  2.ให้สนับสนุนงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน 1 ล้านบาทต่อ 1 กองทุน อย่างต่อเนื่อง  3.ให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. ….

นโยบายด้านการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดิน  :  หลักการสำคัญ  การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย  เพื่อสร้างความเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  เนื่องจากการเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  การบริหารจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินต้องดำเนินไปบนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน  และวิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น  

รวมไปถึงการดำเนินการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  ควรให้ความสำคัญและการนำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  วิถีชุมชน  รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้มีโอกาสโต้แย้ง   หรือหักล้างข้อกล่าวหาอย่างเท่าเทียม  มิใช่พิจารณาเพียงเอกสารทางราชการเท่านั้น

กลุ่มชาติพันธุ์  แม้จะอยู่อาศัยในป่ามาก่อนมีกฎหมายใช้บังคับ  แต่มักจะถูกนโยบายและกฎหมายขับไล่ออกจากป่า

ดังนั้นขบวนองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชนจึงมีข้อเสนอสำคัญดังนี้  1.สนับสนุนนโยบายสำคัญวาระแห่งชาติในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากจนและผู้มีรายได้น้อย และจัดทำแผนงานงบประมาณ  ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต (เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม สุขภาพ) ทุกมิติ   โดยมีหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเป็นกลไกร่วมในการบริหารจัดการทุกระดับ  ชุมชน  หมู่บ้าน  เมือง/ตำบล  จังหวัด  กลุ่มจังหวัด  รวมทั้งพัฒนากฎหมาย มาตรการรองรับการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล/เมือง  จังหวัด ในการบริหารจัดการด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และภูมินิเวศวัฒนธรรม

2.สนับสนุนและผลักดันให้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย” ในระดับจังหวัด เมือง/ตำบล และสนับสนุนให้การดำเนินการแบบหุ้นส่วนการพัฒนาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยชุมชนเป็นแกนหลัก

3.ต้องกำหนดมาตรการในเชิงกฎหมายเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่นำไปสู่การปฏิบัติการอย่างแท้จริง และสนับสนุนให้คนจน ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่ดินได้อย่างเป็นธรรม ดำเนินการรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกัน  ได้แก่  พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  พ.ร.บ.กองทุนธนาคารที่ดิน  พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน

4.กรณีนโยบายที่ดิน คทช. ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต้องยกระดับการดำเนินโครงการจัดที่ดินให้รับรองสิทธิชุมชนและเกษตรกรในการบริหารจัดการที่ดิน ประกอบกับการทบทวนการจัดที่ดินแปลงรวมตามนโยบาย คทช. และเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อย คนยากจน ไร้ที่ดิน ให้สามารถเข้าถึงที่ดินและปัจจัยการผลิตอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม  ไม่จำกัดโอกาสการเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อย  เพื่อให้สามารถพัฒนาและขยายกำลังการผลิต และแข่งขันได้  ฯลฯ

5.ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน จัดให้มีกลไกหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และเพิกถอนเอกสารสิทธิ์กรณีพื้นที่ชนเผ่า  ชาติพันธุ์ และชนพื้นเมือง  และคุ้มครองสิทธิชนเผ่า  กลุ่มชาติพันธุ์ และชนพื้นเมือง    ตามสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน  ข้อตกลง  และปฏิญญาที่เกี่ยวข้อง

6.ที่ดินรัฐที่หน่วยงานต่าง ๆ ครอบครองไว้จำนวนมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์  เช่น  ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่ดินราชพัสดุ  ที่ดินสาธารณะ  รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ในการนำที่ดินเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยรองรับคนจน  ผู้มีรายได้น้อย ในที่ดินของรัฐ

7.โครงการหรือกิจการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่  โดยเฉพาะคนจน ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางที่ต้องเสียสละที่อยู่อาศัยและที่ดินเดิมให้กับโครงการพัฒนาต่างๆ  รัฐบาลควรมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐที่ดำเนินโครงการคิดงบประมาณในการอุดหนุนด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ที่ดินและการพัฒนาสาธารณูปโภค  เพื่อให้ประชาชนจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ได้  และที่สำคัญเป็นการลดภาวะความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ เป็นตัวอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ

เอกนัฐ  บุญยัง  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค  กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดดังกล่าวนี้   ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  5  ภาค  จะนำเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ  ในการจัดเวที ‘’จับตานโยบายพรรคการเมือง  เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง  เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” ที่สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า)  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ ในวันที่ 24 เมษายนนี้

“เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ รับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน  และแสดงจุดยืน  แนวนโยบายในการส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง   และภายหลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งทั่วประเทศแล้วประมาณ 7,000  แห่ง  จะร่วมกันติดตามการทำงานของพรรคการเมืองทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบายว่าได้ทำตาม  ‘สัญญาประชาคม’ ที่ให้ไว้หรือไม่ ?” 

สิทธิของประชาชนไม่ได้มีเฉพาะวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น !!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

ดร.เสรี บอก 'สลิ่ม' อย่าเพิ่งดีใจว่าก้าวไกลจะโดนยุบพรรค

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า "สลิ่มอย่าเพิ่งดีใจไปว่าพรรคก้าวไกลจะโดนยุบพรรค เพราะเขา

'จตุพร' ชี้ 1% 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ถึงศาล รธน.ไม่รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยไว้พิจารณา เพราะคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยื่นนั้น แตก

เพื่อไทยได้ครูดี! 'ฮุนเซน' แนะพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ ต้องทำงานเพื่อประชาชน

ที่ประเทศกัมพูชา นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค และคณะกรรมการ

ระทึก! กกต.ชงศาลรธน.ยุบพรรคก้าวไกลแล้ว จับตา 20 มีนา.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกก