10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (1) กองทุนตำบลบาโงยซิแน จ.ยะลา ‘พลังสตรีแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว’

กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเสมือนตาข่ายรองรับผู้ยากลำบาก  ผู้เดือดร้อนในสังคม

กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน  โดยการสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท แล้วนำเงินนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในยามเดือดร้อนจำเป็น

ปัจจุบันเป็นเวลา 19 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขต(ในกรุงเทพฯ) แล้ว  จำนวน 5,951 กองทุน  สมาชิกรวมกัน 6,773,362 ราย  มีเงินกองทุนสะสมรวม 21,355,537,123 บาท (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3.5 ล้านบาท)  ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในยามเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ฯลฯ  รวมกันจำนวน  6,626,574 ราย  เงินช่วยเหลือรวม 5,307,352,773 บาท ถือเป็นตาข่ายรองรับผู้เปราะบางทางสังคม

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ใช่ตัวเงิน  เช่น  การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ  อนุรักษ์ป่าไม้  ป่าชุมชน  ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา  สร้างแหล่งอาหาร  แหล่งน้ำในการเกษตร  ส่งเสริมอาชีพ ประเพณี  วัฒนธรรม  ฯลฯ  ทำให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตและยั่งยืน  และที่สำคัญยังถือเป็นการ ‘สร้างนวัตกรรมทางสังคม’ ขึ้นมาด้วย  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www. thaipost.net/public-relations-news/332613/ และ www.thaipost.net/public-relations-news/332721/)

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ตั้งแต่เมื่อปี 2516 เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย  ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงวัยสุดท้ายของชีวิตได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม

รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’

การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา  โดยภาคประชาชนเป็นแกนหลัก  ถือเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การยกย่องและน่าส่งเสริม  ดังนั้นหน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน  เช่น  วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครอง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ  จึงร่วมกันจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 2559

คือรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  และผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบทในเมืองไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.psds. tu.ac.th/puey )

มีเป้าหมายเพื่อ 1.ยกย่อง เชิดชู องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ  2.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและกองทุนสวัสดิการในพื้นที่  โดยเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของบริการ และขยายผลกองทุนให้เกิดขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศ 3.เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล ภาคเอกชน และสังคม  ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิตปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และนำไปสู่การพัฒนานโยบายระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนและชุมชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม

 ทั้งนี้ที่ผ่านมา หน่วยงานภาคีต่างๆ ได้ร่วมกันจัดประกวดไปแล้ว 6 ครั้ง (เว้นช่วงโควิด-19)  มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลไปแล้ว  รวม 48 กองทุน  โดยในปี 2566 เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 7 มีรางวัลประเภทต่างๆ รวม 10 ด้าน  มีกองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวด  รวม 69 กองทุน  คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือก  และประกาศผลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  ประกอบด้วย

รางวัลประเภทที่ 1 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก  :  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน  อ.ยะหา  จ.ยะลา   ประเภทที่ 2 ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร : กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

ประเภทที่ 3 ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน  ประเภทที่ 4 ด้านการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการดำรงชีวิต : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม

ประเภทที่ 5 ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์   ประเภทที่ 6 ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม   อ.พิชัย  จ.อุตรดิตถ์  

ประเภทที่ 7 ด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี อ.นาโยง  จ.ตรัง ประเภทที่ 8 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน  :  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  อ.เมือง  จ.นครพนม

ประเภทที่ 9 ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม  :  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส  ประเภทที่ 10 ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ  : กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด  อ.ผักไห่  จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยทั้ง 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้  จะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณในวันที่ 9 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

พิธีมอบรางวัลเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา  โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล  ประธานสถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์ (ที่ 7 จากซ้ายไปขวา) เป็นผู้มอบรางวัล ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ดร.ป๋วยเคยเป็นผู้ว่าการฯ และสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศอย่างมากมาย

กองทุนตำบลบาโงยซิแน อ.ยะหา  จ.ยะลา (รางวัลประเภทที่ 1) ‘พลังสตรีแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว’

 กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 มีคณะกรรมการกองทุนฯ จำนวน 14 คน มีจำนวนสมาชิกครอบคลุม 6 หมู่บ้าน (ประชากรทั้งตำบลจำนวน  8,729 คน)  โดยมีสมาชิกแรกเริ่มประมาณ 500 คน มีเงินกองทุน 50,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 3,835 คน  มีเงินกองทุน 998,816 บาท

สมาชิกมีดังนี้ 1.บุคคลทั่วไป 1,503 คน 2.เด็กและเยาวชน 925 คน 3.ผู้สูงอายุ 721 คน 4.ผู้ด้อยโอกาส 554 คน และ 5.ผู้พิการ 132 คน 

ส่วนสวัสดิการที่ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาส  มี 14 ประเภท คือ 1.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 2.สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วยรักษาพยาบาล 3.สวัสดิการผู้สูงอายุ 4.สวัสดิการกรณีเสียชีวิต 5.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ 6.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/คนพิการ 7.สวัสดิการเพื่อพัฒนาอาชีพ 8.สวัสดิการเพื่อการศึกษา 9.สวัสดิการประเพณีวัฒนธรรม 10. สวัสดิการเพื่อที่อยู่อาศัย (ซ่อม/สร้างบ้าน) 11.สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 12.สวัสดิการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 13.สวัสดิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 14.สวัสดิการอื่น ๆ

กองทุนฯ จะมีการประชุมคณะกรรมการทุกวันที่ 5 เดือน  และกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 1 ครั้ง  คนละ 360 บาทต่อปี   โดยจะเปิดรับสมาชิกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายนของทุกปี  

จุดเด่นสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแนนอกเหนือจากการจัดสวัสดิการ 14 ประเภท คือการที่คณะกรรมการกองทุนฯ และสมาชิกกว่า 3,835 คน ได้เห็นได้รับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวของเพื่อนสมาชิกกองทุนฯ จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาภายใต้บริบทของชุมชนมุสลิมเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว  ด้วยการ “จัดสวัสดิการให้คำปรึกษาครอบครัว” ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่  ทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาทางสังคม จนเกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ และขยายผลในระดับจังหวัดได้

รวมทั้งยังทำให้กองทุนสวัสดิการฯ ได้รับรางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ ‘ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก’ ประจำปี 2566

การประชุมหารือของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน

กองทุนสวัสดิการช่วยแก้ปัญหาครอบครัว 115 ราย

ปัจจุบันในพื้นที่ตำบลบาโงยซิแน  มีปัญหาการทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้หญิง  เป็นปัญหาหลักและเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการไม่เลี้ยงดูครอบครัวของฝ่ายชายเพิ่มขึ้นจากสาเหตุยาเสพติด  ปัญหาการขอหย่าของฝ่ายชาย และไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้หญิงอย่างเหมาะสม โดยพบกรณีที่ผู้ชายไปดำเนินการขอหย่าที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งฝ่ายภรรยาไม่ทราบเรื่องมาก่อน ผู้หญิงจึงเหมือนถูกทอดทิ้ง ถูกละเลย และตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเข้าถึงความยุติธรรม (ข้อมูล : เอกสารถอดบทเรียนการทำงานเพื่อเสริมพลังอาสาสมัครสตรีในศูนย์ให้คำปรึกษาประจำจังหวัดและศูนย์ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้, 2566)

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเข้ามามีบทบาทเป็นเวทีกลางในการพูดคุยและแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ผ่านเครือข่ายกลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน และการมีเวทีประชาคมในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมในทุกมิติ ซึ่งการใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการพูดคุยร่วมกัน แชร์ประสบการณ์การทำงาน  หาทางออก และการออกแบบร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน โดยมีกระบวนการเก็บข้อมูลสมาชิกที่ประสบปัญหาเอาไว้เป็นความลับ ไม่เปิดเผย มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ (อามานะฮ์) ตามหลักศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนบาโงยซิแนนยังเป็นแกนหลักการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในทุกมิติ เพื่อให้เกิดเป็นแผนการพัฒนาตำบลที่เป็นองค์รวม พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และเป็นต้นแบบกองทุนสวัสดิการชุมชนของจังหวัดยะลา  โดยการเปิดช่องทางสื่อออนไลน์ ให้คำปรึกษาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงหน่วยบริการอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกในการจัดสวัสดิการให้คำปรึกษาครอบครัวได้สำเร็จแล้วจำนวนกว่า 115 ราย ส่วนใหญ่เป็นกรณีปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดแล้วส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัว 

จากการที่คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแนดำเนินงานจัดสวัสดิการและยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในตำบลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  รวมทั้งยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงภาคีการพัฒนาในระดับต่าง ๆ มีการวิเคราะห์ภาพรวมการทำงาน  บทบาทของสตรีที่เข้าไปขับเคลื่อนงานด้านสังคมภายใต้องค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดนั้นว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จึงได้เป็นแกนหลักในการจัดตั้ง “สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์” จังหวัดยะลา (เป็นนิติบุคคล) ในปี พ.ศ.2561 เพื่อรวบรวมเครือข่ายสตรีที่ดำเนินงานในจังหวัดยะลาให้มีแนวทางการทำงานแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมสร้างพลังเครือข่ายในการต่อรองและเสริมศักยภาพ 

กล่าวได้ว่าการดำเนินงานดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และสามารถดึงหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมเป็นภาคีสนับสนุนทรัพยากร  ทั้งในรูปแบบของงบประมาณและองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา  โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิและความเสมอภาคทางเพศภายใต้บริบทของสังคมมุสลิม  โดยมีการดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับชาวมุสลิมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาและสังคมวัฒนธรรมอิสลาม

การขับเคลื่อนงานที่สำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน คือ ‘การใช้กลไกของสมาคมมุสลีมะฮ์’  มาเป็นพลังในการขยายผลการขับเคลื่อนงานที่กว้างขวางขึ้น  โดยคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จำนวน 5 คน จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการให้ข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา (คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีจำนวน 30 คนและเป็นผู้ชายทั้งสิ้น) รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี จังหวัดยะลา ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการส่งต่อข้อมูลในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวมุสลิมตามหลักการของศาสนาอิสลาม

ทั้งนี้กองทุนสวัสดิการฯ ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ให้คำปรึกษาและเสริมพลังครอบครัวตำบลบาโงยซิแน’ ขึ้น โดยการสนับสนุนจาก International Rescue Committee (IRC)  และ UNDP ในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) โดยใช้สถานที่เดียวกันกับที่ตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน รวมถึงที่ทำการสภาองค์กรชุมชนตำบลบาโงยซิแน และศูนย์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นจุดประสานงานการทำงานพัฒนาในมิติต่าง ๆ ในชุมชนได้อย่างบูรณาการ

บทบาทการทำงานในการให้คำปรึกษาด้านความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็กและสตรีในตำบลนั้น คณะกรรมการผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาต้องได้รับการอบรมและพัฒนาศักยภาพอย่างถูกต้องก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ จำนวน 5 คน ได้เข้ามาเป็นกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดสมาคมมุสลีมะฮ์ จังหวัดยะลา

จากนั้นได้นำความรู้ดังกล่าวมาขยายผลการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านการให้คำปรึกษาแก่สมาชิก โดยเกิดเป็นกลไกในระดับตำบลที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบลที่มีความรู้ในด้านดังกล่าว จำนวนกว่า 127 คน ในขณะที่การขยายผลในภาพรวมของระดับจังหวัดยะลาอยู่ที่ 1,867 คน  ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแนเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับ 58 ตำบลในจังหวัดยะลาได้เรียนรู้ พร้อมทั้งมีระบบการสื่อสารในรูปแบบออนไลน์ในการให้ความช่วยเหลือผ่านเพจเฟซบุ๊กของ ‘สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์ จังหวัดยะลา’  ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ เยี่ยมสมาชิก

กระบวนการทำงานของกองทุนฯ ในการให้คำปรึกษาแก่สมาชิก

ส่วนการรับเคสที่เข้ามาขอรับบริการ ประธานกองทุนฯ ที่เป็นผู้นำสมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์ จ.ยะลา จะเป็นผู้รับผิดชอบเป็นส่วนมาก เพราะพื้นที่ของศูนย์ฯ เป็นที่ตั้งกองทุนฯ และเป็นบ้านของประธานกองทุนฯ ด้วยเช่นกัน จึงสามารถติดต่อนัดหมายขอรับคำปรึกษาได้ และมีการแบ่งเวรให้อาสาสมัครที่เป็นคณะกรรมการกองทุนฯ คนอื่น ๆ รับผิดชอบเข้ามาให้คำปรึกษาในแต่ละวัน 

ทั้งนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครในศูนย์ฯ กับสมาชิกที่เข้ามารับคำปรึกษานั้นมักจะมีความใกล้ชิดหรือสนิทและให้ความไว้วางใจ ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครสตรีในชุมชนจะเป็นผู้ได้ที่รับฟังปัญหาเป็นคนแรก แล้วจึงทำการประสานเข้ามาที่ส่วนกลาง (ศูนย์จังหวัด) ในกรณีที่มีการส่งต่อเคสหรือจัดการในระดับพื้นที่ไม่ได้

เมื่อมีการรับเคสที่ประสบปัญหาเข้ามาแล้วจะดำเนินการพิจารณาถึงความเร่งด่วน ถ้าเคสด่วนจะทำการประสานส่งต่อให้ความช่วยเหลือทันทีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามให้ความช่วยเหลือ กรณีเคสที่ไม่เร่งด่วนจะจัดทำข้อมูล ซักถามประวัติ สืบค้นข้อเท็จจริง แยกประเภทประเด็นปัญหา ความต้องการ ประเมินสภาวะ วางแผนและดำเนินการให้ความช่วยเหลือส่งต่อหน่วยงาน พร้อมทั้งมีการประเมิลผลและติดตามให้ความช่วยเหลือจนกว่าจะเสร็จสิ้น

ในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือดูแลจากกรณีปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการทำร้ายร่างกาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาการหย่าร้าง  ฯลฯ  โดยจะประสานการช่วยเหลือ ส่งต่อเคสปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาปัญหาโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ หรือส่งต่อเคสให้หน่วยงาน รวมถึงการจัดการด้วยตนเองได้ เช่น เคสปัญหาการทำร้ายร่างกาย ให้คำปรึกษากับคู่กรณี ไกล่เกลี่ยปัญหา ลดความรุนแรง เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน  แต่ในกรณีที่มีเคสจากตำบลอื่น คณะกรรมการฯ จะทำการเชื่อมโยงกับกองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบลนั้น เพื่อให้มีกระบวนการแก้ไขหรือแนะนำแนวทางต่าง ๆ ในการช่วยเหลือ

คณะกรรมการกองทุนฯ แจกถุงยังชีพแก่สมาชิกพร้อมพูดคุยสอบถามความเป็นอยู่

ภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้น

ก่อนที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแนจะดำเนินการจัดตั้ง ‘ศูนย์ให้คำปรึกษาและเสริมพลังครอบครัวตำบลบาโงยซิแน’  โดยร่วมกับสมาคมมุสลีมะฮ์ จังหวัดยะลานั้น ผู้หญิงในชุมชนจะไม่กล้านำปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวมาปรึกษาเพราะจะต้องเดินทางเข้าไปที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเข้าถึงได้ยากสำหรับผู้หญิง รวมถึงปัญหาความยากจนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด แม้มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยและดำเนินการหย่า แต่ยังไม่มีอำนาจในการบังคับให้ผู้ขอหย่าหรือคู่ขัดแย้งดำเนินการเป็นไปตามข้อตกลง

ดังนั้นการทำงานของศูนย์ฯ ในระดับตำบลจึงเป็นส่วนเสริมที่จะอุดช่องว่าง  โดยการประสานระหว่างคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกับหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจทางกฎหมาย

นอกจากนี้เมื่อมีศูนย์ให้คำปรึกษาฯ เกิดขึ้นในชุมชนพร้อมกับมีทีมอาสาสมัครในชุมชน  จึงทำให้สตรีที่มีปัญหากล้าที่จะเข้าหามากขึ้น  โดยพบว่า จำนวนผู้หญิงที่มาใช้บริการในศูนย์ชุมชนเพิ่มขึ้น และเห็นถึงปัญหาที่มีความละเอียดและอ่อนไหวมากขึ้น เพราะผู้หญิงไม่ใช่ผู้ถูกกระทำโดยลำพัง  แต่รวมถึงเด็ก และสมาชิกที่เป็นกลุ่มเปราะบางในครอบครัวก็จะได้รับผลกระทบตามมาด้วย...!!

ปัจจัยแห่งความสำเร็จและก้าวเดินต่อไป...

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน นอกจากจะมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกถึง 14 ด้านดังกล่าวไปแล้ว  ที่สำคัญยังมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  ทำให้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในตำบลต่างๆ ในจังหวัดยะลา    รวมทั้งยังทำให้ได้รับรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นประจำปี 2566 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก  โดยมีปัจจัยต่างๆ  ฃหนุนเสริม เช่น

1.กองทุนฯ มีความสามารถในบริหารจัดการความสัมพันธ์เครือข่ายในการทำงานและการขยายผลแก้ปัญหา  คือ ในระดับตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชนได้ดึงสภาองค์กรชุมชนตำบลเข้ามามีบทบาทเป็นเวทีกลางเชื่อมประสานทุกหน่วยงานให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาและทำงานด้วยกัน  ส่วนในระดับจังหวัดและการประสานงานกับหน่วยงานระดับประเทศและต่างประเทศได้ใช้สมาคมมุสลีมะฮ์เป็นแกนในการเชื่อมประสาน ทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

2.มีการ “จัดทำระบบข้อมูล” ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการข้อมูล  ทำให้การทำงานเป็นระบบ สามารถส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว  ขยายเป็นเครือข่ายข้อมูลการช่วยเหลือ และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนงาน  สามารถให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา สร้างรูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะของเครือข่ายการทำงานในระดับจังหวัด

นอกจากนี้ยังมีการสร้างกลไกการทำงานที่ชัดเจนผ่านจุดร่วมทางศาสนาเข้ามาหนุนเสริม โดยมุ่งเน้นที่ครอบครัวของคนในชุมชนซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดและสำคัญที่สุด การปรับเปลี่ยนระเบียบของกองทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาของสมาชิก หน่วยงานท้องถิ่นให้การสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการฯ โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาของท้องถิ่นตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา 

และที่สำคัญคือ  คณะกรรมการกองทุนฯ มีความสามารถที่หลากหลาย แตกต่างกันไป มีการแบ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ มีคณะกรรมการทั้ง 6 หมู่บ้าน ๆ ละ 2 คนช่วยกันทำงาน  รวมทั้งให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทร่วมทำงานโดยเฉพาะด้านการจัดทำข้อมูล การใช้เทคโนโลยีและการสื่อสาร

ส่วนทิศทางและก้าวต่อไปเพื่อการพัฒนากองทุนสวัสดิการฯ ให้เกิดความก้าวหน้า  เกิดความยั่งยืน  ช่วยเหลือสมาชิกได้ทั่วถึง  เช่น จัดทำแผนพัฒนาตำบลทุกมิติให้เกิดเป็น 1 แผนงาน 1 ตำบล  ใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ เช่น  Facebook เป็นช่องทางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เปิดกว้าง  การพัฒนาและยกระดับศักยภาพแกนนำ  การขอรับการสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาสตรีจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นต้น

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

พอช. ร่วม ศูนย์คุณธรรม และ สช. ขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม มุ่งสร้างคุณธรรมด้วยระบบเครดิตทางสังคม

กรุงเทพมหานคร / วันนี้ 29 เมษายน 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย รศ นพ.สุริยเดว ทรีปราตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

ตรวจเข้ม! แรงงานไทยแห่กลับจากมาเลย์ ฉลองวันฮารีรายอ

ชาวไทยมุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งได้เดินทางข้ามแดนไปขายแรงงานตามเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย ได้ทยอยเดินทางกลับบ้าน